พระบรมราชโองการฯ ที่โปรดเกล้าฯแต่งตั้ง “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา”เป็น”องคมนตรี“เมื่อ 29 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา
ถือว่าเป็นการทำให้เส้นทางชีวิต-เส้นทางอำนาจของ พลเอกประยุทธ์ มาถึงปลายทางอย่างสมเกียรติ และคงมีคนไทยไม่กี่คนเท่านั้น ที่ในชีวิตจะผ่านตำแหน่งสำคัญๆ ในชีวิต มาเกือบครบหมดเหมือนพลเอกประยุทธ์ ทั้ง ผู้บัญชาการทหารบก-หัวหน้าคณะรัฐประหาร-นายกรัฐมนตรีในยุครัฐบาลทหาร -นายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งควบ รมว.กลาโหม และตำแหน่งล่าสุด“องคมนตรี”
จนทำให้มีการวิจารณ์-วิเคราะห์กันว่า เส้นทางชีวิตของพลเอกประยุทธ์ อาจจะเดินรอยตาม อดีตสองผู้นำทหาร-อดีตนายกรัฐมนตรี คือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตผบ.ทบ. -อดีตนายกรัฐมนตรี-อดีตองคมนตรี -อดีตประธานองคมนตรี และพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตผบ.ทบ.-อดีตนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลรัฐประหาร คมช.เมื่อปี 2549 -องคมนตรี และประธานองคมนตรีคนปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม จะพบว่า พลเอกเปรมและพลเอกสุรยุทธ์ ไม่เคยเป็น“หัวหน้าคณะรัฐประหาร“แบบ พลเอกประยุทธ์ จึงทำให้ เส้นทางของ พลเอกประยุทธ์ ก็จะมีความแตกต่างกันอยู่กับพลเอกเปรม และพลเอกสุรยุทธ์
สำหรับในปี 2566 เส้นทางการเมืองของ พลเอกประยุทธ์ มีสีสันฉูดฉาด ตลอดทั้งปี
เริ่มตั้งแต่ต้นปี2566 เมื่อพลเอกประยุทธ์ ตัดสินใจ เล่นการเมืองเต็มตัวด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ขออยู่กับ “พี่ป้อม พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ“ที่”พรรคพลังประชารัฐ“เหมือนตอนเลือกตั้งปี 2562 ที่ให้พลังประชารัฐเสนอชื่อตัวเองเป็นแคนดิเดตนายกฯ
โดยพลเอกประยุทธ์ เลือกที่จะออกมาปักหลักสร้างฐานที่มั่นกับ “พรรครวมไทยสร้างชาาติ”ที่ในแวดวงการเมือง มีข่าวมาตลอดว่า รวมไทยสร้างชาติ คือ”พรรคลุงตู่”มาตั้งแต่ตอนตั้งพรรค เพียงแต่รอจังหวะเปิดตัวเท่านั้นเอง
และในที่สุด พลเอกประยุทธ์ ก็เปิดตัวเข้าพรรครวมไทยสร้างชาติ อย่างเป็นทางการเมื่อ 9 ม.ค.2566 ด้วยการสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พร้อมกับปราศรัยทางการเมืองในวันดังกล่าว โดยระบุตอนหนึ่งว่า
“ที่ตัดสินใจมาอยู่ที่พรรครวมไทยสร้างชาติเพราะเห็นว่ามีอุดมการณ์เหมือนกัน คือรักสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์เหมือนกัน
นโยบายหลักของพรรครวมไทยสร้างชาติ คือ รื้อ ไม่ใช่รื้อทุกอย่าง ต้องดูว่าระเบียบกฎหมายอะไรที่ต้องแก้ไขบ้างที่เขาเรียกว่ากฎหมายกิโยติน บางอย่างไม่ดีก็ต้องเลิก เพื่อให้ทันสมัย เป็นสากลนั่นคือการรื้อ สองคือลดภาระต่างๆ ของประชาชนในการดำรงชีวิต สามคือปลดเปลื้องภาระค่าครองชีพและหนี้สินด้วยรูปแบบใหม่ๆ สร้างสังคมใหม่ของชาติเป็นการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ด้วยวิธีการที่เป็นธรรมที่ไม่ทำให้เกิดปัญหาในอนาคตด้วย โดยไม่ทิ้งภาระไว้ให้คนข้างหน้า” (พล.อ.ประยุทธ์-9 มกราคม 2566)
