นายกฯ จัดรายการ “คุยกับเศรษฐา” เทปแรก ยอมรับหน้าใหม่การเมือง ต้นทุนเป็นรองหลายๆคน จึงต้องขยันลงพื้นที่ฟังปัญหาประชาชนด้วยตนเอง ยันไปทุกจังหวัดแม้ไม่มีสส.เพื่อไทยในพื้นที่ เพราะเป็นนายกฯของคนทั้งประเทศ ย้ำเดินทางไปต่างประเทศสร้างความเชื่อมั่น ดึงดูดการลงทุนมาไทย แต่ต้องใช้เวลา เชื่อศักยภาพไทยจะดีขึ้น
22 มิ.ย. 2567 - เมื่อเวลา 08.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “คุยกับเศรษฐา” ซึ่งออกอากาศเป็นเทปแรก ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) โดยนายกฯ ใส่เสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาวพับแขน กางเกงสีน้ำเงิน ในลุคสบายๆ เป็นการนั่งพูดคุย ตอบคำถาม ที่บริเวณตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีนายธีรัตนถ์ รัตนเสวี เป็นผู้ดำเนินรายการ
นายกฯ กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการจัดรายการ ว่า รัฐบาลปัจจุบัน ทุก ๆ กระทรวง ทบวง กรม รัฐมนตรีทุกคนได้ทำงานกันหนักมาก และยังไม่มีช่องทางที่นอกเหนือจากมีผู้สื่อข่าวมาสัมภาษณ์ ไม่มีช่องทางที่จะสื่อสารถึงพี่น้องประชาชนโดยตรง เพื่ออธิบายให้ฟังว่ารัฐบาลทำอะไรกันไปแล้วบ้าง และแผนงานระยะยาวคืออะไรบ้าง อย่างน้อยก็จะได้เข้าใจว่ารัฐบาลกำลังทำอะไรอยู่
เมื่อถามว่า 10 เดือนที่ทำงานมา เห็นการทำงานของนายกฯที่บอกตั้งแต่วันแรกว่าทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เหนื่อยบ้างหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ถ้าจะบอกว่าไม่เหนื่อยก็คงจะโกหก ตนว่านายกฯทุกท่านก็ทำงานกันหนัก มีทั้งเหนื่อยกาย เหนื่อยใจ และเชื่อว่าทุกท่านแบกภาระหนักหน่วงนี้อยู่เยอะ ซึ่งตนเองคงพูดแทนท่านอื่น ๆ ไม่ได้ ถ้าถามตนว่าเหนื่อยไหมนอนคืนเดียวก็หาย แต่เราเสนอตัวเข้ามาทำงานทางด้านสาธารณชนแล้ว ถือว่าเรื่องที่สำคัญมากกว่าคือเรื่องของความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เราเหนื่อยเท่าไหร่ ตนเชื่อว่าหลาย ๆ คน ที่อยู่ที่ฐานรากของสังคมเขาเหนื่อยเยอะกว่าเยอะ ชีวิตของตนเองที่ทำมาเกือบ 40 ปีตลอดระยะเวลาทำงานมา ตนเองยึดมั่นใน 2 วินัยนี้ คือมีวินัยในการทำงานและทำงานให้หนัก แต่แน่นอนว่าเรื่องของการดูแลสุขภาพ การพักผ่อนให้เพียงพอ พักผ่อนคือเรื่องของการหลับนอนก็ต้องให้เพียงพอ
เมื่อถามว่าตลอดการทำงานของนายกฯลงพื้นที่ถี่มาก แม้ในพื้นที่นั้นอาจไม่มีสส.ของพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ก็ตาม แต่ก็ไป มีแนวทางในการลงพื้นที่อย่างไรบ้าง นายกฯ กล่าวว่า ตนถือว่าตนมาในฐานะเป็นนายกฯของคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่เป็นนายกฯของคนพรรคเพื่อไทยเพียงอย่างเดียว แน่นอนว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคหลัก และเป็นพรรคที่สนับสนุนตนมาตลอด ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องลงพื้นที่ของพรรคเพื่อไทย ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ของพรรคพลังประชารัฐ ของพรรคภูมิใจไทย ด้วยเหมือนกัน เพราะว่าทุกคนคือประชาชนคนไทย ซึ่งนายกฯในฐานะผู้บริหารสูงสุดของประเทศ มีหน้าที่ต้องดูแล อันนี้ชัดเจน ตนเชื่อว่าการทำงานที่ผ่านมาโดยตลอดให้ความมั่นใจได้ว่าไม่ได้เลือกจังหวัดลงพื้นที่ ส่วนเรื่องแนวทางในการลงพื้นที่ต่างจังหวัด จริง ๆ ต้องยอมรับว่าตนมีต้นทุนที่เป็นรองนักการเมืองหลาย ๆ ท่าน ที่ท่านเติบโตมาจากการเมืองตั้งแต่อายุ 30 กว่า ซึ่งตนเองพึ่งเข้าสู่สนามการเมืองจริง ๆ เพราะฉะนั้นการลงพื้นที่จริง ๆ เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง สำหรับมือใหม่อย่างตน เพราะว่าตนไม่ได้ไปคลุกคลีกับประชาชนเท่ากับนักการเมืองที่อยู่ในการเมืองมานาน เพราะฉะนั้นการที่ต้องลงพื้นที่เยอะ ต้องการเข้าใจถึงปัญหาจริง ๆ ไม่ใช่ฟังแต่รายงานที่มาจากกระดาษ
เมื่อถามว่า จังหวัดภูเก็ตนายกฯลงพื้นที่หลายครั้งมาก สส.ก็ไม่ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลเลย แต่ว่าไป แสดงว่ามองเห็นศักยภาพของภูเก็ต หรือปัญหาที่ภูเก็ตต้องได้รับการแก้ไขใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ใช่ครับ ในเรื่องของนโยบายเรือธงของรัฐบาล หรือหลาย ๆนโยบายเรือธงของรัฐบาล ก็คือเรื่องการท่องเที่ยว จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่ทำรายได้สูงมากให้กับประเทศ และมีศักยภาพสูงมาก ๆ ด้วยเหมือนกัน ในหลาย ๆ เรื่องหลายๆด้าน แต่ว่าปัญหาก็เยอะ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องของน้ำประปา เรื่องขยะ เรื่องสนามบิน เรื่องถนน เรื่องมาเฟีย เรื่องความมั่นคง ความปลอดภัย หลายๆอย่าง ต้องให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง
นายกฯ กล่าวว่า อาทิตย์แรกที่เป็นนายกรัฐมนตรีก็ลงไปจังหวัดภูเก็ตแล้ว เชิญรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ไปดูเรื่องการจราจร ซึ่งระยะหลังจากในเมืองไปสนามบินใช้เวลา 2 ชั่วโมง ทำให้เสน่ห์ของภูเก็ตหายไปหมด ส่วนเรื่องน้ำประปาก็ลงพื้นที่ไปกับ สส.ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ไปดูเรื่องน้ำประปาที่จะลากจากเขื่อนเชี่ยวหลาน แล้วนำมาดูแลจังหวัดพังงา กระบี่ ภูเก็ต ก็เป็นเรื่องสำคัญ รวมทั้งเรื่องของสนามบินเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าปัจจุบันเครื่องบินต่อชั่วโมงลงได้ 25 ลำ จะให้ได้มากกว่านี้ก็ลำบาก แต่ว่ามีความต้องการลงสูงมาก ก็ต้องดูเรื่องของสนามบินภูเก็ต แต่จริง ๆ แล้ว ภาคใต้ไม่ได้มีแค่ภูเก็ต มีพังงา มีกระบี่ มีระนองด้วย ถึงแม้สนามบินใหม่จะไปตั้งที่ตอนเหนือของภูเก็ต หรือว่าส่วนหนึ่งของจังหวัดพังงา เราก็อยากให้ตั้งชื่อว่าสนามบินอันดามัน เพราะพยายามจะให้ครอบคลุมให้ได้ 3 - 4 จังหวัด
