'แก้วสรร' ออกบทความ 'ทำไมต้องยุบพรรคก้าวไกล?'

15 ก.พ.2567 – นายแก้วสรร อติโพธิ ออกบทความในรูปแบบถาม-ตอบ เรื่อง “ทำไมต้องยุบพรรคก้าวไกล?”มีเนื้อหาว่า

ถาม พอเกิดคดีตะวัน “ขับรถไล่เจ้า” ขึ้นมานี่ เห็นพวกแกนนำก้าวไกลเขาออกมาเตือนกันระงมไปหมดว่า
- อย่าใช้กฎหมายรุกไล่กันจนสิ้นพื้นที่เจรจาประนีประนอม
- อย่าสาดน้ำมันเข้ากองไฟกันอีกเลย
- ยิ่งปัญหาบานปลายขึ้นมาอย่างนี้ เรายิ่งต้องเร่งออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีความผิด ๑๑๒ กันโดยด่วนด้วย

ผมไม่เข้าใจว่าเขาพูดออกมาจากความคิดแบบไหนครับ มีกฎหมายแล้วเอามาบังคับใช้ มันจะผิดตรงไหน มีอะไรต้องประนีประนอม ต้องมานิรโทษอะไรกันอีก
ตอบ ชัดเจนว่าพวกเขาปฏิเสธ มาตรา ๑๑๒ แต่ปฏิเสธตรงไหนนั้น คุณเห็นว่าอย่างไร

ถาม ในแง่เสรีภาพทางความคิดความเชื่อนั้น ผมเห็นว่า ๑๑๒ ไม่ได้ไปบังคับให้ใครต้องเคารพสถาบันแต่อย่างใด ใครไปดูหนังแล้วนั่งกินข้าวโพดคั่วไม่ลุกขึ้นยืนตามเพลงสรรเสริญ มาตรา ๑๑๒ เอาผิดเขาได้หรือ
ตอบ ไม่ได้ครับ คนเราผิดจะตรงที่ความคิดไม่ได้ ๑๑๒ มีไว้เพื่อเอาผิด เมื่อมี “การกระทำ ”เกิดขึ้น คือไปใส่ความหรือดูหมิ่นในหลวง

ถาม อ้าว...แล้วพวกก้าวไกลจะเลิก ๑๑๒ ให้คนด่าในหลวงฟรีๆ อย่างนั้นหรือ
ตอบ ไม่ใช่ครับ...เขาเสนอให้คุ้มครองเช่นคนธรรมดาทั่วไป เมื่อถูกใครเขาด่าในหลวงก็ต้องให้สำนักพระราชวังไปแจ้งความร้องทุกข์เอาเอง ตำรวจจะไปจับเอาเองโดยไม่มีคำร้องทุกข์ไม่ได้

ถาม แล้วทุกวันนี้ ๑๑๒ มีความคุ้มครองเช่นไร
ตอบ เราถือว่าในหลวงทรงเป็นประมุข เป็นบุคคลในสถาบันของรัฐ ดังนั้นเพื่อความมั่นคงของรัฐ สถาบันนี้จะถูกล่วงละเมิดไม่ได้ ใครด่าว่าในหลวงต้องถือว่าเสียหายต่อความมั่นคง เจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่เอาผิดได้เลย ส่วนผู้เสียหายตัวจริงจะเอาเรื่องหรือไม่ ไม่สำคัญ

ถาม การคุ้มครองเฉพาะอย่างนี้ มันก็เหมือนกับผมไปด่าตำรวจที่แจกใบสั่งผม ก็เลยผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ไม่ใช่ฐานดูหมิ่นคนธรรมดาอย่างนั้นใช่ไหม
ตอบ ก็ทำนองเดียวกันครับ ว่าแต่ว่า..คุณเห็นด้วยไหมที่จะ “เลิกการคุ้มครองในหลวงด้วยหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ” โดยย้ายความผิดให้ไปอยู่หมวดหมิ่นประมาทเช่นคนธรรมดาทั่วไปซะเลย

