เปิดคำแถลงปิดคดี '40 อดีต สว.' ตอกฝาโลง 'เศรษฐา' 14 ส.ค.

’40 อดีต สว.’ ยื่นคำแถลงปิดคดีถึงศาลรธน. ตอกฝาโลงมัด ‘เศรษฐา’ ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เสนอชื่อทนายถุงขนมเป็น รมต. มั่นใจ 14 ส.ค. หลุดจากเก้าอี้นายกฯ ฐานกระทำการโดยทั้งที่รู้เสี่ยงขัดรธน.

29 ก.ค. 2567 – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยกลางวันพุธที่ 14 ส.ค. ในคำร้องคดี กลุ่ม 40 อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดที่ผ่านมา ร่วมกันยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่านายพิชิตขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 โดยศาลรัฐธรรมนูญให้ผู้ร้องคือกลุ่ม 40 อดีต สว. และนายเศรษฐา ยื่นคำแถลงปิดคดีภายในวันพุธที่ 31 ก.ค. นี้

ด้านนายสมชาย แสวงการ อดีต สว. ในฐานะแกนนำกลุ่ม 40 อดีต สว. เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการยกร่างคำแถลงปิดคดีเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ที่คาดว่าอาจส่งถึงประธานวุฒิสภาคนปัจจุบันได้ภายในเย็นวันอังคารที่ 30 ก.ค. หรืออย่างช้าเช้าวันพุธที่ 31 ก.ค. เพื่อให้ประธานวุฒิสภาส่งต่อไปยังสำนักงานเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญต่อไป

นายสมชาย กล่าวว่า สำหรับกรอบเนื้อหาหลักๆ ในคำแถลงปิดคดีแบบลายลักษณ์อักษร จะเป็นการย้ำถึงความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรี ในการนำชื่อบุคคลที่เคยเป็นผู้ถูกร้องที่สองในคดีนี้ (นายพิชิต ชื่นบาน แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องกรณีนายพิชิต เนื่องจากได้ลาออกจากตำแหน่ง รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนศาลรับคำร้องไว้วินิจฉัย) โดยที่ตอนเสนอชื่อขึ้นเป็นรัฐมนตรี บุคคลดังกล่าวยังมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) แต่การทำหนังสือสอบถามประเด็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ถูกร้องที่สอง ทางสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำหนังสือหารือข้อกฎหมายไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยไม่ครบถ้วน ไม่มีการสอบถามในประเด็นมาตรา 160 (4) และ (5) แต่ไปถามในมาตรา 160 (6) และ (7)

ทั้งที่ตามหลักต้องถามให้ครอบคลุมทั้งหมด เพื่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตอบข้อหารือ-ประเด็นข้อกฎหมายให้ครบถ้วน เหมือนกับเป็นการตั้งธงให้กฤษฎีกามาตอบเพื่อให้เข้าทางตัวเองว่าผู้ถูกร้องที่สอง ไม่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามในการเป็นรัฐมนตรี ตามมาตรา 160 (6) และ(7) แต่ผู้ถูกร้องที่สองมีปัญหาตามมาตรา 160 (4) และ(5) แล้วนายกรัฐมนตรีมาอ้างการทำหนังสือหารือดังกล่าวของสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นเรื่องปกติ ซึ่งสำหรับผู้ร้องอดีต สว. เราเห็นว่าเป็นเรื่องไม่ปกติ เพราะปกติ ที่ผ่านมาหากมีปัญหาข้อสงสัยเรื่องลักษณะต้องห้าม การถามต้องถามทั้งหมดทั้งมาตรา 160 ไม่ใช่เลือกถามไปเพียง 160 (6) และ(7)เพราะหากมีการหารือไปถึง คณะกรรมการกฤษฎีกา ให้พิจารณามาตรา 160 (4) และ(5) ด้วย คณะกรรมการกฤษฎีกาจะวินิจฉัยด้วยแน่นอน แต่เมื่อไม่ได้ถาม คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงไม่ได้วินิจฉัย

นอกจากนี้ อาจจะมีการเขียนในคำแถลงปิดคดี ถึงการที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เคยมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้จำคุกผู้ถูกร้องที่สองเป็นเวลาหกเดือน โดยยกเหตุการณ์บางกรณีขึ้นมาเขียนในคำแถลงด้วย เช่นนอกจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้จำคุกหกเดือน แล้วต่อมามีการมอบหมายให้เลขาธิการศาลยุติธรรม ไปดำเนินคดีอาญาแจ้งความตำรวจดำเนินคดีต่อ และยังได้มีหนังสือไปถึงนายกสภาทนายความ เพื่อให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทนายความ เพราะถือว่าละเมิดจรรยาบรรณ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกร้องที่สองมีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) ทำให้ไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีได้

