“เศรษฐา” ขนแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ยืนแถลง หลังครม.รับหลักการเงินดิจิทัลหมื่นบาท พร้อมถาม “กฤษฎีกา” อำนาจหน้าที่ ธกส. ย้ำเงินเข้ากระเป๋าปชช.ไตรมาส 4 ด้าน “จุลพันธ์” ยันธนาคารเพื่อการเกษตรฯสภาพคล่องสูง ขณะ ”เผ่าภูมิ“ มั่นใจแจกเงินเดินถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ
23 เม.ย.2567 - เมื่อเวลา 11.50 น. ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง นำแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ , นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย , นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน , ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ , นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ , พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ,นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ,นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
โดย นายเศรษฐา กล่าวว่า ที่ประชุมครม.รับทราบผลการรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงและความเห็นของคณะทำงาน ได้เห็นชอบหลักการกรอบโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ทั้งเรื่องกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมโครงการ แนวทางเข้าร่วมโครงการของประชาชน เงื่อนไขการใช้จ่าย ประเภทสินค้า การลงทะเบียนร้านค้า รวมถึงแหล่งเงินในการดำเนินโครงการ ซึ่งกระทรวงการคลัง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และสำนักงบประมาณ จะศึกษารายละเอียดต่อไป
“ส่วนข้อห่วงใยใดๆเช่นประเด็นอำนาจหน้าที่ของ ธกส. ได้สั่งการหากมีประเด็นข้อสงสัยใดๆให้ส่งเรื่องไปสอบถามยังกฤษฎีกา ซึ่งทุกๆพรรคร่วมรัฐบาลเห็นชอบในหลักการของโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ตดังกล่าว โดย นายจุลพันธ์ จะชี้แจงในรายละเอียดต่างๆหากสื่อมวลชนมีคำถาม” นายเศรษฐา กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการแถลงข่าวดิจิทัลวอลเล็ต สื่อมวลชนได้เตรียมซักถาม ขณะที่นายกฯได้รีบตัดบทจบการแถลงข่าวเรื่องดิจิทัลฯทันที ทำให้แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลถึงกับหัวเราะ และต่างเดินแยกย้ายกลับ ซึ่งจังหวะนี้สื่อมวลชนได้พยายามให้ตอบคำถามต่อ โดยนายกฯระบุว่า ตนจะพูดเรื่องอื่นต่อ แต่เรื่องนี้จบแล้ว โอเคนะครับ ยังมีเรื่องอื่นอีกเยอะ หากจะถามเรื่องเงินดิจิทัลให้ นายจุลพันธ์ อยู่รอตอบก่อน พร้อมกับยกนิ้วชี้ขึ้นมาที่ปากทำสัญลักษณ์ให้เงียบ นายกฯยังระบุอีกว่า ยังมีเนื้อข่าวอีกเยอะไม่ต้องห่วง
ขณะที่ นายจุลพันธ์ ตอบคำถามถึงเหตุผลที่ยังไม่เคาะวันชัดเจนในการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ว่า ยังเคาะวันไม่ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการพัฒนาระบบด้วย แต่แน่นอนเราพยายามเร่งรัดที่สุดในกระบวนการทำทุกอย่าง แต่เราต้องรอบคอบ โดยเฉพาะเรื่องความเสถียรของแอบพลิเคชัน ความมั่นคงปลอดภัยข้อมูลของประชาชนและราชการ รวมถึงการทำตัวเลขต่างๆต้องมีความมั่นคงและปลอดภัย ฉะนั้นเราจะเร่งเกินไปโดยการไปกำหนดเวลาเพื่อบีบจนกระทั่งถึงเวลาแล้วเกิดปัญหาก็เป็นสิ่งที่เราไม่ปฏิบัติ ฉะนั้นยังยืนยันตามกรอบเดิมลงทะเบียนในไตรมาส 3 และเปิดใช้ในไตรมาส 4