เมื่อถามถึงการลงพื้นที่ตรวจราชการในหลาย ๆ พื้นที่โดยไม่ได้บอกล่วงหน้า นายกฯ กล่าวว่า เรื่องสำคัญมากกว่าเรื่องไม่บอกล่วงหน้า คือไปตรวจราชการตามสถานที่ต่าง ๆ และนโยบาย Aviation Hub เป็นหนึ่งในนโยบายเรือธงของรัฐบาล สนามบินสุวรรณภูมิ เคยเป็นสนามบินระดับท็อป ๆ ของโลก แต่อันดับตกไปเยอะมาก เราไม่มีการลงทุนในแง่โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เลย ในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา สนามบินสุวรรณภูมิเป็นโครงการใหญ่โครงการหนึ่งที่เราลงทุนมา แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีศักยภาพที่จะเติบโตต่อไปได้ โซนหนึ่งเพิ่งเปิด โซนสองเพิ่งเปิด รันเวย์สามก็จะเปิด จะมีการขยายออกไป อันนั้นถือเป็นเรื่องของอนาคต แต่ว่าเราต้องอยู่กับปัจจุบันก่อนด้วย เรื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งก็เป็นนโยบายเรือธงของเรา จะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มเข้ามาอย่างมโหฬาร การเดินทางก้าวแรกที่เขาเข้ามาเหยียบแผ่นดินไทยเขาต้องมีความสุข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการตรวจคนเข้าเมือง ต้องไม่เข้าคิวนาน เรื่องกระเป๋า เรื่องแท็กซี่ที่มารับ
นายกฯ กล่าวต่อไปว่า ถ้าตนเองไปโดยที่ไม่บอก ไปดูให้เห็นจริง ๆ ความลำบากคืออะไร คิวยาวเหยียดตั้งแต่บันไดวนลงมาเป็นตัวงู และไม่สามารถทำอะไรได้ ตนเองคิดว่าก็เป็นปัญหา เพราะฉะนั้นต้องลงไปแบบไม่บอกล่วงหน้า จะได้ไม่มีการเตรียมการดีกว่า ใช้คำนี้ดีกว่า ไม่ได้ไปจับผิด แต่ว่าเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว ซึ่งก่อนที่ตนเองจะมาเป็นนักการเมือง บริษัทเก่าก็ทำอย่างนี้ เวลาไปตรวจงานก็จะไปแบบไม่มีการประกาศล่วงหน้า จะได้เห็นสถานภาพที่จริงมากกว่า แล้วมาแก้ไขปัญหากัน และไปถึงก็ไม่ใช่ไปด่าเขา ไปว่าเขานะ เราไปนั่งพูดคุยกันดีกว่าว่าปัญหามันคืออะไร เราก็จะได้เห็นจริง ๆ และก็ช่วยแก้ไขจริง ๆ
นายกฯ กล่าวว่า สนามบินสุวรรณภูมิพัฒนาได้อีก พัฒนาดีขึ้นเยอะ เพราะว่า KPI ที่ให้ไป ไม่ว่าจะเป็นก้าวแรกที่ลงจากเครื่องบิน ต้องไม่เกิน 45 นาที ต้องได้รับกระเป๋า ส่วนมากก็น่าจะทำได้ หรือประมาณหนึ่งชั่วโมงก็ไม่น่าเกิน และตอนขากลับจากที่เช็คอินตั๋วและเข้าไปข้างใน ต้องไม่เกิน 45 นาทีเหมือนกัน ซึ่งปัจจุบันก็ทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยในแง่ของเรื่องเครื่องอัตโนมัติในการตรวจสอบ เรื่องของการจัดการทำงานของพนักงาน เหล่านี้ก็ถือว่าช่วยกันได้เยอะมาก
เมื่อถามว่า นายกฯเคยเป็นผู้บริหารของบริษัทเอกชนเคยเห็นปัญหาหน้างาน คิดว่าเทคนิคนี้จะมาช่วยแก้ปัญหาให้ประชาชนได้อย่างทันท่วงทีหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า สภาพแวดล้อมต่างกันพอสมควรเหมือนกัน ในส่วนภาคเอกชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางธุรกิจก็แตกต่างกันออกไป ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาครัฐบาลก็มีเยอะกว่า เพราะฉะนั้นต้องดูให้ครบทุกหมู่เหล่าจริง ๆ เรื่องของความระมัดระวัง ทางด้านขั้นตอนต่าง ๆ ในการทำงาน ก็มีกลไกทางราชการ ซึ่งเราต้องเคารพ มีองค์กรอิสระตรวจสอบก็เยอะ เราต้องมั่นใจว่าทุกอย่าง ทุกการกระทำของเราถูกต้อง เป็นไปตามกฎระเบียบ แต่ตนเองก็มามองว่าความเดือดร้อนไม่คอยท่า ต้องการการบริหารจัดการออกไป แต่ระหว่างทางก่อนที่จะมีอะไรก็อาจจะมีมาตรการระยะสั้น หรือชั่วคราวที่พยุงปัญหาไปได้บ้าง บางทีปัญหาก็ไม่สามารถแก้ได้ด้วยอะไรที่รวดเร็วทันใจอย่างเดียว ซึ่งมีหลายขั้นตอน เพราะเป็นระบบราชการ ซึ่งถ้าเรามาอยู่ตรงนี้เราก็ต้องยอมรับตรงนี้
