'เรืองไกร' แฉในชั้น กมธ.มีคนบอก 'เศรษฐา' มาขอเงิน 1 พันล้านบาทเข้างบกลาง ขู่หากไม่ตัดออก เจอยื่น ป.ป.ช.แน่ ฟาก 'ไทยสร้างไทย' เตือนใช้อย่างระวังป้องกันส่อทุจริต 'รมช.เดือน' ป้องนายกฯ บอกไม่ได้ขอ
20 มี.ค.2567 – ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้วเป็นรายมาตรา เมื่อพิจารณาถึงมาตรา 6 งบกลาง นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขอสงวนความเห็น อภิปรายขอปรับลดงบกลาง 1.4 พันล้านบาท ว่า ใน กมธ.ที่มีการหารือกันอยู่นั้น มีรองประธาน กมธ.บอกว่าของบให้รัฐสภาไทย คิดว่าไม่ถูกต้อง เพราะจะมีส่วนได้เสีย ซึ่งในการพิจารณาปรับเพิ่ม 1 พันล้านบาท วันนั้นมีการพูดคุยกันกลางห้องประชุมโดยเป็นการจับกลุ่มพูดคุยว่าจะเอาตรงไหนไปไหน มีการบอกว่าจะเอาไปประกันสังคม 500 ล้านบาท ตัว 1 พันล้านบาทบอกว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขอมา ฟังแล้วก็ตกใจ ถ้าบอกขอมาเช่นนี้วันนี้ต้องขอเสนอตัดออก เพราะให้ผ่านไปไม่ได้ ถ้าให้ผ่านไปในมาตรา 144 ต้องถูกร้องแน่
“การที่มาพูดแล้วในห้อง กมธ. แม้ว่าจะไม่ได้ออกเสียง แต่มี กมธ.ที่เป็นคณะรัฐมนตรีนั่งอยู่ด้วย และศาลรัฐธรรมนูญบัญญัติคำวินิจฉัยไว้ว่าถ้ามีส่วนได้เสียในเรื่องนั้น ต้องไม่อยู่ในห้อง เฉกเช่นเดียวกันกับผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ท่านก็ทำเป็นตัวอย่าง ผมยังติดใจเรื่องนี้และเสนอให้ท่านตัด 1 พันล้านบาทออกไป เพราะอย่างไรงบกลางก็ยังมีกว่า 9 หมื่นล้าน อย่าไปเสี่ยงกับเงินเล็กน้อย และมีปัญหาทางข้อกฎหมาย เพราะแม้ว่าผมจะเป็น กมธ.เสียงข้างน้อย ผมก็จะใช้สิทธิ์ที่จะไปต้องยื่น ป.ป.ช.แน่นอน ถ้าตัวเลขนี้ไม่ตัดออก” นายเรืองไกร กล่าว
ด้าน นายชวลิต วิชยสุทธิ์ กมธ.สัดส่วนพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ขอสงวนความเห็น อภิปรายว่า ปีนี้มีการตั้งงบประมาณในส่วนของงบกลางเอาไว้ 6.657 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นเบี้ยหวัด ค่ารักษาพยาบาลราชการหรือลูกจ้าง เป็นต้น ซึ่งเป็นรายจ่ายประจำควรแยกส่วนต่างหากไม่ควรนำมารวมไว้ในงบกลาง ให้เข้าใจไขว่เขวว่าเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารทั้งที่เป็นเงินที่ต้องจ่ายเป็นประจำตามกฎหมายนั้นๆ ส่วนเงินที่ต้องสำรองจ่ายหากฉุกเฉินหรือจำเป็นที่จะใช้ได้ในกรณีที่ฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยปีนี้ตั้งไว้สูงถึง 9.85 หมื่นล้านบาท แต่กลับไม่มีรายละเอียดใดๆ ให้ตรวจสอบ นอกจากนี้ ในช่วงการพิจารณาปรับลดของกมธ.นั้น รัฐบาลได้แปรเพิ่มจากงบที่ปรับลดจากหน่วยราชการต่างๆ มาไว้ในงบกลางอีกจำนวน 1 พันล้านบาทรวมเป็นงบกลางที่ตั้งไว้ใช้จ่ายเพื่อสำรองจ่ายในกรณีที่ฉุกเฉินหรือจำเป็น เพิ่มเป็น 9.95 หมื่นล้านบาท อีกเพียง 500 ล้านจะถึง 1 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงมากอย่างเป็นประวัติการณ์
นายชวลิต กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าในงบประมาณจำนวนนี้ น่าจะมีบางส่วนมาจากการปรับลดโครงการซื้อเรือฟริเกตของกองทัพเรือที่ตั้งงบประมาณปี 67 ไว้กว่า 1,700 ล้านบาท แต่ถูกตัดออกทั้งหมด และงบที่ถูกตัดทั้งหมดย่อมถูกนำมาอยู่ในงบกลาง ฉะนั้น การใช้จ่ายงบกลางของรัฐบาลนี้ก็ควรที่จะต้องใช้จ่ายให้ตรงกับวัตถุประสงค์คือเป็นกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน ไม่เปิดช่องไปสู่การทุจริตคอร์รัปชั่นใดๆ หากโครงการที่รัฐบาลอนุมัติไม่เหมาะสม ไม่ฉุกเฉินเร่งด่วนจริงๆ ก็จะเกิดการเปรียบเทียบกับเรือฟริเกตของกองทัพเรือเพื่อมาปกป้องอธิปไตย เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ แต่กลับถูกปรับออกไป ย้ำว่าการใช้จ่ายงบกลางต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะจะถูกจับตาจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะจากกองทัพเรือ
“หากเป็นไปได้งบประมาณปี 68 รัฐบาลควรหากแนวทางให้กองทัพเรือได้เรือฟริเกตโดยมีเงื่อนไขให้กองทัพเรือสนับสนุนอุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศตามนโยบายของรัฐบาลที่เคยแถลงไว้ต่อรัฐสภา เพราะเงินงบประมาณก็จะไม่รั่วไหลไปต่างประเทศ หมุนเวียนอยู่ในประเทศเราเอง ผมจะรอฟังคำตอบประเด็นนี้จากรัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงกลาโหม” นายชวลิต กล่าว
ขณะที่ นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายว่า ขอตัดงบในมาตรานี้ลง 10% โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายทดลองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน หรือรายจ่ายจำเป็น มีเรื่องของโครงการที่เรียกว่าเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เพราะไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลก่อนหน้านี้หรือรัฐบาลปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะเอาเด็กเป็นตัวประกันในการใช้จ่ายงบกลาง และเมื่อย้อนกลับไปดูประเทศไทยมีเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ขวบ ทั้งหมด 4 ล้านคนเศษ แต่รัฐบาลไม่ได้ใช้เงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าแบบงบประจำถ้วนหน้าไปเลย แต่ใช้เงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบจำกัดจำนวน และมีการใช้จ่ายงบกลาง และตั้งแต่ปี 2566 ก็มีแต่มาจขอใช้งบกลางตลอด จนกลางเป็นงบประจำไปแล้ว รวมถึงมีการอ้างเรื่องความยากจน ความจำเป็น เรื่องสัญญาติ โดยในปี 2566 ซึ่งถือว่าเข้ารัฐบาลชุดนี้ ขอใช้จ่ายเงินงบกลางทั้งสิ้น 998.4 ล้านบาท แต่การเตรียมความพร้อมในการใช้จ่ายงบกลางทำให้ พ่อแม่ผู้ปกครองเด็กจำเป็นต้องรอเงินที่อาศัยงบกลาง นี่คือการสะท้อนประสิทธิภาพของการเบิกจ่ายงบกลาง เพราะหากรัฐบาลใช้ระบบโครงการอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า ก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยงบกลางแบบนี้
ส่วนนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงว่า งบกลางในหมวดสำรองจ่ายในปี 67 ที่เรากำลังพิจารณากันมีการเบิกจ่ายต่ำ เนื่องจากในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณในส่วนของงบกลางที่เป็นเงินสำรองจ่ายนั้น สำนักงบประมาณได้พิจารณาถึงความพร้อม ความสามารถตามระเบียบความจำเป็น แผนงาน แผนการใช้จ่ายงบประมาณ ตามที่สำนักงบประมาณควรจะต้องพิจารณา ส่วนใหญ่งบกลางจะจัดสรรในช่วงกลางปีงบประมาณ แต่ในเรื่องของการเบิกจ่ายมีความล่าช้าส่วนใหญ่ก็สืบเนื่องมาจากเรื่องของภัยพิบัติที่กำลังจะเกิดในช่วงฤดูฝนหรือช่วงใกล้สิ้นปีงบประมาณ ซึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้มีความคาดหมายไว้ล่วงหน้า การของบประมาณจึงเกิดขึ้นในช่วงนี้
