อ่านฉบับเต็ม! คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ก้าวไกลล้มล้างการปกครอง

31 ม.ค.2567 - ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาหารือ ลงมติและะจัดทำคำวินิจฉัยในคดีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความพระพุทธะอิสระ(ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 49 ว่า การกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขณะเป็น หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 2) ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

โดยนายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เริ่มอ่านคำวินิจฉัยว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 58 วรรคหนึ่ง และกำหนดประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่

ข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติว่า เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2564 ผู้ถูกร้องที่ 1 และส.ส. สังกัดผู้ถูกร้องที่ 2 จำนวน 44 คน เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป 2566 ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้นโยบายของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 หาเสียงเลือกตั้งโดยให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผู้ถูกร้องทั้ง 2 มีพฤติการณ์รณรงค์ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายดังกล่าวเรื่อยมา โดยการเข้าร่วมการชุมนุมกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมีกรรมการบริหารพรรค ส.ส. สมาชิกพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นผู้ต้องหาหรือนายประกันผู้ต้องหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และเคยแสดงความคิดเห็นทั้งให้แก้ไขและยกเลิกกฎหมายดังกล่าวผ่านการจัดกิจกรรมทางการเมืองและสื่อสังคมออนไลน์หลายครั้ง

กรณีมีข้อโต้แย้งที่ต้องวินิจฉัยตามคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกร้องทั้ง 2 ก่อนว่า ผู้ถูกร้องบรรยายคำร้องโดยอ้างความคิดเห็นของบุคคลมีลักษณะเป็นการคาดคะเน ไม่ยืนยันข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องและไม่ได้ระบุข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าผู้ถูกร้องทั้ง 2 กระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างไร ทำให้ผู้ถูกร้องทั้ง 2 ไม่อาจเข้าใจได้เป็นคำร้องที่ไม่ชอบตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 42 วรรคหนึ่ง (2) หรือไม่ เห็นว่า คำร้อง คำร้องเพิ่มเติม และเอกสารประกอบคำร้องที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า เมื่อวันที่ 25 มี.ค.2564 ผู้ถูกร้องที่ 1 กับพวกได้เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … ยื่นต่อประธานสภาฯ เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง

โดยอ้างพยานเอกสารต่างๆ รวมทั้งพยานวัตถุ ได้แก่ ภาพนิ่ง บันทึกภาพเคลื่อนไหวและเสียง พร้อมถอดข้อความเป็นลายลักษณ์อักษรของเหตุการณ์ที่แสดงถึงการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 2 มาท้ายคำร้อง ถือเป็นส่วนหนึ่งของคำร้อง ทำให้คำร้องมีความชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้ผู้ถูกร้องทั้ง 2 เข้าใจสภาพของการกระทำที่เป็นข้อกล่าวหาและสามารถต่อสู้คดีได้ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัย มีว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 2 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

พิจารณาแล้วเห็นว่า การตรากฎหมายหรือพระราชบัญญัติเป็นกฎเกณฑ์ที่ผู้มีอำนาจตราขึ้นเพื่อใช้บังคับเหนือบุคคลให้ปฏิบัติตามเป็นการทั่วไป เพื่อกำหนดระเบียบแห่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือระหว่างบุคคลกับพรรคหรือเพื่อใช้ในการบริหารประเทศ การที่สังคมหนึ่งจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข มีระเบียบ เรียบร้อย ไม่เกิดการเอารัดเอาเปรียบ ย่อมจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน แน่นอน และเป็นธรรม ฝ่ายนิติบัญญัติหรือ รัฐสภา เป็นองค์กรหลักในการใช้อำนาจอธิปไตยด้านนิติบัญญัติภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ย่อมใช้บังคับไม่ได้ ซึ่งการตรากฎหมาย ฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภา ต้องพิจารณาไม่ให้ขัดหรือแย้งต่อหลักการของรัฐธรรมนูญ โดยกระบวนการตรากฎหมายต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญ คือ ต้องดำเนินการตามรูปแบบ ขั้นตอน ภายในระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด

แม้การเสนอร่างกฎหมายต่อสภาฯเป็นวิธีการทางรัฐสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่และอำนาจโดยตรงเสนอร่างกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ แต่เมื่อร่างกฎหมายผ่านกลไกการตรวจสอบโดยฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญยังมีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือร่างกฎหมายได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (1) ดังนั้น การที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กำหนดหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญให้เข้ามาตรวจสอบการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมิได้บัญญัติยกเว้นการกระทำใดไว้เป็นการเฉพาะ การเสนอร่างกฎหมายโดยฝ่ายนิติบัญญัติจึงเป็นการกระทำหนึ่งซึ่งอาจถูกตรวจสอบได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่

นายจิรนิติ หะวานนท์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 49 เป็นบทบัญญัติที่มีความมุ่งหมายเพื่อเป็นมาตรการปกป้องคุ้มครองระบอบการปกครองของประเทศ ให้เป็นการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ 2 ประการคือ ระบอบประชาธิปไตย และพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คำว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกกครองที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ส่วนคำว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการให้ความหมายประมุขของรัฐ ว่าประเทศนั้นปกครองโดยมีประมุขของรัฐรูปแบบพระมหากษัตริย์

โดยหลักการมาตรา 49 วรรคหนึ่ง บัญญัติเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2475 แก้ไขเพิ่มเติมปี 2495 มาตรา 35 และบัญญัติในทำนองเดียวกันไว้ในรัฐธรรมนูญต่อมาทุกฉบับ เป็นการวางหลักการเพื่อพิทักษ์ปกป้องการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากภัยคุกคามอันเกิดจากการกระทำ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิ หรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ในลักษณะมุ่งหมายให้หลักการหรือคุณค่า ทางรัฐธรรมนูญที่รองรับการการดำรงอยู่ของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิให้ล้มเลิกหรือสูญเสียไป

บทบัญญัติมาตรานี้คุ้มครองมิให้ใช้สิทธิ หรือเสรีภาพที่จะส่งผล เป็นการบั่นทอนทำลายหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ และสั่นคลอนคติรากฐาน ของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยที่ดำรงอยู่​ให้เสื่อมทราม หรือสิ้นสลายไป จึงบัญญัติให้มีกลไกปกป้องระบอบการปกครองจากการถูกบั่นทอน บ่อนทำลายโดยใช้สิทธิเสรีภาพ ทางการเมืองที่เกินขอบเขตของบุคคลหรือพรรคการเมืองไว้

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดการกระทำอันเป็นความผิด และกำหนดอัตราโทษ แก่ผู้กระทำการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินีรัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หากผู้ใดกระทำความผิดตามมาตราดังกล่าว ต้องได้รับโทษทางอาญาเพราะเหตุแห่งการกระทำนั้น สอดคล้องกับการที่ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยรัฐธรรมนูญบัญญัติให้พระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหนึ่งในรัฐธรรมนูญนั้น สืบเนื่องมาจากเหตุผลทางประวัติศาสตร์ โบราณราชประเพณี​ นิติประเพณี ซึ่งนอกจากจะมีลักษณะเป็นสถาบันหลักของประเทศแล้ว องค์พระมหากษัตริย์ยังทรงดำรงอยู่ในฐานะ อันเป็นที่เคารพสักการะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ จะกล่าวหา หรือฟ้องร้องในทางใดๆไม่ได้

พระเกียรติของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการผดุงไว้ซึ่งเกียรติยศของประเทศและรักษาคุณลักษณะประการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีความชอบธรรมที่ต้องมีกฎหมายคุ้มครองมิให้มีการละเมิดพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นพระประมุขของรัฐ และสถาบันหลักของประเทศตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและคุ้มครองไว้

การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัด พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 รวม 44 คน เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่พ.ศ... แก้ไขความผิดเกี่ยวกับหมิ่นประมาท ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2564 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีเนื้อหาให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 จากเดิม เป็นหมวด 1 ลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ให้เป็นลักษณะ 1/2 ความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์พระราชินีรัชทายาทและเกียรติยศ ของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งการที่ประมวลกฎหมายอาญาภาค 2 แบ่งลักษณะความผิดเป็น 13 ลักษณะ โดยจัดเรียงตามลักษณะความผิด อันเป็นการกระทำที่กระทบต่อรัฐ ความผิดที่เกี่ยวกับเป็นการกระทำที่กระทบต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดที่เป็นการกระทำต่อสาธารณชนความผิดที่กระทบต่อสังคมและบุคคล และความผิดที่กระทบต่อปัจเจกบุคคล

