บุคลากรรัฐ จี้รัฐบาลเร่งแก้ดอกเบี้ยเงินกู้โหด อึ้ง! ทหารเงินเดือนถูกหักเหลือไม่ถึง 3พันบาท

บุคลากรรัฐจี้ รัฐบาลเร่งแก้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้โหดจากสถาบันการเงิน พร้อมลดหนี้กยศ. เหลือร้อย0.5 อึ้งพบทหารเงินเดือนถูกหักเหลือไม่ถึง 3พันบาท ขณะที่ นายกฯ เหน็บแบงค์ชาติไม่ลดดอกเบี้ย ชี้ปัญหาหนี้สินข้าราชการเป็นสารตั้งต้นความหายนะประเทศ

15 มี.ค. 2567 -ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการแถลงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินเงินกู้แก่บุคลากรภาครัฐ โดยมีบุคลากรจากส่วนงานราชการรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ มารายงานความคืบหน้าการดำเนินการแก้ปัญหาหนี้เงินกู้ แก่บุคลากรของหน่วยงานต่างๆ อาทิ กองทัพทุกเหล่าทัพ ตำรวจ หน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงตัวแทนจากธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย

โดย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะรองประธานกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชน กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์สินเชื่อมีความรุนแรงส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตประชาชน ไม่ว่าจะเป็นหนี้ในระบบ และนอกระบบ แบ่งเป็น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อเช่าซื้อรถ บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ซึ่งมีความซับซ้อน ไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้างดังนั้น ต้องรอรับการสนับสนุนจากฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อแก้ไขกฎหมายที่จำเป็น รวมถึงอำนาจฝ่ายตุลาการ เพื่อไกล่เกลี่ย และบังคับคดีให้เหมาะสมเป็นธรรม

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวต่อว่า คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชน ต้องขอบคุณนายกฯ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีข้อสั่งการชัดเจนในการแก้ปัญหาหนี้สินของข้าราชการ บุคลากรภาครัฐ โดยให้ทุกส่วนราชการดำเนินการปรับปรุงกำหนดหลักเกณฑ์เงินเดือน เพื่อการดำรงชีพไม่น้อนกว่าร้อยละ 30 , ให้สถาบันการเงิน และสหกรณ์ออมทรัพย์ กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ต่ำลง , ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ดูแลให้สหกรณ์ออมทรัพย์ทุกแห่ง กำหนดค่างวดเงินกู้ให้เหมาะสม เพื่อบรรเทาภาระหนี้เงินกู้ตามความจำเป็น ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาเงินกู้หนี้สวัสดิการของบุคลากรภาครัฐนับเป็นหนี้ขนาดใหญ่ แต่ส่วนใหญ่ไม่ปรากฎในรายงานยอดหนี้ของศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จากจำนวนบุคลากรภาครัฐจำนวน 3.1 ล้านคน เป็นลูกหนี้ของสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆจำนวน 1,378 แห่ง จำนวนลูกหนี้รวม 2.8 ล้านคน คิดเป็นมูลหนี้ 3 ล้านล้านบาท

”ปัญหาหนี้สินของบุคลากรของรัฐจำนวนมาก เป็นปัญหากระทบการดำรงชีวิตอย่างรุนแรงต่อเนื่อง ต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วน ซึ่งข้อสั่งการมีความคืบหน้าแล้วระดับหนึ่ง วันนี้จึงให้ผู้บริหารองค์กร 11 แห่ง รายงานต่อนายกฯ เพื่อทราบ และรับข้อสั่งการจากนายกฯต่อไป” พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าว

ด้าน พล.อ.อนุสรรค์ คุ้มอักษร รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) กล่าวว่า ในฐานะผู้บัญชาการเหล่าทัพ ขอสนับสนุนรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ หนี้สินของข้าราขการทั้งหมด มีมากถึง 3 ล้านล้านบาท และเป็นสินเชื่อสวัสดิการ หักเป็นเงินเดือนเกือบถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น เป้าหมายสําคัญคือการช่วยเหลือกําลังพลที่กําลังเดือดร้อน โดยเฉพาะผู้ที่ยังเหลือเงินดํารงชีพไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน จากการถูกหักชําระหนี้ ทั้งจากสหกรณ์ และสถาบันการเงิน โดยภาระหนี้สิน อยู่ภายใต้เงื่อนไขการชําระที่เกินศักยภาพ