และหลังจากนั้น พลเอกประยุทธ์ ก็แสดงบทบาทนักการเมืองเต็มตัว กับพรรครวมไทยสร้างชาติ ด้วยการร่วมกิจกรรมการเมืองกับพรรคในช่วงหาเสียงอย่างหนัก ทั้งการเปิดตัวผู้สมัครส.ส.ของพรรค -การเข้าร่วมประชุมวางแผนทางการเมืองและการหาเสียงของพรรครวมไทยสร้างชาติ รวมถึงการเป็นตัวหลักของพรรครวมไทยสร้างชาติ ในการขึ้นเวทีปราศรัยจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศและเมื่อเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้งเต็มตัว พลเอกประยุทธ์ ก็ลงสมัครเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรครวมไทยสร้างชาติ
อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า พลเอกประยุทธ์ ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อแต่อย่างใด คงลงแค่แคนดิเดตนายกฯอย่างเดียวเท่านั้น
ที่ก็ทำให้ แวดวงการเมือง ตอนนั้น เริ่มวิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกันว่า อาจเป็นไปได้ที่ หากผลการเลือกตั้งออกมา พรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่ได้เป็นพรรคระดับแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จนพลเอกประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สามไม่ได้ พลเอกประยุทธ์ ก็อาจวางมือทางการเมือง
เพราะหากรวมไทยสร้างชาติ ไม่ได้เป็นพรรคหลักในการตั้งรัฐบาล ถึงต่อให้รวมไทยสร้างชาติเป็นรัฐบาล แต่เมื่อ พลเอกประยุทธ์ เคยเป็นนายกฯมาแล้วสองสมัย ก็คงยากที่จะเป็นแค่ รัฐมนตรีในรัฐบาลเท่านั้น และอาจจะโบกมือลาพรรครวมไทยสร้างชาติ เพื่อไปรับตำแหน่งใหญ่ในชีวิต
ซึ่งเรื่องนี้ มีการวิเคราะห์กันไว้ตั้งแต่ตอนนั้น และในที่สุด ข่าวลือก็กลายเป็นความจริงในเวลาต่อมา
และหลัง ทุกพรรคการเมืองหาเสียงกันอย่างเข้มข้น จนมาถึงโค้งสุดท้าย ก่อนวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566
ก็มาถึงวันดีเดย์นัดสำคัญ นั่นคือการเปิดเวทีปราศรัยใหญ่นัดสุดท้ายของทุกพรรคการเมือง ในวันศุกร์ที่ 12 พ.ค. 2566 ที่เรียกได้ว่า ทุกพรรคการเมือง มีเท่าไหร่ ต้องใส่หมดแม็ก เพื่อเรียกคะแนนเสียงเลือกตั้ง
โดยในส่วนของ”พลเอกประยุทธ์-รวมไทยสร้างชาติ“ก็ได้มีการ ปราศรัยใหญ่ในธีม “รวมทุกหัวใจ รวมไทยสร้างชาติ” ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
เวทีปราศรัยดังกล่าว ที่เป็นเวทีสุดท้ายทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์ด้วย วันดังกล่าว พลเอกประยุทธ์ ปราศรัย ตอนหนึ่งว่า
วันนี้ผมไม่เสียใจที่ได้เป็นทหารมา ได้ปกป้องแผ่นดินผืนนี้มาให้ไว้กับพวกเรา ผมต้องการให้แผ่นดินนี้เป็นแผ่นดินแห่งสันติสุข ปลอดภัย แผ่นดินที่คนไทยร่วมรักสามัคคีร่วมกัน
เราไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงชนิดที่พลิกแผ่นดิน ท่านรับได้มั้ย อะไรจะเสียหายบ้างรู้มั้ย เราเปลี่ยนแปลงแบบพลิกแผ่นดินไปครั้งเดียวไม่ได้ เพราะเราไม่รู้ว่าจะพลิกอะไรขึ้นออกมา
ผมจะไม่ยอมก้าวถอยหลังออกไปอีกแล้ว เราต้องจับมือกัน จูงมือกัน ลากกันไป อุ้มกันไป เพื่อเดินไปข้างหน้า อย่าหยุดอยู่กับที่ โดยเด็ดขาด อย่าให้อะไรมาชะงักมาดึงรั้งคนไทยที่จะเดินไปข้างหน้า
เราต้องเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เพิ่มความรักสามัคคีให้มากขึ้นเพื่อลูกหลานเพื่ออนาคตของพวกเราทุกคน
