7 ก.พ.2567 - ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงถึงความคืบหน้าเรื่องนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลว่า ภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติเห็นชอบให้ส่งผลการศึกษาเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ไปยังรัฐบาล โดยประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงนามในวันเดียวกันนี้ (7 ก.พ.) แล้ว เพื่อเรียนนายกรัฐมนตรี ประกอบการตัดสินใจดำเนินโครงการต่อไป คาดว่าจะส่งถึงรัฐบาลภายใน 1-2 วัน โดยข้อเสนอแนะที่เป็นเนื้อหามี 61 หน้า แต่ถ้ารวมภาคผนวกและข้อมูลประกอบจะมีประมาณ 100 กว่าหน้า
โดยโครงการนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ของรัฐบาล เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 32 ในการเสนอมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการในการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริต การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ซึ่งนโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่ใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนและอาจสร้างภาระการคลังในระยะยาว
ในการนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงแต่งตั้ง “คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณี การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet” เพื่อศึกษารายละเอียด ผลกระทบ และความเสี่ยงต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการตามนโยบายดังกล่าว โดยได้มีการศึกษาข้อมูล ข้อเท็จจริง จากเอกสารหลักฐานต่าง ๆ รวมถึงการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณี การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จากส่วนราชการและหน่วยงาน ตลอดจนนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า มีประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณา จำนวน 4 ประเด็นหลัก ๆ ได้แก่ 1.ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริต อาทิ ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย ความเสี่ยงต่อการทุจริตจากกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับเงินจากโครงการฯ 2.ประเด็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ กล่าวคือ การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะสมดุล จะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและมีความจำเป็น ตลอดจนผลกระทบ และภาระทางการเงิน การคลังในอนาคต และในกรณีที่มีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤต ควรมีการจัดลำดับความสำคัญ รวมถึงการพิจารณากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง อาทิ กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน จึงอาจเป็นทางเลือกที่จะไม่ส่งผลกระทบทางการคลัง โดยเฉพาะดอกเบี้ยและสัดส่วนของหนี้สาธารณะได้มากกว่า
3.ประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมาย กล่าวคือ การดำเนินโครงการภายใต้แนวนโยบายดังกล่าว รัฐบาลจะต้องตระหนัก และใช้ความระมัดระวังอย่างเคร่งครัดและรอบคอบภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ชัดเจน โปร่งใส ปราศจากการทุจริตและประพฤติมิชอบ อาทิ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ตลอดจนกฎหมาย คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง 4.ประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 15/2567 เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2567 พิจารณาแล้ว มีมติเห็นควรเสนอข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณี การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาดำเนินการตามควรแก่กรณี ในการป้องกันมิให้เกิดการทุจริตหรือเกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน โดยมีข้อเสนอแนะฯ จำนวน 8 ข้อ ดังนี้
