กรมคุมประพฤติ เข้าพบ"ทักษิณ"บ้านจันทร์ส่องหล้าแล้ว แจงขั้นตอนนัดรายงานตัว และเงื่อนไขระหว่างการพักโทษ "5 ห้าม 5 ให้" ดื่มไวน์สังสรรค์ได้เล็กน้อย
23 ก.พ.2567 - จากกรณีนายทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องขังเด็ดขาดชั้นกลางของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยเป็น 1 ใน 930 คน ที่ได้รับการพักการลงโทษ ซึ่งเป็นกรณี 1 ใน 8 ราย มีเหตุพิเศษที่จะพักการลงโทษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งนายทักษิณ ได้ออกจากชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา รพ.ตำรวจ เมื่อช่วงเช้าของวันอาทิตย์ที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมาเพื่อเดินทางเข้าบ้านจันทร์ส่องหล้าตามที่แจ้งว่าเป็นสถานที่พักการลงโทษ ทั้งนี้ ช่วงวันที่ 19 ก.พ. - 21 ก.พ. เป็นระยะเวลาที่นายทักษิณต้องรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ เพื่อเข้าสู่กระบวนการพักการลงโทษจนกว่าจะพ้นโทษในเดือน ส.ค.67
ล่าสุดวันนี้ พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏข่าวว่านายทักษิณ ชินวัตร เป็น 1 ใน930 ผู้ต้องขังที่ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการพักการลงโทษ โดยมีเงื่อนไขคุณสมบัติผ่านเข้าโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษฯ และเข้าพักอาศัยยังสถานที่พักโทษที่ได้มีการแจ้งไว้ คือ บ้านจันทร์ส่องหล้านั้น เมื่อวันอังคารที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา ทางผู้บริหารที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมคุมประพฤติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานคร 1 ซึ่งเป็นสำนักงานที่เป็นผู้รับผิดชอบในพื้นที่เขตดังกล่าว ได้เดินทางเข้าพบนายทักษิณและผู้อุปการะ พร้อมกับแจ้งเงื่อนไข ข้อกำหนดการพักโทษและนัดหมายรายงานตัวในครั้งถัดไป
สำหรับการนัดหมายรายงานตัวในเดือน มี.ค. หากนายทักษิณยังคงอยู่ระหว่างการพักฟื้นรักษาตัวหรือการตรวจรักษากับแพทย์ ทางเจ้าหน้าที่คุมประพฤติจะต้องประสานติดต่อกับผู้อุปการะว่าสะดวกให้เข้าพบยังบ้านจันทร์ส่องหล้าในวันเวลาใด หรือถ้ายังไม่สะดวกในเดือนนั้นๆก็สามารถแจ้งเลื่อนได้ แต่ถ้าอดีตนายกรัฐมนตรี มีอาการดีขึ้น สะดวกในการเดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่คุมประพฤติด้วยตัวเอง ก็สามารถเดินทางไปรายงานตัวที่สำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานคร 1 ถนนพรานนก แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ จึงขึ้นอยู่กับอาการเจ็บป่วยในช่วงเวลานั้นๆ