เราจะไม่ยอมให้ใครมาทำลายรากเหง้าของประเทศไทยโดยเด็ดขาด สังคม ครอบครัว สังคมการเคารพผู้ใหญ่ สังคมการนับถือ ศาสนา สังคมชุมชนที่มีความรักสามัคคี มีมิตรไมตรี มีรอยยิ้มให้กัน เราจะต้องไม่ให้สิ่งเหล่านั้นสูญหายไปจากประเทศไทยอย่างเด็ดขาด
เวทีดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครืออีกว่า
“ขอให้เชื่อมั่นผม ถ้าผมเป็นนายกรัฐมนตรีจะทำต่อให้พวกท่าน ทุกคนพร้อมจะสู้ไปกับผมหรือไม่ สู้ไหม ถ้าอย่างนี้สู้ใจขาด ทั้งนี้ อย่าให้ลุงตู่สู้คนเดียว เพราะทุกคนเชื่อมั่นว่าผมเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต คนที่จะมาเป็นตรงนี้หรือคนที่จะมาทำงานการเมือง จะต้องเป็นคนที่ซื่อสัตย์สุจริตและรักบ้านเมืองรักพี่น้องประชาชนทุกคนเท่าๆกัน “
อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา สุดท้าย พรรคการเมืองขั้วรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ที่ประกอบด้วย”พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ-ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา” ผลเลือกตั้งออกมา พรรคการเมืองดังกล่าว รวมเสียงส.ส.หลังเลือกตั้ง กันแล้ว ไม่เกิน 250 เสียง ทำให้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้
นั่นหมายถึงความพ่ายแพ้ของพรรคขั้วรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ที่แพ้ตั้งแต่คืนวันเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 แล้ว
เพราะผลเลือกตั้งที่ออกมาคืนดังกล่าว แค่สองพรรคฝ่ายค้านเดิมคือ “เพื่อไทย“ที่ได้ 141 เสียง และ”ก้าวไกล“ที่ได้ 151 เสียง รวมกันสองพรรค ก็ได้ 292 เสียง ที่เกินกึ่งหนึ่งไปแล้ว
ทำให้ พรรคขั้วรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ไม่สามารถพลิกขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะเสียงส.ส.ห่างกันมาก
โดยในส่วนของ พรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ได้ส.ส.แค่ 36 ที่นั่ง ที่ถือว่าผิดเป้าไปมากพอควร จากเดิมที่แกนนำพรรคตั้งเป้าไว้ว่า ขั้นต่ำต้องประมาณ 60-80 ที่นั่ง
ทำให้นับแต่คืนวันที่ 14 พ.ค. 2566 แวดวงการเมืองและคนในพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็พอคาดเดาได้แล้วว่า อะไรจะเกิดขึ้นกับพรรคต่อจากนี้ โดยเฉพาะการตัดสินใจของพลเอกประยุทธ์ ที่คง”วางมือการเมือง“และเดินออกจากพรรครวมไทยสร้างชาติ
จนในที่สุด วันที่ 11 ก.ค. ในช่วงที่ การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล กำลังเจอปัญหาใหญ่ เพราะแนวโน้ม“สมาชิกวุฒิสภา“จะไม่โหวตให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกฯ
จนเริ่มมีข่าวลือ”ดีลลับ“การจัดตั้งรัฐบาล ที่อาจมีการ”พลิกขั้ว“เกิดขึ้น โดยเพื่อไทย จะขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเอกแทนก้าวไกล และอาจจะดึง”พรรคสองลุง“คือ พลังประชารัฐ ของพลเอกประวิตรกับรวมไทยสร้างชาติ พรรคลุงตู่ เข้ามาร่วมรัฐบาล แต่จะไม่มี”สองลุง”อยู่ใน”สมการการจัดตั้งรัฐบาล”