ถาม นั่นมันหมายความว่าเราจะไม่นับ ไม่ถือ พระมหากษัตริย์เป็นสถาบันประมุขอีกเลยใช่หรือไม่ กฎหมายอย่างนี้ออกมาได้หรือครับ
ตอบ นี่เป็นปัญหาไปถึงศาลรัฐธรรมนูญได้ แต่สมัยคุณชวน หลีกภัยเป็นประธานสภา ท่านเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญจึงเบรคร่างกฎหมายนี้ของพรรคก้าวไกลไว้ ร่างกฎหมายนี้จึงไม่บรรจุเข้าวาระ

ถาม เมื่อร่างกฎหมายแบบนี้มันเข้าสภาไม่ได้อยู่ดี แล้วศาลรัฐธรรมนูญโผล่เข้ามาตัดสินทำไมว่าให้พรรคก้าวไกลหยุดแก้ไข ๑๑๒
ตอบ ศาลไม่ได้สั่งอย่างนั้นนะครับ ศาลสั่งให้หยุดกร่อนเซาะสถาบันด้วยการชูธงแก้ไข ๑๑๒ ตรงนี้เป็นเรื่องของ “ความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ไม่ถูกต้อง ”

ถาม รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติห้ามกร่อนเซาะอะไรด้วยหรือ พูดให้ก้าวไกลเป็นปลวกแทะบ้านไปได้
ตอบ มันเป็นเรื่อง “ สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ” ครับว่า ใครจะใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยไม่สุจริต เพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญเสียเองไม่ได้ ประชาชนพบเห็นพฤติการณ์นี้เมื่อใดก็มีสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งห้ามได้ สิทธินี้เข้ามาในรัฐธรรมนูญไทยตั้งแต่ฉบับ ๒๕๔๐ แล้วล่ะครับ ผมเป็น สสร.อยู่ด้วย ก็เลยพอรู้เรื่องกับเขาบ้างว่า เราไม่ต้องการให้มีคนอย่างฮิตเลอร์เข้ามาใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ จนเติบกล้าขึ้นมาล้มล้างรัฐธรรมนูญในที่สุดได้

ถาม พวกก้าวไกลเขาใช้สิทธิเสรีภาพไม่สุจริตอย่างไรกัน ศาลรัฐธรรมนูญเห็นอะไร ทำไมถึงไปสั่งห้ามเขา
ตอบ งานนี้ ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าทำกันเป็นขบวนการ ใช้ทั้งสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวเป็นพรรคการเมือง หรือรวมเป็นกลุ่มทะลุโน่นทะลูนี่ จากนั้นฝ่ายที่รวมเป็นพรรคการเมืองแล้ว ก็ชูธงเอาการแก้ไข ๑๑๒ มาเป็นธงนำของขบวนการ ให้ผู้คนใต้กระแสครอบงำเอาสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ในการชุมนุม มาเคลื่อนไหวปลุกระดม ทั้งในถนนและในโซเชียลมีเดีย ดึงผู้คนเข้ามาร่วมกิจกรรม จาบจ้วงต่างๆนานา ทำให้เกิดเป็นคดี ๑๒๒ นับร้อยคดี แล้วบรรดา สส.ในพรรค ก็พากันมาประกันตัว แสดงความรับผิดชอบจะออกกฎหมายนิรโทษกรรม ๑๑๒ กันเป็นการใหญ่ ทั้งหมดนี้ ศาลบอกว่าส่งผลโดยรวมเป็นการกร่อนเซาะสถาบันทั้งสิ้น

ถาม หมายความว่าการเสนอร่างกฎหมายแก้ไข ๑๑๒ ที่ปรากฏนั้น เป็นเพียงส่วนยอดภูเขาน้ำแข็งของขบวนการกร่อนเซาะสถาบันในรัฐธรรมนูญ เช่นนั้นหรือ
ตอบ ใช่ครับ..ความหมายของคำวินิจฉัยเป็นเช่นนั้น อันที่จริงคนที่ควรถูกศาลสั่งห้ามเคลื่อนไหวไม่ได้มีแค่พิธาหรือพรรคก้าวไกลเท่านั้น ที่อยู่นอกพรรคก็มีมากมาย ต่อไปนี้ทุกคนไม่มีสิทธิจะอ้างสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เพื่อเคลื่อนไหวกร่อนเซาะได้อย่างนี้อีก

