พรึ่บ นิสิตเก่า-นิสิตปัจจุบัน จุฬาฯ แสดงพลังปกป้อง-ถวายกำลังใจแด่กรมสมเด็จพระเทพฯ

15 ก.พ.2567 - เมื่อเวลา 16.00 น. ที่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ‘กลุ่มจุฬาฯ รักพระเทพฯ‘ จัดกิจกรรมแสดงจุดยืนปกป้องสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และน้อมถวายกำลังใจให้เป็นที่ประจักษ์แก่คนทั้งประเทศ ซึ่งมีการเชิญชวนนิสิตเก่า และนิสิตปัจจุบัน จุฬาฯ ออกมาแสดงพลังปกป้อง และถวายความจงรักภักดีต่อพระองค์ท่าน ที่ทรงเป็นนิสิตเก่าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เนื่องจากไม่เห็นด้วยต่อการกระทำของผู้ที่ลบหลู่พระเกียรติยศของพระองค์ด้วยการพยายามขับรถบีบแตรก่อกวนและแทรกเข้าไปในขบวนเสด็จ

โดยบรรยากาศผู้เข้าร่วมงานต่างใช้ริบบิ้น หรือผ้าพันคอผืนเล็กสีม่วงพันแขนขวา หรือใส่เสื้อสีม่วง พร้อมชูภาพ และป้ายข้อความ ซึ่งจะแยกกันยืนตามป้ายคณะของตัวเอง

เริ่มต้นกิจกรรมด้วยการร่วมกันร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และเพลงมหาจุฬาฯ นำโดย นายนิติพงษ์ ห่อนาค นักแต่งเพลง และคณะ พร้อมด้วยตัวแทนนิสิตเก่า คณะละ 1 คน

ต่อมา นายดอน ปรมัตถ์วินัย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเปิดงาน วัตถุประสงค์การจัดงาน และกล่าวถวายความจงรักภักดี ระบุว่า วันนี้พวกเราชาวจุฬาทุกรุ่นทุกคณะได้มารวมตัวกัน ณ ลานพระบรมรูปสองรัชกาล เพื่อรวมพลังเป็นหนึ่งเดียว แสดงความรักของพวกเราที่มีต่อสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี พระองค์ทรงเป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ที่ทรงทำงานหนักมาก ทรงตรากตรำพระวรกายประกอบพระกรณียกิจ เพื่อประชาชนคนไทยอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อยตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์

พวกเราชาวไทยไม่เคยเห็นพระองค์มีเวลาแสวงหาความสุขส่วนพระองค์เยี่ยงคนอื่นๆ พระองค์ทรงอุทิศ

เวลาตลอดพระชนม์ชีพทรงงานเพื่อชาวไทย และชาวจุฬาทุกคนจึงมีแต่ความจงรักและภักดีต่อเจ้าฟ้าเดินดินของคนไทยชาวจุฬาทุกคนที่อยู่ ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล และที่อยู่ตามที่ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งคนไทยทั้งประเทศ ขอร่วมกันส่งพลังใจให้พระองค์

พวกเราลูกจุฬาสัญญาว่าจะรักกันมั่น และลูกจุฬาทุกคนจะขอเดินตามรอยพระดำเนินของพระองค์ตลอดไป ปวงข้าพระพุทธเจ้าชาวจุฬา ขออัญเชิญคุณพระศรีรัตนตรัย และพระบารมีแห่งสมเด็จบูรพมหากษัตราธิราชเจ้า ได้โปรดอภิบาลประทานพระพรชัยมงคลให้ใต้ฝ่าละอองพระบาท เจริญพระชนมายุยิ่งยืนนาน ทรงพระเกษมสำราญ พระสุขภาพพลานามัยแข็งแรง เป็นร่มฉัตรปกเกล้าปวงข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย และพสกนิกรชาวไทยสืบไป

จากนั้น ผู้แทนนิสิตเก่า 2 คน ถวายพานพุ่มพระบรมอนุสาวรีย์สองรัชกาล และผู้แทนนิสิตเก่า 1 คน เปิดกรวยหน้าพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระเทพฯ

รศ.นภาลัย สุวรรณธาดา นักกลอน ได้อ่านบทกลอน ใจความว่า “มีจุฬาก็เพราะมีสองกษัตริย์

มีวิวัฒนาการถึงหลานเหลน

มีรากลึกลำต้นไม่โอนเอน

พวกกากเดนใดจะกล้ามาทำลาย

ด้วยเรามีเจ้าหญิงเป็นมิ่งขวัญ

ทรงมุ่งมั่นมาศึกษามาสืบสาย

รอยพระบาทหยาดเย็นมิเว้นวาย

ทรงเรียบง่ายไม่ถือยศแต่งดงาม

เป็นนางฟ้าเดินดินทุกถิ่นได้

เป็นดวงใจจุฬาสง่าสยาม

เป็นดวงแก้วกลางใจไทยทุกนาม

ทุกเขตครามล้วนรักและภักดี

มิยอมให้ใครกล้ามาแตะต้อง

แม้ละอองพระบาทพระทรงศรี

อย่าอ้างเรื่องใดใดให้ราคี

อย่าย่ำยีเหยียบหัวใจไทยประชา

พระเอยพระทูลฯ กระหม่อมแก้ว

พวกเราพร้อมแล้วพระเจ้าข้า

มาถวายกำลังใจถวายศรัทธา

เบื้องพักตร์ตาสองกษัตริย์แห่งรัชกาล

จะปกปักรักษาพระเกียรติยศ

ใครคิดคดจงพิบัติมิอาจหาญ

ความดีไท้คือเกราะทองป้องภัยพาล

น้อมใจกรานกราบพระองค์ทรงพระเจริญ“

สุดท้าย ตัวแทนคณะผู้จัดงานกล่าวขอบคุณผู้ใหญ่ ผู้มาร่วมงาน ผู้มีอุปการคุณ และถ่ายภาพหมู่ร่วมกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ยังมีบุคคลสำคัญเข้าร่วมงานมากมาย อาทิ นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีต สว. นายสมชาย แสวงการ สว. แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จุฬาฯ เดินหน้ายุทธศาสตร์ใหม่ สร้าง Siam Square ให้เป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน รวมพลคนพิการโชว์พลังครั้งใหญ่ที่สุด!

อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทีม PMCU (สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ) และ มูลนิธิ Five for All เปิดงาน Siam Square Walking Street For All ครั้งแรก! บนพื้นที่ใจกลางสยามสแควร์ ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน ทุกกลุ่ม

ดิจิทัล วอร์รูม เตือนภัยฝ่าน้ำท่วม-ดินโคลนถล่ม

ภาคเหนือเผชิญอุทกภัยรุนแรง โดยเฉพาะที่ อ.แม่สาย น้ำท่วมตัวเมือง มีน้ำป่าไหลทะลักลงตามแม่น้ำสาย ทำให้บ้านเรือน ร้านค้า ตลาดสด พื้นที่เกษตรที่ติดลำน้ำสายได้รับความเสียหายอย่างหนัก ปัจจุบันแม้น้ำแห้งแล้วแต่ประชาชนยังจมโคลนจมฝุ่นต้องการการช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาจากปัญหาที่น้ำท่วมได้ทิ้งไว้ตามบ้านเรือนของประชาชนและสถานที่ต่างๆ