6 เม.ย.2567 - รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้า ในวันอังคารที่ 9 เม.ย. กระทรวงการคลังเตรียมเสนอเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ และการเตรียมการเพื่อรองรับการดำเนินการยกระดับประเทศสู่ศูนย์กลางเมืองอุตสาหกรรมระดับโลก (Thailand Vision)
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะมีสาระสำคัญของมาตรการสำคัญในการปรับปรุงมาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียม และมาตรการทางการเงินเพื่อสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ตามข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลังที่เคยได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงการคลังพิจารณาปรับปรุงมาตรการลดค่าธรรมเนียมของภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าร่วมมาตรการได้มากขึ้น และเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีโอกาสมีที่อยู่อาศัยของตัวเอง รวมทั้งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับมาตรการนี้มีสาระสำคัญ โดยให้ปรับปรุงมาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัยปี2567ด้วยการขยายเพดานมูลค่าที่อยู่อาศัยให้ได้รับค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ซื้อซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทยที่ต้องการที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง และผู้ขายที่ต้องการขายอสังหาริมทรัพย์ทั้งที่เป็นอาคารที่อยู่อาศัยอาคารพาณิชย์ และห้องชุด ในราคาซื้อขายและค่าประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 7 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 7 ล้านบาท โดยให้มาตรการดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่กฎหมายได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.67
มาตรการดังกล่าวจะมีการลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ จากปกติร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 0.01 และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ อันเนื่องมาจากการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวในคราวเดียวกัน จากปกติร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01 สำหรับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ดังนี้ 1.อาคารที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด หรือบ้านแถว หรืออาคารพาณิชย์ หรือที่ดินพร้อมอาคารดังกล่าว 2.ห้องชุดที่จดทะเบียนอาคารชุด โดยมีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 7 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 7 ล้านบาท ต่อสัญญา โดยไม่รวมถึงกรณีซื้อขายเฉพาะส่วน
ทั้งนี้ มาตรการนี้เป็นการปรับปรุงมาตรการจากที่กระทรวงการคลังเคยมีมาตรการในการลดค่าจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรม รวมทั้งการโอนและค่าจดจำนองให้กับอสังหาริมทรัพย์ที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยเพิ่มเป็นราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท โดยการปรับปรุงมาตรการนี้เป็นการปรับปรุงมาตรการเดิมที่เคยมีผลบังคับใช้ตามมติ ครม.เดิมที่ให้สิทธินี้กับผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของตลาดอสังหาริมทรัพย์ และสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยที่เหลือขายสะสมอยู่ในตลาดที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 46% ของอยู่อาศัยเหลือขายในตลาด ส่วนอยู่อาศัยที่ราคาไม่เกิน 7.5 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนกว่า86% ของอยู่อาศัยที่เหลือขายในตลาด ซึ่งยังสอดคล้องกับข้อมูลของศูนย์ที่อยู่อาศัยฯที่รายงานว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ที่ผ่านมา ที่อยู่อาศัยที่ราคาไม่ถึง 3 ล้านบาท มีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์คิดเป็น 41.4% ส่วนที่อยู่อาศัยมือหนึ่งที่ราคาไม่เกิน 7.5 ล้านบาท มีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์คิดเป็นสัดส่วน 61.4% ของมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั้งหมด ดังนั้นมาตรการนี้จึงช่วยสนับสนุนการซื้อขายที่อยู่อาศัยและการจดทะเบียนและโอนที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น
โดยกระทรวงการคลังได้ประสานไปยังกระทรวงมหาดไทยยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องจำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ ร่างกฎกระทรวงยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับการโอนและการจำนองจากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการที่มีอยู่อาศัยของตนเอง พ.ศ.2566 พ.ศ. … จำนวน 1 ฉบับ 2.ร่างกฎกระทรวงยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับการโอนและการจำนองจากการซื้อขายห้องชุดเพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง พ.ศ.2566 พ.ศ. … จำนวน 1 ฉบับ 3.ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารที่อยู่อาศัย หรืออาคารพาณิชย์ หรือที่ดินพร้อมอาคารที่อยู่อาศัยหรืออาคารพาณิชย์ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดจำนวน 1 ฉบับ และ4.ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนและนิติกรรมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด กรณีห้องชุด ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด จำนวน 1 ฉบับ
กระทรวงการคลังระบุว่า มาตรการนี้จะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าร่วมมาตรการได้เพิ่มมากขึ้น อันจะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ส่งเสริมการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ รวมถึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวกับภาคอสังหาริมทรัพย์ คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยให้เกิดการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์มูลค่าประมาณ 799,374 ล้านบาทต่อปี ช่วยเพิ่มการบริโภคในประเทศได้กว่า 118,413 ล้านบาทต่อปี หรือ 9,868 ล้านบาทต่อเดือนและเพิ่มการลงทุนได้ประมาณ 464,971 ล้านบาทต่อปี หรือ 38,748 ล้านบาทต่อเดือน และส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)เพิ่มขึ้น 1.58% ต่อปี เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีมาตรการ โดยการส่งเสริมให้เกิดการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ รวมทั้งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์มีขนาดเศรษฐกิจถึง 6.95% ของจีดีพี และมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอื่นๆเป็นจำนวนมากโดยมีตัวคูนทางเศรษฐกิจประมาณ 1.13 ซึ่งหมายความว่าทุกๆ 100 บาทที่มีการลงทุนจะเกิดผลต่อเศรษฐกิจ 113 บาท
อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้จะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สูญเสียรายได้จากค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ จากปัจจุบันประมาณ 5,299 ล้านบาทต่อปี หรือ 442 ล้านบาทต่อเดือน เป็นจำนวนประมาณ23,822 ล้านบาทต่อปี หรือ 1,985 ล้านบาทต่อเดือน
รายงานข่าวระบุด้วยว่า นอกจากนี้ ยังมีมาตรการที่เสนอ ในส่วนมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้าน โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ บุคคลธรรมดาที่มีการสร้างบ้านในช่วงเวลาที่มีการดำเนินมาตรการ โดยมีการกำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หักลดหย่อนค่าก่อสร้างบ้านเมื่อได้ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างบ้านกับผู้รับเหมาทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และต้องเริ่มก่อสร้างบ้านในหรือหลังวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธ.ค.68 ซึ่งมูลค่าการหักลดหย่อนให้เป็นไปตามมูลค่าการก่อสร้างบ้าน 1 ล้านบาท จะหักลดหย่อนภาษีได้ 10,000 บาท ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างบ้านที่เสียอากรแสตมป์ด้วยวิธีการชำระอากรเป็นเงินผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตกับกรมสรรพากรโดยมาตรการนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการประมาณ5,000 ราย คิดเป็นวงเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท สูญเสียรายได้ภาครัฐประมาณ 2 พันล้านบาทต่อปี