แม้ผู้ถูกร้องทั้งสองโต้แย้งว่าประมวลกฎหมายอาญา มิได้กำหนดลำดับศักดิ์ ขอหมวดหมู่และลักษณะของกฎหมายไว้ แต่ประมวลกฎหมายอาญาในแต่ละลักษณะ บรรยายเรียงลำดับความสำคัญและความร้ายแรง ในแต่ละหมวดไว้ในแต่ละมาตราโดยมาตรา 112 อยู่ในลักษณะหนึ่งความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐแห่งราชอาณาจักร เนื่องจากต้องคุ้มครองทั้งความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร​ และเกียรติยศประมุขของรัฐ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญในมาตรา 2 ที่บัญญัติรับรองว่าประเทศไทยมี การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สถาบันพระมหากษัตริย์จึงมีความสำคัญ ต่อความมั่นคงของประเทศ เพราะพระมหากษัตริย์ ประเทศไทย หรือชาติไทยดำรงอยู่คู่กันเป็นเนื้อเดียวกันเป็นศูนย์ร่วมจิตใจของคนในชาติ และธำรงความเป็นปึกแผ่นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในประเทศ

การกระทำความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเป็นการกระทำความผิดต่อความมั่นคงของประเทศด้วย การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองเสนอให้มาตรา 112 ออกจากลักษณะหนึ่งความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เป็นการกระทำเพื่อมุ่งหวังให้ความผิดตามมาตรา 112 เป็นความผิดที่ไม่มีความสำคัญ และความร้ายแรงระดับ เดียวกับความผิด ในหมวดของลักษณะ 1 และไม่ให้ถือเป็นความผิดที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศอีกต่อไป นั้นมุ่งหมายที่จะแยกสถาบันพระมหากษัตริย์กับความเป็นชาติไทยออกจากกัน ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐอย่างมีนัยยะสำคัญ

ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญที่ 28-29/2555 วางหลักเกี่ยวกับบทบัญญัติมาตรา 112 ไว้ว่า การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีลักษณะของการกระทำความผิดที่มีความร้ายแรงมากกว่าการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทต่อบุคคลธรรมดา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 ประกอบกับเพื่อพิทักษ์ปกป้องพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีให้ถูกล่วงละเมิดโดยการหมิ่นประมาทดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาร้ายได้โดยง่าย จึงไม่มีบทบัญญัติ เหตุยกเว้นความผิดหรือ ยกเว้นโทษไว้ ในทำนองเดียวกันกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 และมาตรา 330

การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 กับพวก เสนอให้เพิ่มบทบัญญัติให้ผู้กระทำความผิดสามารถพิสูจน์เหตุยกเว้นความผิดและเหตุยกเว้นโทษได้ ตามร่างมาตรา 6 ซึ่งให้เพิ่มความมาตรา 135/7 ว่า ผู้ใดติชมแสดงความคิดเห็นหรือแสดงข้อความโดยสุจริตเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเพื่อดำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิด และมาตรา 135/8 ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อหาที่เป็นความผิดนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ ย่อมทำให้ผู้กระทำความผิดใช้ข้อกล่าวอ้าวว่าตนเข้าใจผิด และเชื่อโดยสุจริต​ว่าเป็นความจริง เป็นข้อต่อสู้ และขอพิสูจน์ความจริงในทุกคดี เช่นเดียวกับการที่ผู้กระทำความผิดในคดีหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปลุกขึ้นต่อสู้ ทั้งที่ลักษณะ​ของการกระทำความผิด มีความร้ายแรงมากกว่าการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทต่อบุคคลธรรมดา ซึ่งการพิจารณาของศาลยุติธรรมจะต้องมีการสืบพยาน ตามข้ออ้าง ข้อเถียงข้อต่อสู้ระหว่างคู่ความในคดีการพิสูจน์เหตุดังกล่าวจำต้องพาดพิงหรือกล่าวหาสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในสถานะอันควรเคารพสักการะ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ต้องด้วยรัฐธรรมนูญ​มาตรา 6 ที่บัญญัติให้องค์พระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ และทำให้ข้อความดังกล่าวกระจายสู่สาธารณะ​ เป็นการเสื่อมพระเกียรติ​ อีกทั้ง ที่ผู้ถูกร้องที่ 1 กับพวกเสนอให้ความผิดตามมาตรา 112 เป็นความผิดอันยอมความได้ โดยเพิ่ม ความในมาตรา 135/9 วรรคหนึ่งว่า ความผิดในลักษณะนี้ เป็นความผิดอันยอมความได้ และวรรคสอง ให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์และถือว่าเป็นผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น และให้สำนักพระราชวังเป็นผู้เสียหายร้องทุกข์มุ่งหมายให้การกระทำความผิดตามมาตรา 112 กลายเป็นความผิดในเรื่องส่วนพระองค์ของสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น เป็นการลดสถานะความคุ้มครอง ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้รัฐไม่ต้องเป็นผู้เสียหายในความผิดดังกล่าวโดยตรงและให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน และจะเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 6

