'40 สว.' คาดไม่เกิน 3 เดือน ศาลตัดสิน 'เศรษฐา' รอดหรือร่วง

‘กลุ่ม 40 สว.’ คาดไม่เกิน 3 เดือน ศาลรธน.นัดอ่านคำตัดสินคดี ‘เศรษฐา’ เป็นไปได้เปิดห้องพิจารณาไต่สวน ชี้นายกฯ เสี่ยง 50-50 ไม่รอดก็ร่วง

24 พ.ค. 2567 – นายประพันธ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะหนึ่งในกลุ่ม 40 สว. ที่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี วิเคราะห์ว่า กระบวนการพิจารณาไต่สวนคำร้องคดีดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญต่อจากนี้ คิดว่าไม่น่าจะเกินสามเดือน ก็น่าจะมีการนัดอ่านคำวินิจฉัย เพราะคำร้องคดีลักษณะดังกล่าว ไม่ใช่คดีที่มีความสลับซับซ้อนเท่าใดนัก ข้อเท็จจริงที่เป็นพยานหลักฐานในคดี ปรากฏอยู่ในคำร้องค่อนข้างครบถ้วนอยู่แล้ว

แต่อาจจะมีพยานที่อาจเข้ามาเพิ่มเติมบ้างในคดีจากการพิจารณาไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญ หรือจากการฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ เช่น คณะกรรมการกฤษฎีกา หรือเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ก่อนที่นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องจะนำชื่อ (พิชิต ชื่นบาน) ขึ้นกราบบังคับทูลฯ คิดว่าการพิจารณาไต่สวนคำร้องไม่เกินสามเดือน ก็น่าจะมีการนัดฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามไทม์ไลน์ที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยพิจารณามาก่อนหน้านี้

“ส่วนการที่จะมีการเปิดห้องไต่สวนพิจารณาคำร้องเพื่อเรียกบุคคลต่างๆ มาให้ถ้อยคำต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น ผมคิดว่า อาจเป็นไปได้ที่ศาลรัฐธรรมนูญอาจมีการเปิดห้องพิจารณาไต่สวนคดี เพราะว่าศาลรัฐธรรมนูญก็คงต้องการให้การพิจารณาคดีดำเนินไปอย่างรอบคอบและให้ได้ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนมากที่สุด เพราะว่าประเด็นตามคำร้อง มีผลกระทบต่อสถานะ ตำแหน่งหน้าที่ของบุคคลสำคัญที่เป็นถึงระดับนายกรัฐมนตรี ดังนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้ผู้ถูกร้อง สิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่สิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรี ศาลรัฐธรรมนูญ ก็คงต้องการให้ได้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติ เพียงพอที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยได้” นายประพันธ์ ระบุ

นายประพันธ์ กล่าวว่า คำร้องนี้ worst case ก็คือ นายกรัฐมนตรีถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ให้สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีเป็นการเฉพาะตัว และอาจมีผลไปถึงการเมืองในภาพรวมที่จะให้มีการสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่จากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่ถ้าไม่ใช่แบบนี้ ก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำร้อง ก็มีแค่สองกรณีเท่านั้น เพราะศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว คือ มีโอกาสทั้งที่อาจจะมีการเปลี่ยนนายกฯ หรือไม่ก็ยังเป็นนายกฯ คนเดิม และศาลยกคำร้อง เขาก็ทำหน้าที่นายกฯ ต่อไป แล้วถ้าจะเปลี่ยนแปลงการเมืองใดๆ ก็อาจด้วยเหตุอื่น ไม่ใช่เหตุจากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

“แม้จะไม่ได้สั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็ถือว่านายกรัฐมนตรียังอยู่บนพื้นฐานความเสี่ยงที่จะต้องพิจารณาว่าท้ายที่สุดแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้สิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือศาลรัฐธรรมนูญจะยกคำร้อง ทั้งหมดก็อยู่ในภาวะความเสี่ยงที่จะต้องรอฟังผลการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป ตอนนี้ก็ถือว่า นายกฯยังติดบ่วงอยู่ ยังมีความเป็นไปได้ 50-50 ที่จะหลุดหรือไม่หลุดจากตำแหน่ง” หนึ่งในกลุ่ม 40 สว. ระบุ

ส่วนกรณีมีบุคคลเข้ายื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษ พร้อมเอกสารหลักฐานภาพข่าวต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปราม เพื่อขอให้ตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ช่วยทำการตรวจสอบกรณีที่ สว. 40 คน ร่วมกันลงชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ถอดถอนนายเศรษฐาเรื่องการแต่งตั้งนายพิชิตมีการปลอมแปลงลายเซ็น สว. นั้น นายประพันธ์ กล่าวว่า เป็นความพยายามของกลุ่มที่ต้องการจะดิสเครดิตการทำหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา ก็จะมีมนุษย์ประเภทนี้

