เปิดรายงานสภาสูง ชี้พฤติการณ์จาบจ้วงสถาบันฯ ทวีรุนแรง เข้าข่ายภัยมั่นคง

เปิดรายงาน กมธ. สภาสูง ชี้พฤติการณ์จาบจ้วงล่วงละเมิดต่อสถาบันฯ นับวันยิ่งทวีความรุนแรง เข้าข่ายเป็นภัยต่อความมั่นคง ย้ำมีการทำเป็นกระบวนการ หวั่นเกิดผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม

19 ก.พ. 2567 - ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า สำหรับการประชุมวุฒิสภาวันจันทร์ที่ 19 ก.พ.นี้ มีระเบียบวาระที่น่าสนใจคือ รายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง "แนวทางเชิงรุก Knight 410 สื่อสารความจริงด้วยความรักเพื่อความมั่นคงของประเทศ"

โดยเป็นรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา ที่มีนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ สมาชิกวุฒิสภา และอดีต รมว.ยุติธรรม ยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ

ซึ่งรายงานดังกล่าวระบุว่า เป็นผลการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลจากการจัดกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการในเรื่องที่เกี่ยวกับการสื่อสารในการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามแนวคิดการสื่อสารสมัยใหม่ ด้วยการใช้วิธีการ เครื่องมือ และรูปแบบการสื่อสารที่ทันสมัย สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยในปัจจุบัน ซึ่งคณะกรรมาธิการฯได้ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลจากแนวคิดต่างๆ โดยได้ริเริ่มหลักสูตรเชิงรุกด้านการสื่อสาร เพื่อพัฒนาความเชื่อที่มีผลต่อพฤติกรรมในการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ อีกทั้ง มุ่งเน้นกระบวนการการมีส่วนร่วมด้วยกลยุทธ์ด้านการสื่อสารแบบ Proactive สร้างองค์ความรู้ที่เป็นชุดความรู้ ความคิดที่ถูกต้องเกี่ยวกับการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้คงอยู่คู่สังคมไทย และเพื่อความมั่นคงของประเทศ

รายงานดังกล่าวระบุว่า คณะอนุกรรมาธิการศึกษาและเสนอแนะแนวทางด้านการสื่อสารในการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่อยู่ในคณะกรรมาธิการฯ ประสบผลสำเร็จในการใช้หลักสูตรต้นแบบ 2 หลักสูตร หนึ่งในนั้นคือ หลักสูตร Knight 410 ที่เป็นหลักสูตร เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมการสื่อสารในเรื่องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ถูกต้อง เพื่อดำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ

ซึ่งในเอกสารดังกล่าวระบุว่า คำว่า “Knight 410” มีความหมายว่า “อัศวินผู้ทำหน้าที่สื่อสารความจริงด้วยความรัก” (คำพ้องเสียงที่หมายถึงอัศวินของรัชกาลที่ 10)

ที่น่าสนใจ รายงานดังกล่าวระบุถึงสภาพปัญหาในปัจจุบันที่มีการแสดงความคิดเห็นพาดพิงสถาบันฯ ไว้ว่า เป็นเรื่องที่ดําเนินการในลักษณะที่เป็นภัยต่อความมั่นคง โดยมีการกระทําที่เป็นกระบวนการ

โดยเนื้อหาช่วงดังกล่าว ระบุไว้ดังนี้ จากสถานการณ์ในปัจจุบัน มีผู้นำวิทยาการสมัยใหม่ด้านการสื่อสารมาเป็นเครื่องมือในการเรียกร้องและแสดงความคิดเห็นพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน ไม่เป็นความจริง ทำให้เกิดสภาพปัญหาในสังคม ดังนี้

1.มีการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยการใช้ภาษาที่รุนแรง นําไปสู่ความขัดแย้ง สร้างความเกลียดชังและแตกแยกในสังคม

