ได้ฤกษ์! 'เสรี' นำทีม 98 สว. ยื่นญัตติซักฟอกรัฐบาล ขออภิปราย 2 วัน

’เสรี‘ นำทีม สว. พร้อม 98 รายชื่อ ยื่นญัตติขอเปิดอภิปราย ม.153 ยันไม่ได้หวังล้มรัฐบาล ‘พรเพชร’ ขอตรวจสอบ ก่อนประสาน ครม. เคาะวันประชุม

22 ม.ค. 2567 – เมื่อเวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา พร้อมด้วย สว. อาทิ นายสมชาย แสวงการ นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ว่าที่ร้อยตรีวงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ เข้ายื่นญัตติ ขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 153 พร้อมรายชื่อ สว.ที่ ร่วมลงชื่อในญัตติจำนวน 98 คน ยื่นต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา

โดยนายเสรี กล่าวว่า ที่เราต้องยื่นอภิปรายเนื่องจากประเทศกำลังประสบกับปัญหาวิกฤตทั้ง 7 ด้าน ยืนยันว่าไม่ได้เลือกอภิปรายตามบุคคล ไม่ได้เลือกซักฟอกตามรัฐบาล เพราะคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดนี้ก็เป็น ครม. เดียวกับชุดที่แล้ว และคาดหวังว่าการอภิปรายในสภาจะเป็นผลบวกในทางปฏิบัติเพื่อให้ รัฐบาลสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับประชาชน โดยปัญหาที่เรานำมายื่นอภิปรายรัฐบาล ได้แก่ เรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ที่ทางรัฐบาลควรแก้ปัญหาได้เร็วและดีกว่านี้ แต่กลับวนเวียนอยู่กับการจ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ต และอาจทำให้สำเร็จเนื่องจากมีปัญหาตามมาเยอะ ซึ่งปัญหาเรื่องปากท้องเป็นเรื่องสำคัญตามที่รัฐบาลเคยพูดมาโดยตลอด แต่ 4 เดือนที่ผ่านมาก็ยังไม่มีผลงานเป็นรูปธรรม

อีกข้อที่สำคัญ คือกระบวนการยุติธรรม ที่หากรัฐบาลสามารถรักษามาตรฐานความเป็นธรรม เลือกปฏิบัติ หาช่องหาผลประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่ม ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นปัญหาใหญ่ในบ้านเมือง และเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องรอว่าบริหารมาเท่าไหร่ แต่เป็นเรื่องปัจจุบันที่สามารถนำมาพูดกันได้

เมื่อถามว่า เรื่องกระบวนการยุติธรรมอาจมีการโยงไปถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเป็นต้องอภิปรายก่อนที่นายทักษิณจะได้รับการพักโทษหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า เรื่องนี้เราไม่ได้เน้นตัวบุคคล แต่เราเน้นในหลักการ ดังนั้น จะเปิดอภิปรายก่อนหรือหลังไม่สำคัญ สำคัญที่ว่าจะยึดหลักยุติธรรมให้เป็นธรรมได้แค่ไหน ซึ่งเราไม่ควรให้เกิดปัญหาในเรื่องนี้ขึ้น เราต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่ากระบวนการยุติธรรมจะต้องใช้ได้กับทุกคนเท่าเทียมกัน

ส่วนการยื่นญัตติอภิปรายรัฐบาลจะใช้เวลาเท่าไหร่ และมีใครเป็นผู้อภิปรายบ้างนั้น นายเสรี กล่าวว่า ตั้งใจไว้ว่าจะอภิปราย 2 วัน ส่วนใครจะเป็นผู้อภิปรายนั้นอยู่ที่ว่าใครจะมาแสดงความจำนง ซึ่งขณะนี้ก็มีผู้สนใจจำนวนมาก แต่ทั้งนี้ต้องแสดงความชัดเจนเพื่อที่จะสามารถจัดลำดับได้

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของ สว. ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เนื่องจากมีหลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็นไม่ตรงกัน นายเสรี กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือวัตถุประสงค์ที่จะแจกเงินดิจิทัล โดยให้เหตุผลว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งก็มีคำถามว่าแล้วกระตุ้นได้จริงหรือไม่ ทั้งนี้ สำหรับการแจกเงิน 10,000 บาทนั้น ประชาชนเชื่อว่าไม่ว่าจะแจกในรูปแบบใด เดี๋ยวก็ใช้หมดในเวลารวดเร็ว และเงินที่จะนำมาแจกนั้นมีที่มามาจากไหน กู้มาหรือไม่ มีดอกเบี้ยหรือไม่ ซึ่งเป็นภาระของประเทศจำนวนมหาศาล อีกทั้ง นโยบายนี้เป็นไปตามกฏหมายหรือไม่ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยเฉพาะจาก ป.ป.ช. ระบุว่าเป็นอันตรายต่อบ้านเมือง ฉะนั้นรัฐบาลต้องคิดให้ดีว่าการเป็นหนี้ 5 แสนล้านบาท หากนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนกับประชาชนอย่างยั่งยืน จะสามารถช่วยให้ประชาชนดำรงชีวิตได้ดีกว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องนำมาพูดในสภาฯ