นางมนพร กล่าวต่อว่า ส่วนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสวัสดิการของข้าราชการนั้น เป็นการตั้งงบประมาณในรอบ 1 ปีงบประมาณเท่านั้น ซึ่งการเบิกจ่ายเป็นเรื่องที่เราไม่ได้คาดการณ์มาก่อน และคิดว่าประชาชนคนไทยคงไม่อยากเจ็บป่วย ทำให้การตั้งงบประมาณเป็นไปตามสมมุติฐานที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นอย่างเพียงพอ สามารถรองรับค่าใช้จ่ายที่บุคลากรภาครัฐจะมีการเบิกจ่ายรวมถึงระดับมหภาคด้วย อย่างไรก็ตาม การเบิกจ่ายจะเป็นไปตามสิทธิ การขอใช้สิทธิตามความเป็นจริงที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องการใช้งบกลางที่ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์จะเห็นว่าเป็นการสำรองจ่ายใช้ในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งการตั้งงบประมาณไว้เราคาดการณ์ไว้ว่างบประมาณที่ตั้งไว้เป็นงบประมาณที่มีความจำเป็นต้องจัดสรรในเรื่องต่างๆ
“ที่หลายคนบอกว่างบกลางเป็นการตีเช็คเปล่านั้น ดิฉันขอเพิ่มเติมความหมายงบกลางคืองบประมาณรายจ่ายประจำปีที่จัดสรรให้หน่วยขอรับงบประมาณ ซึ่งเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่ขอรับงบปกติ ซึ่งการตั้งงบประมาณของงบกลางส่วนหนึ่งมาจากเหตุผลที่จำเป็น ไม่อาจจัดสรรงบนั้นให้กับหน่วยงานโดยตรงได้ ส่วนที่มี กมธ.ท่านหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าท่านนายกฯ ขอเงิน 1 พันล้านบาทนั้น ดิฉันยืนยันว่าท่านนายกฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ และเราได้อภิปรายอย่างกว้างขวางถึงความจำเป็นที่หน่วยงานนั้นขอรับงบประมาณ ซึ่งโครงการต่างๆ ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และในกมธ.ก็เป็นตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ อย่างไรก็ตาม ท่านนายกฯ ได้ใช้งบประมาณในรอบ 1 ปีท่านจะมีคำอธิบายต่อสภาฯ ให้มีการตรวจสอบ ย้ำว่างบประมาณทุกบาททุกสตางค์ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เราจะบริหารงบประมาณอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้” นางมนพร กล่าว
จากนั้นที่ประชุมลงมติเห็นด้วยกับการแก้ไขตามเสียงข้างมากของ กมธ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดภารกิจ 'กิตติรัตน์' ในตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ ทำหลุดเก้าอี้ 'ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ'
กรณีที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีการ่วม 3 คณะ มีมติด้วยเสียงข้างมากเห็นว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ผู้ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
สภาเดือด! ถกปัญหาลงทะเบียนแรงงานเมียนมา
'สหัสวัต' ไม่ทน ถามถ้าผมเป็น 'ประชาชนพม่า' แล้วรัฐบาลเป็นอะไร เอื้อ 'รบ.ทหารพม่า' จนเป็นหนึ่งเดียวขนาดนี้ หวั่นทำแรงงานตกค้าง ด้าน 'พิพัฒน์' แจง หากไม่ทันเสนอ ครม.ยืดอายุได้
'เท้งเต้ง' เซ็ง 'แพทองโพย' เบี้ยวกระทู้สดชงสภาแก้ข้อบังคับการประชุม
'หัวหน้าเท้ง' หารือประธานสภาฯ ขอให้แก้ข้อบังคับการประชุม หลัง 'นายกฯ' เลี่ยงตอบแล้ว 3 หน ปมค่าไฟแพง เหน็บเมื่อวานนักข่าวถามจะไปสภาหรือไม่ 'อิ๊งค์' กลับตอบ 'เมอร์รี่คริสต์มาส'
ตามสูตร! ฟื้นคณะกรรมการ 6 ชุดแก้ปัญหาสมัชชาคนจน
'ชูศักดิ์' ถก คกก.สมัชชาคนจน ตั้ง 6 กก. สมัยเศรษฐา เร่งวางแนวทางแก้ 4 เรื่องด่วน
เปิดสภาวันแรกเดือด!ฝ่ายค้านซัดจงใจหนีตอบกระทู้ทั้ง ครม.
สส.เพื่อไทยเดือด ปชน. ตั้งกระทู้ปลาหมอคางดำ หลอกด่านายกฯ เบี้ยวตอบกระทู้ตั้งแต่วันแรกของการประชุมสภาฯ ด้าน 'ปธ.วิปค้าน' ข้องใจเจตนาแถลงผลงานตรงวันเปิดประชุมสภา ฉุนจงใจเบี้ยวตอบกระทู้ทั้ง ครม.
'คำนูณ' เตือนอย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย! ชี้ไทยไม่รับอำนาจศาลโลกมา 64 ปีแล้ว
นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์เฟซบุ๊ก