มีหนาว! ‘เรืองไกร’ ร้อง ปปช. ตรวจสอบจนท.ของรัฐ 8 ราย ยื่นบัญชีและเสียภาษีถูกต้องหรือไม่

แฟ้มภาพ

22 ก.ค.2567-นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เปิดเผยว่า ช่วงนี้มีเวลาไปตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินเจ้าหน้าที่ของรัฐในเว็บไซต์ ป.ป.ช. ที่เปิดเผยล่าสุด ซึ่งพบว่ามี 8 รายที่มีเหตุอันควรขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบในครั้งนี้ไปพร้อม ๆ กัน ตนตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนที่เปิดเผยในเว็บไซต์ ป.ป.ช. ซึ่งตาม พรป. ป.ป.ช. มาตรา 105 บัญญัติไว้ว่า การยื่นบัญชีทรัพย์สินต้องทำอย่างไร และรัฐธรรมนูญ มาตรา 50 (9) บัญญัติว่า “บุคคลมีหน้าที่เสียภาษีอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ” ประกอบกับตามหนังสือที่ ปช 0017/0261 วันที่ 29 เม.ย. 2561 เคยแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า อธิบดีกรมหนึ่งที่ถูกร้องนั้น ได้นำรายได้ที่แจ้งต่อสำนักงาน ป.ป.ช. ยื่นเสียภาษีต่อกรมสรรพากรแล้ว

นายเรืองไกร กล่าวว่า จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย รวมทั้งแนวทางตามหนังสือ ป.ป.ช. กรณี จึงมีเหตุอันควรขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐ 8 ราย ดังต่อไปนี้

นายจำเริญ โพธิยอด กรณีทุกสามปี ตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 แจ้งเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรที่ควรนำไปเสียภาษีคือ เงินเดือน 1,462,557.50 บาท เบี้ยประชุม 3,020,657.62 บาท และรายการรับเงินจากนายสุรชาติฯ 500,000 บาท แต่ไม่แจ้งเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (1) – (8) โดยหมายเหตุว่า ยังไม่ถึงกำหนดการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในรอบปีภาษี 2566 ทั้งที่ในรายจ่ายมีการระบุว่า ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 401,953.00 บาท และแจ้งว่าคู่สมรสมีรายได้เงินเดือน 1,307,231.85 บาท แต่ไม่แจ้งเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (1) – (8) ทั้งที่ในรายจ่ายมีการระบุว่า ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 33,984.00 บาท กรณี จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่า ปัจจุบันที่การเสียภาษีครบถ้วน หรือไม่ รายการรับเงินจากนายสุรชาติฯ 500,000 บาท คือค่าอะไร ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร หรือไม่ และมีการนำไปเสียภาษีต่อกรมสรรพากร หรือไม่

นายดิลก ภิยโยทัย กรณีเข้ารับตำแหน่ง กรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 แจ้งเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรที่ควรนำไปเสียภาษีคือ รายได้เงินเดือน ค่าจ้าง 2,600,000 บาท เบี้ยประชุม 420,000 บาท รายได้จากวิชาชีพอิสระ 700,000 บาท รายได้จากบริษัท 300,000 บาท แจ้งเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (1) – (8) จำนวน 383,384.00 บาท และแจ้งว่าคู่สมรสมีรายได้เงินเดือน ค่าจ้าง 3,000,000.00 บาท รายได้จากบริษัท 100,000 บาท แจ้งเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (1) – (8) จำนวน 494,628.95 บาท กรณี จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยถูกต้องครบถ้วน หรือไม่

นายสนิท ขาวสอาด กรณีเข้ารับตำแหน่ง กรรมการการไฟฟ้านครหลวง เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 แจ้งเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรที่ควรนำไปเสียภาษีคือ รายได้เงินบำนาญ 645,120 บาท เบี้ยประชุม 36,000 บาท แต่ไม่แจ้งยอดเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (1) – (8) กรณี จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยถูกต้องครบถ้วน หรือไม่

นายชำนาญ ชาดิษฐ์ กรณีเข้ารับตำแหน่ง กรรมการอำนวยการสำนักงาน ธนานุเคราะห์ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 แจ้งเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรที่ควรนำไปเสียภาษีคือ เงินเดือน 1,159,200 บาท เบี้ยประชุม 313,800 บาท ค่าเช่าที่ดิน 75,000 บาท ค่าจ้างว่าความ 2,000,000 บาท อาจารย์พิเศษ 44,000 บาท แจ้งเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (1) – (8) จำนวน 1,014,066.96 บาท กรณี จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยถูกต้องครบถ้วน หรือไม่

