ผุด 'กรรมการนิรโทษกรรม' ผ่าทางตัน ล้างผิด 112 เข้าทางก้าวไกลเป๊ะ

จับตาผุดโมเดล”กรรมการนิรโทษกรรม”ผ่าทางตัน ล้างผิด 112 ตั้ง 13 อรหันต์ พิจารณาคดีแรงจูงใจทางการเมืองในรอบ 20 ปี 2548-2568 พบตรงกับกฎหมายนิรโทษฯของก้าวไกล

19 พ.ค.2567 – นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ และยังเป็น ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่เป็นอนุกรรมาธิการฯ ในคณะกมธ.วิสามัญศึกษาการตรา พรบ.นิรโทษกรรมฯ เปิดเผยความคืบหน้าการทำงานว่า นอกจากคณะอนุกรรมาธิการฯ จะไปรวบรวม สถิติ-ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดที่มีแรงจูงใจทางการเมือง ที่อาจจะได้รับการนิรโทษกรรมหากมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแล้ว อนุกรรมาธิการฯ ได้รับมอบหมายจาก คณะกรรมาธิการฯชุดใหญ่ ให้ศึกษาโมเดลการตั้ง ”คณะกรรมการนิรโทษกรรม”ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ และหากจะให้มี จะให้มีรูปแบบอย่างไร เช่น ที่มาของคณะกรรมการ-โครงสร้างคณะกรรมการ -อำนาจหน้าที่-วาระการทำงานของคณะกรรมการฯ

นายยุทธพร เปิดเผยว่า การประชุมของคณะกรรมาธิการฯชุดใหญ่เมื่อ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมาธิการฯได้เสนอโครงสร้างของคณะกรรมการนิรโทษกรรมฯ แต่ว่ายังไม่มีมติ ซึ่งทางที่ประชุมก็ขอให้มีการพิจารณาปรับแก้ และมีการเสนอความเห็นประกอบเพิ่มเติมมาให้อนุกรรมาธิการฯ ไปพิจารณา โดยเบื้องต้น ตอนนี้โครงสร้างของคณะกรรมการนิรโทษกรรมยังไม่ได้ข้อยุติ แต่เบื้องต้นคณะกรรมการนิรโทษกรรม จะมีกรรมการรวม 13 คน โดยกรรมการประกอบด้วย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ รมว.ยุติธรรม ส.ส.ที่ได้รับเลือกมาที่เป็นตัวแทนของฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล อดีตตุลาการศาลปกครองปกครองสูงสุดหรือตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่ทำหน้าที่อยู่ อดีตอัยการหรืออัยการที่ทำหน้าที่ในปัจจุบัน นักวิชาการ ตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน โดยมีเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นเลขานุการคณะกรรมการนิรโทษกรรม

 ประธานอนุกรรมาธิการศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตราพรบ.นิรโทษกรรม ย้ำว่า  โครงสร้างกรรมการดังกล่าวข้างต้น ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะให้กรรมการนิรโทษกรรมเป็นกรรมการที่ขึ้นอยู่กับส่วนราชการสังกัดใด โดยเบื้องต้นจะให้กรรมการนิรโทษกรรมจะมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาว่าการกระทำใดที่จะเข้าข่ายที่จะได้รับการนิรโทษตามกฎหมายนิรโทษกรรม และการกระทำใดที่อาจไม่ได้อยู่ในฐานความผิดแนบท้ายตามพรบ.นิรโทษกรรมฯ ที่จะออกมา แต่หากมีเหตุที่กรรมการมีข้อสงสัยหรือมีผู้มาร้อง ทางกรรมการนิรโทษกรรมก็มีอำนาจที่จะพิจารณาได้ว่าเข้าข่ายที่จะได้รับการนิรโทษตามกฎหมายนิรโทษกรรมหรือไม่ รวมไปถึงการให้สามารถเสนอมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบหรือผู้ได้รับความเสียหายต่างๆ ไปยังฝ่ายบริหารก็คือคณะรัฐมนตรีที่จะพิจารณาดำเนินการต่อไป เป็นต้น