แล้วข่าวลือทางการเมือง ก็กลายเป็นข่าวจริงอีกครั้งเมื่อปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศผ่านเฟซบุ๊กพรรครวมไทยสร้างชาติ เมื่อ 11 ก.ค. 2566 เพื่อขอวางมือทางการเมือง และลาออกจากพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่ขอให้สนับสนุนการทำงานของพรรค
โดยเนื้อหาในการประกาศวางมือทางการเมืองดังกล่าว มีข้อความระบุว่า
“พ่อแม่พี่น้องประชาชนคนไทยที่เคารพรัก และสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติทุกท่าน ผมต้องขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งที่พี่น้องประชาชนได้ให้การสนับสนุนพรรครวมไทยสร้างชาติ และผมในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา จนทำให้ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบเขตเลือกตั้งของเรา ได้รับเลือกตั้งเป็นจำนวน 23 คน
และยังได้รับการสนับสนุนในการเลือกพรรครวมไทยสร้างชาติอีกถึง 4,766,408 เสียง จากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่มาใช้สิทธิ 38,057,074 คน หรือร้อยละ 12.52 สูงเป็นอันดับสามของประเทศ ทำให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่ออีก 13 คน รวมทั้งสิ้น 36 คน ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนไม่น้อยสำหรับพรรคการเมืองที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่
การที่ตัดสินใจเข้ามาเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาตินั้น เพราะผมต้องการร่วมสร้างพรรครวมไทยสร้างชาติ เพื่อให้เป็นพรรคการเมืองที่มีคุณภาพ มีอุดมการณ์ที่แข็งแกร่ง มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเป็นหลักให้กับบ้านเมืองต่อไปในอนาคต
ช่วงเวลาที่ผมได้ร่วมเดินทางกับพรรคไปพบปะพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ผมได้รับฟังข้อคิดเห็นของสมาชิกพรรคและประชาชนที่ให้การสนับสนุนอย่างล้นหลาม ผมสัมผัสได้ถึงความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ และความเชื่อมั่นในตัวผมตลอดมา ผมรู้สึกซาบซึ้งอย่างยิ่ง และเป็นประสบการณ์ที่ผมจะไม่มีวันลืม
ผมเชื่อว่าทุกท่านทราบดีว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเก้าปีเศษ ผมในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้ทำงานอย่างมุ่งมั่นทุ่มเทอย่างเต็มกำลัง เพื่อปกป้องรักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเพื่อประโยชน์ของประชาชนอันเป็นที่รักยิ่ง และสิ่งเหล่านี้กำลังผลิดอกออกผลให้กับประเทศชาติโดยส่วนรวม
ผมได้ใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดในการที่จะทำให้ประเทศชาติแข็งแกร่งขึ้นในทุกๆ ด้าน มีเสถียรภาพ มีความสงบ และฟันฝ่าอุปสรรคทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนมีความสำเร็จก้าวหน้าเป็นรูปธรรมหลายๆ ด้าน อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งทางด้านคมนาคม ขนส่ง การสื่อสาร เครือข่ายอินเตอร์เน็ตสาธารณูปโภค การเร่งรัดการลงทุนจากต่างประเทศในพื้นที่เศรษฐกิจต่างๆ
การสนับสนุนการวิจัยพัฒนา การจัดหาที่ดินทำกิน การจัดระบบการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้มีน้ำใช้และบรรเทาการเกิดอุทกภัย การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนทั้งการทำมาค้าขาย การใช้ชีวิตประจำวัน และการรับบริการจากภาครัฐ
