อดีตตุลาการศาล รธน.ชี้ชัดปมถามกฤษฎีกาคุณสมบัติ 'พิชิต' เหมือนจงใจช่วย!

'เศรษฐา' คอพาดเขียง ศาล รธน.ควรต้องรับคำร้องไว้ไต่สวน “สุพจน์” อดีตตุลาการมือยกร่าง กม.วิธีพิจารณาคดีของศาลมาเอง ชี้ควรไต่สวนให้สิ้นกระแสความ ระบุส่อพิรุธถามกฤษฎีกาไม่ครบเหมือนเลี่ยงจะช่วย

22 พ.ค.2567 - นายสุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 (กรธ.) ที่สำคัญเป็นอดีตรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ที่เป็นกฎหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ปัจจุบัน กล่าวถึงการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาคำร้องของ 40 สว.ในวันพฤหัสบดีที่ 23 พ.ค.นี้

โดยเมื่อถามว่าตอนนี้นายพิชิต ชื่นบาน ลาออกจาก รมต.สำนักนายกรัฐมนตรีไปแล้วแต่คดีนี้มีผู้ถูกร้องสองคน อีกคนคือนายกรัฐมนตรีจะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รับคำร้องหรือไม่ นายสุพจน์กล่าวว่า อยู่ที่ดุลยพินิจของตุลาการศาล รธน.ทั้ง 9 คน ว่าจะพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ เป็นเรื่องคาดการได้ยาก การจะเอาคดีอื่นๆ ก่อนหน้านี้ที่ศาลเคยวินิจฉัยไว้มาพิจารณาประกอบกับเรื่องนี้ก็พิจารณาได้ แต่รายละเอียดมันแตกต่างกัน

ถามย้ำว่า เมื่อคดีนี้มีผู้ถูกร้องสองคน แต่คนหนึ่งลาออกไป จะทำให้ศาลรับไว้หรือไม่ นายสุพจน์กล่าวว่า อยู่ที่ตุลาการศาล รธน. ว่าจะมีดุลยพินิจอย่างไร จะเอาคำร้องคดีอื่นๆ มาเทียบเคียงไม่ได้

“คดีนี้เท่าที่ผมติดตาม เรื่องนี้มันซับซ้อนมาก อาจจะต้องมีการไต่สวน ว่าทำไมก็รู้ทั้งรู้ว่า มีเรื่องของจริยธรรม การประพฤติผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง แล้วทำไมยังฝืนตั้งอีก แล้วยังมีประเด็นอื่นๆ อีก เป็นเรื่องคาดการได้ยาก ซึ่งมันไปได้หมด คือหากเขาไต่สวนแล้วได้ความว่า ตอนที่มีการส่งหนังสือไปถามความเห็นกับทางคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ปรากฏว่าประเด็นที่ถามกฤษฎีกากลับมีการเว้นไม่ถามกฤษฎีกาในเรื่องจริยธรรม ไม่ถามเรื่อง ความประพฤติตามประมวลจริยธรรมหรือไม่ ก็แสดงว่าเขารู้ว่า ถ้าถามไปกรรมการกฤษฎีกาจะตอบอย่างไร จึงไม่ถามกฤษฎีกาแล้วมาบอกว่า ถามกฤษฎีกาไปแล้ว กฤษฎีกาบอกว่าไม่มีปัญหาอะไร มันเป็นปมที่ต้องสืบพยานให้ชัดเจน ว่าผู้ถูกร้องมีเจตนาอย่างไร”อดีตผู้ยกร่างกฎหมายวิธีพิจารณาคดีของศาล รธน.ระบุ

ทั้งนี้ การประชุมตุลาการศาลรธน.วันพฤหัสบดีที่ 23 พ.ค.นี้ ซึ่งมีรายงานว่า ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาล รธน.ได้นัดประชุมตุลาการศาล รธน.ประชุมที่เป็นการประชุมรายสัปดาห์ ซึ่งเลื่อนมาจากการประชุมในวันพุธที่ 22 พ.ค. เพราะเป็นวันหยุดราชการ โดยสำนักงานเลขาธิการศาล รธน.ในฐานะฝ่ายธุรการ จะเสนอคำร้องดังกล่าวให้ที่ประชุมตุลาการศาล รธน.พิจารณาว่าจะรับคำร้องไว้วินิจฉัยหรือไม่ รวมถึงคาดว่า จะมีการแจ้งให้ที่ประชุมตุลาการศาล รธน.ทราบว่า ปัจจุบันนายพิชิตผู้ถูกร้องที่สอง ในคำร้องคดีดังกล่าว ได้ลาออกจาก รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว จึงคาดว่า ทำให้ที่ประชุมตุลาการศาล รธน.ต้องพิจารณาว่า จะรับคำร้องไว้วินิจฉัยหรือไม่ หลังนายพิชิตลาออกจากรมต.ไปแล้ว แต่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ในฐานะผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ยังเป็นนายกฯ อยู่ ซึ่งคาดว่า ที่ประชุมตุลาการศาล รธน.ต้องพิจารณาโดยอ้างอิง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 51 ที่บัญญัติว่า “คําร้องที่ได้ยื่นต่อศาลไว้แล้ว ก่อนศาลจะมีคําวินิจฉัยหรือมีคําสั่ง ถ้าผู้ร้องตาย หรือมีการขอถอนคําร้อง หรือไม่มีเหตุที่จะต้องวินิจฉัยคดีนั้น ศาลจะพิจารณาสั่งจําหน่ายคดีนั้นก็ได้ เว้นแต่การพิจารณาคดีต่อไปจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สมศักดิ์' เชื่อไม่ซ้ำรอยรัฐบาลเศรษฐา โยนฝ่ายกฎหมายแจง 6 ประเด็นคำร้องยุบพท.

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว. สาธารณสุข ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ประเด็นทางการเมืองในขณะนี้โดยเฉพาะกรณีนายธีรยุทธ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ผู้ร้องในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องขอศาลรัฐธรรมนูญโปรดวินิจฉัยวินิจฉัยยุบพรรคเพื่อไทย(พท.)

นายกฯ ยันนโยบายส่วนใหญ่สานต่อยุคเศรษฐา!

นายกฯ เผยได้ข้อสรุปนโยบายส่วนของเพื่อไทยวันนี้ ขณะพรรคร่วมฯทยอยส่งนโยบายรัฐบาลแล้ว เชื่อปมกัญชาไม่เป็นปัญหาคุยกันได้ ส่วน 'เพื่อไทย' ยังเหมือนเดิม แต่ปรับรายละเอียดดิจิทัลวอลเล็ตเล็กน้อย

'อดิศร' รับเป็นผู้เปิดประเด็นเขี่ยพลังประชารัฐพ้นพรรคร่วม

'อดิศร' อัดคนร่วม รบ.ต้องมีความจริงใจไม่ใช่ถือมีดสั้นปักหลัง เมินนักร้อง ร้องเรียนภายหลังบอกเป็นเอกสิทธิ์ แต่ถามกลับ ทำหน้าที่อะไรบ้าง จวกสร้างแต่ความเสียหายให้ประเทศ