เมื่อถามถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) เพื่อนำปัญหาที่เกิดขึ้นไปคุยกันและแก้ปัญหา นายกฯ กล่าวว่า ตรงนี้ไม่ใช่เป็นความลับอะไร ตนเชื่อว่านายกรัฐมนตรีหลาย ๆ ท่าน ก็ทำอยู่แล้ว เรื่องการมี ครม.สัญจร แต่รายละเอียดแตกต่างกันไปบ้าง แน่นอนการที่ ครม.ทั้งคณะลงไปจังหวัดไหน พื้นที่ไหน ตนเชื่อว่าก็จะมีการตื่นตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครม.สัญจรนัดแรก ตนเองเลือกไปจังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งเป็นจังหวัดที่ GDP ต่ำที่สุด เป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุด ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลให้ความสนใจกับเรื่องพวกนี้ การที่ลงพื้นที่ต่างจังหวัด จังหวัดข้างเคียงก็มีความสำคัญ เพราะรู้อยู่แล้วว่าทุก ๆ จังหวัดมีความต้องการความช่วยเหลือในหลาย ๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นความช่วยเหลือเรื่องการเกษตร เรื่องน้ำ น้ำท่วม น้ำแล้ง เป็นต้น
นายกฯ กล่าวต่อไปว่า การลงพื้นที่ถือเป็นการมอบอำนาจให้กับเจ้าหน้าที่ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ตนเองเชื่อว่าการลงหน้างานมีส่วนช่วยเหลือ ทำให้เขามีความมั่นใจขึ้น แต่ว่าเหนือสิ่งอื่นใดไม่ได้ไปคนเดียว ทั้งคณะรัฐบาลไปหมด ทุกกระทรวง ทบวง กรม ไปหมด มีการกำหนด KPI ชัดเจนว่ามีอะไรบ้าง และเป็นการสร้างความคาดหวังให้พี่น้องประชาชนในครั้งต่อไปที่เราจะไป ครม.สัญจร ว่าถ้าเกิดคณะรัฐมนตรีมาจังหวัดข้างเคียงจะได้อานิสงส์อะไรบ้าง ทั้งนี้ การลงพื้นที่แต่ครั้งต้องแบ่งเป้าหมายเป็น 2 - 3 อย่าง หนึ่ง ในแง่ของมวลชน ต้องมีการพบปะมวลชน เพราะต้องการจะได้เห็นจริงๆว่าในสายตาของเขามีความทุกข์ยากมากน้อยขนาดไหน เรื่องบ้างเรื่องที่เขาร้องเรียนมา บางทีเขาร้องเรียนมาแล้วตนไม่ได้ยิน เพราะถูกกันออกไป ตนก็อยากไปได้ยินเองเวลาไปลงพื้นที่ว่าเขาพูดเรื่องอะไรกันบ้าง ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่เราจะรับฟังได้โดยตรง โดยไม่มีการกีดกันเลย การได้พบข้าราชการก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะว่าไม่ฉะนั้นโอกาสที่จะได้พบกับข้าราชการฝ่ายปกครองก็น้อย ได้พบกับนายอำเภอ ได้พบกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดต่างๆ ตนเองเชื่อว่าเป็นอะไรที่ให้ความรู้กับทั้งกับตนและรัฐมนตรีหลายๆท่านในหลายๆเรื่อง