การต่อสู้กับการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 จนได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบการบริหารจัดการโรคอุบัติใหม่ที่ดีที่สุดในโลก การแก้ไขสิ่งที่เป็นปัญหาต่อการค้าการลงทุนมายาวนาน เช่น การค้ามนุษย์ การทำประมงผิดกฎหมาย การรักษามาตรฐานกิจการการบิน ตลอดจนการดูแลประชาชนอย่างเป็นระบบอย่างทั่วถึงด้วยความเป็นธรรมกับทุกกลุ่ม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประชาชนผู้เปราะบาง มีรายได้น้อย เด็ก คนชรา คนพิการ เป็นต้น ซึ่งผมได้บริหารราชการแผ่นดินอย่างเต็มความสามารถ ระมัดระวังการใช้จ่ายงบประมาณซึ่งเป็นภาษีของพี่น้องประชาชน ให้ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย วินัยการเงินการคลัง มาโดยตลอด
เหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมในฐานะนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลได้ทำให้กับประเทศชาติและประชาชนตลอด 9 ปีเศษที่ผ่านมา ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลต่อไปจะดำเนินการพัฒนาต่อไป
ผมขอประกาศวางมือทางการเมือง ด้วยการลาออกจากสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ และขอให้หัวหน้าพรรค กรรมการบริหาร และสมาชิกพรรคได้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองด้วยอุดมการณ์ที่แข็งแกร่ง ปกป้องรักษาสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และดูแลพี่น้องประชาชนชาวไทยต่อไป และขอให้พี่น้องประชาชนให้ความไว้วางใจสนับสนุนการทำงานของพรรครวมไทยสร้างชาติต่อไปด้วย“(พลเอกประยุทธ์ 11 ก.ค.2566 )
และหลังจากประกาศวางมือทางการเมือง จนเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้น โดย “เศรษฐา ทวีสิน”ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากพลเอกประยุทธ์ ที่พบว่า มี”สมาชิกวุฒิสภา”หลายสิบคน ที่อยู่ในสายพลเอกประยุทธ์ ต่างพากันโหวตสนับสนุนให้เศรษฐา ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี จนทำให้ เพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ และมีพรรครวมไทยสร้างชาติ ร่วมรัฐบาลด้วย ท่ามกลางกระแสข่าว “ดีลลับการเมือง”ต่างๆ เช่น พลเอกประยุทธ์ ส่งสัญญาณ ให้สว.สายพลเอกประยุทธ์โหวตหนุน เศรษฐา เป็นนายกฯ ภายใต้เงื่อนไขคือให้ดึงรวมไทยสร้างชาติและพลังประชารัฐร่วมรัฐบาล
และภาพที่เรียกเสียงฮือฮาทางการเมือง ก็คือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2566 ที่เศรษฐา นายกรัฐมนตรี นั่งรถไปทำเนียบรัฐบาลในช่วงกำลังรอเข้าบริหารประเทศอย่างเป็นทางการ เพื่อพูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยใช้เวลาพูดคุยประมาณ 1 ชั่วโมง และพล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบแจกันดอกไม้พร้อมจับมือแสดงความยินดีกับนายเศรษฐาและเมื่อการพูดคุยเสร็จสิ้นลง พล.อ.ประยุทธ์ เดินมาส่งนายเศรษฐาขึ้นรถที่หน้าตึกไทยคู่ฟ้า โดยนายเศรษฐาได้ยกมือไหว้พล.อ.ประยุทธ์ ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับไหว้ ทั้งสองมีสีหน้ายิ้มแย้ม
