อนุกมธ.นิรโทษฯ ชงล้าง 25 ความผิดแรงจูงใจทางการเมือง

17 เม.ย.2567 - ที่รัฐสภา นายนิกร จำนง ประธานอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องจากแรงจูงใจทางการเมือง ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม แถลงความคืบหน้าการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า อนุกมธ.ได้ประชุมครั้งสุดท้ายเพื่อสรุปแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย พิจารณาในวันที่ 18 เม.ย. เวลา 13.00 น.

สาระสำคัญที่อนุกมธ.ได้ข้อสรุปคือ นิยามแรงจูงใจทางการเมืองให้หมายถึง การกระทำที่มีพื้นฐานมาจากความคิดที่เกี่ยวพันกับเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง หรือต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งหรือความไม่สงบทางการเมือง โดยอนุกมธ.ได้รวบรวมข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง จากสำนักงานศาลยุติธรรมที่มีการรวบรวมสถิติไว้อย่างเป็นระบบเป็นข้อมูลสถิติในการนำเสนอ เบื้องต้นฐานความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นนิรโทษกรรม มีทั้งหมด 25 ฐานความผิด นำมาจากบัญชีท้ายร่างพ.ร.บ.การอำนวยความยุติธรรมทางอาญา ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสันติสุข ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ฐานคดีความผิดทางการเมือง ปี 2557-2567 ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และกฎหมายที่มีความเกี่ยวเนื่องกับแรงจูงใจทางการเมือง จะใช้ครอบคลุมการกระทำความผิดอันเนื่องจากแรงจูงใจทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2548-2567

นายนิกร กล่าวอีกว่า ส่วนฐานความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง จะประกอบด้วย 1.การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กลุ่มพันธมิตรฯ) ปี2548-2551 2.การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ปี2550-2553 3.การชุมนุมกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)ปี2556-2557 4.การชุมนุมกลุ่มนักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชน ปี 2563 ถึงปัจจุบัน

ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา110 และมาตรา112 นั้น อนุกมธ.ไม่มีการชี้ชัดว่าจะอยู่ในพ.ร.บ.นิรโทษกรรมหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการศึกษาเกี่ยวกับการปรองดอง สมานฉันท์และนิรโทษกรรมในหลายคณะ แต่คณะกรรมการเหล่านั้นไม่ได้พิจารณาเกี่ยวกับความผิดมาตรา 112 เนื่องจากเป็นประเด็นอ่อนไหว และเป็นเรื่องความมั่นคงแห่งรัฐ ดังนั้นความผิดทั้ง 2 มาตรา ยังเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวอยู่ อนุกมธ.ยังไม่มีความเห็นในประเด็นดังกล่าว

นายนิกร กล่าวอีกว่า อนุกมธ.มีความเห็นเพิ่มเติมว่าควรพิจารณาสั่งไม่ฟ้องในคดีอาญาที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ โดยอาศัยมาตรา 21 พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 ที่ให้อำนาจพิจารณาสามารถส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณายุติคดีหรือถอนฟ้องคดีเหล่านี้ได้ เพื่อกรองคดีออกไปก่อนที่จะมีการนิรโทษกรรม

อาทิ คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินปี 2548 ที่มีอยู่ 73,009 คดี ในช่วงสถานการณ์โควิด หรือคดีความผิดเกี่ยวกับพ.ร.บ.จราจรทางบก ปี2522 ที่มี 2.6 ล้านคดี ทั้งนี้อนุกมธ.จะเสนอรายงานเหล่านี้ต่อคณะ กรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้พิจารณาวันที่ 18เม.ย.2567 พิจารณาจะดำเนินการอย่างไรต่อไปเกี่ยวกับการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม พร้อมส่งรายงานให้คณะอนุกรรมาธิการจำแนกการกระทำ พื่อประกอบการพิจารณาแนวทางตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่มีนายยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ในฐานะประธานอนุกมธ. ไปพิจารณาแนวทางจำแนกฐานความผิดต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรมต่อไป คาดว่า จะเสนอรายงานต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาได้ในช่วงเปิดประชุมสภาฯสมัยหน้า

