'เรืองไกร' ยื่นกกต.แล้ว มั่นใจก้าวไกลไม่รอดโดนยุบพรรค ตัดสิทธิทางการเมือง

1 ก.พ.2567 - เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องเพื่อขอให้กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิทางการเมือง จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล กระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย​อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยใช้การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นการหาเสียงเลือกตั้ง

นายเรืองไกร กล่าวว่า ที่มาในวันนี้เนื่องจากเมื่อวาน (31 ม.ค.) ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำร้องของผู้ร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 โดยมีผู้ถูกร้อง 2 ราย ประกอบด้วยนายพิธา และพรรคก้าวไกล ซึ่งผู้ร้องใช้สิทธิตามมาตรา 49 เห็นว่ามีบุคคลใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง โดยศาลระบุชัดเจนว่าผู้ถูกร้องทั้ง 2 ใช้สิทธิเพื่อล้มล้างการปกครองตามมาตรา 49 อย่างไรก็ตามการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ศาลรัฐธรรมนูญสั่งได้อย่างเดียวคือให้เลิกการกระทำ และวินิจฉัยว่าให้เลิกการกระทำอย่างไร โดยตนเข้าใจว่าห้ามยกเลิกมาตรา 112 และอีกข้อหนึ่งที่เข้าใจคือ การจะแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายอื่นๆเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่จะตรากฎหมายใหม่แก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิก สามารถทำได้แต่ต้องชอบด้วย

นายเรืองไกร กล่าวว่า ดังนั้นถ้าศาลวินิจฉัยตามมาตรา 49 แล้ว คำว่ากำลังการปกครองอยู่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 (1) (2) ที่อาจเป็นปฏิปักษ์ ซึ่งในกรณีนี้มีพรรคเดียวที่เคยโดนคือพรรคไทยรักษาชาติ

นายเรืองไกร กล่าวว่า ตนจึงยื่นเรื่องขอให้กกต.นำผลคำวินิจฉัยดังกล่าวของศาลเมื่อวาน ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยยุคพรรคก้าวไกล ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92 (1) (2) อย่างไรก็ตามคำวินิจฉัยในคดีดังกล่าว จะผูกพันถึงกกต. ที่ต้องทำตามหน้าที่ เพราะถือเป็นความปรากฏ ส่วนองค์กรที่ 2 คือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ถูกร้องเป็นส.ส 44 คน ว่าใช้สิทธิและเสรีภาพ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวตนได้เคยยื่นเรื่องไปแล้วเมื่อปี 2564

"ซึ่งนี่เป็นการตรวจสอบตามข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานไม่ได้มีความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ หรือนำความเห็นส่วนตัวมาร้องแต่อย่างใด" นายเรืองไกร กล่าว

เมื่อถามว่าคำวินิจฉัยนี้จะส่งผลต่อพรรคการเมืองๆอื่นๆที่เคยใช้การแก้ไขมาตรา 112 ในการหาเสียงเลือกตั้งหรือไม่ นายเรืองไกร กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเก็บรวบรวมข้อมูลอยู่ ฉะนั้นไม่ต้องเป็นห่วง หากมีน้ำหนักพอก็จะยื่นเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ ทั้งนี้รวมถึงกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน และน.ส.แพรทองธาร ชินวัตร ที่เคยหาเสียงในประเด็นแก้ไขมาตรา 112

เมื่อถามอีกว่าพรรคก้าวไกลจะถูกยุบหรือไม่ นายเรืองไกร กล่าวว่า ไม่น่าจะรอด เพราะศาลวินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง ซึ่งก็จะส่งผลให้คณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปีด้วย

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศาลรธน.มติ 6 ต่อ 3 ชี้โทษอาญา ตาม พ.ร.บ.เช็คไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 วินิจฉัย ว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คปี 2534 มาตรา 4 วรรคสอง เฉพาะในส่วนโทษทางอาญา ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

'พิธา' ทวงบุญคุณเอ็มโอยูยกเก้าอี้ประธานสภาให้จี้เร่งทำ 3 เรื่อง

'พิธา' ทวงสัญญาพรรคการเมือง-ครม. กลางสภายกเอ็มโอยูตั้ง รบ.ไม่สำเร็จ แต่ขอให้ผลักดัน 3 ข้อ รัฐสภาก้าวหน้า-นิรโทษฯ-ปฏิรูปกองทัพ

กกต. เร่งถกคำร้อง 614 เรื่อง คาดประกาศรับรอง สว.ชุดใหม่ สัปดาห์หน้า

ภายหลังการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระดับประเทศแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา และมีผู้ได้รับเลือก เป็นสว. จำนวน 200 คน และสำรองอีก 100 คน ปรากฏว่าที่ผ่านมามีการเข้ามาร้องเรียน