4 มี.ค.2567 - ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม.2/2565 ระหว่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นโจทก์ ฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ,นายนิวัฒน์ำรง บุญทรงไพศาล ,นายสุรนันท์ เวชชาชีวะ,บ.มติชน จำกัด (มหาชน) ,บริษัทสยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ,นายระวิ โหลทอง เป็นจำเลยที่ 1-6
คดีนี้เมื่อวันที่ 28 ม.ค.65 โจทก์ยื่นฟ้องว่า เมื่อเดือนส.ค. 56 ถึงวันที่ 12 มี.ค.57 จำเลยที่ 3 ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ดำเนินการเสนอโครงการ Roadshow ที่มิใช่กรณีเร่งด่วนโดยจำเลยที่ 2 ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ลงนามผ่านเรื่อง แล้วจำเลยที่ 1 ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใช้ดุลพินิจบิดผันสั่งอนุมัติงบกลาง โดยเจตนาร่วมกันกำหนดให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็น ผู้รับจ้างจัดโครงการโดยจำเลยที่ 3 เสนอจำเลยที่ 2 เพื่อขออนุมัติจัดจ้างการดำเนินการโครงการดังกล่าวโดยวิธีพิเศษ อันเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยังร่วมกันดำเนินการเพื่อให้คณะรัฐมนตรีมีมติยกเว้นการลงนามในสัญญาก่อนได้รับเงินประจำงวด ทั้งที่ไม่เข้าเงื่อนไขอันจะได้รับการยกเว้น เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จำนวนเงิน 239,700,000บาท โดยจำเลยที่ 4-6 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด
ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1-3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151,157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา123/1 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา192 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12,13 ลงโทษจำเลยที่ 4-6 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151,157ประกอบมาตรา 86 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา123/1 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. 2561 มาตรา 192 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา86 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4,12,13 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา86 กับนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อม.211 /2560 ของศาลนี้
โจทก์ยื่นฟ้องกรณีไม่ปรากฏตัวจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นว่า ฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้สั่งไม่ประทับ รับฟ้อง
องค์คณะผู้พิพากษามีคำสั่งไม่ประทับรับฟ้องข้อหาเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดซื้อโดยใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 โดยเห็นว่าฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่าจำเลยทั้งหกเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าว ส่วนข้อหาอื่นให้ประทับรับฟ้องไว้พิจารณาโจทก์อุทธรณ์คำสั่งไม่ประทับรับฟ้องดังกล่าว
เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2565 ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยองค์คณะชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ พิพากษายืนจำเลยที่1 ไม่มาศาล ถือว่าจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 2-6 ให้การปฏิเสธ
ศาลไต่สวนพยานโจทก์นัดแรกเมื่อวันที่ 2 ม.ค.66 นัดไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้ายวันที่ 7 ธ.ค.66 คู่ความขอแถลงปิดคดีภายใน 60 วัน
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ว่า จำเลยที่1-3 ดำเนินการนำงบกลางจำนวน 40,000,000 บาท มาจัดทำโครงการ Roadshow ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เห็นว่าโครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมของประเทศ และโครงการ Roadshow เป็นการดำเนินการตามนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติให้รัฐสภาเท่านั้นตรวจสอบการกระทำของรัฐบาล ศาลจึงไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยถึงดุลพินิจของฝ่ายบริหารในการกำหนดนโยบายดังกล่าว แต่การใช้งบประมาณเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลนั้น ย่อมต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายระเบียบและมติ
คณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง สำหรับคดีนี้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 ก.พ.52 กำหนดแนวทางปฏิบัติกรณีขออนุมัติใช้เงินงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น ดังนี้ ศาลย่อมมีอำนาจตรวจสอบขั้นตอนปฏิบัติว่าจำเลยที่1-3 ได้ดำเนินการใดที่ไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวอันถือเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย โดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและทางราชการ หรือโดยทุจริตหรือไม่
พยานหลักฐานได้ความว่า กำหนดเวลาเริ่มดำเนินโครงการ Roadshow เกิดขึ้นจากการพิจารณาร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งมิใช่เป็นการตัดสินใจของจำเลยที่ 1 เอง และมิได้กำหนดเวลากระชั้นชิดเพียงเพื่อให้เป็นเหตุอ้างใช้งบกลาง เมื่อกรณีไม่อาจใช้ทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 และงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ.2557 มาดำเนินโครงการ Roadshow ได้ตามที่ได้กำหนดเวลาไว้ ถือได้ว่าเป็นการกระทำในกรณีมีความจำเป็นและเร่งด่วนต้องใช้จ่ายงบประมาณ
ขณะที่จำเลยที่1 มีคำสั่งอนุมัติงบกลางเมื่อวันที่ 25 ก.ย.56 ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเป็นยุติว่า ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.... ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศได้ผ่านการพิจารณาจากหน่วยงานฝ่ายบริหารและผ่านมติคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีข้อทักท้วง ประกอบกับ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณมีความเห็นว่าเห็นสมควรที่นายกรัฐมนตรีจะอนุมัติงบกลางนี้ได้ กรณีย่อมมีเหตุผลเพียงพอให้จำเลยที่ 1 เชื่อโดยสุจริตว่าสามารถอนุมัติได้ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ใช้ดุลพินิจกระทำไปบน พื้นฐานของข้อมูลและข้อเท็จจริงเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้น
แม้ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยที่3-4/2557 ว่าร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯตราขึ้นมาโดยไม่ใช่กรณีจำเป็นเร่งด่วนก็เป็นเพียงการวินิจฉัยถึงความชอบของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเท่านั้น ทั้งยังเป็นการวินิจฉัยภายหลังเกิดเหตุโดยมิได้วินิจฉัยถึงความรับผิดทางอาญา ซึ่งต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานในคดีนี้เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่อาจรู้ล่วงหน้าได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยเป็นประการใด ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาเล็งเห็นผลว่าโครงการ Roadshow ไม่อาจเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน แม้โครงการ Roadshow จะดำเนินการในพื้นที่เดียวกันกับโครงการกระทรวงคมนาคม แต่ก็เป็นเพียง พื้นที่๒ จังหวัดแรก ทั้งโครงการ Roadshow มีภารกิจครอบคลุมมากกว่า ถือไม่ได้ว่าเป็นโครงการที่ซ้ำซ้อนกัน
สำหรับจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมหรือแนะนำโดยมิชอบเพื่อให้จำเลยที่ 1 อนุมัติงบกลางอย่างไรจำเลยที่2 จึงเป็นแต่เพียงผู้ทำหน้าที่พิจารณาแล้วผ่านเรื่องเสนอไปยังจำเลยที่ 1 ตามลำดับชั้นเท่านั้น ส่วนจำเลยที่ 3 เพิ่งทราบว่าต้องขอใช้งบกลางจากการเสนอตามลำดับชั้นของข้าราชการผู้ปฏิบัติงาน จึงเป็นเพียงการดำเนินการตามหน้าที่เท่านั้น ดังนี้ การที่จำเลยที่ 2-3 เสนอให้จำเลยที่ 1 อนุมัติใช้งบกลาง และจำเลยที่ 1 อนุมัติใช้งบกลางจำนวน 40,000,000 บาท มาดำเนินการโครงการ Roadshow จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยที่1-3 ร่วมกันตกลงให้จำเลยที่ 4-5 เป็นผู้รับจ้างจัดทำโครงการ Roadshow ไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนเริ่มการจัดจ้างหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งการให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจัดทำโครงการRoadshow จึงเป็นเรื่องปกติที่จำเลยที่1 จะสั่งให้แก้ไขรูปแบบของงาน จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ริเริ่มให้จำเลยที่ 4-5 เข้ามานำเสนองาน ไม่ปรากฏว่ารูปแบบงานได้กำหนดรายละเอียด คุณลักษณะเฉพาะอย่างใดที่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่จำเลยที่4-5 โดยเฉพาะเจาะจงหรือกีดกันผู้เสนอราคารายอื่น ที่จำเลยที่ 4 มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงมหาดไทยขอความอนุเคราะห์ให้แต่ละจังหวัดอำนวยความสะดวก และจำเลยที่ 1 เป็นประธานแถลงข่าวงานโครงการ Roadshow โดยมีพนักงานของจำเลยที่4-5 ที่ช่วยประสานงานกับสื่อมวลชน รวมทั้งจำเลยที่4 เป็นผู้ออกแบบรูปแบบในการจัดงานแถลงข่าวและโลโก้สร้าง อนาคตไทย 2020 นั้น ก็มิช่เป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจหรือให้การรับรองการดำเนินการ ทั้งเป็นรายละเอียดในขั้นตอนการปฏิบัติงาน จึงไม่อยู่ในวิสัยที่จำเลยที่ 1 จะทราบข้อเท็จจริงได้ทั้งหมด