เมื่อถามว่ามีการกำหนดประเด็นการถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องใดบ้าง นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ไม่ได้กำหนดประเด็น แต่นายกฯได้สั่งการในที่ประชุม ครม. หากมีข้อสงสัยประเด็นใดก็ตามที่เป็นเรื่องของข้อกฎหมายให้ดำเนินการส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัย ซึ่งเป็นเรื่องของอำนาจหน้าที่ของ ธกส. และตนได้เคยให้ข่าวไปหลายครั้ง ได้ดูในรายละเอียดแล้วและมีความมั่นใจว่าเป็นไปตามกรอบอำนาจหน้าที่ แต่หากจะทำให้เกิดความกระจ่างชัด การสอบถามไปยังกฤษฎีกาเป็นสิ่งที่เราพร้อมอยู่ตลอดเวลา เมื่อถามว่าสรุปกระทรวงการคลังจะไม่ส่งให้กฤษฎีกาใช่หรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ส่ง ประเด็นใดก็ตามหากมีข้อสงสัยในข้อกฎหมาย มากกว่านั้นเราก็พร้อมที่จะส่งไป ไม่ได้มีประเด็น
เมื่อถามว่า สรุปคือกระทรวงการคลังจะส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาว่า ธกส.มีอำนาจในการให้เงินหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ประเด็นนี้คงต้องส่งครับ เมื่อถามว่า ได้นำเรื่องเพื่อเข้าบอร์ด ธกส.เพื่ออนุมัติแล้วหรือยัง นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ยัง ประเด็นของเรื่องนี้ขอเรียนว่ากระบวนการในการดำเนินการตามมาตรา 28 เป็นกระบวนการงบประมาณประเภทหนึ่ง เป็นการดำเนินการตามสิ่งที่เรียกว่านโยบายกึ่งการคลัง นโยบายนี้จะเริ่มดำเนินการได้ตามกรอบของมาตรา 28 ซึ่งจะเริ่มต้นประมาณเดือนต.ค. คงจะใกล้ๆช่วงนั้นถึงจะมีการพิจารณาผ่านบอร์ดและครม.อีกครั้ง ระหว่างวันนี้จนถึงเดือน ต.ค. คงจะต้องดำเนินการอีกหลายๆอย่างในรายละเอียดให้ครบถ้วน ในส่วนของคณะกรรมการกำกับซึ่งตั้งมาแล้วคงจะต้องไปประชุมหารือในรายละเอียดให้ครบ รวมถึงเรื่องการสอบถามกฤษฎีกาเพื่อให้เกิดความกระจ่างและพร้อมดำเนินการซึ่งเหลือเวลาอีก 4-5 เดือน
เมื่อถามว่าระหว่างนี้จะดำเนินการคู่ขนานกันไปใช่หรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า แน่นอน มันเป็นกระบวนการที่วันนี้รับหลักการ ซึ่งครม.เห็นชอบในหลักการและต้องไปดำเนินการในรายละเอียดให้ครบถ้วน เมื่อถามว่าถึงเรื่องสภาพคล่องทาง ธกส. อยากให้รัฐบาลมีความชัดเจนจะเริ่มใช้คืน ธกส.ได้อย่างไร นายจุลพันธ์ กล่าวว่า การถามคำถามอย่าชี้นำ เพราะคำถามบอกว่า ธกส.มาสอบถามว่าให้มีความชัดเจน ซึ่ง ธกส.ไม่ได้มีคำถามอะไรมาเลย เมื่อถามว่าทางสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มีการสอบถามในเรื่องนี้ นายจุลพันธ์ ตอบว่า ไม่ใช่ สหภาพฯก็ไม่ได้ถามคำถามนั้น โดยสหภาพฯได้ถามในรายละเอียดต่างๆซึ่งตนได้ชี้แจงไปแล้ว ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันดี และสหภาพฯมีความพร้อมในการดำเนินการนโยบายนี้เพราะเป็นประโยชน์กับเกษตรกร ในส่วนของสหภาพฯที่เขาเป็นห่วงที่สุดคือกรอบอำนาจหน้าที่ซึ่งเราได้เรียนแล้วตามมติ ครม.ที่จะส่งสอบถามกฤษฎีกาเพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความสบายใจและพร้อม มีแค่นั้นในส่วนสหภาพฯ
“ส่วนคำถามที่เกี่ยวข้องกับสภาพคล่องของ ธกส. ทาง ธกส.มีความมั่นคงและอย่าลืมว่า ธกส.รัฐบาลถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็น เรามีแต่เสริมความแข็งแกร่งให้กับ ธกส. สิ่งที่ผมได้ชี้แจงกับสหภาพฯมี 3 ประเด็นคือ 1.การดำเนินการต้องเป็นไปตามกรอบของกฎหมายทุกประการ รวมถึงอำนาจหน้าที่ของ ธกส. หากมีข้อสงสัยใดในการดำเนินการให้เกิดความกระจ่างชัดรัฐบาลยินดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกฤษฎีกาก็ตาม 2.เสถียรภาพของ ธกส. มีความมั่นคงสูง สิ่งที่เราจะดำเนินการอยู่ในศักยภาพที่ ธกส.จะดำเนินการได้ โดยที่ไม่มีประเด็นปัญหาอะไร แต่รัฐบาลจะดำเนินการอะไรก็ตามแน่นอนมีแต่จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับธนาคารในกำกับ เพราะ ธกส.เป็นปีกหลักปีกหนึ่งในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในการช่วยเหลือเกษตรกร รัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมาใช้บริการ ธกส.มาโดยตลอด รัฐบาลชุดนี้แน่นอนเราเห็นความสำคัญ มีแต่จะทำให้แข็งแกร่งขึ้น และ 3. สิ่งที่ดำเนินการจะไม่กระทบต่อสวัสดิภาพสวัสดิการใดๆของพนักงาน ลูกจ้าง ธกส. เด็ดขาด” นายจุลพันธ์ กล่าว