ซึ่งประเด็นปัญหาของเรื่องนี้ก็คือ บุคคลดังกล่าวเป็นใคร ที่อ้างตัวว่าเป็นทนายความ ต้องถามว่าคุณเสียหายอะไร เรื่องนี้คุณไม่ใช่ผู้เสียหาย แล้วมาอ้างว่าเป็นทนายจากสำนักงานบางแห่งไปเที่ยวร้องให้หน่วยงานต่างๆ ตรวจสอบ ทั้งที่ไม่ใช่ผู้เสียหาย และเรื่องนี้ในความเป็นจริง หากมี สว.คนใด ได้รับความเสียหายจากกรณีดังกล่าวว่ามีการปลอมแปลงลายเซ็น หรือมีการแอบอ้างลายเซ็นในคำร้อง มีการเอาชื่อไปใส่ในคำร้อง แล้วทำไม ป่านนี้ สว. ที่ถูกอ้างชื่อดังกล่าว ทำไม ยังไม่ออกมาแสดงตัว ก็ในเมื่อเขาเป็นผู้เสียหาย

“หากผมที่เป็น สว. แล้วถูกใครมาแอบอ้างชื่อ แล้วยังมุดหัวอยู่ไม่ยอมแสดงตัวออกมา ถามว่ามันเป็นเรื่องตลกไหม ที่ทำไมหากมีสว.ถูกอ้างชื่อ ทำไมป่านนี้ยังไม่ออกมา ไม่ไปแจ้งความดำเนินคดีเลย เพื่อดำเนินการเลยว่าใครไปแอบอ้างชื่อ ส่วนเรื่องที่มาบอกว่าต้องการให้มีการตรวจสอบ ต้องการให้มีการเปิดเผยรายชื่อ สว. 40 คน อยากบอกว่า ชื่อของ สว.ที่ร่วมกันเซ็น เอกสารอยู่ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว และศาลรัฐธรรมนูญก็พิจารณาคดีโดยเปิดเผย ถ้าอยากรู้ว่ามีใครบ้าง ก็มีผมคนหนึ่งนายประพันธ์ ส่วนคนอื่นที่พร้อมจะเปิดเผยชื่อ เขาก็ยินดีเปิดเผยชื่อ ซึ่งจริงๆ ตามรัฐธรรมนูญ ก็ใช้ชื่อสว.แค่ 25 คน ผมก็อยากรู้ว่าคุณอยากรู้ไปเพื่ออะไรว่าใครเซ็นบ้าง อยากรู้เพราะจะได้หาทางด่าเขา จะหาทางบลูลี่เขาหรืออย่างไร หรือจะมากดดัน สว. ทำไมถึงอยากรู้ เพราะการยื่นรายชื่อไปที่สำนักงานเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ หากรายชื่อไม่ครบแล้วศาลรัฐธรรมนูญจะไปรับเรื่องได้อย่างไร” หนึ่งในกลุ่ม 40 สว. ระบุ

นายประพันธ์ กล่าวด้วยว่า ที่มีการเคลื่อนไหวดังกล่าว พวกตนที่ร่วมลงชื่อในคำร้อง ไม่ได้วิตกอะไร เพราะคนที่เซ็นชื่อในคำร้อง เขาก็ลงชื่อด้วยความองอาจสง่างาม แต่เขาไม่ได้คิดว่าจะต้องไปโฆษณาให้คนรู้ทั้งบ้านทั้งเมืองว่าใครไปเซ็น เพราะไม่เปิดเผย ก็ไม่ได้เป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง แต่เขาเปิดเผยต่อศาลรัฐธรรมนูญ มันเป็นสิทธิส่วนบุคคล ที่จะเปิดหรือไม่เปิดเผยชื่อก็ได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ระทึกสุดขีด! 22 พ.ย. ศาลรธน.ลงมติ 'รับ-ไม่รับ' คำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง

คอนเฟิร์ม ศุกร์นี้ 22 พ.ย. 9 ตุลาการศาลรธน.นัดประชุมวาระพิเศษ หลังงดมาสองรอบ เตรียมนำหนังสือ-ความเห็นอัยการสูงสุด กางบนโต๊ะประชุม ก่อนลุ้นโหวตลงมติ”รับ-ไม่รับคำร้อง”คดีทักษิณ-เพื่อไทย โดนร้องล้มล้างการปกครองฯ

'อนุทิน' เช็กสัญญาณ ครม.อิ๊งค์ ปมศาลรธน.นัดถกรับ-ไม่รับคำร้อง คดีทักษิณ-เพื่อไทย ล้มล้างการปกครอง

ที่ด่านพรมแดนบ้านผักกาด ตำบลคลองใหญ่ อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี นายอนุชิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณี ที่ในวันพรุ่งนี้(22 พ.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณารับคำร้อง

นายกฯ อิ๊งค์ฝากติดตามแถลง 12 ธ.ค.ผลงานรัฐบาล 90 วัน

นายกฯอิ๊งค์ ลั่นรัฐบาล มุ่งสร้างโอกาสจับต้องได้ให้ประชาชน ปากท้องอิ่ม ดึงศักยภาพคนไทย ลั่นปรับสมดุลการค้าสหรัฐ-จีน ย้ำ รบ.อยู่ครบเทอม ฝากติดตามแถลงผลงานรัฐบาล 12 ธ.ค.นี้

เปิดโปรแกรมทัวร์ 'ครม.สัญจรอิ๊งค์' นัดแรกที่เมืองเหนือ

เปิดโปรแกรม 'ครม.สัญจรอิ๊งค์' นัดแรก จัดที่แม่ริม เชียงใหม่ 29 พ.ย. ก่อนถก 'คลังสัญจร' เชียงราย ฟื้นฟูพื้นที่เศรษฐกิจ พร้อมพบประชาชน