สำหรับจำเลยที่2 มิได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ Roadshow โดยตรง ส่วนจำเลยที่ 3 นั้น ปรากฏว่าแนวทางการสรรหาเอกชนมาดำเนินการโครงการ Roadshow เป็น ข้อสรุปร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ โครงการของกระทรวงคมนาคมก็เคยจ้างเอกชนมาดำเนินโครงการ จึงไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ การที่จำเลยที่ 3 แจ้งให้จำเลยที่4-5 ไปรวบรวมผลงานในอดีตมาเสนอ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดชอบตรวจสอบก่อนเสนอต่อที่ประชุม ทั้งการที่จำเลยที่4-5 ก็จัดทำรูปแบบของงานมาเสนอต่อที่ประชุม เป็นการกระทำโดยเปิดเผยแก่บุคคลอื่นเป็นจำนวนมาก โดยจำเลยที่3 มิได้กระทำการ อันใดในลักษณะที่เป็นการชี้นำหรือจูงใจหรือให้การสนับสนุนเป็นพิเศษ ทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่าไม่มีบุคคลใดสั่งการให้เลือกจำเลยที่4-5 เป็นผู้รับจ้าง
พยานหลักฐานทางไต่สวนจึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1-3 กำหนดตัวบุคคลให้เป็นผู้รับจ้างไว้ล่วงหน้า ปัญหาต่อไปมีว่าจำเลยที่1-3 ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการอนุมัติจัดจ้างโครงการ Roadshow โดยวิธีพิเศษตามฟ้องหรือไม่ เห็นสมควรวินิจฉัยวงเงิน 40,000,000 บาท ก่อนสำหรับจำเลยที่1 นั้น ไม่ปรากฏว่าเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนจำเลยที่2 ไม่ปรากฏ ว่าจำเลยที่2 เป็นผู้ริเริ่มให้ดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ แต่เป็นการเสนอของเจ้าหน้าที่ตามลำดับชั้นโครงการ Roadshow กำหนดเริ่มดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 4ต.ค.56 และจำเลยที่ 3 เสนอเรื่องต่อจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 1 ต.ค.56 จึงไม่อาจใช้วิธีการประกวดราคา ทั้งหัวหน้าฝ่ายพัสดุ เกษียนข้อความรับรองว่าตรวจแล้ว ถูกต้องตามระเบียบพัสดุ กรณีมีเหตุเพียงพอให้จำเลยที่ 2 พิจารณาได้ว่าเป็นงานที่ต้องกระทำโดยเร่งด่วน หากล่าช้าอาจจะเสียหายแก่ราชการ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 24(3) เช่นนี้ แม้จำเลยที่ 2 สั่งอนุมัติภายในวันเดียวก็ไม่ถือว่าเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ กรณีจึงมีเหตุที่จะทำให้จำเลยที่ 2 เชื่อโดยสุจริต จึงขาดเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีสำหรับจำเลยที่ 3 นั้น เห็นว่า ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นหน้าที่และอำนาจของจำเลยที่ 3 ในฐานะ หัวหน้าส่วนราชการ แต่เป็นกรณีการจัดซื้อจัดจ้างในวงเงินเกินอำนาจอนุมัติของจำเลยที่3 จึงต้องเสนอจำเลยที่ 2 พิจารณา
ดังนี้ การที่จำเลยที่ 3 ไม่ได้เสนอเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างต่อคณะกรรมการบูรณาการการประชาสัมพันธ์โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างอนาคตประเทศไทย จึงมิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ส่วนที่คณะกรรมการกำหนดราคากลางนำข้อเสนอราคาของจำเลยที่ 4 มาใช้ในการกำหนดราคากลางนั้นเป็นการพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดราคากลางเอง โดยไม่ปรากฏว่ามีการคบคิดกันฉ้อฉลหรือไม่สุจริตหรือมีผู้ใดสั่งการหรือแทรกแซงการกำหนดราคากลางและคณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษให้ต้องเลือกจำเลย ที่ 4 เป็นผู้รับจ้างแต่อย่างใด ทั้งเมื่อจำเลยที่ 3 ทราบเรื่องก็ยังมีคำสั่งให้ชะลอการจ่ายเงินค่าจ้างแก่จำเลยที่ 4-5 ไว้ก่อน
ประการสำคัญที่สุดหลังเกิดเหตุรัฐประหาร เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ก็มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้น คณะกรรมการดังกล่าวก็เห็นว่าขั้นตอนการดำเนินโครงการ Roadshow เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 จึงอนุมัติเบิกจ่ายเงิน สอดคล้องกับที่คณะกรรมการสอบสวน ข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดได้ตรวจสอบแล้ว พบว่าไม่มีเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
ส่วนโครงการ Roadshow อีก10 จังหวัด วงเงิน 200,000,000 บาท ก็ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะใช้วิธีการประกวดราคาได้ กรณีจึงมีเหตุผลเพียงพอให้จำเลยที่ 2 เข้าใจได้ว่าการจัดจ้างโครงการ Roadshow อีก 10 จังหวัด เข้าเงื่อนไขตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ24 (3) เช่นกัน