พล.อ.อนุสรรค์ กล่าวว่า กองทัพตระหนักดีว่า ปัญหาหนี้สินเป็นเรื่องเร่งด่วนของชาติ บทบาทที่เปลี่ยนไปคือ มิติในฐานะนายจ้างและผู้บังคับบัญชา ที่จะลุกขึ้นมายืนหยัดเพื่อผู้ใต้บังคับบัญชา โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ถือเป็นเกมเชนเจอร์ส เพราะนายจ้างจะเป็นผู้กําหนดทิศทางสินเชื่อสวัดดิการ เป็นการสร้างกระบวนการวงเงินเครดิตที่มีประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย เป็นธรรม และยั่งยืน

"เราจําเป็นต้องมีระเบียบกําหนดหลักเกณฑ์ในการหักเงินเดือน ให้มีคงเหลือในการดํารงชีพไม่ตํากว่าร้อยละ 30 เปอร์เซ็นต์ ตามแวทางเดียวกับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ปี 51 อย่างไรก็ตาม จากสถิติพบว่า มีกําลังพลจํานวนมากที่มีเงินเหลือต่ำกว่า 3 พันบาทต่อเดือน ดังนั้น กองทัพจะดําเนินการโดยด่วน ซึ่งทางสภากลาโหมจะนําเข้าที่ประชุมต่อไป และหากสัมฤทธิ์ผล จะทําให้กําลังพลหลุดพ้นจากสถานการณ์ดังกล่าว เกิน 1 แสนราย"

พล.อ.อนุสรรค์ กล่าวว่า ระเบียบดังกล่าว จะสร้างเกราะในการกู้ยืมเงินที่ถูกต้อง ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นธรรม มีเสถียรภาพ เพื่อไม่ให้ข้าราชการไปกู้ยืมเงินนอกระบบ หรือใช้เงินกู้บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงมาก ช่วยเพิ่มเงินในการดํารงชีพ และใช้จ่ายในครอบครัว ดังนั้น ตนจึงสนับสนุนมติ ครม. รวมถึงข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี เพราะการปรับปรุงสินเชื่อและสวัสดิการของข้าราชการ จะเกิดความเป็นธรรมและเหมาะสม ผู้บัญชาการเหล่าทัพทุกคนเห็นด้วย และพร้อมเสนอนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างเต็มกําลัง ทั้งในและนอกระบบด้าน พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า กระทรวงกลาโหม แบ่งการแก้ปัญหาเรื่องหนี้สินเป็น 2 ด้าน คือ 1.นโยบาย และ 2.ข้อกฎหมาย โดยมีมาตรการกำหนดอัตราดอกเบี้ยสหกรณ์ออมทรัพย์ต่ำกว่าสถาบันการเงิน การอบรม การประสานทำข้อตกลงกับสถาบันการเงินเพื่อแบ่งเบาภาระดอกเบี้ย การเจรจาประนอมหนี้ และทำโครงการเชิงนโยบายเพิ่มรายได้ ควบคู่กับการแก้ปัญหาหนี้สิน และการเพิ่มรายได้ให้ครอบครัวทหารชั้นผู้น้อย

นอกจากแก้ปัญหาเชิงนโยบายแล้ว ยังมีเรื่องที่สำคัญอีกคือข้อกฎหมาย โดยเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.66 สภากลาโหมได้แก้มติที่เคยกำหนดให้ข้าราชการที่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ล้มละลาย ต้องถูกปลดออกจากราชการทันที แก้เป็นจะปลดออกจากราชการกรณีหากมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลายทุจริตเท่านั้น เพื่อเป็นการรักษากำลังพลที่ปฏิบัติราชการด้วยความตั้งใจ

