มูฟออนไม่ได้! 'วิรุตม์' บี้ 'รรท.ผบ.ตร.' สั่งพักราชการตร.ต้องหาคดีอาญานับร้อย ยังให้ถือปืนจับคน

'วิรุตม์' ย้ำ ตำรวจต้องหาคดีอาญา ผู้บังคับบัญชาต้องสั่งพักราชการตามพ.ร.บ.ตำรวจฯ ม.131 เหตุรัฐและปชช.ไม่ไว้วางใจให้ทำหน้าที่แล้ว ซัด รรท.ผบ.ตร.มั่วนิ่ม อ้างรอผลสอบวินัย'โจ๊ก'ตามขั้นตอนน่าเศร้า ผู้รักษากฎหมายกลายเป็นผู้ร้ายมากมาย ตร.โดนข้อหาอาญานับร้อย ยังให้ถือปืน ไปสืบสวน จับคน พยานก็หัวหดหมด

5 เม.ย.2567- พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) ให้สัมภาษณ์”ไทยโพสต์” ถึงกรณี พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพชร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รรท.ผบ.ตร. ) ระบุถึงการดำเนินการกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. หลังถูกแจ้งข้อกล่าวหาความผิดทางอาญา พล.ต.สุรเชษฐ์ ยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ ยังไม่ถึงขั้นพักราชการ ต้องรอกองคดีอาญา กองคดีวินัยประมวลเสนอผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจตามขั้นตอนว่า รรท.ผบ.ตร.พูดผิด ไม่ถูกต้อง ขอพูดถึงหลักการ ไม่เกี่ยวกับพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ โดยตรง เพราะพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ก็ดีกับตน โดยหลักการตำรวจที่ตกเป็นผู้องหาคดีอาญา โดยคดีอาญาก็ต้องเดินไปตามกระบวนการ แต่มีส่วนหนึ่งคือเรื่องวินัยที่จะต้องดำเนินการ สำหรับตำรวจทุกคนทุกระดับที่ต้องคดีอาญาอยู่ในพรบ.ตำรวจแห่งชาติ ม.131 บัญญัติไว้ว่าให้ผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจ แล้วแต่ระดับที่จะต้องพิจารณา สั่งพักราชการหรือให้ออกจากราชการไว้ก่อน เพราะการเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา นั่นหมายถึงมีมูลว่าเขาทำผิดทางอาญาอยู่ แต่คดียังไม่ถึงที่สุด การทำผิดอาญาก็แน่นอนว่าต้องทำผิดทางวินัยด้วย เพราะฉะนั้นถึงมีบัญญัติในม.131 ของพรบ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ซึ่งจริงๆก็มีมานานแล้วแต่มาแก้ไขเพิ่มเติมในหลักการเดียวกัน ผู้บังคับบัญชาต้องพิจารณาสั่งพักราชการ หรือให้ออกจากราชการไว้ก่อน แต่เว้นไว้เรื่องลหุโทษหรือความผิดประมาท ไม่ต้องพักราชการ

“การเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาหมายความว่า มีการแจ้งข้อกล่าวหา ไม่ว่าจะออกหมายเรียกเป็นผู้ต้องหา เสนอศาลออกหมายจับ หรือบางกรณีที่ประชาชนฟ้องเองแล้วศาลประทับรับฟ้อง ก็ถือว่าคดีมีมูลความผิดทางอาญา เพราะฉะนั้นผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจในระดับต่างๆจะต้องพิจารณาสั่งพักราชการหรือให้ออกจากราชการไว้ก่อน ด้วยเหตุผลที่ว่า เรื่องของราชการ มันเป็นเรื่องของความไว้วางใจ ทั้งรัฐและประชาชนไว้ใจต่อคนที่ไปอยู่ในตำแหน่งราชการต่างๆ เสียภาษี ให้งบประมาณแผ่นดินไปทำหน้าที่ต่างๆ แล้วเมื่อต้องหาคดีอาญา ความไว้วางใจนี้มันสูญเสียไป เพราะฉะนั้นเขาไม่ควรอยู่ในตำแหน่ง ผิดไม่ผิดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ก็ต่อสู้คดีกันไป"

เมื่อถามว่า การอ้างว่าได้สั่งไปช่วยราชการแล้วได้หรือไม่ พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว มันมีมลทินอยู่ ไปช่วยราชการอะไร ก็ยังเป็นข้าราชการอยู่ โดยกฎหมายจะต้องพักหรือให้ออกจากราชการไว้ก่อน แต่จะไม่ทำก็ได้ ก็ต้องชี้แจงว่าอยู่ไปได้เรื่อยๆ ไม่เสียหายต่อราชการอะไรหรอก แต่โดยหลักการแล้วเสียหาย เพราะเราเสียเงินภาษีให้เขาเป็นข้าราชการตำรวจ แล้วคุณมาทำผิดคดีอาญาเสียเอง แล้วคุณยังคงทำหน้าที่ต่างๆ โดยเฉพาะงานตำรวจ ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันอาชญากรรม หรืองานสอบสวนกระบวนการยุติธรรม แต่เราไม่มีความไว้วางในต่อคุณเลย เราไปแจ้งความตำรวจ แต่ เฮ้ย คนนี้ยังต้องคดีอาญาอยู่ ผกก.เป็นผู้ต้องหาคดีอาญาอยู่ เขาจึงต้องให้พักราชการหรือให้ออกไว้ก่อน

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวอีกว่า คนที่บอกว่าไม่ต้องพักราชการ ก็ต้องอธิบายว่าทำไมไม่พัก ไม่เสียหายอย่างไร ถ้าจะอ้างว่าต้องกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือวินัย มันไม่จำเป็น แล้วสอบวินัยหรือรอผลคดีอาญา เมื่อไหร่จะจบ ดังนั้น ถือว่า รรท.ผบ.ตร. ทำผิด คุณต้องอ้าง ม.131 จะไม่สั่งพักก็ได้ แต่คุณอ้างกฎหมายผิด และอาจจะมีคนไปร้องว่าคุณทำผิด

“ตอนนี้ตำรวจที่ต้องคดีอาญา ไม่ใช่มีน้อยๆ ตั้งแต่คดีกำนันนกก็เป็นสิบ คดีเป้รักผู้การฯ140 ล้านอีก30-40 คน ทั้งคดีทำผิดพรบ.ป้องกันทรมาน คดีเว็บพนันมินนี่ บีเอ็นเค ถึง 70-80 คนแล้ว คนต้องคดีอาญา ยังรับราชการอยู่ เป็นตำรวจ พกปืน ยังมอบหมายให้ไปจับคนโน้น คนนี้ มันถูกต้องหรือ คุณมีมูลต้องคดีอาญา แล้วสุดท้ายคุณอาจจะติดคุก”

ส่วนที่รรท.ผบ.ตร.บอกว่าประชาชนอย่าไปสนใจเรื่องนี้ ให้มูฟออน ( ก้าวไปข้างหน้า) เป็นความพยายามปัดเรื่องออกไปจากตัวเองหรือไม่ พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า ก็พูดแบบนายกฯ มูฟออนๆ เราอย่าหลงกล เราอย่าไปมูฟออน เราต้องตามประเด็นนี้ เราอย่าไปตามเขาสิ เขาก็พูดให้เรามั่ว ลืมๆไปเหอะ แต่เรื่องทุกอย่างมันต้องเคลียร์

เมื่อเราเห็นว่าไม่ถูกต้องแล้วเราจะทำอย่างไรต่อ พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า เราก็ได้แต่ด่าอย่างนี้แหล่ะ ส่วนประชาชนที่จะร้องก็ไปร้องได้ ก็ไปยื่นกับนายกฯ ที่ว่าผบ.ตร.ต้องตั้งกรรมการ ถ้าใครจะเป็นธุระก็ไปร้องนายกฯได้ว่า ตาม ม.131 ไม่ต้องตั้งกรรมการสอบวินัย แต่นายกฯไม่เข้าใจ ก็จะป่วยการมั้ง ก็อาจจะบอกว่าก็เป็นไปตามขั้นตอนอยู่ที่ผบ.ตร.

ส่วนศึกนี้จะไปจบตรงไหน พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า คดีอาญาส่วนหนึ่งมันเดินไปแล้ว ส่วนคุณสุรเชษฐ์ที่มีผู้ใต้บังคับบัญชาจำนวหนึ่ง ทั้ง พ.ต.อ.จนถึง พล.ต.อ. ก็ต้องเดินไปแล้ว เพราะมีการแจ้งข้อหาไปแล้ว ก็ต้องส่งอัยการ จะสั่งฟ้องไม่ฟ้องก็ว่าไป ถ้าอัยการฟ้องก็ไปสู้กัน 3 ศาล ก็ไปสู้คดีกัน ก็ต้องเข้าช่องนี้เท่านั้น ส่วนคุณต่อศักดิ์ ยังไม่เริ่มกระบวนการสอบสวน เป็นการกล่าวหา ให้ข้อมูลของทนาย ซึ่งบอกว่าเป็นพลเมืองดีมาให้ข้อมูลก็ว่ากันไป แต่ยังไม่ได้เริ่ม แต่การไปสั่งให้คุณต่อศักดิ์ไปนั่งตบยุงอยู่สำนักนายกฯมันไม่ถูกต้อง คนหนึ่งทำหน้าที่รักษากฎหมาย อีกคนหนึ่งเป็นผู้ทำผิดกฎหมาย แล้วส่งเสียงว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม นายกฯบอกว่า 2 คน ขัดแย้งทะเลาะกัน แล้วตีทั้งคู่ เด้งทั้งคู่ไปเลย มันถูกหรือ?

“มันเป็นเรื่องน่าเศร้า ผู้รักษากฎหมายกลายเป็นผู้ร้ายกันมากมาย ผู้รักษากฎหมายกลุ่มหนึ่งไปจับผู้ร้าย ผู้ร้ายบอกว่ากระบวนการคุณไม่น่าเชื่อถือ อำนาจไม่มี ทำไม่ถูกขั้นตอน แล้วยังมีทนายมาบอกว่า พวกที่มาจับผู้ร้ายก็เป็นผู้ร้ายเหมือนกัน แล้วนายกฯก็ยังไม่รู้จะไปทางไหน ก็ย้ายไปเพื่อให้เกิดความสงบ เท่ากับว่านายกฯปรามฝ่ายรักษากฎหมาย ซึ่งไม่ถูก ต้องชี้แจงว่าคดีมีข้อเท็จริงอย่างไร ก็มีทนายมาตั้งข้อสงสัยผู้ที่ทำหน้าที่ จริงเท็จก็ไม่รู้”

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า ทำไมทีชาวบ้านคนยากคนจนมันจับง่าย ทีจับคนมีอำนาจ จับนายพล มันยุ่งยากวุ่นวายไปหมด ลุงพล (นายไชย์พล วิภา จำเลยคดีน้องชมพู่) เขารู้ว่ามีหมายจับ เขาเดินทางมามอบตัวที่ตึกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่บอกว่าไม่ยอมรับ เดี๋ยวหมายจับจะออก โทรศัพท์ไปล็อคตัว แล้วบอกว่าไม่ใช่การมอบตัว ใส่กุญแจมือ ขึ้นเครื่องบินไป แต่คุณสุรเชษฐ์ มีหมายจับ แต่มอบตัวได้ ถามว่ามาตรฐานการปฏิบัติของตำรวจประเทศไทย อยู่ตรงไหน จะบอกว่าคนจนก็ทำอย่างหนึ่ง คนรวยก็ทำอย่างหนึ่งก็พูดมาสิ จะได้รู้แล้วรู้รอดไป คนไม่เท่ากันหรอก ก็พูดไปสิ!

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวด้วยว่า ถ้าก่อน 2475 ความไม่เท่ากันของคนก็เป็นที่จำนนยอมรับ แต่หลัง 2475 มีรัฐธรรมนูญ บัญญัติว่าทุกคนเสมอภาคกันทางกฎหมาย ไม่มีชั้นยศ แต่นี่เอาเรื่องวินัยมาอ้างแม้แต่การสอบสวน คนยศสูงต้องมียศสูงกว่าถึงจะดำเนินการได้ มันเป็นความล้าหลังเป็นเรื่องของพวกคุณ แต่ทางอาญามันไม่ใช่ ต้องยึดหลักว่าทุกคนเสมอภาคกันตามกฎหมาย นอกจากนั้นบทบัญญัติที่ให้สันนิษฐานว่าทุกคนยังเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นเพียงบทสันนิษฐาน ไม่ได้หมายถึงคุณบริสุทธิ์จริงๆ แต่มีเจตนาเพื่อป้องกันไม่ให้คนไปทำร้ายเขา ไปลงโทษหรือกระทำต่อเขาโดยมิชอบเท่านั้น

“โดยเฉพาะในทางการบริหาราชการาแผ่นดินจะมาอ้างยังเป็นผู้บริสุทธิ์อย่างนี้ไม่ได้ คุณกล่าวหาเขาทางอาญาแล้ว อย่างน้อยต้องทำให้สถานะทางราชการของเขายุติลง ไม่สามารถใช้อำนาจไปวุ่นวายอะไรได้ ซึ่งก็คือการพักราชการ ไม่ได้เงินเดือน ถึงจะถูกต้อง ก็คุณต้องคดีอาญา ประชาชนไม่ไว้ใจ แล้วจะให้คุณไปทำหน้าที่อะไร ตำรวจคือผู้รักษากฎหมาย ซึ่งตำรวจที่ต้องคดีมีเป็นร้อย จะให้นายพลบางคนมอบหมายให้คุณไปสืบสวนคดี ไปจับคนได้หรือ พกปืนได้หรือ แล้วพยานไม่หัวหดกันหรือ จึงเป็นความจำเป็นต้องพักราชการ ทีจ่าดาบทำผิดอาญา สั่งให้ออกจากราชการกันได้แสนง่าย ก็ต้องถาม รรท.ผบ.ว่าจะเอาอย่างไร ให้ชี้แจง ไม่ใช่บอกสื่อให้มูฟออน” พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ผบ.ตร.’ สั่งตำรวจเข้มงวดดูแลชีวิตและทรัพย์สินประชาชนช่วงปีใหม่

"ผบ.ตร."กำชับมาตรการเข้ม ดูแลชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน ช่วงเทศกาลคริสต์มาส -ปีใหม่ ระดมกวาดล้างอาชญากรรม ลดอุบัติเหตุฟัน 10 ข้อหาหลัก

ตร.ตีแผ่ 4 มุกยอดฮิต มิจฉาชีพออนไลน์ ปี 67

พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  กล่าวว่า พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีความห่วงใยประชาชนในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน

'สันธนะ' หอบหลักฐานเด็ดให้ 'บิ๊กต่าย' มัดคนฆ่า สจ.โต้ง ไม่ใช่ 'โกทร'

นายสันธนะ ประยูรรัตน์ อดีตตำรวจสันติบาล พร้อมทีมงาน ประสานเข้าพบ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)