1.รัฐบาลควรศึกษา วิเคราะห์ การดำเนินโครงการตามนโยบายฯ รวมทั้งชี้แจงความชัดเจน อย่างเป็นรูปธรรม ว่าผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ จะไม่ตกแก่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือเป็นการ เอื้อประโยชน์แก่บุคคลรายใดรายหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพมากกว่าผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเป็นการดำเนินนโยบายที่อาจเข้าข่ายการทุจริตเชิงนโยบาย รวมทั้งประชาชนที่เข้าร่วมโครงการเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะได้รับประโยชน์จากการดำเนินโครงการของรัฐบาลอย่างแท้จริง เช่น เป็นผู้ที่มีรายได้น้อย หรือกลุ่มเปราะบาง พร้อมกับต้องมีขั้นตอนและวิธีการที่เป็นรูปธรรมชัดเจนเพื่อให้สามารถกระจายการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
2.การหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 และ พรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล ได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 เกี่ยวกับโครงการดังกล่าวนั้น มีความแตกต่างกัน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งควรดำเนินการตรวจสอบว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่ มาประกอบการพิจารณาด้วย มิฉะนั้น จะเป็นบรรทัดฐานสำหรับพรรคการเมืองสามารถหาเสียงไว้อย่างไร เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้ว ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามที่ได้หาเสียงไว้
3.การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ควรคำนึงถึงความคุ้มค่าและความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนผลกระทบ และภาระทางการเงิน การคลังในอนาคต ภายใต้หลักธรรมาภิบาล 4 ด้าน คือ ความโปร่งใส (Transparency) การถ่วงดุล (Checks and Balances) การรักษาความมั่นคงของระบบการคลัง (Fiscal Integrity) และความคล่องตัว (Flexibility) ซึ่งรัฐบาลพึงต้องใช้ความระมัดระวัง พิจารณาระหว่างผลดี ผลเสียที่จะต้องกู้เงินจำนวน 500,000 ล้านบาท ในขณะที่ตัวทวีคูณทางการคลังมีเพียง 0.4 การกู้เงินจึงเป็นการสร้างภาระหนี้แก่รัฐบาลและประชาชนในระยะยาว ซึ่งจะต้องตั้งงบประมาณในการชำระหนี้จำนวนนี้เป็นระยะเวลา 4 - 5 ปี กระทบต่อตัวเลขการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ
4.การดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมายอย่างรอบคอบ ประกอบด้วย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (มาตรา 172) พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (มาตรา 53) พระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (มาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 6) พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ตลอดจนกฎหมาย คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย
5.คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมีการประเมินความเสี่ยงในการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet อย่างรอบด้าน โดยกำหนดแนวทางหรือมาตรการในการบริหารความเสี่ยง และการป้องกันการทุจริต ตลอดจนมีกระบวนการในการตรวจสอบทั้งก่อน ระหว่าง และหลังจากการดำเนินโครงการ ซึ่งอาจพิจารณานำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง การบูรณาการป้องกันการทุจริตของโครงการภาครัฐ (โดยการติดตามประเมินผลการดำเนินงาน) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553 มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet สามารถดำเนินการได้อย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติอย่างแท้จริง
6.ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้กับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาถึงความจำเป็นและความเหมาะสม ตลอดจนระยะเวลา และงบประมาณที่ต้องใช้ในการพัฒนาระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และระยะเวลาในการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการแจกเงินเพียงครั้งเดียวโดยให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน
7.จากข้อมูลภาวะเศรษฐกิจของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้จากการศึกษา และตัวทวีคูณทางการคลัง รวมถึงตัวบ่งชี้ภาวะวิกฤตที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รวบรวมและประมวลข้อมูลจากงานศึกษาของธนาคารโลกและ IMF มีความเห็นตรงกันว่า ในช่วงเวลาที่ศึกษาอัตราความเจริญเติบโตของประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ เพียงแต่ชะลอตัวเท่านั้น ดังนั้น ในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน รัฐบาลควรพิจารณาและให้ความสำคัญต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่น การกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน การกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การเพิ่มทักษะให้แก่แรงงาน เป็นต้น ในกรณีที่รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤต ควรพิจารณากลุ่มประชาชนเป้าหมายที่เปราะบางที่สุด ซึ่งต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 อาทิ กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน
8.หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องการช่วยเหลือประชาชน รัฐบาลควรช่วยเหลือกลุ่มประชาชนที่มีฐานะยากจน ที่เปราะบาง ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เท่านั้น โดยแจกจากแหล่งเงินงบประมาณปกติ มิใช่เงินกู้ตามพระราชบัญญัติเงินกู้ และจ่ายในรูปเงินบาทปกติในอัตราที่เหมาะสม เพื่อพยุงการดำรงชีวิตของกลุ่มประชาชน ที่ยากจน โดยการกระจายจ่ายเงินเป็นงวด ๆ หลายงวดผ่านระบบแอปเป๋าตังที่มีประสิทธิภาพ และมีฐานข้อมูลครบสามารถทำได้รวดเร็ว การดำเนินการกรณีนี้ หากใช้แหล่งเงินงบประมาณปกติ มิใช่จากการกู้เงินตามพระราชบัญญัติเงินกู้ จะลดความเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ ขัดพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 และขัดพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ประการสำคัญไม่สร้างภาระหนี้สาธารณะของประเทศในระยะยาว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องที่เสนอแนะให้ กกต. ตรวจสอบ มีประเด็นใดบ้าง นายนิวัติไชย กล่าวว่า การที่พรรคการเมืองให้นโยบายก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งต้องดูว่าดำเนินโครงการตามที่หาเสียงหรือไม่ มีความแตกต่างอย่างไร โดยดูในภาพรวมทั้งหมด ทั้งช่วงการประกาศหาเสียง เหมือนให้คำมั่น และใช้วิธีการไหน อย่างไร ให้กับใครบ้าง และหลังเป็นรัฐบาลแล้วปฏิบัติอย่างไร สิ่งสำคัญคืออยากให้ทุกพรรคการเมือง ศึกษาให้รอบคอบก่อนประกาศนโยบาย ไม่เช่นนั้นจะเหมือนแค่การโฆษณาไว้ ซึ่งตรงนี้เป็นเพียงข้อเสนอแนะให้ ทางกกต.ได้ตรวจสอบและพิจารณา
นายนิวัติไชย กล่าวว่า ป.ป.ช. ทำหน้าที่จบด้วยการเสนอแนะและการเฝ้าระวัง ซึ่งเราจะส่งเรื่องต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริต ป.ป.ช.ทำงานในเชิงป้องกัน ก้าวไปข้างหน้าก่อนเกิดเหตุ
เมื่อถามว่า ป.ป.ช.มองว่าภาวะเศรษฐกิจประเทศตอนนี้อยู่ในภาวะวิกฤติหรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า ประเทศไทยจะอยู่ในภาวะวิกฤตหรือไม่นั้น ตามที่ป.ป.ช.มีมุมมองว่าอาจจะยังไม่เข้าขั้น แต่ในมุมของรัฐบาลอาจมองว่า วิกฤติ ซึ่งเรื่องนี้ป.ป.ช. ได้ส่งข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลเท่านั้น ไม่ใช่การคาดการณ์ว่ารัฐบาลจะทุจริตหรือไม่ สุดท้ายแล้วรัฐบาลจะต้องเป็นผู้อภิบายในโครงการนี้ ถ้ามีเหตุมีผลรัฐบาลก็สามารถขับเคลื่อนได้
เมื่อถามว่า ในข้อเสนอแนะข้อที่ 8 ที่ระบุว่า การจ่ายเงินเป็นงวดๆ เป็นการชี้นำให้ดำเนินการเหมือนรัฐบาลชุดก่อนหรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า เป็นเพียงการยกตัวอย่างในสิ่งที่เคยมี ป.ป.ช.ไม่ใช่หน่วยงานที่ริเริ่มนวัตกรรมใหม่ๆ เพียงแต่ยกอันเดิมมา ซึ่งเป็นความเหมาะสมว่ารัฐบาลจะทำได้