เรียกได้ว่าเป็นภาพที่หลายคนคาดไม่ถึงในทางการเมือง แต่ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำ ดีลทางการเมืองหลายเรื่อง ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลตัวเองมาสู่รัฐบาลเพื่อไทย
จนเมื่อรัฐบาลเศรษฐา เข้าบริหารประเทศอย่างเป็นทางการ พลเอกประยุทธ์ ก็พ้นจากตำแหน่งและอำลา ทำเนียบรัฐบาลอย่างเป็นทางการเมื่อ 31 ส.ค. 2566 และหลังจากนั้น พลเอกประยุทธ์ ก็เก็บตัวเงียบทางการเมือง แทบไม่มีข่าวใดๆ ปรากฏผ่านทางสื่อโดยเฉพาะการออกมาให้ความเห็นทางการเมือง แต่ก็มีข่าวว่า ก็มีนักการเมือง -อดีตนายทหาร-ผู้ใต้บังคับบัญชา ยังคงแวะเวียนไปเยี่ยม พลเอกประยุทธ์ที่บ้านพัก ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ให้รอฟังข่าวใหญ่ เกี่ยวกับพลเอกประยุทธ์
ก่อนที่ต่อมา กองเชียร์ ลุงตู่-พลเอกประยุทธ์ ก็ดีใจกันทั้งประเทศ เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้พลเอกประยุทธ์ ที่เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยคนที่ 29 ได้เป็น”องคมนตรี”เมื่อ 29 พ.ย.2566
ถือได้ว่า ตลอดปี 2566 เรื่องราวของ พลเอกประยุทธ์ มีหลายฉากชีวิตที่น่าสนใจ ก่อนที่สุดท้าย จะหันหลังการเมืองเต็มตัว และเข้าทำหน้าที่อันทรงเกียรติของชีวิตและวงศ์ตระกูล
กองบรรณาธิการข่าว”ไทยโพสต์”จึงเห็นว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ”บุคคลแห่งปี 2566”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เทพไทพ้อ! หลังเห็นภาพ 'ลุงตู่-แม้ว' บอกจะเหลือกี่คนที่ปักหลักสู้ระบอบทักษิณ
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช
นายกฯ ยอมรับนักลงทุนกังวล สิงหาระทึก อีเวนต์การเมืองเยอะ
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการพบกันกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี ในงานสวดพระอภิธรรม นางชดช้อย ทวีสิน มารดานายกฯ ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ นายกฯมองอย่างไร โดยนายกฯย้อนถาม
เฉลยเหตุ! 'คิดถึงลุงตู่' มาแรงแชร์กันว่อนโซเชียลฯ
ถ้าใครที่ติดตามสื่อโซเชียล ก็จะเห็นกระแสเพลงคิดถึงลุงตู่แชร์กันเป็นไวรัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน TikTo
เทพไท เผย 'พลเอกประยุทธ์' ลงจากหลังเสืออย่างสง่างาม ยิ้มเพลง 'สดุดีลุงตู่' ยอดวิวทะลุล้าน
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตส.ส. นครศรีธรรมราช ได้โพสต์บนเพจเฟซบุ๊ก หลังจากผมได้โพสต์เพลง “สดุดีลุงตู่” ในสื่อโซเชียลช่องยูทูปได้ไม่นาน
'ในหลวง' พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ 'พล.อ.ประยุทธ์' องคมนตรี เฝ้าฯ ถวายสัตย์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี นำ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี
'อนุชา' ภาคภูมิใจ 'พลเอกประยุทธ์' ได้รับโปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งองคมนตรี
'อนุชา-รมช.เกษตรฯ' แสดงความยินดี และภาคภูมิใจ พลเอกประยุทธ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นองคมนตรี ย้ำอดีตนายกฯมีความตั้งใจพัฒนาประเทศ สร้างผลงานหลายอย่าง อยากให้ประชาชนอยู่ดีกินดี