แต่อาจมีความผิดพลาดทางการเงินโดยมิได้ทุจริต ประกอบกับจะได้ไม่เป็นการซ้ำเติมบุคลากรที่ถูกศาลพิพากษาล้มลายด้วย ทั้งนี้ หัวใจสำคัญอีกส่วน คือ ผู้บังคับบัญชาต้องเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยด้วย ซึ่งกระทรวงกลาโหมยืนยันจะมุ่งมั่นแก้ปัญหาหนี้ตามนโยบายนายกฯต่อไป

ด้านพล.อ.สวราชย์ แสงผล หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา กองบัญชาการกองทัพบก กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการช่วยกำลังพลแก้ไขปัญหาหนี้อย่างต่อเนื่อง พร้อมให้ความรู้ด้านการเงินแก่กำลังพล แต่ก็ยังพบมีปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะผลอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงจากสถาบันการเงินต่างๆ ไม่สามารถทำให้กำลังพลปลดหนี้สินได้

กองทัพบกจึงขอให้รัฐบาลปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้กับสถาบันการเงินต่างๆเพื่อให้เหมาะสมและเป็นธรรม นอกจากนี้กำลังพลจำนวนหนึ่งมีหนี้สินค้างมาจาก กยศ. ตั้งแต่ก่อนเข้ามารับข้าราชการ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ที่ต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 18 ส่งผลให้หนี้สินเพิ่มพูนจำนวนมาก และเรื้อรังเป็นระยะยาว จึงขอให้รัฐบาลใช้อัตราดอกเบี้ยผิดนัดเหลือร้อยละ 0.5 เป็นไปตามกฏหมายที่เกี่ยวกับ กยศ.ฉบับใหม่

พล.ต.ท.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ ผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตำรวจ 2 แสนคน มีหนี้สิน 1.5 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 80 ของกำลังพลทั้งหมด รวมเป็นหนี้สินกว่า 170 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้สีเขียวที่พอชำระได้ 1.4 แสนคน สีเหลืองผ่อนได้บ้างไม่ได้บ้างจำนวน 600 คน และสีแดงถูกฟ้องร้องไม่มีกำลังชำระหนี้ประมาณ 150 คน ซึ่งที่ผ่านมามีคนเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ 1 หมื่นกว่าคน และแก้ปัญหาหนี้สินได้แล้ว 7 พันกว่าคน รวมเป็นเงิน 10 กว่าล้านบาท เหลือประมาณ 140 กว่ารายที่ยังต้องดำเนินการอยู่ รวมมูลหนี้ 400 กว่าล้านบาท

ส่วนในอนาคตตำรวจจะให้ความรู้เพื่อไม่ให้มีหนี้รวมถึงแก้หนี้ เช่น เจรจากับสหกรณ์ตำรวจ 30 กว่าแห่งให้มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า 4.75 เป็นไปตามแนวทางที่รัฐบาลขอความร่วมมือไป