ทางด้านนายพรเพชร กล่าวว่า กระบวนการในการส่งหนังสือฉบับนี้ไปให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ซึ่งจะตรวจสอบข้อมูลที่ระบุมาว่าเข้าหลักเกณฑ์หรือไม่ และต้องประสานงานไปยัง ครม. ในการมาชี้แจงข้อเท็จจริง ส่วนจะเป็นเมื่อไหร่นั้น ต้องให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาไปประสานงานกับ ครม. ว่าประสงค์จะมาชี้แจงในเวลาใด และใช้เวลาเท่าไหร่ ซึ่งทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะต้องรายงานกลับมาที่ตน ว่า ครม. มีความพร้อมหรือไม่ ดังนั้นกระบวนการจะเริ่มตั้งแต่วันนี้

เมื่อถามว่า การอภิปรายในครั้งนี้จะเกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุดใช่หรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า ถ้าเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินก็สำคัญ เพราะไม่งั้นคงไม่เข้าหลักตามรัฐธรรมนูญ ให้ ครม. ชี้แจงเกี่ยวกับปัญหาเกี่ยวกับปัญหาการบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนเรื่องอื่นๆ ตนจะต้องไปตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงทิ้งทวนก่อนหมดสมัยใช่หรือไม่ ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ไปพูดอย่างนั้นไม่ได้ แต่คิดว่าการทำงานของ สว. เป็นการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และถ้าสามารถรวบรวมรายชื่อเพื่อขอเปิดอภิปรายได้ ก็ยังอยู่ในกรอบการดำเนินงานของรัฐสภา จึงไม่มีปัญหาอะไร

“จะโบว์แดงหรือโบว์ขาว ทุกคนก็จะตระหนักได้เอง ผมเข้าใจความประสงค์ของสมาชิก ว่าต้องการทำให้เกิดประโยชน์” นายพรเพชร ระบุ

เมื่อถามว่า จะแจ้งให้กับทางรัฐบาลทราบเมื่อไหร่ นายพรเพชร กล่าวว่า คงแจ้งทันทีไม่ได้ เนื่องจากยังไม่ได้ดูญัตติเลย ต้องขอดูก่อน

เมื่อถามย้ำว่า คาดว่าจะได้อภิปรายในช่วงเดือน ก.พ. – มี.ค.นี้ ใช่หรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า เท่าที่ฟังมาอย่างไม่เป็นทางการ สมาชิกอยากได้ในช่วงเดือน ก.พ. ก็จะดูให้ว่าเหมาะสมหรือไม่ ส่วนขั้นตอนธุรการ ทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะจัดการให้ แต่เรื่องกรอบเวลา ตนกับผู้เสนอจะเป็นคนประสานงานกัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สุริยะ' ชี้ 'วิโรจน์' พูดให้ดูดี ไม่สนนามสกุลเดียวกับ 'ธนาธร' ก็จะตรวจสอบ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม กล่าวกรณีฝ่ายค้านออกมาระบุว่าเตรียมจองคิวอภิปรายไม่ไว้วางใจกระทรวงคมนาคมว่า เป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะตรวจสอบรัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องปกติ

'ธนกร' ค้าน 'ปชน.' แก้รธน.สุดซอย เตือนระวังโดนฟ้อง 157 ผิดกราวรูด

'ธนกร' ปักธงค้าน 'ปชน.' ชงแก้มาตรา 256 ชี้ตัดอำนาจ สว. ชัดขัดเจตนารมณ์ รธน. ทำเสียสมดุล 2 สภา หนักข้อสุดซอยเอื้อมแตะหมวด 1-2 พ่วงอำนาจองค์กรอิสระ เตือนระวังถูกฟ้อง 157 เจอผิดกราวรูด

ดร.ณัฏฐ์ ชี้ชัด 'ประชามติชั้นเดียว' แค่ยกแรก 'แก้รธน.ทั้งฉบับ' เจอด่านหิน-นโยบายขายฝัน!

“ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน ชี้ กลไกแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับผ่านด่านหินยาก แม้เพื่อไทยใช้เทคนิคช่องทางพ้น 180 วัน ผ่านร่าง พรบ.ประชามติ เป็นเพียงนโยบายในฝัน  

มติ 153 สว. ยืนประชามติ 2 ชั้น! อบรม 'ไอติม' พูดได้ไงจะมีผู้รณรงค์ให้ปชช.นอนหลับทับสิทธิ์

สว. ยกมือพรึ่บ 153 เสียง ผ่านกม.ประชามติ ฉบับกมธ.ร่วมฯ ยึดเสียงข้างมากสองชั้น ก๊วนสว.พันธุ์ใหม่ โวยดัดจริต สองมาตรฐาน โธ่! "ไอติม" โชว์กึ๋นนักเรียนนอก บอกสองชั้นเปิดช่องรณรงค์ให้ประชาชนนอนหลับทับสิทธิ์ สว.สีน้ำเงิน สวนทันควันใครจะกล้าทำแบบนั้น