'สนธิญา-ธีรยุทธ' ร้อง ป.ป.ช. ฟันจริยธรรมร้ายแรง 44 สส. ก้าวไกล

‘สนธิญา-ธีรยุทธ’ ร้อง ป.ป.ช. เอาผิดจริยธรรมร้ายแรง 44 สส.ก้าวไกล เสนอแก้ ม.112 ‘นักร้องร้อยล้าน’ หวังตัดสิทธิการเมืองตลอดชีวิต ขู่จากนี้จะเดินหน้าเก็บข้อมูล ใครขัดคำสั่งศาล รธน.

2 ก.พ. 2567 – ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร ได้เดินทางมายื่นคำร้องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบจริยธรรม สส. 44 คน ของพรรคก้าวไกล ที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

โดยนายสนธิญา กล่าวว่า ได้ติดตามเรื่องการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตั้งแต่จดจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ เมื่อปี 61 รวมไปถึงความเคลื่อนไหวของคณะนิติราษฎร์ มาจนถึงพรรคอนาคตใหม่ และพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งผูกพันทุกองค์กร ที่ต้องปฏิบัติตาม คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้ถือเป็นมรดกบาป เป็นการกระทำถ่ายทอดเป็นกรรมพันธุ์ เป็นดีเอ็นเอ จากพรรคอนาคตใหม่ถึงพรรคก้าวไกล ตนคัดค้านมาตลอด 7 ปี และเห็นใจ สส.ทั้ง 44 คน ที่ร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขมาตรา 112 แต่หวังให้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต

ทั้งนี้ ผลพวงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ส่งผลต่อพรรคก้าวไกล 3 ประการ ได้แก่ 1.กระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน อย่างน้อย 3 มาตรา ทั้งใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครอง 2.ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง นำไปสู่การกระทำล้มล้างการปกครองที่มีโทษถึงขั้นยุบพรรคการเมือง และ 3.การยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. เป็นกระบวนการทางกฎหมายที่กระทำผิด ซึ่งนำมาประกอบ เพราะเรื่องจริยธรรมแยกออกมาจากกฎหมาย เป็นมาตรฐานตามอุดมการณ์ที่เป็นบทบัญญัติที่ร้ายแรง โดย ป.ป.ช.จะต้องยื่นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ศาลฎีกา

นายสนธิญา กล่าวด้วยว่า ขอแจ้งพรรคก้าวไกลและผู้บริหารพรรคว่า ตนจะเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำ ตั้งแต่ 31 ม.ค.67 เป็นต้นมา ทั้งของพรรคและคำให้สัมภาษณ์ ของนายปิยบุตร แสงกนกกุล และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ รวมถึงนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ยังจะเดินหน้าเรื่องประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 ต่อไปหรือไม่ รวมทั้งจะรวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานทั้งหมดเกี่ยวกับการเดินหน้าแก้ไขมาตราดังกล่าวเพื่อนำมาประกอบการชี้แจงต่อ ป.ป.ช. เพื่อนำไปสู่การเอาผิด สส.ทั้ง 44 คน

นอกจากนี้ จะติดตามเรื่องการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หากมีรายละเอียดเสนอนิรโทษกรรมความผิดให้กับผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็จะนับรวม เพราะเป็นการแสดงว่ากำลังแก้ไขมาตราดังกล่าว เปรียบเป็นมรดกบาป ถือเป็นการตั้งใจเซาะกร่อนบ่อนทำลาย ไม่ได้เคารพศาล ไม่ทำตามที่ศาลสั่ง จึงขอเตือนให้พรรคก้าวไกลที่ยังคงเคลื่อนไหวอยู่

“การยื่นร้องจริยธรรมในวันนี้ คิดว่ามีโอกาส 50:50 แต่ถ้าหลังจากนี้ยังมีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามคำสั่งศาล คิดว่ามีโอกาสตัดสิทธิทางการเมือง เพราะผมมีเป้าหมายให้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต” นายสนธิญา ระบุ

วันเดียวกัน นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ในฐานะผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เดินทางมายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ไต่สวนและดำเนินคดีกับ สส. พรรคก้าวไกล 44 คน ฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีร่วมกันเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ฉบับที่ พ.ศ…แก้ไขเกี่ยวกับความผิดหมิ่นประมาทเมื่อวันที่ 25 มี.ค.64 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง

โดยนายธีรยุทธ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นการลดทอนสถานะ และการคุ้มครองสถาบัน มุ่งหมายแยกสถาบันออกจากความเป็นชาติไทย เป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครอง ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม ข้อ 5 ที่กำหนดว่าต้องยึดมั่นและดำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ และข้อ 6 ที่กำหนดว่า ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขต และเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยของประชาชน และข้อ 27 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมในหมวด 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง ซึ่งมาตรฐานจริยธรรมดังกล่าวข้อ 3 วรรคสอง กำหนดว่ามาตรฐานทางจริยธรรมนี้ใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาและคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 219 ด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า การยื่นครั้งนี้จะทำให้โดนตัดสิทธิทางการเมืองด้วยหรือไม่ นายธีรยุทธ กล่าวว่า ไม่ใช่ความต้องการของตน แต่จะไปถึงตรงนั้นได้หรือไม่ เป็นบทบัญญัติของกฎหมาย ขึ้นอยู่กับวิธีการไต่สวนและรวบรวมพยานหลักฐาน การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีครบถ้วน และยืนยันว่าไม่ได้ปิดทางแก้ไขกฎหมาย แต่การดำเนินการต้องเป็นไปตามแนวทางนิติบัญญัติ

ส่วนกรณีพรรคก้าวไกล ได้ถอดนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ออกจากหน้าเพจของพรรคแล้วนั้น นายธีรยุทธ กล่าวว่า เป็นการดำเนินตามคำสั่งของศาล เชื่อว่าเรื่องนี้ฝ่ายกฎหมายของพรรคน่าจะแนะนำไว้แล้ว ตนก็ไม่อยากก้าวล่วง แต่มองว่าเป็นเรื่องที่ดี

เมื่อถามว่า เรื่องนี้จะสามารถลดทอนโทษของการกระทำได้หรือไม่ นายธีรยุทธ กล่าวว่า เป็นหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ที่จะตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานประกอบการพิจารณา ซึ่งทราบว่านายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกลได้สั่งการให้เตรียมตัวรวบรวมพยานหลักฐานในการต่อสู้คดี ก็เชื่อว่าน่าจะมีหนทางอยู่บ้าง

ส่วนกรณีนายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วย มองว่าการปลดนโยบายออกจากหน้าเพจ เป็นการกระทำที่สูญเปล่านั้น นายธีรยุทธ กล่าวว่า เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของนายปิยบุตร เป็นเรื่องปัจเจกบุคคล แต่การสร้างพรรคการเมืองขึ้นจะต้องมีเจตจำนงในการพิทักษ์รักษาดำรงไว้ซึ่งกฎหมาย โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กร จะต้องรับฟังคำวินิจฉัยนั้นไปปฏิบัติด้วย ดังนั้น การที่พรรคก้าวไกลนำคำวินิจฉัยของศาลไปดำเนินการด้วยความเคารพ ถือเป็นการเคารพต่อกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า แกนนำบางคนแสดงความเห็นว่าการเอานโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ออกจากหน้าเพจ แต่ถูกซ่อนไว้ภายใน และสามารถหยิบยกขึ้นมาดำเนินการเมื่อไหร่ก็ได้ นายธีรยุทธ กล่าวว่า หากมีการทำเช่นนั้นจริง ก็ยังคงเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่ามีการซ่อนเร้น แต่เชื่อว่าทีมกฎหมายจะมีการเสนอแนวทางให้กับพรรคที่มีความชัดเจนมากกว่านี้ ทั้งนี้ ผลการดำเนินการในวันนี้ของตน เป็นไปตามหน้าที่ในฐานะผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'บิ๊กต่าย' ยันไม่ได้ลอยตัว ปม ป.ป.ช. รับไต่สวนจนท.รัฐ เอื้อทักษิณนอนชั้น 14 พร้อมทำตามกฎหมาย

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ( ผบ.ตร.) เปิดเผยกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ  ป.ป.ช. มีมติให้ตั้งองค์คณะไต่สวนเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ รวม12 ราย