อย่างไรก็ตาม หลักการโดยรวมของการรายงานตัวของผู้ถูกคุมความประพฤติ คือ ต้องรายงานตัวทุกเดือน โดยในแต่ละเดือนสามารถขยับวันเวลาบวกลบได้ เช่น ขยับวันเวลาการรายงานตัวเข้ามาเร็วขึ้น เพียงแค่ต้องไม่เกินปฏิทินในเดือนนั้น และถ้ารายงานตัวครบ 4 เดือน ครั้งถัดไปก็สามารถลดหย่อนได้ เป็น 2 เดือนค่อยรายงานตัว ซึ่งก็เป็นไปตามเกณฑ์ที่ถูกใช้กับผู้ถูกคุมประพฤติรายอื่น ๆ
พ.ต.ท.มนตรี กล่าวต่อว่าส่วนข้อกำหนด ข้อห้าม หรือเงื่อนไขต่างๆระหว่างการพักโทษ คือ "5 ให้ 5 ห้าม" ซึ่งถูกระบุในหนังสือสำคัญแจ้งการพักการลงโทษ หรือใบ พ.8 ซึ่งเป็นเอกสารของกรมราชทัณฑ์ สำหรับผู้ได้รับการพักโทษกรณีมีเหตุพิเศษฯ ประกอบด้วย 5 ให้ คือ 1.ให้รายงานตัวกับกรมคุมประพฤติภายใน 3 วัน 2.ให้อยู่ในความดูแลของผู้อุปการะ 3.ให้ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบแบบแผน หากฝ่าฝืนหรือมีปัญหาใดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติรายงานให้ผู้คุมประพฤติรับทราบ ส่วนการจะผิดเงื่อนไขหรือไม่ ผู้คุมประพฤติจะตรวจสอบและวินิจฉัย หากผิดเงื่อนไขก็ต้องส่งตัวกลับเข้าเรือนจำฯ 4.ให้ประกอบอาชีพสุจริต ถ้าเปลี่ยนอาชีพก็ต้องแจ้งผู้คุมประพฤติรับทราบ 5.ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของพนักงานคุมประพฤติ
ส่วน 5 ห้าม คือ 1.ห้ามออกนอกเขตจังหวัด หากมีกิจธุระจำเป็นต้องแจ้งผู้คุมประพฤติเพื่อขออนุญาตและต้องแจ้งกำหนดเวลาการไป-กลับ อยู่ยาวเป็นเดือนไม่ได้ 2.ห้ามประพฤติเสื่อมเสีย เช่น เล่นการพนันหรือดื่มสุราจนมีอาการมึนเมาจนก่อให้เกิดความเสียหาย ส่วนจะดื่มไวน์หรือไปสังสรรค์เล็กน้อยไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่สังคมสามารถทำได้ 3.ห้ามเกี่ยวข้องกับสารระเหยหรือยาเสพติด 4.ห้ามไปเยี่ยมผู้ต้องขังอื่นที่ถูกคุมขังภายในเรือนจำ/ทัณฑสถาน และ 5.ห้ามคบค้าสมาคมกับผู้ที่จะนำไปสู่การกระทำความผิดซ้ำ
ผู้สื่อข่าวถามว่าการไปดำรงตำแหน่งนั่งบอร์ดกรรมการหรือไปเป็นที่ปรึกษาในทางการเมืองสามารถทำได้ในระหว่างการพักโทษหรือไม่ พ.ต.ท.มนตรี กล่าวว่า ตนมองว่าในฐานะผู้ได้รับการพักโทษที่เตรียมจะกลับเข้าสู่สังคมเมื่อได้รับการพ้นโทษนั้น ระหว่างนี้ก็สามารถทำหน้าที่ต่างๆได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องไปดูว่าบอร์ดกรรมการนั้น ๆ หรือตำแหน่งที่ปรึกษาในทางการเมืองนั้นๆ มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะไปดำรงตำแหน่งโดยมีข้อยกเว้นประการใดหรือไม่
เช่น มีข้อห้ามไม่ให้ผู้ที่เป็นผู้ต้องขังเด็ดขาดมาดำรงตำแหน่งหรือไม่ เป็นต้น คล้ายลักษณะของกรณีที่บุคคลใดจะไปสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ก็จะมีข้อห้ามกำหนดไว้ว่าต้องไม่เป็นผู้ที่ต้องคำพิพากษาของศาลมาก่อน ดังนั้น ในระหว่างการพักโทษจึงยังไม่มีการห้ามในเรื่องของงานทางการเมือง เพราะอย่างไรแล้วผู้ได้รับการพักโทษ เมื่อพ้นโทษก็จะได้ใช้ชีวิตปกติและมีสิทธิในฐานะคนไทยตามรัฐธรรมนูญทุกประการ