“ส่วนว่าทำไมนายเศรษฐาถึงมีความผิดร้ายแรง ก็เพราะตอนตั้งรัฐบาล ที่ต้องมีการฟอร์ม ครม. ซึ่ง ครม.เศรษฐา 1 ที่ชื่อไม่ครบ 36 คน เพราะขาดไปสองคน แต่นายเศรษฐารู้อยู่แล้วว่า มีคนที่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม เพราะนายกฯ ทราบอยู่แล้วว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีทำหนังสือหารือไปที่กฤษฎีกา เพื่อหารือเรื่องคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีของผู้ได้รับการเสนอชื่อบางคน และต่อมาเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ทำหนังสือตอบกลับมายังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ดังนั้น นายเศรษฐา จึงเท่ากับรู้อยู่แล้วว่า ผู้จะได้รับการเสนอชื่อมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม อันนี้คือรู้ที่หนึ่ง และรู้อยู่แล้วที่เป็นรู้ที่สอง ก็คือ เมื่อมีการปรับ ครม. เมื่อ 27 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ก็มีชื่อบุคคลดังกล่าวเป็นรัฐมนตรี จึงถือว่านายกรัฐมนตรีกระทำการโดยทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่า ผู้ถูกนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม จึงเข้าข่ายผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงของการเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะการเป็นนายกฯต้องทำเรื่องให้ถูกต้อง ในเมื่อรู้อยู่แล้วว่า บางคนมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติแล้วนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ได้อย่างไร” นายสมชาย ระบุ

นอกจากนี้ ก่อนนำชื่อแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีในการปรับ ครม. เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา จริงๆ นายกรัฐมนตรี สามารถให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ส่งหนังสือไปหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกครั้งว่าบุคคลดังกล่าวมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติหรือไม่ เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหา โดยหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้พิจารณา คุณสมบัติของผู้ได้รับการเสนอชื่อตามมาตรา 160 และมาตรา 98 ให้ครบถ้วน ไม่ใช่เลือกถามเฉพาะบางส่วน ซึ่งถ้าถามไป คณะกรรมการกฤษฎีกา ก็จะได้พิจารณาที่อาจจะบอกก็ได้ว่า เขามีปัญหา แต่ปรากฏว่าก็ไม่ได้มีการถามไปในช่วงปรับ ครม. แต่ไปเอาเอกสาร-ความเห็นเดิมของกฤษฎีกา เมื่อเดือนกันยายน 2566 ที่หารือตอนตั้งรัฐบาลเมื่อกันยายนปีที่แล้ว

แล้วตัวนายกรัฐมนตรี มาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน บอกประชาชนว่า มั่นใจไม่มีปัญหา เพราะได้ถามคณะกรรมการกฤษฎีกาไปแล้วก่อนนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ทั้งที่เป็นการถามกฤษฎีกา เมื่อสิงหาคม 2566 ไม่ใช่ตอนปรับ ครม. เมื่อเดือนเมษายน 2567 ซึ่งจุดนี้แสดงให้เห็นว่า ไม่ซื่อสัตย์สุจริตจนเป็นที่ประจักษ์ ใช่หรือไม่ คนเซ็นชื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ จึงควรต้องรับผิดชอบ เพราะอ้างว่าได้ตรวจแล้วตรวจอีก มันจึงเป็นการกระทำแบบทั้งๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า บุคคลที่ถูกเสนอชื่อไปมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ แต่ก็ยังเสนอชื่อขึ้นไป

นายสมชาย กล่าวย้ำว่า ทางกลุ่ม 40 อดีต สว. จึงจะทำคำแถลงปิดคดีส่งศาลรัฐธรรมนูญว่า นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรีรู้เรื่องทั้งหมด จึงหนีไม่พ้น จะอ้างว่าทำไปแบบบกพร่องโดยสุจริตไม่ได้ เพราะการที่มีการถามไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ก็เท่ากับว่าตัวคุณเองก็ยังสงสัยว่าเขาขาดคุณสมบัติหรือไม่ แต่เมื่อมีการปรับ ครม. ก็ยังนำชื่อเสนอแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี ทั้งหมดคือกรอบของคำแถลงปิดคดี ที่พอบอกเล่าได้ เพราะรายละเอียดทั้งหมดไม่สามารถเปิดเผยได้ ต้องให้ความเคารพกับศาลรัฐธรรมนูญ

“ผู้ร้อง มั่นใจว่าสิ่งที่ได้ยื่นคำร้องไป เป็นทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญ ได้วินิจฉัยว่า นายเศรษฐา ได้กระทำผิดในเรื่องนี้และเราก็เชื่อว่านายเศรษฐา ก็น่าจะต้องพ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนศาลจะวินิจฉัยอย่างไร เราก็พร้อมเคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะออกมา เพราะเราเชื่อมั่นในหลักนิติรัฐและนิติธรรม ซึ่งผมในฐานะผู้นำกลุ่ม 40 อดีต สว. มั่นใจว่าทั้งจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ที่จะอยู่ในคำแถลงปิดคดีที่จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญจะแสดงให้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า นายกรัฐมนตรีได้กระทำคววามผิดสำเร็จครบถ้วนจริงและเป็นสิ่งที่ขัดรัฐธรรมนูญ ดังนั้นความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา จึงสมควรให้ศาลวินิจฉัยให้สิ้นสุดลงพ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรี” แกนนำกลุ่ม 40 อดีต สว. ระบุ

อนึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 เป็นมาตราเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี โดยใน (4) บัญญัติว่า มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และ (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

โดยกรณีของนายพิชิต ชื่นบาน เกิดขึ้นสมัยเป็นทนายความให้กับนายทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิง พจมาน ที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทาการเมืองในคดีที่ดินรัชดาฯ และระหว่างการสู้คดีเกิดคดีถุงขนม 2 ล้านบาทเกิดขึ้น จนทำให้เมื่อมีการตั้งรัฐบาล เศรษฐา 1 เมื่อสิงหาคม 2566 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เกิดความไม่แน่ใจว่านายพิชิต มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติหรือไม่ เพราะเคยได้รับโทษจำคุกตามคำสั่งศาลฎีกาเมื่อปี 2551 จึงทำให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือขอหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อ 30 ส.ค. 2566 แต่หนังสือหารือดังกล่าว สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ไม่ได้หารือในมาตรา 160(4) และ(5) จึงทำให้เกิดปัญหากลายเป็นคำร้องดังกล่าวของกลุ่ม 40 อดีต สว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิด ‘เอกสารลับ’  เศรษฐา 32 หน้า สู้ยิบตา-โต้ทุกเม็ด วอนศาลรธน. อย่าสอยหลุดเก้าอี้

เปิดเอกสาร’ลับ’เศรษฐา 32 หน้า สู้ยิบตา-โต้ทุกเม็ด วอนศาลรธน.อย่าสอยหลุดเก้าอี้ อึ้ง นายกฯ อ้างไม่มีภูมิหลังการศึกษาด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ มีประสบการณ์การเมือง-บริหารราชการแผ่นดินที่จำกัด จึงไม่อาจรู้ได้ว่าพิชิต ขาดคุณสมบัติหรือไม่ การันตี ไปหาทักษิณสามครั้ง  ไม่ได้ตกอยู่ใต้อิทธิพล

'ศิริกัญญา' เลิกกั๊ก! พร้อมนั่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ สู้ 'อุ๊งอิ๊ง'

'ศิริกัญญา' ไม่ติด แล้วแต่พรรค หากถูกเสนอนั่ง 'หัวหน้าพรรค' คนใหม่ ชี้มิติใหม่ถ้าได้ต่อสู้กับ 'อุ๊งอิ๊ง' ปัดยังไม่ได้ตั้งชื่อพรรค ยันไร้กังวลคดีแก้ 112 ซ้อมให้ปากคำแล้ว

กระตุ้นสาวก! ‘ก้าวไกล’ วางคิว ‘ปิยบุตร’  บรรยายพิเศษ ก่อนลุ้นคดียุบพรรค 7 ส.ค.

ก่อนรับฟังคำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกท่านร่วมรับฟังการบรรยายพิเศษ จากปิยบุตร

นายกฯ เกาะติดสถานการณ์น้ำท่วม จ.ตราด เร่งฟื้นฟูท่าเรือบ้านคลองมะขาม หลังเจอพายุลมแรง

ผมจะเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดต่อไป ก็ขอส่งกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ยังคงติดตามเฝ้าระวัง ซึ่งทางท่าน รมว. เกษตรฯ จะลงพื้นที่ไปตรวจราชการด้วยตัวเองเช้านี้

นายกฯ ปลื้มคนไทยแสดงความจงรักภักดี เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา อย่างพร้อมเพรียง

นายกรัฐมนตรี ปลื้มประชาชน แสดงความจงรักภักดี สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ร่วมกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

นายกฯ นำพสกนิกรชาวไทย จุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา

นายกฯ และภริยา เป็นประธานพิธีถวายเครื่องราชสักการะ และพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567