16 ก.พ.2567 - เวลา 16.00 น. ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทรา ศูนย์ราชการฯแจ้งวัฒนะ นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตอบคำถามในงานสัมมนาในหัวข้อ "ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมีความสำคัญต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างไร” เรื่องกรรมการองค์กรอิสระชุดนี้ไม่ได้มีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชน เพราะได้รับเลือกและแต่งตั้งในยุครัคประหาร ดังนั้น หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ กรรมการชุดนี้จะต้องพ้นไปหรือไม่ ว่า ประเด็นว่า ใครมาจากประชาชน หรือไม่ได้มาจากประชาชนนั้น ต้องย้อนไปที่ระบบการปกครองของประเทศไทยซึ่งมีหลายอย่าง หลายแบบ คนจำนวนหนึ่งในประเทศไทยเผลอแสดงออกให้เรารู้ถึงข้างในใจที่แท้จริงว่า ต้องการระบอบประชาธิปไตยประชาชนสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ โดยถือว่า เป็นประชาธิปไตยที่เป็นประชาธิปไตยที่สุด ยิ่งกว่าเสรีประชาธิปไตยแบบฝรั่งตะวันตก เพราะเสมอภาค แจกตามความจำเป็น ซึ่งตนเห็นว่า ไม่เหมาะกับลักษณะและวิถีชีวิตของคนไทย คนไทยเรามีที่ต่ำที่สูง มีอารยธรรม เรารู้ว่าแต่ละคนมีระดับคุณภาพสมอง ความรู้ ความสามารถ และระดับคุณธรรมในจิตใจไม่เท่ากัน ฉะนั้นจะใช้แบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์แท้ๆ กับสังคมไทยมันไปไม่ได้ เราถึงไม่ยอมรับการเผยแพร่การปกครองแบบนี้ ที่ประชิดเข้ามาจนทำให้เราเกือบแตกแยกเมื่อ 40 กว่าปีก่อน
ทั้งนี้ ในระบอบเสรีประชาธิปไตยอย่างที่เรียกกันก็ไม่ได้มีแบบเดียว เสรีประชาธิปไตยแบบที่ถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นที่มาของอำนาจสูงสุดของประเทศจนเกิดลัทธิความทรงภาวะสูงสุดของรัฐธรรมนูญ แม้แต่สภาผู้แทนราษฎร หรือรัฐสภา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ศาลทุกศาล ก็ได้รับอำนาจหน้าที่ มาจากรัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตยเสรีแบบที่ไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น ที่สหราชอาณาจักรเขาก็ไม่ยอมรับความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญของเขามีฐานะเหมือนกฎหมายธรรมดาทั่วไป เขาถือซึงรัฐสภาของเขาเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน กฎหมายที่รัฐสภาตราออกมา ไม่มีใครที่จะมาลบล้างได้ นอกจากรัฐสภาชุดต่อมา นี่เป็นเสรีประชาธิปไตยที่ไม่เหมือนกับหลายๆ ประเทศ
“ประเทศเราใช้เสรีประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร เราไม่ได้ถืออำนาจสูงสุดของรัฐสภา เราถืออำนาจสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ทุกองค์กรในแผ่นดินนี้มีที่มาจากรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ผมจะได้รับเลือกตั้งจากประชาชนหรือไม่ ไม่ใช่เป็นปัจจัยสำคัญในการทำงานของผม ขอให้รัฐธรรมนูญรับรองสถานะ และมอบภารกิจให้ทำ ผมก็ทำเต็มที่ แม้ในกลุ่มประเทศเสรีประชาธิปไตยที่ถือรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญก็ไม่ได้เหมือนกัน เช่น ฝรั่งเศสก็ไม่เหมือนในเยอรมณี สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศแสกนดิเนเวีย นอร์เวย์ เดนมาร์ค เพราะแตกต่างกันที่รูปแบบรัฐบ้าง ประมุขของรัฐบ้าง ประเทศไทย คนอื่นผมไม่รู้ แต่ผมปักใจเชื่อว่า ระบอบการปกครองที่ผมชื่นชมที่สุดคือการปกครองระบอบเสรีประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบสหรัฐอเมริกา หรือประเทศอื่นใด ความคิด สำนักคิดทางการเมืองของแต่ละคน แต่ละสังคม แตกต่างหลากหลายมาก ระบอบบการปกครองของประเทศใด ก็ควรจะสุมหัวกันของคนในประเทศนั้น แล้วออกแบบของตัวเอง ไม่ใช่ไปถือรูปแบบของประเทศอื่มใดมาเป็นตัวตัดสินสถานะระบอบการปกครองของเรา” นายจรัญ กล่าว