เมื่อถามว่า โครงการนี้เป็นการเอื้อกลุ่มนายทุนหรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่เห็นว่าจะมีกลุ่มทุนกลุ่มไหนมาทำ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการนี้ และจะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่ง 8 ข้อเสนอแนะนี้เป็นเพียงข้อเสนอแนะทางวิชาการที่หลากหลายสาขา ไม่ใช่ความคิดเห็นของป.ป.ช. ที่คิดเองเออเอง เป็นข้อเสนอแนะให้รัฐบาลพิจารณา ซึ่งตอนนี้เรายังไม่รู้ว่ารัฐบาลจะขับเคลื่อนโครงการนี้หรือไม่ และถ้ารัฐบาลตัดสินใจทำ เราก็ดูลำดับการขับเคลื่อนต่อ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ดึงดันจะทำโครงการนี้ เพราะยังชี้แจงอยู่ว่าจะรอข้อเสนอแนะจากป.ป.ช. ทั้งหมดแล้วเราทำเพื่อประเทศ ไม่ได้มีอคติอะไร และป.ป.ช. ไม่มีอำนาจยับยั้งโครงการแต่อย่างใด
เมื่อถามว่า โครงการนี้จะซ้ำรอยจำนำข้าวหรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า ตอบไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของอนาคต เพราะถ้าชิงด่วนสรุปไปแล้ว วินิจฉัยไม่ได้ ก็ไม่ถูกต้อง เมื่อถามว่า มีประชาชนบางส่วนอาจตำหนิ ป.ป.ช.เนื่องจากไม่สนับสนุนโครงการนี้ในทางที่ดี นายนิวัติไชย กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ถ้าไม่ทำ จะโดนด่ามากกว่าหรือไม่ เราทำเพราะหน้าที่ ส่วนฟีดแบ็กเรายอมรับ ด้านผลกระทบ ความพึงพอใจแต่ละคนห้ามไม่ได้ แต่ขอให้คุยเรื่องเหตุและผล
เมื่อถามว่า ข้อเสนอแนะตอนแรกของ ป.ป.ช.โดนผู้ใหญ่ฝั่งรัฐบาลมองว่าเป็นจินตนาการของ ป.ป.ช. มีความเห็นอย่างไร นายนิวัติไชย กล่าว่า สื่อ และประชาชน มองแล้วว่าเป็นเรื่องมโนหรือไม่ ถ้าจับต้องได้ มีเหตุมีผล มันก็ใช่ สิ่งที่ ป.ป.ช. ทำไม่ได้หมายความว่ามันต้องใช่ แต่มันมีหลักฐานข้อมูล 8 ข้อที่อ่านดูก็เป็นข้อเสนอแนะเชิงวิชาการ ส่งข้อเสนอแนะด้วยความห่วงใยให้ ครม
นายนิวัติไชย กล่าวว่า ยืนยัน ป.ป.ช.ไม่ได้ค้านการดำเนินโครงการ แต่มีข้อเสนอแนะ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจยับยั้งการดำเนินโครงการ เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจ ป.ป.ช. เว้นแต่มีความผิดเกิดขึ้น มีการทุจริตไปแล้ว ป.ป.ช. อาจร้องต่อศาล หลังส่งสำนวนไปเพื่อฟ้อง เพื่อยกเลิกการอนุญาต เช่น การเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดิน โฉนด เป็นต้น ตามข้อเท็จจริง เป็นขั้นตอนปราบปราม ที่ผ่านมา ป.ป.ช. เสนอมาตรการไปหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อรถเมล์ NGV โครงการทางหลวง การจัดเก็บเงินรายได้กรมอุทยาน ความจริง ป.ป.ช. ทำมานานแล้ว เป็นไปตาม พ.ร.ป.ป.ป.ช. มาตรา 32 วันนี้เพิ่มตามมาตรา 35 ไป อีกเพื่อตอกย้ำว่าสิ่งที่ ป.ป.ช. ทำ ดีกว่าไปนั่งเอาผิดเขา ไม่ใช่ปล่อยเขาทำผิด แล้วไปจับผิดเขา แบบนั้นขี่ช้างจับตั๊กแตน รัฐเสียหายไปแล้ว วันนี้เราทำงานเชิงรุก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'นิพนธ์' ซัดรัฐบาลแจกเงินหมื่น เฟส 2 หวังผลการเมือง ไม่ใช่กระตุ้นเศรษฐกิจ
นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย-อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และอดีตนายก อบจ. พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ เฟส 2 ของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมีการแจกเงินสด 10,000 บาท ให้แก่ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่ลงทะเบียนในระบบและยืนยันตัวตนแล้ว รวมกว่า 4 ล้านคน
ป้า 67 ป่วยหลายโรค หาบเร่ขายของเลี้ยงชีพ หวังได้เงินหมื่น เฟส 2 หวั่นตกหล่น บัตรคนจนก็ไม่มี
บุรีรัมย์ ป้า 67 ป่วยความดัน มีก้อนเนื้อที่คอ แต่ต้องหาบเร่ขายของเลี้ยงชีพและลูกพิการ หวังได้เงินหมื่น เฟสสอง มาแบ่งเบา
รัฐบาลเคาะแจกเงินหมื่น เฟส 2 ให้คนอายุ 60 ปีขึ้นไป ก่อนวันตรุษจีนปี 68
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การคลัง
เปิดหนังสือ ‘หมอวรงค์’ ร้อง กกต. สอบ 4 ประเด็นใหญ่ ฟัน ‘ทักษิณ’ ปราศรัยอุดรฯเข้าข่ายผิดกม.
ในการปราศรัยที่อุดรที่ผ่านมา จริงอยู่คุณมีสิทธิ์เสรีภาพที่จะพูด อยากจะปราศรัย เป็นเรื่องของคุณ แต่คุณต้องรับรู้นะครับว่า บ้านเมืองมีขื่อมีแป ถ้าคุณทำให้สงสัยได้ว่า มีความเสี่ยงที่ทำผิดกฏหมาย
‘เรืองไกร’ สบช่องร้อง ป.ป.ช. เช็คบิล ‘กิตติรัตน์’ ว่าที่ปธ.บอร์ดธปท.
เรืองไกร ร้อง ป.ป.ช. ตรวจ กิตติรัตน์ ป.กมธ.งปม.2555 เข้าข่ายมีความผิดแบบ สมหญิง หรือไ