ถาม เมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งห้ามเคลื่อนไหวต่อไปอีกแล้วอย่างนี้ พรรคก้าวไกลจะถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบอีกได้หรือไม่
ตอบ ผมว่าถ้าสั่งห้ามเขาเคลื่อนไหวแล้ว แล้วจะมาสั่งยุบเขาอีกได้หรือครับ คดีนี้บรรดาการกระทำทั้งปวงถูกวินิจฉัยเป็นผลทางกฎหมายไปแล้ว แล้วจะมาวินิจฉัยซ้ำอีกได้อย่างไร

ถาม ที่ไม่ยุบพรรคก้าวไกล เพราะกลัวเขาจะตายสิบเกิดแสนอย่างนั้นหรือ
ตอบ มันเกิดได้จริงหรือครับ ที่ต้องคิดจริงๆไม่ใช่ว่ายุบแล้วกลุ่มก้อนคนในก้าวไกลจะโตขึ้นอีกหรือไม่ แต่ที่ต้องคิดให้ดีนั้น มันอยู่ตรงที่ว่าถ้ายุบพรรคก้าวไกลแล้วจะทำให้คนกลางๆ เปลี่ยนไปปฏิเสธสถาบันมากขึ้นหรือไม่ ถ้าใช่ก็หมายความว่าการยุบพรรคก้าวไกลจะทำให้สถาบันต่ำลงมาเป็นฝักฝ่ายสมตามแผนของเขา จนหนักขึ้นไปอีกนั่นเอง

ถาม แล้วจะปล่อยพรรคก้าวไกลให้ป่วนเมืองต่อไปอีกอย่างนั้นหรือ
ตอบ ถ้าพรรคนี้มีน้ำยาแค่หากินหาเสียงจากความเกลียดชังหมู่ เอา ๑๑๒ มาชูธงหาเรื่องให้คนเกลียดสถาบันเท่านั้น ผมว่าเมื่อศาลสั่งจนชูไม่ได้อีกต่อไป พรรคนี้ก็น่าจะตายไปในไม่ช้า แต่ถ้าเขาสามารถปรับตัวเป็นพรรคการเมืองที่หันมาคิดมาระดมคนระดมสมองแก้ปัญหาบ้านเมืองได้จริงๆแล้ว นั่นก็เป็นเรื่องที่เราน่าจะดีใจกันอย่างยิ่ง ที่การเมืองไทยเริ่มก้าวพ้นเงิน พ้นระบบอุปถัมภ์ และพ้นบ่วงแห่งความเกลียดชังแบ่งแยกได้แล้ว

ถาม ส่วนคนที่รับไม่ได้กับสถาบันกษัตริย์ก็ต้องปล่อยให้มีอยู่ต่อไป
ตอบ มันเป็นสิทธิของเขา เขาไม่ใช่ทาสของใคร ถ้าเขายังคิดว่าโลกนี้ วันนี้ กูคิดอย่างไร อยากเห็นอะไร มันก็ต้องเป็นอย่างนั้น ก็เชิญเป็นสวะประชาธิปไตยตั้งพรรคแล้วตกเหวทางความคิดที่คับแคบล้ำลึกกันต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บทธรรมถวายเป็นพระราชกุศล .. ในมหามงคลครบ ๖ รอบ “ราชธรรม .. สู่การเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย” (ตอนที่ ๖)

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ได้เขียนคำกล่าวสอนใจไว้บทหนึ่งว่า.. ถึงมีอำนาจ วาสนา สักปานไหน

'สนธิญา' จี้ กกต.รับรอง 200 สว.ก่อนแล้วสอยทีหลัง!

'สนธิญา' จี้ กกต.เร่งรับรอง สว.ใหม่ ค่อยตามเก็บคนทุจริตทีหลัง ลั่นอยากเห็นคนจบ ป.7- แม่ค้า นั่งทำงานระดับประเทศ หลังบรรดาด็อกเตอร์บริหารทำประเทศวิบัติมาหลายปี

'ปิยบุตร' ดักคอพรรคจ้องดูด สส.งูเห่า เอาไปก็ไม่เกิดประโยชน์ต่อเสถียรภาพรัฐบาล

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ สัดส่วนพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมนัดแรก

ศาลรธน.มติ 6 ต่อ 3 ชี้โทษอาญา ตาม พ.ร.บ.เช็คไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 วินิจฉัย ว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คปี 2534 มาตรา 4 วรรคสอง เฉพาะในส่วนโทษทางอาญา ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