นายจรัญ กล่าวต่อว่า ตนไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทั้งๆ ที่ตนก็เคารพคนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ตนก็ภาคภูมิใจในฐานะและภารกิจที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ จากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงเป็นประมุขของประเทศ พระองค์ไม่ได้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยก็จริง แต่รัฐธรรมญบัญญัติชัดอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่ผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนคือองค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ ไม่ใช่ศาล ไม่ใช่คณะรัฐมนตรี ไม่ใช่รัฐสภา ทั้งนี้ รัฐสภาก็ดี ครม.ก็ดี ศาลต่างๆ ก็ดี เป็นช่องทางการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนโดยองค์พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขแห่งรัฐ นี่คือการปกครองระบอบเสรีประชาธิปไตยรูปแบบหนึ่ง แต่ก็ไม่เหมือนกับอีกหลายประเทศที่เป็นเสรีประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยที่มีอารยธรรมยาวนาน และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ก็ค่อยๆ ผสมผสาน ไม่ได้ล้มล้างนะครับ แต่ค่อยๆ ผสมผสานกลายเป็นระบอบการปกครองเสรีประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
“ผมไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผมไม่ได้ขาดความเชื่อมโยงจากประชาชน เพราะผมไปโดยการเสนอรับรองของวุฒิสภา ในปี 2550 ซึ่งมาจาการเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง และสรรหาอีกครึ่งหนึ่ง แต่ผมยังไม่ถือเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จนกว่าจะมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผมเป็น และเมื่อผมเป็นแล้ว ผมไม่มีทางคิดเป็นอย่างอื่น ไม่มีทางทำเป็นอย่างอื่น นอกจากยืนหยัดมั่นคงในระบอบเสรีประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิด 11 ชื่อผู้สมัคร 'ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ' ปลัด ก.เกษตรฯ มาวันสุดท้าย
ตามที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เปิดรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 คน ระหว่างวันที่ 11-25 พฤศจิกายน 2567
รัฐบาลอย่าเสี่ยง! แจงยิบทำไม 'MOU 44' เข้าข่าย รธน. มาตรา 178
นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อย่าเสี่ยงจงใจขัดรัฐธรรมนูญ! MOU 44 ต้องผ่านรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 178
ความจริง 'ชั้น 14' ชี้ชะตา 'รัฐบาลอิ๊งค์'
นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ประธานสถาบันสุจริตไทย และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อายุรัฐบาลขึ้นกับความจริงบนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ (รพ.ตร.)
จับตาสมัครตุลาการศาลรธน. ชิง 2 เก้าอี้ พรุ่งนี้วันสุดท้าย
คึกคัก ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีผู้สมัครแล้ว 8 ราย เปิดรับพรุ่งนี้วันสุดท้าย จับตาสายตุลาการเริ่มมาแล้ว นักวิชาการ – ผู้ทรงคุณวุฒิ ตามมาเพียบ
'ชูศักดิ์' โล่ง ปลอดชนักล้มล้างการปกครอง
'ชูศักดิ์' มองเป็นสัญญาณดี ปม 'ศาล รธน.' ไม่รับคำร้อง 'พท.' ล้มล้างการปกครอง ชี้ รัฐบาลเดินหน้าทำงานได้แบบไม่กังวล
'ดร.ณัฏฐ์' ชี้กรณี 'ทักษิณ-พท.' รอดคดีล้มล้างฯ ไม่ตัดอำนาจ 'กกต.' ไต่สวนยุบพรรคได้
ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร เพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยว่าการกระทำของนายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยเป็นการ