ส่งผลให้การกระทำความผิดตามมาตรา 112 ไม่ใช่การกระทำความผิดที่กระทบต่อชาติและประชาชนทั้งที่การกระทำความผิดดังกล่าวย่อมเป็นการทำร้ายจิตใจของชนชาวไทย ที่มีเคารพเทิดทูน สถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะทรงเป็นพระประมุขและศูนย์รวมความเป็นชาติที่รัฐต้องคุ้มครองและต้องเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา

นายอุดม รัฐอมฤต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยว่า ดังนั้นแม้การเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะเป็นหน้าที่และอำนาจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา133 และร่างกฎหมายดังกล่าวจะไม่ได้รับการบรรจุในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็ตาม เมื่อการเสนอร่างกฎหมายนี้ กลับดำเนินการโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคผู้ถูกร้องที่2 ทั้งสิ้นเพียงพรรคเดียว โดยผู้ถูกร้องทั้งสองได้เบิกความกับศาลยอมรับว่าพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 นำเสนอนโยบายดังกล่าวให้แก่คณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อใช้เป็นนโยบายในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปพ.ศ 2566และปัจจุบันยังปรากฏเป็นนโยบายการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112อยู่บนเว็บไซต์ของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองใช้การเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นนโยบายของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ในการหาเสียงเลือกตั้งแม้ไม่มีร่างที่จะแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้เห็นว่าจะแก้ไขในประเด็นใด เสนอมาพร้อมนโยบายพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 แต่ตามเว็บไซต์ของผู้ถูกร้องที่ 2 กล่าวถึงการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กลับมีเนื้อหาที่จะแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทำนองเดียวกับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่..พ.ศ.. แก้ไขเกี่ยวกับความผิดหมิ่นประมาทเมื่อวันที่ 25 มี.ค 64 ที่ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร

ดังนั้นถือได้ว่าพรรคผู้ถูกร้องที่ 2ได้ร่วมกับผู้ถูกร้องที่ 1เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ฉบับที่พ.ศ...แก้ไขเกี่ยวกับความผิดหมิ่นประมาทเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2564 ที่ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้งเนื้อหาของร่างกฎหมายที่ผู้ถูกร้องทั้งสองเสนอเป็นพฤติการณ์ที่แสดงออกถึงเจตนาของผู้ถูกร้องทั้งสอง ที่ต้องการลดทอนการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ลง โดยผ่านร่างกฎหมาย และอาศัยกระบวนการนิติบัญญัติเพื่อสร้างความชอบธรรมโดยซ่อนเร้น โดยใช้วิธีการผ่านกระบวนการทางรัฐสภา นอกจากนั้นผู้ถูกร้องทั้งสองยังมีพฤติการณ์รณรงค์หาเสียงทางการเมืองเพื่อเสนอแนวความคิดเห็นดังกล่าว ให้กับประชาชนทั่วไปผ่านรูปแบบนโยบายของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 อย่างต่อเนื่อง หากประชาชนทั่วไปซึ่งไม่รู้เจตนาที่แท้จริงของผู้ถูกร้องทั้งสองอาจหลงตามกับความคิดเห็นที่แสดงออกผ่านการเสนอร่างกฎหมายและนโยบายของพรรค ประกอบกับศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยที่ 3/2562 วินิจฉัยว่าสาระสำคัญซึ่งเป็นหลักการขั้นพื้นฐานของระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทย ดังได้ระบุไว้ในความของพระราชหัตถเลขาที่ 1/2560 ลงวันที่14 พ.ย2547 ว่า พระมหากษัตริย์พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง ดำรงฐานะอยู่เหนือการเมือง โดยเฉพาะในแง่การไม่เข้าไปมีบทบาทเป็นฝักฝ่ายต่อสู้แข่งขันรณรงค์ทางการเมือง อันอาจนำมาซึ่งการโจมตี ติเตียน และกระทบกระเทือนต่อความเป็นกลางของสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องถูกลบล้างไป ดังปรากฏเป็นที่ประจักษ์ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 6/2543 ที่วินิจฉัยว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ทรงดำรงอยู่เหนือการเมือง และทรงดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางทางการเมือง

การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองใช้การเสนอแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อลดสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้นโยบายพรรคการเมืองโดยนำสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาเพื่อหวังผลคะแนนเสียงทางการเมือง และประโยชน์ในการชนะการเลือกตั้ง มุ่งหมายให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องเข้าไปเป็นฝักฝ่ายต่อสู้แข่งขัน รณรงค์ทางการเมือง อันอาจนำมาซึ่งการโจมตี ติเตียน โดยไม่คำนึงถึงหลักการพื้นฐานสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันนี้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีหลักสำคัญว่าพระมหากษัตริย์ต้องดำรงสถานะอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมือง

การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้งดังกล่าว มีเจตนาเซาะกร่อน บ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเหตุให้ชำรุด ทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง นำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด ขอโต้แย้งของผู้ถูกร้องทั้งสองจึงฟังไม่ขึ้น

ข้อโต้แย้งที่ผู้ถูกร้องทั้งสองโต้แย้งว่าหลักการปกครองเสรีประชาธิปไตย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีหน้าที่เป็นผู้แทนของประชาชน ในการขับเคลื่อนนโยบายที่หาเสียงไว้ และการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายตามนโยบายที่ให้ไว้กับประชาชนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการกระทำในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นเอกสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 133 วรรคหนึ่ง (2) ไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติพรรคการเมืองนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่...พ.ศ... แก้ไขความผิดเกี่ยวกับหมิ่นประมาทเมื่อวันที่ 25 มี.ค 2564 กลับดำเนินการโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคผู้ถูกร้องที่สองทั้งสิ้น ทั้งผู้ถูกร้องทั้งสองเบิกความต่อศาลรัฐธรรมนูญยอมรับว่าพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 นำเสนอนโยบายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นการทั่วไป 2566 และปัจจุบันยังคงปรากฏนโยบายดังกล่าวอยู่บนเว็บไซต์ของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2

ข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องที่ 2 ที่ว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 49 ใช้เฉพาะกับบุคคลธรรมดาไม่ใช้กับพรรคการเมืองนั้น ผู้ถูกร้องที่ 1 ในฐานะที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง และพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์สำคัญที่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่เมื่อพิจารณาความในหมวด 3 ไม่ได้กำหนดเฉพาะบุคคลที่เป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น ประกอบกับพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 20 ประกอบมาตรา 23 (1) และ(5) บัญญัติหน้าที่ของพรรคการเมืองที่ต้องให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไว้อย่างชัดเจน รัฐธรรมนูญมาตรา 49 จึงใช้บังคับกับพรรคการเมืองซึ่งเป็นนิติบุคคลได้ เมื่อพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ได้แสดงบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองสอดรับกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่างๆ โดยการรณรงค์ ปลุกเร้า และยุยง ปลุกปั่น เพื่อสร้างกระแสในสังคมให้สนับสนุน ให้ยกเลิก หรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ปรากฏพฤติการณ์ของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 พบว่ามีกลุ่มบุคคลที่มีชื่อทำกิจกรรม "ยืน หยุด ขัง" ข้อเรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรคเสนอนโยบาย ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีกลุ่มบุคคลที่ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 จัดชุมนุมโดยแนวร่วมคณะราษฎร ยกเลิก 112 ครย 112 มีการรณรงค์ให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีพฤติการณ์สนับสนุนเรียกร้อง ให้ยกเลิก หรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีพฤติการณ์สนับสนุน เรียกร้องให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว

นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมเป็นนายประกันเกี่ยวกับการเป็นนายประกันให้กับผู้ต้องหาหรือจำเลยในข้อหาตามมาตรา 112 ได้แก่ผู้ถูกร้องที่ 1 นายชัยธวัช ตุลาธน นายรังสิมันต์ โรม น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา นายทองแดง เบ็ญจะปัก นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล นายธีรัจชัย พันธุมาศ ในขณะที่เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ตามหนังสือสำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสภาความมั่นคงแห่งชาติ และคำเบิกความของผู้ถูกร้องทั้งสอง ต่อศาลรัฐธรรมนูญปรากฏว่าผู้ถูกร้องที่ 1 กรรมการบริหารพรรค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งในอดีตและปัจจุบัน และสมาชิกพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 มีพฤติกรรมเกี่ยวกับการกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลายรายได้แก่ นายปิยรัฐ จงเทพ จำนวน 2 คดี น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว จำนวน 2 คดี น.ส.รักชนก ศรีนอก เป็นต้น การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น เป็นความผิดอาญา ผู้กระทำจะต้องมีการกระทำที่เข้าองค์ประกอบแห่งความผิดจึงจะถูกกล่าวหาและดำเนินคดีได้ พูดถูกร้องทั้งสองจึงไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่าเป็นความเห็นต่างหรือเป็นคดีการเมือง เพราะการใช้สิทธิ หรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญมาตรา 34 มีข้อห้ามมีให้ใช้สิทธิ์หรือเสรีภาพ หากเป็นการกระทำที่ส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

พฤติการณ์ที่แสดงออก หรือเข้าร่วมการชุมนุมที่มีการรณรงค์ให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถือเป็นหลักประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือเป็นผู้กระทำความผิดในข้อหาดังกล่าวเสียเอง ย่อมแสดงให้เห็นว่าพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นกลุ่มการเมืองที่มีอุดมการณ์ต้องการเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือยกเลิกบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่คุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2566 จัดกิจกรรมปราศรัยใหญ่ ณ สวนสาธารณะเทศบาลแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยน.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ น.ส.อรวรรณ ภู่พงศ์ ขึ้นปราศรัยเชิญชวนผู้ถูกร้องที่ 1 รวมถึงว่าที่ผู้สมัครผู้แทนราษฎรของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ร่วมกิจกรรม "คุณคิดว่ามาตรา 112 ควรยกเลิกหรือแก้ไข" ซึ่งผู้ถูกร้องที่ 1 นำสติ๊กเกอร์สีแดงติดลงในช่องยกเลิก มาตรา 112 แม้ผู้ถูกร้องที่ 1 และบทความต่อศาลว่าเป็นเพียงการแสดงออกเพื่อโน้มน้าวให้ผู้ตั้งกระทู้ถาม และผู้ฟังการปราศรัยโดยทั่วไปสงบสติอารมณ์ ก่อนที่จะฟังฟังคำปราศรัยถึงเหตุผลที่สมควรแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และเป็นการบริหารสถานการณ์ไม่ให้เกิดความรุนแรงนั้น แต่ข้อเท็จจริงปรากฏในหนังสือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ปราศรัยความต่อหนึ่งว่า "พี่น้องประชาชนเสนอกฎหมายยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เข้ามา พรรคก้าวไกลก็จะสนับสนุนเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นต้องขอโทษน้องทั้งสองที่พี่ต้องแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ในสภาก่อนถ้าสภายังไม่ได้รับการแก้ไข ก้าวไกลจะออกไปสู้ด้วยกันครับ" แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของผู้ถูกร้องที่ 1 ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคของผู้ถูกร้องที่ 2 ในขณะนั้นที่พร้อมจะสนับสนุนยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทำให้บทบัญญัติแห่งการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์หมดสิ้นไป เพราะหากไม่ได้รับการแก้ไขในสภาผู้แทนราษฎร ก็พร้อมจะดำเนินการโดยอาศัยวิถีทางอื่น นอกเหนือจากวิธีการนิติบัญญัติ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยที่ 19/2564 ว่าการกระทำที่มีเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์โดยชัดแจ้ง เป็นการเซาะกร่อน บนทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญได้วางมาตรฐานเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยอันนี้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขว่า พระมหากษัตริย์ดำรงสถานะอยู่เหนือการเมืองและเป็นกลางทางการเมือง การกระทำใดๆที่เป็นการส่งเสริมหรือทำลายให้สถาบันพระมหากษัตริย์สูญเสียสถานะที่จะต้องอยู่เหนือการเมือง หรือดำรงความเป็นกลางทางการเมือง ย่อมเป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย เป็นเหตุให้ชำรุด ทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง เข้าลักษณะ เป็นการล้มล้างการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านว่า แม้ผู้ถูกร้องทั้งสองโต้แย้งว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 49 มีองค์ประกอบของการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้นั้นต้องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพก็ตาม แต่คำว่าสิทธิหมายถึงอำนาจที่รับรองและให้การคุ้มครองมิให้บุคคลใดลุกล้ำหรือใช้สิทธิเกินส่วนของตน นั่นถือเป็นการล่วงละเมิดของสิทธิของผู้อื่น ส่วนคำว่าเสรีภาพหมายถึง เป็นสภาวะของมนุษย์ที่เป็นอิสระในการกำหนดว่าตนเองจะกระทำการอันใด แต่ทั้งนี้เสรีภาพจะต้องไม่ขัดต่อความสงบ เรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นด้วย ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 25 มาตรา 34 ได้กำหนดกรอบการใช้สิทธิเสรีภาพสอดคล้องกับกติกาของประเทศว่าด้วยสิทธิของบุคคล สิทธิทางการเมือง มาตรา 9 ไว้ 3 ข้อดังนี้ (1)ต้องไม่กระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของชาติ (2)ต้องไม่กระทบต่อความสงบเรียบร้อย และ(3)ต้องไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองมีพฤตการในการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและความคิดเห็นเพื่อการทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยซ่อนเร้นหรือผ่านการนำเสนอกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายพรรค เหตุการณ์คำร้องผ่านพ้นไปแล้วแต่การดำเนินการรณรงค์ให้การยกเลิกการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ของผู้ถูกร้องทั้งสองดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นขบวนการ โดยใช้หลายพฤติการณ์ ทั้งการชุมนุม การจัดกิจกรรม การรณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์เสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร การใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง หากยังปล่อยให้ผู้ถูกร้องทั้งสองกระทำการดังกล่าวต่อไปย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 2 จึงเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง ซึ่งวรรคสอง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ อาศัยเหตุผลดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 2 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง สั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำ เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การโฆษณาและการสื่อความหมายวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยวิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 74