เมื่อถามถึงการเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งมีคนบอกว่าเดินทางไปเยอะมาก ไปเพื่ออะไร นายกฯ กล่าวว่า ไม่ได้แก้ตัว แต่ว่าเรื่องของการไปต่างประเทศจริงๆ แล้วตนไปมา 15 ครั้ง กว่าครึ่งเป็นไฟท์บังคับ เป็นเรื่องของการไปอาเซียน-เจแปน การไปแนะนำตัว หรือว่าไปจีน หรือว่าไปกัมพูชา ไปสิงคโปร์ ไปมาเลเซีย ไปออสเตรเลีย เป็นอาเซียน-เจแปนครบ 50 ปี ซึ่งจะไม่ไปนั้นไม่ได้ หรืออย่างไปศรีลังกา เซ็นสัญญา FTA ซึ่งรัฐบาลเดิมทำไว้แล้ว ก็ไปเป็นเกียรติ ไปงานลงนาม ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าในรัฐบาลก่อน เรื่องของลำดับความสำคัญของเขา เขาอาจจะทำเรื่องอื่นที่เขาเห็นความสำคัญมากกว่า แต่ตอนนี้มาถึงตรงนี้ เรื่องการค้าระหว่างประเทศ เรื่องของความอ่อนบางทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้การลงทุนข้ามชาติมาที่ประเทศไทยเป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าเราไม่ไปเชื้อเชิญและไปบอกเขาว่าประเทศไทยเปิดแล้ว ไม่มีเวลาไหนที่จะดีเท่าเวลานี้ที่มาลงทุนที่ประเทศไทย เขาจะทราบไหม ตนเองว่าต้องไป แล้วการลงทุนกลับมาแต่ละครั้งเป็นหมื่นล้านเป็นแสนล้าน ซึ่งแน่นอนว่ายังไม่เกิดขึ้น อาจจะอยู่ขั้นตอนการพิจารณา บางอันก็จะเกิด บางอันเกิดแน่ ๆ บางอันก็ไม่แน่ว่าจะเกิด หรือบางอันก็ไม่เกิดก็มี แต่ว่าการทำงานเราต้องทำทั้งหมดทุกประเทศ เราต้องไปทุกบริษัทที่เขามีศักยภาพมาลงทุนในประเทศไทยได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่เป็นหน้าที่ของตนเองในฐานะนายกรัฐมนตรี
นายกฯ กล่าวอีกว่า การประชุมกับผู้นำและภาคเอกชนเวลาไปเมืองนอกต้องใช้เวลาให้คุ้มค่า เข้าใจว่าประวัติสูงสุดในประวัติศาสตร์คือที่ดาวอส ซึ่งจะมี 19 หรือ 23 วงในวันเดียว ถือว่าเยอะมาก แต่ตนก็ยังบอกกับทีมว่าถ้าไปปีหน้า ถ้ามีห้องประจำของเราเอง 2 ห้อง แล้วก็สลับเข้าสลับออก ตนว่า 30 วงน่าจะทำได้ ทั้งนี้ 12 ปีที่ผ่านมาไม่มีผู้นำของเราไป World Economic Forum มาเลย พอเราไป คนก็ให้ความสนใจ อย่างที่ไปมาก็ AstraZeneca บริษัททำยา ซึ่งเข้าหุ้นกับปูนซีเมนต์ไทย สำหรับผลการไปต่างประเทศ โดยรวมแล้วเป็นบวกมากเพราะได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ ประเทศไทยเหมาะสมสำหรับการลงทุน บางเรื่องได้รับการประสานงานร่วมกันระหว่างผู้แทนการค้าไทย บีโอไอ และหลาย ๆ หน่วยงาน รวมถึงสถานทูตไทยได้เชิญชวนกันไปโฆษณาว่าประเทศไทยมีอะไรดี ไม่ว่าจะเป็นพลังงานสะอาด เราพร้อม Incentive จากบีโอไอ เรามีเหนือกว่าประเทศอื่น เรามีรอยยิ้ม เรามีค่าครองชีพที่เหมาะสม เรามีโรงเรียนนานาชาติที่ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เรามี Health care system ที่มีมาตรฐานสูงกว่าหลาย ๆ ประเทศ นักลงทุนจากต่างประเทศที่เขาจะย้ายถิ่นฐานมาเขามีความมั่นใจ เรื่องของการที่เรามีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเยอะ ทำให้เขาเมื่อมาลงทุนแล้วเขามั่นใจว่าที่นี่มั่นคง
