'พิธา' เปิดใจอำลาสภา! ทิ้งทวนซักฟอก ครั้งสุดท้ายชีวิตการเมือง

’พิธา‘ ลาสภา เปิดใจ ‘อภิปราย ม.152’ อาจเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตการเมือง ลั่นยิ่งยุบพรรคยิ่งทำให้ถึงเส้นชัยเร็วขึ้น แนะ ‘เศรษฐา’ 3 เรื่อง ปลุกภาวะผู้นำ ‘ปรับ ครม. – มีโรดแมป – ฟังให้มากขึ้น’

5 เม.ย. 2567 – ที่รัฐสภา เมื่อเวลาประมาณ 01.10 น. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 วันที่สอง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายปิดเป็นคนสุดท้าย

โดยนายพิธา กล่าวว่า ขอเริ่มต้นด้วยการพูดถึงความในใจเล็กน้อย ว่าตลอดระยะเวลา 7 เดือนที่ผ่านมา ตนไม่เคยเสียใจเลยที่ตนไม่ได้เป็นพวกที่ได้บริหาร ถึงแม้ตนจะชนะเลือกตั้ง สามารถรวบรวมเสียงได้ 312 เสียง ก็ไม่ได้น้อยไปกว่า 314 เสียงที่ท่านมี ไม่เคยเสียใจด้วยที่มาเป็นฝ่ายค้าน เพราะตนก็เชื่อว่าเป็นฝ่ายค้านนั้น มีความสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตย การเป็นฝ่ายค้านก็สามารถทำงานให้กับพี่น้องประชาชนได้ สุขภาพของประชาธิปไตยไม่ได้วัดอยู่ที่รัฐบาลนั้น มีอำนาจเบ็ดเสร็จแค่ไหน แต่อยู่ที่ฝ่ายค้านแทน Active แค่ไหน

“ผมไม่เคยเสียใจด้วยว่าอธิปอภิปรายในครั้งนี้ อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตการเมืองของผม ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องความลับอะไร ทุกคนทราบดีอยู่ว่าชีวิตทางการเมืองของผมตอนนี้แขวนอยู่บนเส้นด้าย แต่ผมพร้อมที่จะเดินจากไปอย่างผู้ชนะ ไม่ได้มีอะไรติดค้างใจต่อไป อย่างที่ได้เห็นเพื่อน สส.ข้างๆ ผม อยู่รอบตัวผม ก็รู้สึกเบาใจ ไม่ได้ค้างคาใจอีกต่อไป และผมก็มั่นใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคของผม การยุบพรรคไม่ได้ทำให้การเดินทางของประเทศไทยเปลี่ยนแปลง ยิ่งยุบ ยิ่งทำให้เราไปถึงเส้นชัยได้เร็วมากขึ้นด้วยซ้ำไป ถึงผมจะไม่เสียใจ แต่ผมเสียดาย จริงๆรับฟังการชี้แจงของคณะรัฐมนตรีเมื่อ 2 วันที่ผ่านมา รู้สึกเสียดายโอกาสของประเทศไทย เสียดายเวลาที่ประเทศไทยต้องเสียไป เสียดายศรัทธาของพี่น้องประชาชน เสียดายคะแนนเสียงที่เคยให้ไป ตั้งแต่จำความได้ไม่เคยโหวตพรรคอื่นนอกจากพรรคของท่าน แต่มาถึงวันนี้ ความสะเปะสะปะ ความล่องลอย ผมฟังแล้วไม่รู้ว่าวาระของรัฐบาลชุดนี้คืออะไร ที่หาเสียงไว้ก็ไม่ได้ทำ จนทำให้ผมรู้สึกว่ารัฐบาลชุดนี้ไร้วาระ ไร้วิสัยทัศน์ ไร้ผลงาน”

นายพิธา แบ่งการอภิปรายออกเป็น 3 ส่วน คือสรุป สะสาง และเสนอแนะ ส่วนแรกเป็นการสรุป ตนกังวลว่าวิสัยทัศน์ 8 ฮับของรัฐบาล คือความมืด 8 ด้านของประชาชน Ignite Thailand จะเป็น Darkness Thailand

“มืดเรื่องปากท้อง มืดเรื่องส่วย มืดผูกขาด มืดกระตุ้นเศรษฐกิจ มืดแก้ไขรัฐธรรมนูญ มืดปฏิรูปของไทย มืดมนคุณภาพชีวิต มืดกระบวนการยุติธรรม ประชาชนคนไทยตอนนี้มืด 8 ด้าน ที่ทั้งล้มเหลว ล่าช้า และละเลย“

ทั้งนี้รู้สึกว่าในสภามีการอภิปรายไปหมดแล้ว แต่มีอยู่อย่างเดียวที่ยังถกกันไม่ตกผลึก และยังไม่เห็นภาพชัดเจน คือเครื่องมือในการปฏิรูปกองทัพ นายกรัฐมนตรีบอกว่าฝ่ายค้านงง ตนก็งงท่านเหมือนกัน ตอนก่อนเลือกตั้งท่านพูดอีกอย่าง ตอนหลังเลือกตั้งพูดอีกอย่าง

นายพิธา อ่านนโยบายปฏิรูปกองทัพของพรรคเพื่อไทย แล้วกล่าวว่า ตอนดีเบต นายกรัฐมนตรีก็พูดคล้ายนโยบายคล้ายพรรคก้าวไกล และมาบอกว่าตนพูดเรื่องเดิมบ้าง ไอโอบ้าง อาวุธบ้าง วิธีการในการที่จะปฏิรูปไม่ต้องเอาแบบก้าวร้าว ต้องใช้ความนุ่มนวล ที่นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมชี้แจงมา ตนว่าสุดยอดมาก น่าเสียดายที่ไม่ได้พูดแบบนี้ตอนก่อนเลือกตั้ง

“ผมก็เลยงงว่าไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่หว่า แต่ไม่เป็นไรถ้าท่านยังรู้สึกว่างง เช่น เรื่องไอโอ ก็เดี๋ยวจะพิสูจน์ในอีก 4 ปีข้างหน้า ว่าใครกันแน่ที่มอมเมาประชาชน หากท่านยังไม่รู้ ผมขอเสนอให้ไปอ่านรายงานของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มหาวิทยาลัยระดับโลก ที่ทำรายงานตั้งแต่ก่อนพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล โดยทหารไทย นอกจากนี้ยังมีของสำนักข่าวรอยส์เตอร์ มหาวิทยาลัยโตรอนโต อยากให้ไปศึกษาเผื่อจะหาคำตอบได้ก่อนสิ้นปี ว่าใครเป็นคนทำไอโอ มอมเมาประชาชน”

นายพิธา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีบอกว่างงเรื่องเกี่ยวกับอาวุธในจุดยืนของพรรคก้าวไกล มีการยกคำกล่าวจะเอาเรือประมงไปรบ ตนเดาเอาว่านายกรัฐมนตรีอาจหมายถึงตน เนื่องจากตนเคยพูดเรื่องแบบนี้ในรายการดีเบตของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา

“เรื่องแบบนี้มันพัฒนาไปเยอะ มีการใช้เรือประมงมาดัดแปลงเป็นอาวุธของกองทัพ … เทคนิคในการทำสงครามมันเปลี่ยนไปเยอะ มันมีประเทศบางประเทศเกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ ที่มีเรือเป็น 20,000 ลำ ที่ใช้เรือประมงผสมกับเรือรบ ที่ไม่ได้ใช้อาวุธตามปกติ จะได้เข้าใจตรงกันและจะได้เลิกล้อผมสักที”

นายพิธา ย้ำถึงเรื่องเรือฟริเกตว่า อุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้เกิดขึ้นได้ แบบไม่ได้เบียดเบียนภาษีของประชาชนมากเกินไป ทำให้เรื่องความมั่นคงเป็นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจได้ด้วย ดังนั้นในเมื่อเข้าเงื่อนไขแบบนี้ตนก็ไม่ได้ต่อต้านอะไร หวังว่านายกรัฐมนตรีจะหายงง

“ตอนที่มีเลือกตั้ง ไม่ได้เจอนายกฯ สักเท่าไหร่ในเวทีดีเบต เจอแต่หัวหน้าท่าน ทำให้ไม่มีโอกาสอธิบายเรื่องนี้”

นายพิธา กล่าวว่า พอจะจับทางนายกรัฐมนตรีได้แล้ว โดยจับคำพูดได้คำหนึ่งว่าอยากจะเน้นเรื่องบวก ให้เป็นแสงสว่าง ไม่อยากเน้นเรื่องปัญหา แต่ในความเป็นจริงข้อเท็จจริง ไม่ได้มีแต่เรื่องบวก ประเทศมีทั้งจุดแข็ง จุดอ่อน เรื่องความท้าทาย รวมไปถึงโอกาส คนที่จะเป็นผู้นำได้ ถ้าโฟกัสแต่เรื่องบวกอย่างเดียว ก็จะเกาไม่ถูกที่คัน วินิจฉัยผิดตลอดเวลา เวลาที่นายกรัฐมนตรีเอาตัวเลขมาพูดในสภา จะเน้นเอาตัวเลขที่พวกเป็นผลดีกับรัฐบาล แต่ไม่มีบริบท ไม่ครบถ้วน เป็นเหรียญด้านเดียว

นายพิธาขอประท้วงประธานว่า ให้ตรวจสอบว่าสไลด์ของตนรั่วไหลหรือไม่ เพราะก่อนหน้าตนอภิปรายมีรัฐมนตรีลุกชี้แจงได้อย่างไร รู้ได้อย่างไรว่าตนจะธิบายเรื่องนี้ ขนาด สส. ยังไม่เห็นรู้เลย

ก่อนจะไล่เรียงต่อว่า เรื่องภาคส่วนการผลิต นายกรัฐมนตรีใช้คำว่า สึนามิเหตุการณ์ลงทุน ตนก็ดีใจว่าไม่ใช้คำว่าพายุหมุนทางเศรษฐกิจเหมือนในอดีตแล้ว แต่สึนามิมันทำลายล้างทุกอย่าง ตนกังวลว่าสึนามิของการลงทุนจะทำให้ไทยได้รับผลกระทบอย่างสูง โดยเฉพาะการเข้ามาลงทุนกับ BOI จะเห็นได้ว่ามาจากประเทศจีน รถ EV มากขึ้น แล้วรถสัปดานที่อยู่ในประเทศไทยจะจัดการอย่างไร นายกรัฐมนตรีได้คิดหรือยัง

ส่วนภาคส่วนการลงทุน นายกรัฐมนตรีบอกว่าโตขึ้น 2.5 เท่าในไตรมาสที่ 4 ก็เป็นเรื่องจริง และเป็นเรื่องดี แต่ประเด็นข้อเท็จจริงอีกอย่างหนึ่งก็คือประเทศไทยตอนนี้เป็นอันดับ 6 นำอยู่แค่กัมพูชา ลาว เมียนมา 2 ปีซ้อน อย่าเพิ่งดีใจ ทุกประเทศเพิ่มขึ้นหมด ส่วนการบริการ จะมีประโยชน์อะไรถ้าการท่องเที่ยวของประเทศไทยกลับมายิ่งใหญ่มโหฬาร แต่โฟกัส 80% อยู่แค่ 5 จังหวัด เราไม่ได้สร้างสาธารณูปโภคที่ทำให้คนเขาอยากจะไปให้มากกว่าแค่ 5 จังหวัด ความเหลื่อมล้ำก็เพิ่มขึ้น

“ผมรู้สึกว่านายกรัฐมนตรีต้องการที่จะตอบโต้ แทนที่จะเป็นการตอบสนอง ซึ่งไม่ใช่การเป็นผู้นำที่ดี นอกจากนี้ ต้องเร่งสางปมตำรวจด้วย เบอร์หนึ่งกับเบอร์สองทะเลาะกัน ท่านเป็นผู้สั่งพักงานทั้งคู่ ท่านจะทำอย่างไร เพื่อให้ความเชื่อมั่นกลับมาเลยประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง”

ในช่วงท้าย นายพิธา กล่าวว่า มีข้อเสนอแนะให้รัฐบาล 3 ข้อคือ 1. ถ้าท่านอยากจะกอบกู้ภาวการณ์ผู้นำของรัฐบาล ตนคืดว่าถึงเวลาที่ต้องปรับครม.ได้แล้ว เอาคนให้ตรงกับงาน ซึ่งช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่เหมาะสม เพราะทำงานมา 7 เดือนพอที่จะเห็นภาพ ว่าใครมีประสิทธิภาพ ใครรู้จริงในเรื่องทำอยู่ 2.ถึงเวลาที่นายกรัฐมนตรีจะมีโรดแม็พ ในสิ่งที่จะทำได้แล้ว 3.การฟัง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของคนที่จะเป็นผู้นำในศตวรรษที่ 21 เพื่อที่จะตอบสนอง ไม่ใช่ฟังเพื่อที่จะตอบโต้ตลอดเวลา เพราะบางทีเสียงที่ท่านไม่อยากได้ยินที่สุดก็คือเสียงที่ประเสริฐที่สุด

จากนั้น นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้แทนรัฐบาล ได้กล่าวขอขอบคุณประธานและสมาชิกที่ได้ร่วมอภิปราย ตามมาตรา 152 ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญของการทำหน้าที่ สส.ตามรัฐธรรมนูญแ ละใช้กระบวนการรัฐสภาตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร สำหรับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ รัฐบาลขอรับไว้ด้วยความขอบคุณและจะได้นำข้อห่วงใยเหล่านั้นไปประกอบการพิจารณา ปรับปรุงการดำเนินงานของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนมีความสุข ลดความเหลื่อมล้ำ และขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนต่อไป

หลังจากนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้กล่าวขอบคุณสมาชิกและวิปทั้ง2 ฝ่าย และได้สรุปผลงานสมัยสามัญประจำปี ครั้งที่สอง ระหว่างวันที่ 12 ธ.ค. 2566 – 9 เม.ย. 2567

สุดท้ายได้อ่านพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุม และสั่งปิดการประชุมในเวลา 02.15 น. รวมเวลาอภิปรายทั้งสิ้น จำนวน กว่า 36 ชั่วโมง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ อิ๊งค์ฝากติดตามแถลง 12 ธ.ค.ผลงานรัฐบาล 90 วัน

นายกฯอิ๊งค์ ลั่นรัฐบาล มุ่งสร้างโอกาสจับต้องได้ให้ประชาชน ปากท้องอิ่ม ดึงศักยภาพคนไทย ลั่นปรับสมดุลการค้าสหรัฐ-จีน ย้ำ รบ.อยู่ครบเทอม ฝากติดตามแถลงผลงานรัฐบาล 12 ธ.ค.นี้

'เอ็ดดี้ อัษฎางค์' มีคำตอบให้! 'พิธา' ไม่เข้าใจทำไมกลายเป็นศัตรูเพื่อไทย

เอ็ดดี้-อัษฎางค์ ยมนาค อินฟลูเอ็นเซอร์การเมือง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ไม่เข้าใจทำไมกลายเป็นศัตรูกับเพื่อไทย อัษฎางค์ ยมนาค มีคำตอบให้

เปิดโปรแกรมทัวร์ 'ครม.สัญจรอิ๊งค์' นัดแรกที่เมืองเหนือ

เปิดโปรแกรม 'ครม.สัญจรอิ๊งค์' นัดแรก จัดที่แม่ริม เชียงใหม่ 29 พ.ย. ก่อนถก 'คลังสัญจร' เชียงราย ฟื้นฟูพื้นที่เศรษฐกิจ พร้อมพบประชาชน

'ธนกร' ชี้หลัง 22 พ.ย.ประเทศก็ยังเดินหน้าต่อ!

'ธนกร' มองทุกคดีศาล รธน.ยึดตามหลักกฎหมาย เชื่อการเมืองหลัง 22 พ.ย.นี้ประเทศต้องเดินหน้าต่อ ขอทุกฝ่ายอย่าคาดเดาจนอาจก้าวล่วงอำนาจ ฝากรัฐบาลเร่งทำผลงาน