'เศรษฐา' รอดยาก! จับตาเอกสารสลค.สำคัญที่สุดในการเข้าข่ายเลี่ยงกฎหมาย

เศรษฐา

24 พ.ค.2567- นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า
·
ยังไม่สิ้นกระบวนความ
แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับฟ้อง พิชิต ชื่นบาน เพราะลาออกไปก่อน
และแม้ไม่สั่งให้เศรษฐาหยุดปฏิบัติหน้าที่
ก็ใช่ว่า เศรษฐา จะรอดได้

ประเด็นพิจารณา

1.แม้ไม่รับฟ้อง พิชิต ชื่นบาน เหตุเพราะท้ายสุดการบังคับโทษคือให้ออกนั้นก็ลาออกไปแล้ว แต่ ใช่ว่าศาลจะไม่รับเอามาพิจารณาพฤติกรรมแห่งคดี เพื่ออธิบายความผิดของ เศรษฐา ทวีสิน ผู้ถูกร้องที่ 1 เหตุเพราะว่า ตามร้องพฤติกรรมแห่งคดีหลักเกิดจากความไม่มีคุณสมบัติของ พิชิต ชื่นบาน ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยแรกก็คือ มีหรือไม่มีคุณสมบัติ ก่อนจะนำมาสู่นายกฯผิดหรือไม่ผิด พฤติกรรมแห่งคดีจึงมาจาก พิชิต ชื่นบาน ศาลนำมาพิจารณาได้แต่ไม่ได้ลงโทษ พิชิต ชื่นบาน เพราะลาออกไปแล้ว

2.แม้ตุลาการจะมีมติ 5:4 ไม่สั่งให้หยุดการปฎิบัติหน้าที่ไว้ก่อน แต่ก็ใช่ว่ามติแห่งการทำผิดจะไปเป็นเช่นนั้น ดังนั้นจึงอยู่ที่ นายกฯจะอธิบายต่อศาลเช่นไร หลักฐานทางราชการที่สำคัญคือ เอกสารที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.)สอบถามไปนั้นเป็นเอกสารพยานที่สำคัญที่สุดในการเข้าข่ายเลี่ยงกฎหมาย

สมการตัวเลขของมติต่างๆของศาลรัฐธรรมนูญว่ารับไม่รับคำร้อง และ หยุดหรือไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่ จึงไม่ได้เป็นตัวกำหนดความถูกต้องหรือกำหนดคำตัดสิน

คำตัดสินในอนาคตอาจจะ 5:4 เหมือนเดิม แต่ 5 อาจเป็นฝ่ายให้หลุดจากตำแหน่งนายกฯก็เป็นไปได้
เศรษฐา รอดยาก

สำหรับเอกสารดังกล่าว สืบเนื่องจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นในปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี เฉพาะตามมาตรา 160 (6) ประกอบกับมาตรา 98 (7) และมาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีหนังสือลงวันที่ 1 ก.ย.2566 ตอบกลับเลขาธิการคณะรัฐนตรี โดยมีเนื้อหาระบุว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าว โดยมีผู้แทน สลค.และผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริง และมีความเห็นในแต่ละประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง เห็นว่ามาตรา 160 ของรัฐธรรมนูญฯ เป็นบทบัญญัติที่กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลซึ่งจะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยใน (6) ของมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า รัฐมนตรีต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ซึ่งมาตรา 98 (7) กำหนดลักษณะต้องห้ามไว้ว่า "เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลทุโทษ" ดังนั้น การได้รับโทษจำคุกไม่ว่าโดยคำพิพากษาหรือคำสั่งใด จึงเป็นลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี บุคคลซึ่งเคยได้รับโทษจำคุกในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล จึงเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าว เว้นแต่บุคคลนั้นได้พ้นโทษเกินสิบปีแล้ว หรือได้รับโทษจำคุกในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ อันเป็นข้อยกเว้นที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

ประเด็นที่สอง เห็นว่ามาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติไว้ชัดเจนว่า รัฐมนตรีต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวไม่รวมถึงคำสั่งให้จำคุก ดังนั้น ผู้ซึ่งจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี จึงต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก

ทั้งนี้ การให้ความเห็นในกรณีนี้เป็นการตอบข้อหารือตามที่ผู้แทน สลค.ชี้แจงต่อกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ว่าประสงค์จะขอหารือเฉพาะกรณีมาตรา 160 (6) ประกอบกับมาตรา 98 (7) และมาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เท่านั้น

"อนึ่ง ข้อหารือนี้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ อันเป็นหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย การวินิจฉัยชี้ขาดเป็นที่สุดย่อมเป็นหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ การให้ความเห็นในกรณีนี้จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น" ตอนท้ายของหนังสือกฤษฎีการะบุ

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า สลค.ถามกฤษฎีกาประเด็นเดียวเรื่อง โทษจำคุก ซึ่งรับโทษพ้น 10 ปีมาแล้ว จึงไม่ขัดต่อ รธน. มาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (7) ส่วนคุณสมบัติตาม มาตรา 160 (4) "มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์" และ (5) "ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง" ไม่ได้ถามแต่อย่างใด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จี้ 'พิชัย' พ้นเก้าอี้ รมว.คลัง ความผิดสำเร็จ เสนอชื่อ 'กิตติรัตน์' ขาดคุณสมบัติเป็นปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ

นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) โพสต์ระบุว่า ไม่รอด กิตติรัตน์ ณ ระนอง ขาดคุณสมบัติ เป็นประธานบอร์ดแบงค์ชาติ เพราะนั่งที่ปรึกษาของนายกฯ

ป่วยทิพย์ชั้น 14 ร้อน! มวลชนยื่น 4 ข้อเรียกร้อง ป.ป.ช.อย่าทำให้สิ้นศรัทธา

'อดีตแกนนำพันธมิตร​ -​ กปปส.​ -​ จตุพร' นำมวลชนบุก ​ป.ป.ช.​ยื่น​ 4 ข้อเสนอประกอบการพิจารณาคดีป่วยทิพย์ชั้น​ 14 'ตู่' รับยังไม่ไว้วางใจกันทำหน้าที่ เลขาฯ ​ป.ป.ช.ขออย่ากังวล ทำหน้าที่ตามพยานหลักฐาน