2.มีการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ ในเรื่องที่ไม่เป็นความจริง หรือบิดเบือน อันเป็นการกระทําผิดกฎหมาย แล้วนําไปขยายผลใน Social Media โดยอ้างหลักการในเรื่องของสิทธิและเสรีภาพ อันเป็นชนวนเหตุหรือเงื่อนไขนําไปสู่การใช้ความรุนแรง ทําให้เกิดปัญหาลุกลาม บานปลาย ขยายวงกว้างและยากต่อการควบคุม เนื่องจากต้องใช้มาตรการบังคับใช้ทางกฎหมายเข้ามาควบคุม และเกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้เรียกร้องและเจ้าหน้าที่รัฐในการระงับเหตุ

3.มีการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ ในเรื่องที่ไม่เป็นความจริง หรือบิดเบือน ด้วยการใช้ภาษาที่รุนแรงในลักษณะดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย อันเป็นการกระทําผิดกฎหมาย ผู้ที่พบเห็นการกระทําดังกล่าวไม่กล้าที่จะสื่อสารความจริง เพราะเกรงว่าจะถูกรบกวนความเป็นส่วนตัวหรือบางคนกล้าที่จะสื่อสารแต่ผลที่ได้กลับทําให้เกิดแนวร่วมมุมกลับ หรืออาจเสี่ยงที่จะกลายเป็นผู้ที่กระทําผิดกฎหมายเสียเอง เนื่องจากขาดองค์ความรู้ในเรื่องกฎหมาย หรือขาดทักษะด้านการสื่อสาร เป็นต้น

ในรายงานดังกล่าวระบุว่า จากสภาพปัญหาดังกล่าว แม้ว่าหน่วยงานของรัฐจะได้ดำเนินการในการปกป้องและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยใช้มาตรการทางกฎหมายและมาตรการอื่นทางสังคมก็ตาม แต่ก็ยังไม่เพียงพอและเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

รายงานระบุว่า ในทางกลับกันพฤติการณ์การจาบจ้วงล่วงละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยการดูหมิ่น หมิ่นประมาทและแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์พระราชินีและรัชทายาท ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และได้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์

"พฤติการณ์การจาบจ้วงล่วงละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ถูกดําเนินการในลักษณะที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ มีการกระทําที่เป็นกระบวนการ ใช้วิธีการสร้างเครือข่ายแล้วเผยแพร่แนวความคิดและอุดมการณ์ไปยังประชาชนที่นิยมในตัวผู้นำกลุ่มแนวความคิดนั้นๆ ด้วยการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์การโฆษณา ผ่านทางหนังสือ หรือบทความ รวมถึงการชุมนุมเรียกร้องของประชาชนที่มีเผยแพร่ทางสื่อสารมวลชนอันเป็นชนวนให้เกิดการปลุกกระแสให้ประชาชนบางส่วน เข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

อนึ่ง พฤติการณ์ดังกล่าว นอกจากจะมีลักษณะที่ไม่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพสังคมและจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นของประเทศไทยที่ให้ความเคารพสักการะและเทิดทูนองค์พระมหากษัตริย์อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่มีความแตกต่างจากชาติอื่น ซึ่งมีผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม" รายงานดังกล่าวระบุไว้ตอนหนึ่ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิด 4 ทางเลือก! ความเป็นไปได้ หลังสภาล่ม-ร่างแก้ไขรธน.จะเดินหน้าอย่างไร?

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในประเด็นทางการเมืองที่ร้อนแรงที่สุดของรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมสองฉบับเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา แต่เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเกิด “ล่ม” ขึ้นอีกครั้งเนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ

ส่อล่มแต่ไก่โห่! ประธานสั่งพักการประชุม หลังโต้กันวุ่นปมนับองค์ประชุม

การประชุมร่วมรัฐสภา เกิดความตึงเครียด เมื่อสมาชิกฝ่ายค้านโต้แย้งการตัดสินใจของประธานรัฐสภาเกี่ยวกับการนับองค์ประชุม ขณะที่สมาชิกวุฒิสภาเสนอวิธีการขานชื่อ แต่ท้ายที่สุด ประธานรัฐสภาสั่งพักการประชุม 20 นาที เพื่อให้มีการหารือร่วมกัน

เปิดเบื้องลึก! ทำไม 'เพื่อไทย' ต้องลงทุนยกร่างรธน.ฉบับใหม่

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "ทำไมต้องลงทุนยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่" โดยระบุว่า