นายยุทธพร กล่าวว่า สำหรับคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรม เบื้องต้นยังอยู่ที่กรอบเดิมคือ ต้องเป็นคดีที่อยู่ใน  25 ฐานความผิดที่จะเป็นบัญชีแนบท้ายในกฎหมายนิรโทษกรรมที่จะออกมาว่า จะมีฐานความผิดใดบ้างที่จะได้รับการนิรโทษกรรม แต่ก็อาจต้องเปิดช่องไว้ เพราะในอนาคต อาจจะมีฐานความผิดที่อาจจะตกหล่นไป โดยที่คณะกรรมการนิรโทษกรรมสามารถจะหยิบขึ้นมาพิจารณาได้หรือแก้ไขเพิ่มเติม 

เมื่อถามว่า ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาการออกกฎหมายนิรโทษกรรม มองกระแสสังคมที่บางฝ่ายต้องการให้มีการนิรโทษกรรมคดี 112 รวมอยู่ใน 25 ฐานความผิดในกฎหมายนิรโทษกรรมอย่างไร นายยุทธพรกล่าวว่า  25 ฐานความผิดที่กรรมาธิการพิจารณา ไม่เคยมีการตัดฐานความผิดเรื่อง 112 ออกไปแต่อย่างใด

“แต่เรื่องการจะให้นิรโทษกรรมคดี  112 หรือไม่ ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่ยังมีความแตกต่างทางความคิดกันอยู่ค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นในชั้นกรรมาธิการหรือในสังคมก็ตาม ดังนั้น เป็นเรื่องที่ต้องมีการพูดคุยกัน และหาข้อสรุปร่วมกัน เพราะไม่เช่นนั้น หากแต่ละฝ่ายยืนอยู่ในจุดของตัวเอง โอกาสที่เราจะหาทางออกหรือทำให้สังคมเดินหน้า มันก็ทำให้สังคมเดินไปไม่ได้ วันนี้ต้องพูดคุยกันว่า จะมีกลไกหรือกระบวนการอย่างไรในมาตราดังกล่าวนี้” นายยุทธพร ระบุ

ประธานอนุกรรมาธิการฯ  ศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตราพรบ.นิรโทษกรรมฯ เปิดเผยด้วยว่า สำหรับช่วงระยะเวลาการกระทำความผิดของผู้ถูกดำเนินคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรม อนุกรรมาธิการฯมีการเสนอให้แบ่งออกเป็น 4 ช่วงคือ ช่วงที่หนึ่ง นับตั้งแต่ 1 มกราคม 2548 ถึงช่วงปี 2551,ช่วงที่สอง คือช่วงตั้งแต่ปี 2552 ถึงช่วงปี 2555,ช่วงที่สาม คือช่วงตั้งแต่ 2556 ถึงช่วงปี 2562,ช่วงที่สี่ คือช่วงตั้งแต่ ปี 2563 ถึงช่วงปี 2567 หรือวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้

“การนิรโทษกรรมครั้งนี้ คือการนิรโทษกรรมครั้งที่ใหญ่ที่สุด เท่าที่เคยทำมา ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่เคยมีการให้นิรโทษกรรมในช่วงเวลาที่ยาวนานถึงเกือบยี่สิบปีขนาดนี้ เจตจำนงของการนิรโทษกรรม ต้องนำไปสู่การสร้างความสมานฉันท์ สร้างความปรองดองในสังคม ถ้าจะนิรโทษกรรมแล้วสร้างความขัดแย้งใหม่ มันก็ไม่ใช่การนิรโทษกรรม

ทั้งนี้ มีรายงานว่าโมเดลการให้มีคณะกรรมการนิรโทษกรรม ฯ จะทำหน้าที่เหมือนกับคณะกรรมการาชทัณฑ์ ที่คอยพิจารณาเรื่องการให้นักโทษได้รับการพักโทษหรือได้รับการลดโทษในแต่ละช่วง เช่น วันสำคัญของประเทศ

ซึ่งโมเดลคือ หากมีกฎหมายนิรโทษกรรมมีผลบังคับใช้แล้ว กลุ่มผู้ถูกดำเนินคดี-จำเลย-ผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีตาม บัญชีแนบท้ายฐานความผิดที่ได้รับการนิรโทษกรรม หน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานศาลยุติธรรม ก็จะส่งรายชื่อไปให้คณะกรรมการฯ พิจารณาว่าใครบ้างที่จะได้รับการนิรโทษกรรม หรืออาจให้อำนาจกรรมการพิจารณาว่า ฐานความผิดประเภทใดบ้างที่ควรยกเว้นไม่นิรโทษกรรม หรือนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข ซึ่งรายละเอียดดังกล่าว ยังมีการถกเถียงกันอยู่ในชั้นอนุกรรมาธิการฯและคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดใหญ่ๆ

“เดิมที โครงสร้างของ กรรมการนิรโทษกรรม อนุกรรมาธิการฯ  มีการเสนอให้มีตัวแทนที่เป็นผู้พิพากษาหรืออดีตผู้พิพากษาที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาด้วย แต่ก็มีตัวแทนจากฝ่ายศาลยุติธรรม มาให้ความเห็นว่าไม่เหมาะสมเพราะศาลเป็นผู้พิจารณาคดีและตัดสินคดี หากมาให้เป็นกรรมการนิรโทษด้วย จะเกิดปัญหาได้ ทำให้ ต่อมาก็มีการตัดตัวแทนจากศาลยุติธรรมออก”แหล่งข่าวจากกรรมาธิการฯ ระบุ

มีรายงานว่า โมเดลการให้มีกรรมการนิรโทษกรรม ดังกล่าว ไปสอดคล้องกับ เนื้อหาใน ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากการเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. … หรือร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯของพรรคก้าวไกล ที่ยื่นเข้าสภาฯไปและผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว

โดยร่างของพรรคก้าวไกล เสนอให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม จำนวน  9 คน ซึ่งประธานรัฐสภาเป็นผู้แต่งตั้ง

มีกรรมการประกอบด้วย อาทิเช่น ประธานสภาผู้แทนราษฎร, ผู้นำฝ่ายค้านในสภา, บุคคลที่ได้รับเลือกโดย ครม., บุคคลที่ได้รับเลือกโดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร 2 คน, ผู้พิพากษา/อดีตผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา, ตุลาการ/อดีตตุลาการศาลปกครองซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด, พนักงาน/อดีตพนักงานอัยการซึ่งได้รับเลือกโดยคณะกรรมการอัยการ และเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

ซึ่งแนวทางการเสนอให้มีคณะกรรมการนิรโทษกรรมฯ เพื่อให้ มีการเขียนไว้ในรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการออกพรบ.นิรโทษกรรมฯ  เริ่มถูกกรรมาธิการฯ จากพรรคฝ่ายรัฐบาลจับตามองว่า อาจเป็นทางออกหนึ่งในกรณีหากไม่มีการให้นิรโทษคดี 112 รวมไว้ใน 25 ฐานความผิดที่จะให้นิรโทษกรรมฯ ก็ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการนิรโทษกรรมพิจารณาแทนก็ได้ เพื่อหลีกเลี่ยงแรงต่อต้านกรณีจะมีการนิรโทษกรรมคดี 112 โดยใช้เหตุว่าได้รับการนิรโทษกรรมเพราะเป็นการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง  ซึ่งตรงนี้ยังไม่มีข้อสรุป ต้องรอดูผลการหารือต่อไป. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' อย่าสับสน! โพลวัดผลงาน ไม่ใช่เรตติ้งนายกฯ

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อย่าสับสน !!! ระหว่างผลงาน กับการเลือกนายกฯ คนต่อไป

เปิดมติลับ สว.สีน้ำเงิน ‘มงคล’ นั่งประธานวุฒิฯ ‘บิ๊กเกรียง’ รองฯหนึ่ง ‘บุญส่ง’ รองฯสอง

เปิดมติลับ สว.สีน้ำเงิน 150 คนกลางวงโรงแรมพลูแมน “มงคล-สายตรงเนวิน ”ผงาดนั่งปธ.วุฒิฯ -“บิ๊กเกรียง”นั่งรองฯหนึ่ง “บุญส่ง”รองปธ.คนที่สอง

'วิโรจน์' บอก 7 ส.ค. ผลออกมา ต้องมีคำอธิบายที่ปชช.เข้าใจได้

'วิโรจน์' บอกตามตรง 7 ส.ค. ก็แค่วันปกติ ยัน ไม่ตื่นตระหนก แต่ไม่ประมาท 'คดียุบก้าวไกล' หากผลเป็นลบ ก็ต้องตอบสังคมให้ได้ภายใต้กรอบนิติรัฐ-นิติธรรม