ผู้สื่อข่าวถามว่า การนิรโทษกรรมน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะอยู่ในเกณฑ์ได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ นายนิกรตอบว่า อนุกมธ.ไม่ได้พิจารณาประเด็นนี้ เพราะไม่สามารถพิจารณาเป็นรายบุคคลได้ ประเด็นที่อนุกมธ.พิจารณาคือ 1.อยู่ในระยะเวลาปี 2548ถึงปัจจุบันหรือไม่ 2.ฐานความผิด 25 ฐาน กรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้อยู่ใน 25 ฐานความผิดนี้ 3.เป็นความผิดที่มีแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่ ทั้งหมดนี้จะอยู่ในการพิจารณาของคณะอนุกมธ.ที่มีนายยุทธพรจะพิจารณากำหนดรายละเอียด จำแนกความผิดในการนิรโทษกรรมอีกครั้ง

เมื่อถามย้ำว่า คดีจำนำข้าวนี้ไม่ได้อยู่ในฐานความผิดที่จะพิจารณาได้ใช่หรือไม่ นายนิกรตอบว่า ไม่ได้พิจารณาเป็นรายบุคคล หรือรายเคส แต่พิจารณาเป็นฐานความผิด ทุกเคสทุกคดีพิจารณาจาก 3 ประเด็นที่ว่ามา ส่วนตัวไม่มีความเห็นคดีน.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่ในเงื่อนไขของอนุกมธ.หรือไม่ ยังไปไม่ถึงจุดนั้น แต่ยืนยันไม่มีใครส่งสัญญาณอะไรมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ 25 ฐานความผิดที่อนุกมธ.พิจารณาศึกษาข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องจากแรงจูงใจทางการเมือง อาทิ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท มาตรา 107-112 ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ มาตรา113-129 ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร มาตรา 211-214 ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง มาตรา 215-216 ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดเพลิงไหม้ มาตรา217-220 ความผิดต่อร่างกาย มาตรา 295-300 ความผิดต่อเสรีภาพ มาตรา 309-321 ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ มาตรา 358-361 ความผิดฐานบุกรุก มาตรา 362-366 ความผิดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ปี 2548 ความผิดตามพ.ร.บ.จราจรทางบกปี 2522 ความผิดพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ปี 2558 ความผิดพ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ปี 2535.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พ.ร.บ.นิรโทษกรรม' เสี่ยงโมฆะ! ขืนรวมความผิด 'ม.112-110'

'คารม' เตือน 'พ.ร.บ.นิรโทษกรรม' เสี่ยงโมฆะ ขืนรวมความผิด 'ม.112-110' ส่อขัดรัฐธรรมนูญ ยิ่งเพิ่มขัดแย้ง แนะผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม พิสูจน์ความบริสุทธิ์ตัวเอง

จ่อชงสภาฯ นิรโทษกรรมเหตุจูงใจทางการเมือง 'ก้าวไกล' พ่วง 112 แบบมีเงื่อนไข

ที่รัฐสภา นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร พร้อม

ขนลุกซู่! 'สามนิ้ว' บุกสภาฯ ร้องกมธ.นิรโทษฯ รวมคดี ม.112 ขู่ไปคุยบนถนน

เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน นำโดย น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ หรือ ทนายเมย์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วยตัวแทนประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

'สุระ' กระตุกสำนึก ล้างไพ่เลือกสว.อย่าหวังแค่ช่วงชิงทางการเมือง

“สุระ” วอน  ฝ่ายเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย รื้อ กติกาเลือกสว.67 ต้องยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่แค่หวังช่วงชิงทางการเมืองเท่านั้น แนะ การแก้รธน. นิรโทษกรรม แก้กฎหมายต่างๆ ยึดโมเดลเดียวกัน หวังเห็น กฎหมายสากล เป็นที่ยอมรับทุกภาคส่วน

'กมธ.นิรโทษ' เสียงแตก 3 ทาง คดี 112 สรุปไม่ลงมติแค่ส่งความเห็น

'นิกร' เผย 'กมธ.นิรโทษ' เสียงแตก คดีมาตรา 112 กับ 110 ให้กรรมาธิการแสดงความเห็นรายคนไม่ลงมติ คาด ปิดจบทำรายงานทันภายในสิ้นเดือน