'เศรษฐา' ดูดกาแฟอ่านตามบทยาวเหตุผลจัดทำงบประมาณปี 2567

เปิดสภา 'เศรษฐา'ร่ายยาวงบ 2567 ยันจะใช้เงินภาษี ปชช.ให้มีประสิทธิภาพ พร้อมอัพเกรด 30 บาทรักษาทุกโรค พัฒนากองทัพให้ทันสมัย แก้ไข รธน.บนหลักการที่เหมาะสม ไม่นำไปสู่ความขัดแย้งในสังคม

03 ม.ค.2567 - ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุมวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพียง เช่นเดียวกับ สส.ฝ่ายค้านและรัฐบาล

จากนั้นเวลา 09.43 น. นายเศรษฐา ชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ.งบ 2567 ว่า การจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อน นโยบายของรัฐบาลตามที่แถลไว้ต่อรัฐสภา โดยรัฐบาลได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจและฐานะทางการเงินการคลังของประเทศ ตลอดจนแนวทางการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสต์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯฉบับที่ 13 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า งบปี 2567 มุ่งทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีผ่านการดำเนินนโยบายที่จะครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง โดยมีการดำเนินการทั้งระยะเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาระยะสั้นและนโยบายระยะกลางระยะยาว เพื่อเสริมขีดความสามารถในการเจริญเติบโตของประเทศ จากการปรับลดเป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ลงมาเหลือเพียง 2.5% ในไตรมาสที่3 ของปี 2566 แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังสูญเสียความสามารถในการเจริญเติบโต ซึ่งจเกิดจากโควิด19 การลงทุนของภาคเอกชนลดลง การสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัยของประเทศ รวมทั้งต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ สูงขึ้น ดังนั้นเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบโดยตรง ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งพลิกฟื้นเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยเริ่มจากการสร้างอุปสงค์ในกลุ่มเป้าหมายของนโยบาย นำไปสู่การผลิตสินค้า และการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อขยายการผลิต ขยายความต้องการ โดยการท่องเที่ยวจะเป็นกลไกลสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ ขยายการท่องเที่ยวไปยังเมืองรองมากขึ้นเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพในพื้นที่

นายกฯ กล่าวอีกว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับด้านสังคมและความมั่นคง โดยประชาชนคนไทยจะต้องมีสุขภาวะที่ดีทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ เข้าถึงงานบริการสาธารณสุขได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ไม่จำเป็นต้องไปต่อคิวอีกต่อไป โดยรัฐจะลงทุนการเชื่อมต่อข้อมูลทั้งระบบ อัพเกรดระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคให้ดียิ่งขึ้น และจะดูแลลูกหลานของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากยาเสพติด โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์ผู้เสพให้เป็นผู้ป่วย ซึ่งจะเน้นบำบัดผู้ติดยาและทำให้พวกเขาสามารถกลับคืนสู่ครอบครัวและสังคมได้ รวมทั้งจะสกัดกั้น ยาเสพติดที่ลักลอบข้ามพรมแดนไม่ให้สามารถเข้ามาแพร่กระจายได้ โดยใช้มาตรการจับกุมและยึดทรัพย์ผู้ผลิต ผู้ค้า และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ทำให้ยาเสพติดไม่สามารถแพร่ระบาดในประเทศไทยได้ รวมถึงด้านอัตลักษณ์และความเสมอภาค รัฐบาลจะทำให้คนทุกกลุ่มได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย โดยปราศจากเงื่อนไขทางเพศสภาพ อายุ ความเจ็บป่วยของร่างกาย ทำให้ได้รับสิทธิครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ และเข้าถึงโอกาสต่างๆ เพื่อสร้างความเสมอภาคทางสังคมที่แท้จริง

นายเศรษฐา กล่าวว่า รัฐบาลจะพัฒนากองทัพให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น สอดคล้องไปกับการพัฒนาความมั่นคงในทุกรูปแบบและให้ตรงกับยุคสมัย ระบบการเกณฑ์ทหารจะเปลี่ยนเป็นแบบสมัครใจ โดยมีการสร้างแรงจูงใจใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาตนเอง การฝึกอาชีพ รวมถึงโอกาสในการประกอบอาชีพหลังปลดประจำการ ซึ่งจะทำให้สถาบันทหารมีความเป็นมืออาชีพ มีภาพลักษณ์ที่ดีและใกล้ชิดกับประชาชนมากยิ่งขึ้น