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1-3 ร่วมกันดำเนินการให้มีการอนุมัติลงนามในสัญญาจ้างก่อนได้รับเงินประจำงวด โดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 (ที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุ)หรือไม่ เห็นว่า ที่มาของการดำเนินการดังกล่าวมิใช่เกิดจากการกระทำเพื่อแก้ไขความผิดพลาดของจำเลยที่ 3 เองแต่การที่จำเลยที่ 3 ต้องเสนอจำเลยที่2 ลงนามในหนังสือไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีนั้น เกิดจากความจำเป็นต้องปฏิบัติไปตามที่คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ กรมบัญชีกลาง มีหนังสือแจ้ง และด้วยเหตุนี้ ย่อมเป็นเหตุผลให้จำเลยที่ 2 จำเป็นต้องมีหนังสือไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี การกระทำของจำเลยที่2-3 ในขั้นตอนนี้จึงมิได้เป็นการกระทำโดยมิชอบ
ส่วนที่จำเลยที่1-2 ร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีและลงมติเมื่อวันที่ 7ม.ค.57 ด้วย ก็เพราะการอนุมัติให้ก่อหนี้ผูกพันก่อนได้รับอนุมัติเงินประจำงวด เป็นดุลพินิจและอำนาจของคณะรัฐมนตรีโดยเฉพาะตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณพ.ศ.2502 มาตรา 23 วรรคสี่ ไม่ปรากฏว่าการใช้ดุลพินิจของจำเลยที่ 1-2 ผิดกฎหมายหรือระเบียบ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1-2 ใช้ดุลพินิจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ปัญหาประการสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 4-6 ร่วมกันสนับสนุนจำเลยที่ 1-3 ในการกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงทางไต่สวนรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่1-3 กระทำความผิดดังวินิจฉัยแล้ว จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่4-6 เป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิด ส่วนที่จำเลยที่ 4 และที่5 แบ่งจังหวัดเพื่อจัดทำงานนำเสนอ (Presentation) เป็นขั้นตอนก่อนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง จึงไม่ถือว่าเป็นการตกลงร่วมกันเสนอราคาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4 ดังนั้น จำเลยที่ 4-6 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง
องค์คณะผู้พิพากษามีมติเอกฉันท์ให้พิพากษายกฟ้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศว่า วันนี้ศาลใช้เวลาอ่านคำพิพากษานานกว่า 2 ชั่วโมงโดยมีมติเป็นเอกฉันท์ 9:0 ยกฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรีและพวกรวม 6 คน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เตือน 'ยิ่งลักษณ์' กลับมาแบบ 'นักโทษนางฟ้า' ทำลายระบบแบบพี่ชาย ยิ่งจุดชนวนระเบิด
นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เปิดเผยว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯหนีคดีทุจริตจำนำข้าว อาจจะกลับประเทศไทยช่วงก่อนสงกรานต์ปีหน้า ว่า
'ชูศักดิ์' ไม่รู้ 'ยิ่งลักษณ์' จะกลับไทยอย่างไร รับกฎหมายนิรโทษกรรมไม่เสร็จง่ายๆ
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ให้สัมภาษณ์ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะกลับประเทศไทยในช่วงสงกรานต์ปีหน้า
'ทวี' เสียงแข็ง! 'ยิ่งลักษณ์' กลับไทย ต้องปฏิบัติตามกฏหมาย ไม่มี 'ทักษิณโมเดล'
ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการเดินทางกลับไทยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชิน
‘ยิ่งลักษณ์’ ปลื้มใจ ‘น้องไปป์’ บุตรชายได้ทุนเรียนต่อปริญญาเอกที่อังกฤษ
ยินดีกับลูกไปป์ที่ได้ทุนเรียนต่อปริญญาเอก President's PhD scholarships จาก Imperial College London เป็นเวลา 4 ปี
'ชาญชัย' จ่อยื่นศาลฎีกาฯครั้งที่ 3 เอาผิดเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ นำ 'ทักษิณ' เข้าคุก
'ชาญชัย' แจงข้อเท็จจริง 2 คำร้องต่อศาลฎีกาการเมือง 2 ครั้ง เหตุใด 'ทักษิณ' จึงไม่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาของศาลแม้แต่วันเดียว ศาลชี้ให้ดูประเด็นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทำผิดกฎหมายเรื่องใด เผยรวบรวมพยานหลักฐานได้50% จ่อยื่นครั้งที่ 3 เอาผิดเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ นำ'ทักษิณ'เข้าคุก
'ยิ่งลักษณ์' ปลื้ม! 'ข้าวซอย' อาหารคนเหนือวันนี้ ไม่ใช่ข้าวซอยธรรมดาอีกต่อไป
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นักโทษหนีคดีปล่อยทุจริตจำนำข้าว โพสต์เหซบุ๊ก Yingluck Shinawatra ว่า "ข้าวซ