ขณะที่ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า บุคลากรของ สพฐ. มีจำนวน 4.5 แสนคน พบว่า เป็นหนี้ 4 แสนคน แบ่งเป็น สีแดง เหลือง และเขียว โดย รมว.ศึกษาธิการ และสพฐ. ได้จัดทำสถานีแก้หนี้ 245 เขตพื้นที่การศึกษา มีครูลงทะเบียนแก้หนี้รอบแรก 6,251 คน ดำเนินการแก้หนี้กลุ่มสีแดงที่ถูกฟ้องแล้ว 1,000 คน ซึ่งสพฐ.จะดำเนินการโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง และหลังจากนี้จะพัฒนาให้ความรู้ทักษะด้านการเงินแก่บุคลากรด้วย ทั้งนี้ ปัญหาหนี้สินครูเป็นปัญหาที่สะสมมายาวนาน ต้องขอขอบคุณรัฐมนตรี ที่เอาใจใส่ ลดภาระครู เพื่อที่การศึกษาจะได้มีคุณภาพ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวภายหลังการรับฟังแถลงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้เงินกู้แก่บุคลากรของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ ว่า ขอขอบคุณเกี่ยวข้องที่เกี่ยวข้อง และชื่นชมในการตั้งใจทำงาน ส่วนตัวเชื่อว่า หลายคนอาจจะไม่ได้ประสบปัญหาเยอะแบบเดียวกับข้าราชการอีกหลายแสนคน ซึ่งข้าราชการเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติ แต่ยังมีหนี้สินชักหน้าไม่ถึงหลัง ทำงานเท่าไหร่ก็ไม่พอใช้ดอกเบี้ย ถือเป็นสารตั้งต้นหายนะของประเทศ ต้องขอใช้คำนี้เพราะไม่ใช่แค่เพียงมีเงินไม่พอ แต่หันไปพึ่งสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามกฏหมายไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด เพื่อทำให้จิตใจดีขึ้น สบายใจขึ้นถือเป็นความเข้าใจผิด หรือไปทุจริตประพฤติมิชอบ เป็นสารตั้งต้นที่ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นการรวมตัวกันในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขกฎหมาย ว่าไม่ต้องออกจากราชการ มีเงินใช้ 30% รวมถึงสินเชื่อพิเศษ ลดดอกเบี้ย ซึ่งตนเข้าใจว่าหลายหน่วยงานต้อง หวังเรื่องการปันผลหรือผลกำไรแม้ว่าแบงค์ชาติจะไม่ลดแต่หน่วยงานช่วยกันลดก็ขอขอบคุณจากใจจริง และเชื่อว่าข้าราชการในหน่วยงานนั้นนั้นนั้นก็ขอบคุณเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียัง กล่าวว่า เข้าใจว่าแต่ละหน่วยงานก็มีเป้าหมายของตัวเอง การที่ต้องเฉือนเนื้อเพื่อลดกำไร ถือเป็นเรื่องที่ดี และขอฝากข้อคิด ว่าต้องการ ให้หน่วยงานสหกรณ์เข้ามาร่วมโครงการนี้ให้มากขึ้นและขอให้ทำงานหนักขึ้น เชื้อเชิญ ให้เข้ามาอยู่ในระบบให้มากขึ้นเพราะทุกวันนี้หนี้สินเหล่านี้ไม่ได้ลดลงไป แต่เชื่อว่าทุกคนที่อยู่ตรงนี้มีขีดจำกัดในการทำงานพอสมควรเพราะเป็นผู้บริหารระดับสูงจึงจะต้องหาวิธีการการแก้ปัญหา จึงขอให้ ทะเยอทะยานมากขึ้น พยายามช่วยเหลือประชาชนให้มากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งก็เชื่อว่าผู้นำเหล่าทัพมีความใกล้ชิด และเข้าใจความลำบากของ ประชาชนอยู่แล้ว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ สั่ง ปปง.เร่งยึดทรัพย์แก๊งค้ายา

นายกฯ นั่งหัวโต๊ะ สั่ง ปปง.มีอำนาจพิเศษสูงต้องทำงานแบบล้วงลูก เร่งยึดทรัพย์ตัดตอนขบวนการค้ายาฯ อย่ามัวแต่ช้า หวั่นโอนเงินหนี กำชับอย่าทำงานแบบไซโลให้เป็นข้อครหา

'เศรษฐา' ฟุ้งเตรียมถกมะกันตัดตอนยาเสพติด

นายกฯ มอบอุปกรณ์ป้องกันและตอบโต้กลุ่มผู้ค้ายาเสพติด ย้ำให้ความสำคัญถือเป็นความปลอดภัยเจ้าหน้าที่ กำชับดูแลการจ่ายรางวัลนำจับเหมาะสม ไม่ใช่รอนานจนเกษียณถึงได้ เตรียมคุย 'ทูตมะกัน' ตัดตอนยาบ้า

งงตรรกะประหลาด 'อานันท์' มี 'พล.อ.สุนทร' ได้ 'เศรษฐา 'ก็มี 'ทักษิณ' ให้คำปรึกษา

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักจัดรายการวิทยุ โทรทัศน์ และประธานกรรมการนโยบายขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส โพสต์ข้อความว่า