“ส่วนในด้านการเมืองการปกครอง ประชาชนจะได้เห็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะแก้ไขจุดด้อยของรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา ผ่านการทำงานที่โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยจะแก้ไขรัฐธรรมนูญบนหลักการที่เป็นไปได้มากที่สุดและเหมาะสมกับสถานการณ์ ไม่นำไปสู่ความขัดแย้งใหม่ในสังคมไทย”นายกฯ กล่าว

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า นโยบายการคลังและความสัมพันธ์ระหว่างรายรับและงบประมาณรายจ่ายที่ขอตั้งภายใต้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจดังกล่าว ในปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง โดยประมาณการจัดเก็บรายได้จากภาษีอากร การขายสิ่งของและบริการ รัฐพาณิชย์ และรายได้อื่น รวมสุทธิจำนวน 2,912,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.4% จากปีก่อน และหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการ กระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 125,800 ล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2,787,000 ล้านบาท

“สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 เป็นการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิ จำนวน 2,787,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 693,000 ล้านบาท รวมเป็นรายรับ จำนวน 3,480,000 ล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่าย จากการเพิ่มขึ้นของประมาณการรายได้ในปีงบประมาณ 2567 จะทำให้รัฐมีรายได้ 2,787,000 ล้านบาท หรือเพิ่มกว่า 11.9% ทำให้รัฐบาลมีการกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณลดลงจากปีงบประมาณที่ผ่านมา และสามารถตั้งงบประมาณชำระคืนต้นเงินกู้ การชดใช้เงินคงคลัง และการตั้งงบประมาณรายจ่ายลงทุนที่เพิ่มขึ้นได้”นายกฯกล่าว

นายเศรษฐา กล่าวว่า ฐานะการคลัง หนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 ต.ค.2566 มีจำนวน 11,125,428.1 ล้านบาท คิดเป็น 62.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ที่ 70% โดยหนี้สาธารณะ ที่เป็นข้อผูกพันของรัฐบาล ซึ่งเกิดจากการกู้ยืมเงินโดยตรง และการค้ำประกันเงินกู้โดยรัฐบาล มีจำนวนทั้งสิ้น 10,537,912.7 ล้านบาท ปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 31 ต.ค.2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 297,093.6 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนฐานะและนโยบายการเงิน อัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ถูกปรับให้สูงขึ้น โดยใช้สมมุติฐานว่าสภาพเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวด้วยดี โดยจะเป็นอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับการขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 ยังอยู่ที่ระดับต่ำที่ 0.5% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ซึ่งน้อยกว่าประเทศในภูมิภาคเดียวกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยลดลงมาจากที่อยู่ในระดับที่สูงในปีก่อนหน้า ซึ่งสะท้อนจากสภาพเศรษฐกิจที่มีการชะลอตัวลง ทั้งนี้ในปี 2567 สภาพเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะประสบกับแรงกดดันด้านอุปทานจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ภาระหนี้สินครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของการค้าโลก ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าจะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจ และภาวะทางการเงินตึงตัว ต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับนโยบาย

นายกฯ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายประจำปี2567 จำแนกตามยุทธศาสตร์ได้ดังนี้ 1.ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 390,149.3 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.2 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคง รับมือภัยคุกคาม ภัยพิบัติได้ทุกรูปแบบ มีแผนงานสำคัญอาทิ การป้องกันปราบปราม บำบัดผู้ติดยาเสพติด การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเป้าหมายลดเหตุรุนแรงลง 70% เมื่อเทียบกับปี2560 การรักษาความสงบในประเทศ เสริมสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติให้อยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม 2.ยุทธศาสตร์สร้างความสามารถในการแข่งขัน 393,517ล้านบาท หรือ 11.3% มีแผนงานสำคัญอาทิ การพัฒนาความมั่นคงทางพลังงาน การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล การมีมาตรการเฝ้าระวังรับมือภัยคุกคามไซเบอร์ การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว การสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกไม่น้อยกว่า 1แสนล้านบาท ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมขนส่ง ระบบสาธารณูปโภค 3.ยุทธศาสตร์ด้านพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ 561,954 ล้านบาท หรือ 16.1% เพื่อให้ประชาชนทุกช่วงวัย มีคุณภาพชีวิตดี การศึกษาได้รับการปฏิรูป พัฒนาระบบบริการสาธารณสุข อาทิ การพัฒนาคุณภาพการศึกษา

นายเศรษฐา กล่าวว่า 4.ยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 834,240ล้านบาท หรือ 24% เพื่อให้คนไทยได้รับสวัสดิการพื้นฐานทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำทุกมิติ มีแผนงานสำคัญอาทิ การเตรียมความพร้อมรับสังคมสูงวัย การพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา การกระจายอำนาจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5.ยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 131,292ล้านบาท หรือ 3.8% เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล มีแผนงานสำคัญ อาทิ การจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาขยะทุกประเภทอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ แก้ปัญหาภัยแล้ง 6.ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 604,804ล้านบาท หรือ 17.4% เพื่อให้ระบบการบริหารราชการมีประสิทธิภาพ มีแผนงานสำคัญ อาทิ การต่อต้านทุจริต โดยปรับปรุงกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ให้ประชาชนมีส่วนร่วมป้องกันปราบปรามการทุจริต การมีรัฐบาลดิจิทัล พัฒนารูปแบบการให้บริการภาครัฐผ่านการนําเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้อย่างคุ้มค่า การปรับปรุง หรือยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคพัฒนาประเทศ

นายกฯ กล่าวว่า การดำเนินการภาครัฐนั้นรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้ จำนวน 564,041.2 ล้านบาท คิดเป็น 16.2% ของวงเงินงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ และชดใช้เงินคงคลัง ดังนี้ รายจ่ายงบกลางเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 99,300.0 ล้านบาท เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง และภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐบาล รวมทั้งชดเชยค่างานก่อสร้างเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ส่วนการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ จำนวน 346,380.1 ล้านบาท เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 118,320 ล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม จำนวน 228,060.1 ล้านบาท เพื่อให้การบริหารจัดการหนี้และการชำระหนี้ภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ ส่วนรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 118,361.1 ล้านบาท เพื่อเป็นรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังที่ได้ใช้จ่ายไปแล้ว

นายเศรษฐา กล่าวด้วยว่า งบประมาณรายจ่ายปี2567 มีงบประมาณรายจ่าย 3,480,000 ล้านบาท โดยจะมีที่มาจากรายได้ที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ 2,787,000 ล้านบาท และเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 693,000 ล้านบาท แม้งบประมาณรายจ่ายปีนี้จะเพิ่มขึ้น 9.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่รัฐบาลจะสามารถจัดเก็บรายได้ได้มากขึ้นกว่า 11.9% ทำให้สามารถจัดสรรงบไปลงทุนได้กว่า 717,722.2 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 4.1% และสามารถชดใช้เงินคงคลังและชำระคืนต้นเงินกู้ได้กว่า 118,361.1 ล้านบาทอีกด้วย ซึ่งจะเป็นการเตรียมพร้อมทำให้รัฐบาลมีกรอบในการลงทุนในระยะกลางและยาวมากขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 อีกด้วย

“การบริหารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินนโยบายทั้งในระยะสั้นไปจนถึงระยะยาว โดยรัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยมีเป้าหมายที่จะบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ลงทุนเพื่อสร้างการเจริญเติบโตของประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และเป็นไปตามกฎหมาย”นายเศรษฐา กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐา ได้ใช้เวลาอ่านคำชี้แจงเหตุผลในการจัดทำงบประมาณฯปี 2567 เป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 40 นาที

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' ชวนคนไทยเชียร์ตัวแทนทีมชาติไทยในโอลิมปิกปารีส 2024

นายกฯ ส่งกำลังใจเชียร์ทัพนักกีฬาตัวแทนประเทศไทยร่วมแข่งขันโอลิมปิก ปารีส 2024 ครั้งที่ 33 วันที่ 26 กรกฎาคม - 11 สิงหาคม 2567 นี้ เชิญชวนคนไทยร่วมเชียร์และรับชมถ่ายทอดสด

นายกฯ ควบคุมทิศทางอุตสาหกรรม MICE ฟุ้ง สร้างรายได้กว่า 2 แสนล้าน

นายกฯ ควบคุมทิศทางอุตสาหกรรม MICE เชื่อมั่นเติบโตต่อเนื่อง พร้อมเตรียมแผนจัดงาน-กิจกรรมตลอดไตรมาส 4 ของปีงบประมาณ 2567 กระตุ้นตลาด MICE ไทย คาดการณ์เเนวโน้มปีงบประมาณ 2568 สร้างรายได้กว่า 2 แสนล้านบาท