'เศรษฐา-มาครง' ร่วมแถลงข่าว ลุ้นยกเว้น 'วีซ่าเชงเกน' ให้คนไทย

AFP

หวังว่าฝรั่งเศสจะให้การสนับสนุนในเรื่องการยกเว้นวีซ่าเข้าเขตเชงเกนให้แก่คนไทย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน

12 มี.ค.2567- เมื่อวันที่ 11 มีนาคม เวลา 13.10 น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงปารีส ณ ทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศส (Palais de l’Elysée) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายเอมานูว์แอล มาครง (H.E. Mr. Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส แถลงข่าวร่วมกัน

โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้กล่าวโดยสรุป ว่าทั้งสองประเทศต้องร่วมมือกันทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การค้า และการมุ่งมั่นเพื่อรับมือประเด็นความท้าทายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในสุดท้าย จะทำให้ความสัมพันธ์ทั้งทวิภาคี และพหุภาคีเกิดเป็นสันติภาพ และความมั่นคงในโลก

ด้านนายกฯ ขอบคุณการต้อนรับที่สาธารณรัฐฝรั่งเศส นับเป็นการเยือนทวิภาคีอย่างเป็นทางการประเทศแรกในยุโรปนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง และยินดีกับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน Paris 2024 ของฝรั่งเศส หวังวจะมีโอกาสต้อนรับประธานาธิบดีมาครงที่ไทยอีกครั้ง ไทยและฝรั่งเศสมีสายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ จุดยืนและวิสัยทัศน์ในการบริหารประเทศที่คล้ายคลึงกันในหลายประการ

โดยนายกฯ ได้กล่าวถึง 4 ประการ พื้นฐานสำคัญที่มุ่งสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันดังนี้ หนึ่ง ไทยและฝรั่งเศสมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและยาวนานกว่า 300 ปี โดยปี 2568 จะครบรอบ 340 ปี ของการติดต่อสัมพันธ์ และในปี 2569 ทั้งสองฝ่ายมีแผนจะเฉลิมฉลองการครบรอบ 170 ปีความสัมพันธ์ทางการทูต

สอง ทั้งสองประเทศให้คุณค่าแก่ค่านิยมสากลในหลายเรื่อง เช่น การส่งเสริมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมทางเพศ และการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยต่างมีเป้าหมายร่วมกันที่จะสร้างความมั่นคงและยั่งยืนแก่ประชาชน มุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงของมนุษย์ในทุกมิติ

สาม มีจุดยืนร่วมในการรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคง โดยไทยมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคอาเซียน ได้มีมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก ขณะที่ฝรั่งเศสและสหภาพยุโรปเองก็มียุทธศาสตร์ต่ออินโด-แปซิฟิก ที่เปิดโอกาสให้มีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กันมากขึ้นระหว่างภูมิภาค ช่วยสร้างสมดุลทางยุทธศาสตร์ท่ามกลางการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจ

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า ความร่วมมือของนานาประเทศ บนพื้นฐานของการเคารพต่อหลักอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายมนุษยธรรม และกฎบัตรสหประชาชาติ จะช่วยแก้ไขสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้

และสี่ รัฐบาลไทยและฝรั่งเศส มีวิสัยทัศน์ร่วมกันที่จะสร้างเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่น ยั่งยืน โดยคำนึงถึงการเปลี่ยนผ่านสีเขียว และดิจิทัล

โดยนายกฯ กล่าวถึงการแถลง 8 วิสัยทัศน์เพื่อจุดพลังศักยภาพประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคใน 8 ด้าน คือ ด้านการท่องเที่ยว การแพทย์และสุขภาพ เกษตรกรรมและอาหาร การบิน การขนส่งในภูมิภาค การผลิตยานยนต์แห่งอนาคต เศรษฐกิจดิจิทัล และการเงิน และจะได้เชิญชวนฝรั่งเศสร่วมเป็นหุ้นส่วนกับไทย ดังนี้

หุ้นส่วนด้านการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต การบิน และการขนส่งในภูมิภาค ซึ่งไทยมีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค ตามนโยบาย 30@30 โดยจะหารือถึงความร่วมมือยานยนต์ พลังงานสะอาด การบินและการขนส่ง รวมถึงเชิญชวนบริษัทชั้นนำด้านการบริหารจัดการท่าเรือของฝรั่งเศส พิจารณาการลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ของไทย

ทั้งนี้ นายกฯ ยังชื่นชมข้อริเริ่ม Paris Pact for People and the Planet หรือ 4P Initiative ของฝรั่งเศสที่มุ่งขจัดความยากจนไปพร้อมกับการอนุรักษ์โลก และเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนในการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบายมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำของไทยเช่นกัน

หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน ซึ่งไทยและฝรั่งเศสต่างเป็นคู่ค้าคู่ลงทุนที่สำคัญ นายกฯ เชื่อมั่นว่าหากการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป เสร็จสิ้นได้ภายในปี 2568 มูลค่าการค้าและการลงทุนจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยไทยยังได้ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงขอเข้าเป็นสมาชิก OECD ซึ่งจะมีส่วนช่วยยกระดับมาตรฐานด้านเศรษฐกิจของไทย ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลอีกด้วย

นายกฯ หวังที่จะร่วมมือกับฝรั่งเศสพัฒนาวัตถุดิบ และเทคนิคการออกแบบผ้าไหมและผ้าไทยร่วมกับสถาบันแฟชั่นชั้นนำของฝรั่งเศส และร่วมมือกับแบรนด์และห้างสรรพสินค้าชั้นนำของฝรั่งเศสในการนำสินค้าแฟชั่นไทยเข้าสู่ตลาดฝรั่งเศส รวมถึงการส่งเสริมภาพยนตร์ไทยในงานเทศกาลภาพยนตร์ที่เมืองคานส์ด้วย

หุ้นส่วนด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งนายกฯ จะเสนอให้มีการร่วมทุนระหว่างสองฝ่าย และการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตและศูนย์ซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ของภูมิภาค

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ได้พบหารือกับผู้บริหารบริษัทธุรกิจชั้นนำของฝรั่งเศสกว่า 20 แห่งจากภาคยานยนต์ การบิน พลังงานสะอาด แฟชั่น กีฬา การโรงแรม และการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มโอกาสและลู่ทางด้านธุรกิจของทั้งสองประเทศ โดยประเทศไทยซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวฝรั่งเศสที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวระยะไกลอันดับ 2 ของชาวฝรั่งเศส ในขณะที่ นักท่องเที่ยวไทยกว่า 2 แสนคนที่ท่องเที่ยวในฝรั่งเศสถือเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพมีรายได้สูง

นายกฯ ย้ำว่า หวังว่าฝรั่งเศสจะให้การสนับสนุนในเรื่องการยกเว้นวีซ่าเข้าเขตเชงเกนให้แก่คนไทย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน พร้อมเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิด ยั่งยืน และรอบด้านกับฝรั่งเศส จากนี้ไปอีกหลายทศวรรษ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผวาหายนะ! บี้ '2พ่อลูกชินวัตร' ทบทวนพฤติกรรม บ้านเมืองไม่ใช่ธุรกิจครอบครัว

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราข โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ทักษิณ คุณเป็นใคร? หลังจากนายทักษิณ ชินวัตร

รัฐบาลคาดเที่ยวบินช่วงปีใหม่ทะลุ 1.8 หมื่นเที่ยวบิน

รัฐบาลเตรียมความพร้อมรองรับปริมาณเที่ยวบิน คาดมีเที่ยวบินรวมกว่า 1.8 หมื่นเที่ยวบิน เฉลี่ย  2,611 เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มขึ้น 14% จากปี 67

ททท. มอบสุขส่งท้ายปี กับ Voucher ท่องเที่ยวราคาพิเศษ ผ่านกิจกรรม 100 เดียวเที่ยวได้งาน

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดเต็มอีกครั้งกับแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยวในรูปแบบ Workation ที่ส่งเสริมการออกเดินทางท่องเที่ยวพร้อมทำงาน เพื่อสร้างประสบการณ์การทำงานในรูปแบบใหม่และก่อเกิดการเดินทางท่องเที่ยว

แก้ข่าวสทร.! 'อิ๊งค์- เสี่ยหนู' เดินคุยโชว์ปึ๊กหลังประชุมครม.

ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินลงมาจากจากตึกบัญชาการ 1 พร้อมกั