นายกฯ กล่าวถึงจุดยืนการทูตของไทยว่า เราไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับประเทศไหน ที่ตนเองเดินทางไปต่างประเทศมาจากการลงทุน จาก EU หรือจากออสเตรเลีย หรือจากจีน หรือจากสหรัฐอเมริกา ทุกประเทศอยากมาลงทุนประเทศไทย ถึงแม้จะมีคู่ขัดแย้งกันเองก็ตามที เพราะเขามั่นใจว่าประเทศไทยจะให้ความเป็นธรรมกับทุกๆฝ่าย ถ้าเกิดมีปัญหาเกิดขึ้นฐานผลิตของเขา Supply chain ของเขาไม่ถูกขัด อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะฉะนั้นทุกคนก็ให้ความมั่นใจกับประเทศไทย เพราะฉะนั้นก็เป็นที่มาที่ไปทำไมเราจึงอยากเป็น Aviation Hub ขยายสนามบินสุวรรณภูมิจาก 60 ล้านคนกลายเป็น 150 ล้านคน สร้างเทอร์มินัล สร้างรันเวย์เพิ่ม แลนด์บริดจ์ทำไมเราจึงอยากมีแลนด์บริดจ์ ในการขนส่ง ไม่ใช่แค่ประหยัดระยะทางที่ลงไปช่องแคบมะละกาอย่างเดียว หรือประหยัดค่าใช้จ่ายอย่างเดียว ในอนาคตถ้าเกิดมีคู่ขัดแย้งเยอะ แล้วประเทศที่ควบคุมโลจิสติกส์การเดินทางทั้งหลาย ไม่เป็นกลาง ใครทะเลาะกับใคร ใครจะเข้าข้างใครก็ทำให้เส้นทางการขนถ่ายสินค้าเขามีปัญหา แต่ถ้าเกิดว่าเราเป็นประเทศเป็นกลาง อย่างไรเสียเขามั่นใจว่าการดูแลการขนถ่ายสินค้าของทุก ๆ ประเทศจะได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรม ตนเองเชื่อว่าการตัดสินใจมาลงทุนของเขา ก็จะมีความเป็นไปได้สูงขึ้น
นายกฯ กล่าวด้วยว่า การเดินทางไปต่างประเทศไปเพื่อแนะนำตนเอง และที่สำคัญคือนำมาซึ่งความมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนไทย จากการลงทุนที่ต่างชาติเขาจะมาขยายการลงทุนที่ประเทศไทย แต่ว่าทุก ๆ อย่างใช้เวลา อย่างเช่น เราจะ Move จากอุตสาหกรรมที่มีกำไรน้อยไปสู่อุตสาหกรรมกำไรสูง Low tech เป็น High tech Industry ไม่ได้สร้างได้ภายในวันเดียว ต้องมีวิธีการหลาย ๆ อย่าง เช่น การตัดสินใจในการซื้อ พื้นที่ งบลงทุน อะไรต่าง ๆ นานา ตนเชื่อว่ามีอะไรต้องทำควบคู่กันไป โดยเร็ว ๆ นี้จะประชุมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษาฯเรื่องของการที่เราจะต้องยกระดับ Skillsets ของ Worker ไทย เรื่องของการที่สถาบันอุดมศึกษาของไทยมี Arrangement กับบริษัทยักษ์ใหญ่ มี Training program แทนที่จะเทรนกันแค่ 3 เดือน เขาขอร้องให้ อว. ออกมาเลย เทรนมาเลย 9 เดือน 1 หนึ่ง แล้วก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของ Curriculum ด้วย เวลาจบไปก็จะได้ทำงานต่อได้เลย ทีนี้ก็พยายามพูดคุยกันต่อ มีเรื่องของรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราต้องคุยกันเยอะ
เมื่อถามว่าอีก 3 ปีจากนี้มองเห็นประเทศไทยและตัวเองอย่างไรบ้าง นายกฯ กล่าวว่า ประเทศไทยจริง ๆ แล้ว เหมือนกับเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงมาก เหมือนรถที่ยังไม่วิ่งเต็มสูบ เหมือน Ferrari 12 สูบ แต่วิ่งอยู่แค่ 6 - 7 สูบเท่านั้น แล้ว 6 - 7 สูบเราก็เดินหน้ากันเต็มที่ แต่เราก็ต้องค่อย ๆ ทำกันไป เพราะอย่างที่บอกมีหลายเรื่อง ไม่ใช่ทำเองได้ ตัดสินใจภายในคนเดียวได้ มีทั้งพรรคร่วมรัฐบาล มีฝ่ายตรวจสอบ มีทั้งรัฐสภา