พ.ต.ท.มนตรี กล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องการติดกำไล EM ในส่วนของผู้ได้รับการพักโทษแบบปกติ จะต้องติดกำไล EM เกือบทุกราย ยกเว้นมีอาการเจ็บป่วยหนัก หรือต้องเอกซเรย์จากการประสบอุบัติเหตุ หรือมีความจำเป็นต้องถอดออกเพื่อการรักษาพยาบาล กรมคุมประพฤติก็จะทำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการพักการลงโทษเพื่อถอดกำไล EM ให้ได้ ส่วนผู้ได้รับการพักโทษแบบกรณีมีเหตุพิเศษฯ ถ้าเจ็บป่วยและสูงอายุจะเข้าเงื่อนไขยกเว้นให้ไม่ต้องติดกำไล EM ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามแนวทางที่คณะกรรมการพักการลงโทษได้กำหนดไว้ โดยสอดรับกับกฎกระทรวง ว่าด้วยการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดในการติดตามตัวผู้ถูกคุมความประพฤติตามเงื่อนไขที่ศาลหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสั่ง พ.ศ. 2560
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มาแล้ว! หนึ่งอำเภอหนึ่งติ๊กต๊อกเกอร์
‘ทักษิณ’ ปราศรัยเวทีสุดท้าย กร้าว สิ้นปีนี้ต้องจัดการยาเสพติดให้เกลี้ยง ผุด ไอเดียหนึ่งอำเภอหนึ่งติ๊กต๊อกเกอร์-ส่งสินค้าไทยไปทั่วโลก โวปี 70 เงินเต็มกระเป๋า ซัดพวกด่ารัฐบาล ผัว-เมียไม่รัก เลยมาลงกับนายกฯ
กล้ามั้ย! ใช้อำนาจ 'นายกฯของปชช.' พิสูจน์ความจริง 'พ่อ' ไม่ได้ป่วยทิพย์
“ดิเรกฤทธิ์” จี้นายกฯ เปิดตัวเป็นตัวพยานต่อศาล หรือ องค์กรตรวจสอบสอบต่อสภา พิสูจน์ความจริงเรื่องไม่ได้ป่วยทิพย์ของพ่อ ใช้อำนาจของตนเองเพื่อประชาชน
'ทักษิณ' ยอมหลีกทางให้นายกฯไทยรวยที่สุด
“ทักษิณ” รับเสียแชมป์ นายกฯไทย รวยที่สุด ให้ลูกสาว สวนทาง “รัฐบาลพ่อเลี้ยง“ บอกไม่เป็นไร อย่างมากก็ให้ลูกเลี้ยง บอกตอนอยู่เมืองนอกเปย์หนักให้ลูกสาว
พ่อนายกฯบอกคุยกันรู้เรื่องกับ 'พีระพันธุ์' ยังไม่ปรับครม.
“ทักษิณ” ลั่น ยังไม่มีเหตุปัจจัย ปรับครม. ชี้ ลูกสาวบอก พ่อ อิ๊งค์ ยังสบายๆ ทำงานกับครม.ชุดนี้ ไม่มีปัญหา สยบลือ ปรับ “พีระพันธุ์” ออกกลางคัน บอกรู้จักมานาน คุยกันรู้เรื่อง เดินหน้าทุบค่าไฟ เหลือ 3.70 ต่อหน่วย นายกฯ จ่อเรียกทุกฝ่ายคุย ให้เต็มใจยอมรับถูกรีดไขมัน
'ทักษิณ' ไล่ฟัดพวกตื่นมาด่ารัฐบาล เคยรวยที่สุดแต่โดนหาเรื่องยึดทรัพย์
“ทักษิณ” ลุยหาเสียง อบจ.เชียงราย บอก สาวเจียงฮายสู้นางแบบระดับโลกได้ ลั่น พวกด่ารัฐบาลชีวิตสิ้นหวังมองโลกแย่ไปหมด อยากโยนเชือกให้ผูกคอ ขายฝัน เตรียมทุบค่าไฟเหลือ 3.70 บาท รอเลยเงินหมื่นคนแก่ 29 ม.ค. ได้แน่ รับ เคยรวยสุดในไทย แต่โดนแกล้ง-ยึดทรัพย์