เมื่อถามว่า มีนโยบายที่จะเพิ่มทุนให้ ธกส. อย่างไร นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้มีการพูดคุยกันในส่วนของพวกเราเอง มีกระบวนการอยู่ แต่กระบวนการพูดคุยเวลาเราเติมเงินกับธนนาคารในกำกับ เช่น การเติมเงิน ให้ ธกส. โดย 1 บาทจะสามารถเปิดเป็นวงเงินสินเชื่อให้กับเกษตรกรเป็น 11 บาท เป็นการเติมความแข็งแกร่งอย่างหนึ่งที่เราพิจารณาอยู่ ส่วนจะเท่าไหร่และเมื่อไหร่ขอประชุมพิจารณากันอีก 1-2 ครั้ง ยืนยันว่า ธกส.มีสภาพคล่องเพียงพอ
เมื่อถามว่าตอนนี้ประชาชนเบาใจได้หรือยังว่าจะได้เงินดิจิทัลจริง นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เบาใจได้ เรายืนยันในกรอบเวลา ที่ประชาชนจะได้ในไตรมาส 4 แน่นอนได้พร้อมกัน สาเหตุที่พร้อมกันเราต้องการให้เกิดอิมแพกทางเศรษฐกิจ เมื่อลงไปแล้วลงไปทีเดียวจะเกิดการกระตุ้น การหมุนเวียน การลงทุน การจ้างงาน เราต้องการผลลัพธ์ตรงนั้น และเรามองตอนนี้การดำเนินการยังไม่ได้ติดขัดอะไร
ด้าน นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการ รมว.คลัง กล่าวยืนยันถึงระบบแอบพลิเคชัน ว่า ไม่มีปัญหาอะไร โดยมี 2 ระบบ คือระบบการลงทะเบียน และระบบธุรกรรมทางการเงิน จะเป็นลักษณะเชื่อมต่อกันในหลายๆภาคส่วน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ซึ่งทั้ง 2 ระบบได้มีการพัฒนาและอยู่ในกรอบเวลาที่ได้กำหนดไว้ โดยจะเปิดให้มีการลงทะเบียนในไตรมาส 3 ปีนี้ และประชาชนจะได้รับเงินในไตรมาส 4 ส่วนรายละเอียดจะมีการแถลงอย่างเป็นทางการอีกที เพื่อยืนยันข้อมูลในส่วนของแอบพลิเคชันอีกครั้ง
เมื่อถามว่าวันข้างหน้าหากมีปัญหาข้อกฎหมายตามมา รัฐบาลจะร่วมกันรับผิดชอบทั้งคณะใช่หรือไม่ นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ขอยืนยันว่าสิ่งที่เราทำถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ เรามีการเช็ครายละเอียดรอบคอบ ทั้งในส่วนอำนาจหน้าที่และการได้มาของงบประมาณต่างๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พ่อนายกฯ ลั่นพรรคร่วมรัฐบาลต้องอยู่ด้วยกันจนครบเทอม
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการประเมินสถานการณ์การเมืองในปี 2568 ว่า การเมืองคงไม่มีอะไร ยังเหมือนเดิม พรรคร่วมรัฐบาลก็เหมือนเดิม การที่ไม่เห็นด้วยกับอะไรกันบ้าง ก็เป็น
เรือลำเดียวกัน! ชื่นมื่น 'ทักษิณ-อนุทิน' ตีกอล์ฟสยบรอยร้าวรัฐบาลแตก
ชื่นมื่น “ทักษิณ - “อนุทิน” ร่วมวงตีกอล์ฟ สยบรอยร้าวรัฐบาลแตก หลังฟาดปม“อีแอบ" ยันสัมพันธ์ยังอยู่ในเรือลำเดียวกัน
'วันชัย' เตือน 6 เดือนจากนี้ หากรัฐบาลอิ๊งค์ไม่มีผลงานโดดเด่น จะอยู่ลำบาก
นายวันชัย สอนศิริ อดีตสมาชิกวุฒิสภา(สว.) โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า รัฐบาลอีแอบ
'ทักษิณ' ขออย่าสนใจ 'อีแอบ' ยันคุยกับ 'ภูมิใจไทย' อยู่ตลอด
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน โดยตบไหล่ผู้สื่อข่าว พร้อมกล่าวว่า “เดี๋ยวไว้เราเจอกันที่เชียงใหม่”
'เอกนัฏ' มั่นใจไม่กระทบเอกภาพรัฐบาล ปมโหวตต่างกฎหมายประชามติ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.) ให้สัมภาษณ์กรณีพรรคร่วมรัฐบาลโหวตแตกต่างร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติว่า สส.พรรครทสช.