อัยการนัดฟังคำสั่งคดี 'จักรภพ' 23 พ.ค. เจ้าตัวแย้มจ่อลุยการเมือง

อัยการนัดฟังคำสั่งคดี ‘จักรภพ เพ็ญแข’ ครอบครองอาวุธสงคราม 23 พ.ค.นี้ เจ้าตัวเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม จ่อลุยการเมืองหลังพ้นคดี ชี้ ‘ยิ่งลักษณ์’ ควรได้ความเป็นธรรมเหมือนทุกคน

22 เม.ย. 2567 – ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก พนักงานสอบสวนกองบังคับการกองปราบปราม นำตัวนายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้องนายจักรภพ ในข้อหาร่วมกันมีอาวุธ เครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิด ที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย และเป็นอั้งยี่ หลังพบความเชื่อมโยงกับอาวุธสงครามจำนวนมากซุกในบ่อน้ำพื้นที่ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา มาส่งยังพนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญา 10

นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความนายจักรภพ เปิดเผยว่า วันนี้พนักงานสอบสวนนำตัวพร้อมสำนวนมาส่งให้พนักงานอัยการพิจารณา โดยเดิมทีสำนวนนี้มีการส่งสำนวนเเละมีความเห็นสั่งฟ้องมาก่อนเเล้ว เเตคดีนี้เดิมมีผู้ต้องหาหลายรายในส่วนที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง บางรายทางพนักงานอัยการก็สั่งไม่ฟ้องในภายหลัง ซึ่งเราก็นำประเด็นในคำพิพากษาที่ยกฟ้องจำเลยมายื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการในวันนี้ว่านายจักรภพไม่เกี่ยวข้อง โดยทางพนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญา10 นัดฟังคำสั่งอีกครั้งในวันที่ 23 พ.ค. เวลา 10.00 น.

ด้านนายจักรภพ กล่าวว่า วันนี้ตนโดยทีมทนายความได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรม เนื่องจากเรามั่นใจในความบริสุทธิ์ของเราในคดีนี้ และเราเชื่อว่ามีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องจึงทำให้เกิดคดีนี้ขึ้นมา แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถพูดได้ เนื่องจากเราต้องการเคารพกระบวนการ ตนมีความเคารพในกระบวนการยุติธรรมจึงได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในครั้งนี้ และที่ได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมเพื่อให้ผลนำมาสู่การสร้างความกระจ่างเเจ้งให้กับเรื่องนี้เเละตนเอง

“ผมมีความมั่นใจว่ากระบวนการยุติธรรมมีความเปลี่ยนแปลงไปมากและยังเป็นที่พึ่งสุดท้าย ในการให้ความเป็นธรรมและความยุติธรรมในทางสังคมและการเมือง เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะหากไม่ได้รับความเป็นธรรม สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปก็จะเป็นสิ่งที่ไม่ดีนัก เป็นการเผชิญหน้าทางการเมือง ถ้าหากกระบวนการยุติธรรมสามารถสร้างความเป็นธรรมเป็นข้อยุติได้จริง ก็เป็นเรื่องที่เป็นข่าวดีสำหรับทุกคนไม่เฉพาะคนในคดีนี้เท่านั้น” นายจักรภพ ระบุ

เมื่อถามว่า หมายถึงคนที่ลี้ภัยในต่างประเทศ เช่น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ด้วยใช่หรือไม่ นายจักรภพ กล่าวว่า ในแง่ของกระบวนการยุติธรรมแล้ว เราหมายถึงทุกคนที่ได้ชื่อว่าเป็นคนไทย ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือผู้ประกอบอาชีพอะไรก็ตาม ถ้าเกิดเป็นคนไทยควรได้รับความเป็นธรรมเสมอภาคเท่าเทียมกันตามกฎหมาย หวังว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนหรือคนอื่นๆ ก็ยังคงซึ่งความยุติธรรมสำหรับทุกคน ทุกฐานะทุกอาชีพในเมืองไทยต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากคดีเสร็จสิ้นแล้วจะเข้าสู่การเมืองเต็มตัวหรือไม่ นายจักรภพ ยอมรับว่า มี เเต่บอกได้เลยว่าการเมืองไม่จีรัง ตนหมายถึงลงการเมืองในภาพกว้าง เพราะแค่การลงรับสมัครเลือกตั้งหรือการรับตำแหน่งต่างๆเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการเมือง การช่วยงานพรรค การช่วยงานกลุ่มการเมืองก็ยังเป็นสิ่งต่างๆ ที่เราทำได้ งานการเมืองที่จะผลักประเทศไปข้างหน้า คงไม่ทิ้งเพราะนี่คือชีวิต ซึ่งระหว่างนั้นถ้าไม่มีอะไรขัดข้องก็อาจจะไปเป็นอาจารย์ หรืออาชีพสื่อมวลชน เพราะสนใจและเป็นอาชีพเก่า ก็คิดว่าคงจะไม่เป็นที่รังเกียจที่จะขอมีบทบาทบ้าง แต่เรื่องใหญ่จริงๆ ก็จะไม่ทิ้งการเมือง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทวี' สั่ง 'DSI' ตรวจสอบข้อเท็จจริง รื้อคดี 'แตงโม' ก่อนยื่นอัยการสูงสุดหรือไม่

ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงษ์ ขอให้กระทรวงยุติธรรม ทำหนังสือถึงอัยการ

ผู้คนจำนวนมากร่วมประท้วงกับพรรคการเมืองฝ่ายขวา หลังเหตุการณ์สลดในเมืองมักเดบวร์ก

สามวันหลังจากการโจมตีตลาดคริสต์มาสในเมืองมักเดบวร์ก ทางตะวันออกของเยอรมนี ผู้สนับสนุนพรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี (AfD) ได้

เทวดาแม้วของขึ้น! เปิดศึกขาประจำกว่า 10 คน รวม ‘แก้วสรร-แฝดน้อง‘

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พ่อน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงฉายา “ทวีไอพี” ของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการ

'ทักษิณ' ถึงเชียงใหม่ ช่วยหาเสียงนายก อบจ. 'สว.ก๊อง' คึกมั่นใจชนะล้านเปอร์เซ็นต์

'ทักษิณ' ถึงเชียงใหม่ 'เจ๊แดง-สมชาย-พิชัย' ต้อนรับ แวะกินก๋วยเตี๋ยวร้านมิชเชอร์ลิน 7 ปีซ้อน ก่อนช่วงเย็นขึ้นปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก อบจ. 'สว.ก๊อง' ลั่นมั่นใจล้านเปอร์เซ็นต์

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 41): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น