มีทั้งข้าราชการ มีทั้งเอ็นจีโอ ซึ่งในหลาย ๆ Initiatives ก็เป็น Initiatives ที่อาจจะมีคนแย้งบ้าง ก็ต้องทำเรื่องของประชาพิจารณ์ เป็นอะไรที่มีคนมีข้อกังขาเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น ทุกคนบ่นเรื่องค่าไฟแพง ค่าไฟที่ถูกที่สุดคือพลังงานนิวเคลียร์ พูดมาตรงนี้ทุกคนก็บอกว่าอยากได้หมด แต่ว่าอย่ามาอยู่บ้านฉันนะ ไปอยู่บ้านคนอื่นก็แล้วกัน อย่างนี้เป็นต้น ตนเองก็เริ่มต้นทำการค้นคว้าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่านี่คือเรื่องที่เรากำลังดูอยู่ และก็มีหลาย ๆ เรื่อง เช่น Entertainment complex ซึ่งเป็นธุรกิจสีดำอยู่ใต้ดินเป็นล้านล้าน เราจะยอมให้มีธุรกิจแบบนี้อยู่ต่อไปหรือ หรือเราจะยกมาบนดิน ก็ยอมรับไปแล้วก็เก็บภาษีให้ถูกต้อง และควบคุมด้วยความประพฤติ ควบคุมเรื่องอาชญากรรมได้ ตนเองคิดว่าถึงเวลาหรือยังที่ประเทศต้องยอมรับเรื่องพวกนี้ ประเทศอื่นเขาก็มีแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงหนึ่งของรายการนายกฯได้นำผลิตภัณฑ์ เช่น ผ้าขาวม้า กระเป๋ากระจูด ผ้าลายเพ็ชรราชวัตร ที่ประชาชนมอบให้นายกฯ และนายกฯได้นำไปใช้ที่ต่างประเทศมาโชว์ด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความจริง 'ชั้น 14' ชี้ชะตา 'รัฐบาลอิ๊งค์'
นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ประธานสถาบันสุจริตไทย และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อายุรัฐบาลขึ้นกับความจริงบนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ (รพ.ตร.)
'ดร.ณัฏฐ์' ชี้กรณี 'ทักษิณ-พท.' รอดคดีล้มล้างฯ ไม่ตัดอำนาจ 'กกต.' ไต่สวนยุบพรรคได้
ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร เพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยว่าการกระทำของนายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยเป็นการ
‘ยิ่งลักษณ์’ กลับคุก ‘บิ๊กเสื้อแดง’ รู้มา! ว่าไปตามราชทัณฑ์ไม่ใช้สิทธิพิเศษ
“เลขาฯ แสวง” ยันเดินหน้าคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองต่อ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกับศาล รธน. "จตุพร" ลั่นยังไม่จบ! ต้องดูสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป
'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน
ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
ลุ้นระทึก! เลือก ‘อบจ.’ 3 จว. ‘กกต.’ จับตาที่อุดรฯแข่งดุ
“เลขาฯ แสวง” มั่นใจเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี แข่งขันสูงไม่ใช่ปัญหา แต่ช่วยกระตุ้นประชาชนออกมาใช้สิทธิ เผยมีเรื่องร้องเรียน 2 เรื่อง ใส่ร้ายระหว่างผู้สมัคร เร่งตรวจสอบ
'วรชัย' ชี้ 'ยิ่งลักษณ์' ไม่ได้รับความเป็นธรรม บอกกลับไทยตามกระบวนการไม่มีสิทธิพิเศษ
นายวรชัย เหมะ อดีตสส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ออกมาบอกว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร