ส่องที่ประชุมลับสว. ก่อนโหวตสอย 'วิษณุ' ร่วง

2 เม.ย.2567- ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับผลการลงคะแนนเสียงของสมาชิกวุฒิสภา ที่ลงมติด้วยคะแนนเสียงข้างมาก 158 เสียง ต่อ45 คะแนน ที่เป็นมติของวุฒิสภาที่ไม่เห็นชอบให้นายวิษณุ วรัญญู รองประธานศาลปกครองสูงสุด ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด ที่ถือเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ตีตก ไม่ให้ความเห็นชอบรายชื่อผู้ถูกเสนอชื่อเป็นประธานศาลปกครองสูงสุด นั้น

มีรายงานว่า การประชุมของสมาชิกวุฒิสภา(สว.)ในช่วงการประชุมลับ ที่ใช้เวลาร่วม 4 ชั่วโมง เพื่อพิจารณาเรื่องการให้ความเห็นชอบ ประธานศาลปกครองสูงสุดคนใหม่ คือนายวิษณุ วรัญญู

มีรายงานว่า หลังจากคณะกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรม ที่มีพลเอกอู้ด เบื้องบน เป็นประธาน ฯ ได้เสนอเอกสารรายงานลับ ผลการตรวจสอบ ประวัติ ความประพฤติทางจริยธรรม ของนายวิษณุ แล้ว

ปรากฏว่ามีสว.ลุกขึ้นอภิปรายแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ถึงที่มาที่ไปและประวัติของนายวิษณุ ในการถูกเสนอชื่อเป็นประธานศาลปกครองสูงสุด โดยเฉพาะเรื่อง แนวคิด ทัศนคติบางอย่าง โดยสว.บางส่วน ได้มีการอภิปรายกันถึงเรื่อง ที่มีการเสนอข่าวรวมถึงเสียงวิจารณ์จากโซเชียลมีเดีย กรณีที่ นายวิษณุ ถูกวิจารณ์ว่ามีทัศนคติทางลบกับพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี กรณีนายวิษณุ โพสต์แสดงความเห็น เรื่อง ข่าวการทุบบ้านสี่เสาเทเวศน์ รวมถึงการโพสต์แสดงความคิดเห็นต่อข่าวเรื่อง หมุดของกลุ่มม็อบสามนิ้ว ที่ท้องสนามหลวงในช่วงการชุมนุมของม็อบสามนิ้วก่อนหน้านี้

ตลอดจน สว.หลายคน ได้มีการอภิปรายแสดงความคิดเห็น ถึง เอกสารที่ปรากฏในเอกสารลับ เรื่อง เอกสารแบบสอบถามที่คณะกรรมาธิการฯ ส่งแบบสอบถามไปถึง อดีตผู้บังคับบัญชา อดีตผู้ใต้บังคับบัญชา ของนายวิษณุ เช่นอดีตประธานศาลปกครองสูงสุดบางคน จนทำให้บรรยากาศการประชุมบางช่วงร้อนแรงพอสมควรเพราะสว.หลายคน ลุกขึ้นอภิปรายว่า คำชี้แจงในเอกสารที่นายวิษณุ ส่งถึงสว.แต่ละคนนั้น ยังชี้แจงไม่ขึ้นเท่าไหร่ โดยเฉพาะเรื่อง การโพสต์แสดงความคิดเห็นในเรื่องข่าวทุบบ้านพลเอกเปรม และข่าวเรื่องหมุดฯ ที่ท้องสนามหลวง

เพราะจากหลักฐาน digital footprint แสดงให้เห็นว่า โพสต์ดังกล่าวเป็นของนายวิษณุจริง ซึ่งสว.หลายคน อภิปรายว่า การแสดงความคิดเห็นถือเป็นสิทธิส่วนตัวและเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่เนื่องจากนายวิษณุ กำลังจะเข้าไปรับตำแหน่งประมุขศาลปกครอง ที่ถือเป็นตำแหน่งใหญ่ ซึ่งเรื่องวุฒิภาวะ ก็เป็นเรื่องสำคัญ การแสดงความคิดเห็นบางครั้งจึงต้องถูกตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่าเหมาะสมหรือไม่

รายงานข่าวจากที่ประชุมลับ ของสว.แจ้งว่า นอกจากนี้ สว.หลายคน ได้อภิปรายเรื่อง ข้อมูลเกี่ยวกับ การทำงานของนายวิษณุ ทั้งในฐานะตุลาการศาลปกครองและผู้บริหารศาลปกครอง ตั้งแต่สมัย ศาลปกครองกลางจนถึงศาลปกครองสูงสุด โดยมีการไล่ลงรายละเอียดแบบเจาะลึกว่า การบริหารงานของนายวิษณุในเรื่องการบริหารจัดการคดีเป็นอย่างไร มีคดีคั่งค้างมากน้อยแค่ไหน แต่ละคดีนายวิษณุ ใช้เวลาการพิจารณาคดีนานแค่ไหน ก่อนจะตัดสินคดีเสร็จสิ้น ทั้งตอนอยู่ศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด ตลอดจนผลกระทบทางคดีต่อสาธารณะในคดีที่นายวิษณุ เป็นตุลาการเจ้าของสำนวน และองค์คณะตัดสินคดี เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาว่าหากนายวิษณุ ขึ้นเป็นประธานศาลปกครองสูงสุด จะมีการบริหารจัดการคดีที่ศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดอย่างไร เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องคดีคั่งค้าง

รายงานข่าวระบุว่า ในที่ประชุมลับ ได้มีสว.ลุกขึ้นอภิปรายโดยยกตัวอย่างบางคดี ขึ้นมาอภิปรายกันเช่น คดีที่กลุ่มองค์กรผู้บริโภค ที่นำโดยนส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสว.กทม.เคยฟ้องหน่วยงานรัฐบางแห่ง โดยมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย และมีการนำคำชี้แจงของนายวิษณุที่ชี้แจงเรื่องคดีของนส.รสนา มาอภิปรายด้วยว่า ชี้แจงขึ้นหรือไม่ รับฟังได้หรือไม่ ซึ่งที่ประชุมคุยกันประเด็นคดีของนส.รสนา มากพอสมควร

รายงานข่าวแจ้งว่า นอกจากนี้ ในที่ประชุมสว.บางคนได้ หยิบยกจริธรรมตุลาการศาลปกครองปี 2546 ขึ้นมาอภิปรายประกอบด้วย พร้อมกับยกเหตุการณ์บางกรณีขึ้นมาอภิปราย เช่น กรณี มีบุคคลไปแจ้งความดำเนินคดี กับสื่อมวลชน(ไทยโพสต์) นักวิชาการ (ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์) และผู้ดำเนินรายการสื่อบางคน เมื่อ 28 มีนาคม ที่ผ่านมาที่สน.ทุ่งสองห้อง โดยอภิปรายว่า เป็นที่น่าสังเกตุว่าการแจ้งความดังกล่าว เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการประชุมสว.ในวันนี้เพียงไม่กี่วัน เหมือนกับต้องการไม่ให้มีการนำเสนอข่าวของนายวิษณุอีก แต่พบว่า การแจ้งความดังกล่าว เป็นการย้อนแย้งตัวเอง เพราะแทนที่จะแจ้งความกับตำรวจหรือตำรวจกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ว่ามีการปลอมเพจของตัวเอง แต่กลับแจ้งความเอาผิดสื่อ นักวิชาการ ที่นำเสนอข่าวการที่สว.จะเห็นชอบบุคคลเป็นประธานศาลปกครองสูงสุด จึงเท่ากับเป็นการยอมรับว่า เป็นเจ้าของเพจดังกล่าวจริง เป็นคนโพสต์จริงใช่หรือไม่ และจากการตรวจสอบก็พบว่า เพจดังกล่าว เป็นเพจของนายวิษณุจริง แต่มีการลบโพสต์ออกไปแล้ว

“สว.ยืนยันว่า การที่มติออกมาแบบนี้ ก็เพื่อเป็นการคัดกรองบุคคลที่จะไปทำหน้าที่เป็นประมุขศาลปกครอง ที่ต้องได้คนที่เหมาะสมจริงๆ ไม่มีประเด็นที่ทำให้สังคมติดใจหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้ถึงความเหมาะสมหรือไม่ หลังจากนี้ ก็ต้องรอดูว่า ทางคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง จะมีความเห็นอย่างไรต่อไป” แหล่งข่าวสว.ระบุ .

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กกต. ยื้อ 'หมอเกศ' เลื่อนถกคุณสมบัติจบดอกเตอร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ประชุมคณะกรรมการ​การ​เลือกตั้ง​ (กกต.) ยังไม่ได้มีการพิจารณารายงานผลการตรวจสอบกรณีพ.ญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย  สมาชิกวุฒิสภา (สว.)​ ถูกร้องว่ากระทำการหลอกลวงให้ผู้อื่นเข้าใจผิดในคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถหรือชื่อเสียงเกียรติคุณ

กระจ่าง! ดร.ณัฏฐ์ นักกฎหมายมหาชน ชี้กรณีคุณสมบัติ 'สว.หมอเกศ'

“ดร.ณัฏฐ์” นักกฎหมายมหาชน ชี้ กรณี สว.หมอเกศ ปริญญาเอกและตำแหน่งศาสตราจารย์ หากไม่จริง เป็นการโชว์เหนือ หลอกลวงเพื่อจูงใจให้ผู้สมัคร สว.ด้วยกัน เข้าใจผิดในคุณสมบัติ ความรู้ ความสามารถของตนเอง

‘หมอเปรม’ แฉมีจนท.รัฐ ใช้ กม.หาประโยชน์กับประชาชน ที่ใช้โดรนเพื่อการเกษตร

หมอเปรม แฉมีเจ้าหน้าที่รัฐใช้กฎหมายหาประโยชน์กับประชาชนที่ใช้โดรนเพื่อการเกษตร จี้รัฐบาลแก้กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค รมว.ดีอียันรัฐบาลพร้อมสนับสนุนเต็มที่ให้การใช้โดรนเกิดประโยชน์สูงสุดในทุกภารกิจ

ชวน 'นายกฯอิ๊งค์' ลงใต้ ฟังความทุกข์ทรมานจากปาก 'เหยื่อ-ครอบครัวผู้เสียชีวิต'

'อังคณา' ชี้รัฐบาลพท.-แพทองธาร ปฏิเสธความรับผิดชอบคดีตากใบไม่ได้ ชวนนายกฯ ลงใต้ ฟังความทุกข์ทรมานจากปากเหยื่อ-ครอบครัวผู้เสียชีวิต เตือนระวังคนรู้สึกไม่เป็นธรรม อาจเข้าร่วมขบวนการก่อเหตุ

สว. ห่วงบีอาร์เอ็นฉวย 'คดีตากใบ' โหมไฟใต้ วอนหน่วยมั่นคงป้องเหตุร้าย

'สว.' ห่วงสถานการณ์ชายแดนใต้ ชี้บีอาร์เอ็นฉวยคดีตากใบโหมไฟใต้ วอนหน่วยความมั่นคงบูรณาการปกครองรับมือ ป้องเหตุร้ายสถานที่ราชการ-ร้านค้า-ปั้มน้ำมัน-ชุมชนไทยพุทธ

เคาะแล้ว 14 กมธ.ร่วมกันฝ่ายวุฒิฯ ถกร่างกม.ประชามติ

ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีพล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาตั้งกรรมาธิการ(กมธ.)ร่วม