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ กรณีทุกสามปี ตำแหน่งอธิบดีกรมธุรกิจพลังาน เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 แจ้งว่ามีเงินลงทุน 14 รายการ โดยแจ้งมูลค่าเป็นราคาต่อหน่วยและแจ้งยอดรวม 1,480,887.59 บาท แต่เมื่อนำมาคำนวณในตาราง Excel จะได้ยอดรวม 1,480,887.59 บาท แต่กรณีทุกสามปี ตำแหน่งอธิบดีกรมธุรกิจพลังาน เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2567 แจ้งว่ามีเงินลงทุน 10 รายการ โดยแจ้งมูลค่าเป็นราคาต่อหน่วยและแจ้งยอดรวม 4,244,896.37 บาท แต่เมื่อนำมาคำนวณในตาราง Excel จะได้ยอดรวม 4,423,305.60 บาท กรณี จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่า การแจ้งเงินลงทุนดังกล่าวต่ำไป 178,409.23 บาท หรือไม่

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรณีเข้ารับตำแหน่ง ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 แจ้งเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรที่ควรนำไปเสียภาษีคือ เงินเดือน ค่าจ้าง โบนัส 15,753,284.35 บาท เบี้ยประชุม 12,300 บาท ค่าเช่าที่ดิน 562,000 บาท แจ้งเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (1) – (8) จำนวน 15,753,284.35 บาท และแจ้งว่าคู่สมรสมีเงินเดือน ค่าจ้าง โบนัส 543,027.00 บาท แจ้งเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (1) – (8) จำนวน 543,027.00 บาท กรณี จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่า เบี้ยประชุม 12,300 บาท ค่าเช่าที่ดิน 562,000 บาท มีการนำไปเสียภาษีโดยถูกต้องครบถ้วน หรือไม่

นายผยง ศรีวณิช กรณีทุกสามปี กรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 แจ้งว่ามีรายจ่ายอื่น ๆ (7) ค่าสร้างบ้านใหม่ 35,300,000 บาท แต่ในรายการโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างรวม 6 รายการ ไม่มีการแจ้งมูลค่าบ้านที่สร้างใหม่ไว้ และในรายการโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง ลำดับที่ 2 แจ้งบ้านสวนไว้มูลค่า 6,147,000 บาท โดยระบุว่า ปลูกสร้างบน สค.1 เลขที่ 52 เนื้อที่ 3 ไร่ แต่ในรายการที่ดินรวม 18 รายการ ไม่มีการแจ้งรายการที่ดิน สค.1 และมูลค่าไว้ กรณี จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่า ค่าสร้างบ้านใหม่ 35,300,000 บาท และที่ดิน สค.1 เลขที่ 52 เนื้อที่ 3 ไร่ มีการแจ้งในบัญชีทรัพย์สินโดยถูกต้องครบถ้วน หรือไม่

นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ กรณีเข้ารับตำแหน่ง ประธานกรรมการ บมจ. ปตท. น้ำมัน และการค้าปลีก เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567 แจ้งเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรที่ควรนำไปเสียภาษีคือ เงินเดือน และ ผลตอบแทน 38,959,991.39 บาท แจ้งเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (1) – (8) จำนวน 12,916,346 บาท และแจ้งว่าคู่สมรสมีรายได้ค่าเช่าคอนโด 540,000.00 บาท แต่ไม่แจ้งเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (1) – (8) กรณี จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่า รายได้ค่าเช่าคอนโดของคู่สมรส 540,000.00 บาท มีการนำไปเสียภาษีโดยถูกต้องครบถ้วน หรือไม่

“วันนี้ผมจึงส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ ป.ป.ช. ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐรวม 8 รายดังกล่าวข้างต้น ว่ามีการยื่นบัญชีทรัพย์สินโดยถูกต้องครบถ้วน หรือไม่  และ/หรือ มีการนำเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรไปเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร โดยถูกต้องครบถ้วน หรือไม่”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'บิ๊กต่าย' ยันไม่ได้ลอยตัว ปม ป.ป.ช. รับไต่สวนจนท.รัฐ เอื้อทักษิณนอนชั้น 14 พร้อมทำตามกฎหมาย

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ( ผบ.ตร.) เปิดเผยกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ  ป.ป.ช. มีมติให้ตั้งองค์คณะไต่สวนเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ รวม12 ราย