ทั้งนี้นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวทิ้งท้ายว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมีทั้งผู้ที่เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย แต่ขอให้ตระหนักว่าการวิจารณ์คำวินิจฉัยที่กระทำโดยไม่สุจริตและใช้ถ้อยคำที่มีความหมายหยาบคายเสียดสี หรืออาฆาตมาดร้ายจะมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 38 วรรคท้าย ซึ่งจะมีโทษตักเตือน จำคุก ปรับไม่เกิน 50,000 บาท

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิด 11 ชื่อผู้สมัคร 'ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ' ปลัด ก.เกษตรฯ มาวันสุดท้าย

ตามที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เปิดรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 คน ระหว่างวันที่ 11-25 พฤศจิกายน 2567

'ทักษิณ-พท.' อย่าเพิ่งตีปีก! ชั้น 14 ป.ป.ช. ใกล้งวด คดีครอบงำยิ่งชัด รอ กกต. เคาะ

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า หน้าแตกกันไปตามๆ กัน เมื่อได้ทราบผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าไม่รับวินิจฉัยคำร้อง

'ดร.ณัฏฐ์' ชี้กรณี 'ทักษิณ-พท.' รอดคดีล้มล้างฯ ไม่ตัดอำนาจ 'กกต.' ไต่สวนยุบพรรคได้

ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร เพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยว่าการกระทำของนายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยเป็นการ

'วิสุทธิ์' เผยฝ่ายกฎหมายเพื่อไทย ร่างคําฟ้องเช็กบิล 'ธีรยุทธ' แล้ว

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงความคืบหน้าการฟ้องร้องผู้ยื่นคําร้องกล่าวหาว่าพรรคเพื่อไทยล้มล้างการปกครอง ว่า ตนได้คุยกับนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี