ช็อตต่อช็อต 'อภิสิทธิ์ VS เฉลิมชัย' ในศึกประชาธิปัตย์!

9 ธ.ค. 2566 - ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กทม. ในการประชุมใหญ่วิสามัญ พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค ภายหลังนายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อและอดีตหัวหน้าพรรค เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค โดยมีผู้รับรองชื่อนายอภิสิทธิ์ครบ 169 เสียง

ต่อมา นายอภิสิทธิ์ ลุกขึ้นกล่าวขอบคุณ นายชวน หลีกภัย ที่ได้ให้การสนับสนุน และพูดถึงคุณสมบัติของตนหลายอย่าง จึงขอใช้เวลาที่ประชุมกล่าวว่า

"สิ่งที่จะพูดต่อไปจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง กับอนาคตของพรรคประชาธิปัตย์ ผมกราบขอบพระคุณท่านอดีตหัวหน้าชวน ที่กรุณาไม่เพียงแต่เสนอชื่อผม แต่กรุณาให้การสนับสนุนในการพูดถึงคุณสมบัติ หลายต่อหลายอย่าง และผมก็เกรงใจท่านมาก เพราะหลายท่านอาจจะไม่ทราบ คำอภิปรายของท่านในสภา เมื่อปี 2518 ตอนที่ผมอายุ 11 ขวบ ทำให้ผมตัดสินใจว่าผมจะเป็นนักการเมืองในนามของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ตั้งแต่ผมมาอยู่พรรค ถ้าผมจำไม่ผิด ท่านเคยเสนอชื่อผมในที่ประชุมแบบนี้ครั้งเดียวมั๊ง ให้เป็นเลขาธิการพรรค พร้อมกับคุณนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ และท่านอดีตเลขาอนันต์ อนันตกูล แล้ววันนั้นผมก็ลุกขึ้นมาถอนตัว ผมจำได้แม่น เพราะว่าเป็นไม่กี่วันที่ผมพูดน้อย แล้วก็พูดได้ไม่ดีเท่าคุณนิพนธ์ พร้อมพันธุ์

ผมเจอคำถามนี้มาตลอดระยะเวลาหลายเดือน ที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่พวกเราในห้องนี้ และทุกคนในสังคม จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ที่มีความผูกพันกับพรรค และมีความเชื่อว่า ผมอาจจะอยู่ในฐานะที่จะมาแก้ไขปัญหา กอบกู้ ฟื้นฟูพรรคของเรา แต่อยากจะกราบเรียนอย่างนี้ว่า ถ้าจะพูดถึงเรื่องการอยากจะเป็น อันนี้ผมไม่เคยคิดในเรื่องว่าอยากจากความต้องการส่วนตัว ทุกครั้งที่จะต้องมีการตัดสินใจในเรื่องใด ผมมองถึงอนาคตส่วนร่วมมากกว่า ที่กล้าพูดสิ่งนี้ได้เพราะว่า วันนี้จำเป็นต้องพูดข้อเท็จจริงหลายเรื่อง เนื่องจาก 4 ปีที่ผ่านมา ถูกกล่าวถึง พาดพิง ในทางสาธารณะบ้าง ส่วนตัวบ้าง เกี่ยวกับหลายต่อหลายเรื่อง

4 ปีที่ผ่านมาทุกคนทราบดีว่า หลังจากที่ผมแสดงจุดยืนชัดเจนซึ่งไม่ตรงกับพรรคในเรื่องการร่วมรัฐบาลหรือสนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผมต้องระมัดระวังบทบาทของตัวเองมาโดยตลอด ในพรรคเราผมว่าหลายท่านก็ยืนยันได้ว่ามีปัญหาหลายต่อหลายครั้ง อย่างน้อย ๆ 2 ครั้งที่มีการเข้าชื่อกันของคณะกรรมการบริหาร เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรค มีคนที่ตัดสินใจว่าจะลงชื่อเพื่อให้มีการลาออกเกินกึ่งหนึ่งไหม เพื่อให้มีการเลือกหัวหน้าใหม่ 2-3 คน มาหาผม แล้วก็บอกผมว่า ถ้าผมรับจะเป็นหัวหน้าพรรคเขาจะลงชื่อ ผมปฏิเสธครับ เพราะผมถือว่าพรรคได้ตัดสินใจในเส้นทางของพรรคที่จะดำเนินไป ผมต้องเคารพ หลายครั้งเมื่อเกิดสถานการณ์ทางการเมืองกระทบต่อกระแสของพรรค เพื่อน สส. หรืออดีต สส. ในขณะนั้น ก็มาถามผมว่าถอนตัวจากรัฐบาลดีไหม

ผมไม่เคยออกมาแสดงความคิดเห็นหรอกครับ แม้ผมไม่ได้เห็นด้วยตั้งแต่ต้นกับการไปร่วมรัฐบาล แต่ผมบอกว่ามันมีแนวทางของพรรคชัดเจน แล้วผมก็บอกว่าท่านเลขาธิการพรรค ท่านเฉลิมชัย จะทำงานอย่างไร ถ้าเราไปตัดสินใจถอนตัว อันนี้ก็ต้องคิด เพราะฉะนั้นถามผมวันนี้ มันมีเหตุผลอะไรมั้ย ที่ผมต้องกลับมาเป็นหัวหน้าพรรค ภายใต้สถานการณ์หลายอย่าง และผมไม่มีตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ เลย ผมก็ตอบว่า ผมแทบไม่มีเหตุผลอะไรที่จะตอบรับ

แต่ผมก็คิดเช่นเดียวกับท่านอดีตหัวหน้าชวน เพราะผมก็เป็นหนี้ บุญคุณพรรคประชาธิปัตย์ แล้วก็มีคนคาดหวังไม่น่าเชื่อว่าบางคนถึงกับโทรศัพท์ บางครั้งต่อหน้าเลยบอกผมว่า ผมเห็นแก่ตัว ที่ไม่เข้ามากอบกู้พรรค ผมก็ต้องอธิบายให้เข้าใจว่าพรรคประชาธิปัตย์มีระบบ มีกระบวนการหลายสิ่งหลายอย่าง ที่ไม่ใช่ว่าใครนึกว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นควรจะเป็นอย่างนี้ แล้วก็มากำหนดกันได้ ซึ่งสำหรับคนภายนอกส่วนหนึ่งก็ไม่เข้าใจ เพราะพรรคเรา อย่างที่ผมเคยเรียนครั้งที่แล้ว น่าจะเป็นพรรคการเมืองเดียวที่การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคทุกครั้งมันเป็นการแข่งขันกันจริง ๆ ตามกระบวนการของประชาธิปไตย

ผมก็ตระหนักถึงเรื่องนี้ แต่หลายเดือนที่ผ่านมา สิ่งที่ทำให้ผมประหลาดใจ และสะเทือนใจก็คือ เราที่อยู่ในห้องนี้ตระหนักกันแค่ไหนว่า พรรคอยู่ในภาวะที่เรียกว่า “ยิ่งกว่าวิกฤต” ผมอาจประสบการณ์น้อยกว่าท่านอดีตหัวหน้าชวน หลายท่านที่มีประสบการณ์ก็บอก พรรคเราเคยตกต่ำก็คืนกลับมาได้ การเมืองมีขึ้นมีลง ผมก็บอกว่า มีขึ้นมีลงแน่นอน แต่มีลงไม่ได้แปลว่าจะมีขึ้น ถ้าเราไม่เรียนรู้ ถ้าเราไม่มาสรุปบทเรียนกันอย่างชัดเจน ผมก็จึงขออนุญาตกราบเรียนที่ประชุมอย่างนี้ครับว่า เราคิดกันจริงจังหรือยังว่า เรามาอยู่ที่จุดนี้ได้อย่างไร เผื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับอนาคตของพรรค ผมก็อยากกราบเรียนว่า บทเรียนข้อสรุปต่าง ๆ ผมไม่ได้คิดว่ามันยากจนเกินไป เราไม่ได้มาถึงจุดนี้เพราะโครงสร้างพรรค เราไม่ได้มาถึงจุดนี้เพราะข้อบังคับพรรค เราไม่ได้มาถึงจุดนี้เพราะพรรคเราจน ผมอยู่กับพรรคมา 30 ปีผมขอยืนยันว่าการสนับสนุนผู้สมัครของพรรค การสนับสนุนพรรคไม่มียุคใด ที่ทำได้มากเท่ากับยุคของท่านเลขาเฉลิมชัย ศรีอ่อน แต่ความพร้อมที่มากที่สุดตรงนั้นกลับมาพร้อมกับความพ่ายแพ้ทางการเมืองที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง

ต้องยอมรับว่าที่เรามาถึงจุดนี้เพราะประชาชนมองไม่เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ มีจุดยืน หรือเป็นตัวแทนของความคิดอะไร เขาบอกการเมืองแบ่งเป็น 2 ขั้ว ขั้วหนึ่งเขาเรียกอนุรักษ์ ประชาธิปัตย์ ก็ไม่ใช่คำตอบสำหรับเขา คำตอบเขาคือพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ฝ่ายเรียกตัวเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ประชาธิปัตย์ก็ไม่ใช่คำตอบของเขา เพราะเขาก็บอกว่าเราร่วมอยู่กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทางเดินไปข้างหน้าของพรรคมันจึงเป็นเรื่องของการค้นหาจิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปัตย์ว่า ที่ยืนของเราจะเป็นความหวัง และเป็นตัวแทนของความคิดให้กับประชาชนกลุ่มไหนในเรื่องใด แล้วความจริงมันไม่ได้ยากหรอก ท่านอดีตหัวหน้า ท่านพูดถึงอุดมการณ์ของพรรค เมื่อปี 2489 ซึ่งผมก็ยืนยัน ว่าไปอ่านดูทันสมัยอย่างมาก แต่ว่าผมขออนุญาตกราบเรียนว่า สิ่งที่เรามี หรือเคยมีและพรรคอื่นไม่มีนั้นมันมีหลายประการ

1. องค์กรของเราใหญ่กว่าตัวบุคคลเสมอ อดีตหัวหน้าพรรค 8 ท่าน จะอยู่สั้นอยู่ยาว ไม่เคยเป็นเจ้าของพรรค เพราะถ้าใช้คำว่าคนคือคนทำให้ภาพเคลื่อนไหวผมก็ตอบว่าพรรคคืออะไร พรรคก็คืออุดมการณ์ ประการที่ 2 อุดมการณ์ของพรรค ที่เราเคยพูดว่าเราเป็นพรรคที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ เราต่อสู้กันมายาวนาน ที่มีการพาดพิงกันบ้างถึงการต่อสู้กับพรรคเพื่อไทย หรือพรรคของคุณทักษิณนั้น ผมก็อยากให้เราตระหนัก มันไม่มีเรื่องความแค้นส่วนตัวกับใครทั้งนั้น มันเป็นเรื่องของประวัติของการต่อสู้ทางความคิดในสิ่งที่เราเห็นว่า เป็นเรื่องความถูกต้องของบ้านเมือง แต่ผมก็ไม่อยากจะต้องเปิดเผยว่า ช่วงที่ผมเป็นหัวหน้าพรรคก็เป็นช่วงหนึ่งซึ่ง เราทำงานต่างประเทศเยอะมาก กับพรรคการเมืองต่าง ๆ และองค์กรอื่น ๆ ระหว่างประเทศ แต่ระยะหลังหลายคนที่เขาเคยมาทำงานกับพรรค เขาบอกกับผมว่าองค์กรหลายองค์กรไม่ได้ประเมินพรรคประชาธิปัตย์ว่าเป็นพรรคในแนวทางประชาธิปไตยแล้ว เราต้องฟื้นฟู ถ้าเราคิดจะกลับมา เรายังมีความต่างกับพรรคการเมืองอื่น

ที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ผมพูดเสมอครับ เกือบทุกยุคทุกสมัยเราเป็นพรรคการเมืองที่ไม่เคยกลัวเป็นฝ่ายค้าน หลายพรรคเป็นได้แค่เป็นพรรครัฐบาล กับพรรครอร่วมรัฐบาล เราไม่ใช่ ถ้าเรารักษาแนวทางอย่างนี้ เราก็มีโอกาสกลับมา มีการพูดถึงความซื่อสัตย์สุจริตเป็นสำคัญ ผมก็ไม่ขอย้ำในเรื่องนั้น แล้วก็สุดท้ายเราคือพรรคที่สร้างตัวเองมาเป็นสถาบัน บนความพยายามที่จะสร้างกติกา ให้ทุกคนในพรรคมีส่วนร่วมกับพรรคอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งต่อมาบรรดากฎหมายของพรรคการเมืองมาเขียนตามเรา ถ้าไปอ่านกฎหมายพรรคการเมืองฉบับล่าสุด ข้อบังคับพรรคการเมืองนั้นต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสมาชิกอย่างกว้างขวางไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประชุมใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค ในตำแหน่งสำคัญๆ มีคนไปพาดพิงว่า อ้าว พอพูดเรื่อง 70:30 สมัยตัวเองเขียนไว้ ถ้าไม่ดีทำไมไม่แก้ตอนนั้น

ขอความกรุณาย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ครับ ตัวเลขสัดส่วนต่างๆ มันเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด แต่ตัวเลข 70:30 แม้กระทั่งผอ.พรรค ก็เป็นพยานอยู่ได้ มันเกิดขึ้นจากการที่เราขณะนั้นคำนวณได้ว่าองค์ประชุมที่เป็น สส หรือ อดีต สส. นั้นมีจำนวนประมาณ 150 แล้ว คสช. เพิ่งยุบสาขาพรรคทั้งหมด เราต้องมาตั้งต้นใหม่ ต้องไปเริ่มต้นจากระบบตัวแทนจังหวัดก่อน ตัวเลขที่ลงตัวที่สุดในขณะนั้นคือ 70:30 ซึ่งทำให้คะแนนเสียงของ สส. ต่อองค์ประชุมอื่นมีน้ำหนักไม่ต่างกันมากแต่ให้น้ำหนัก สส. มากกว่านิดหน่อย แต่ที่สำคัญที่หลายคนไม่พูดถึง ผมเขียน 70:30 แต่ผมบอกเฉพาะสำหรับตำแหน่งหัวหน้าพรรค ไปหยั่งเสียงสมาชิกทั้งประเทศ แล้วผมขอบคุณคุณอลงกรณ์ ขอบคุณคุณหมอวรงค์ เราไปแข่งขันกันแล้วก็ตกลงกันตั้งแต่ต้น คนไหนชนะอีก 2 คนมายืนขึ้นถอนตัวในที่ประชุม 70:30 ไม่ได้มีความหมายอะไร

ครั้งที่แล้วบวกกับครั้งที่ผ่านมา มีการอ้างยกเว้น 70:30 ก็เข้าใจได้ เพราะทั้ง 2 ครั้ง ตอนเลือกท่านหัวหน้าจุรินทร์ และความพยายามที่จะเลือกครั้งที่ผ่านมามีความกังวลกันว่า กระบวนการหยั่งเสียงนั้น มันใช้เวลาพรรคอาจจะต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ต้องเดินหน้า ก็มาขอยกเว้น ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าจะต้องมาขอยกเว้นที่นี่ด้วยหรือเปล่าด้วยซ้ำ ถึงจะถูกต้องตามหลักการของข้อบังคับและกฎหมาย แต่ว่ามาถึงวันนี้ผมก็ไม่ค่อยเข้าใจเหตุผลเหมือนกัน ว่าจำเป็นต้องยกเว้นมั้ย เรื่องการหยั่งเสียง ในเมื่อขณะนี้เวลาก็ล่วงเลยมาถึงขนาดนี้แล้ว เราไม่คิดจะระดมสมาชิกต่างๆ ทั่วประเทศให้มามีส่วนร่วมเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของเราก็ไม่เป็นไร เมื่อพรรคตัดสินใจตามนี้แล้ว ก็ต้องเดินหน้าต่อ แต่อยากจะชี้แจงไว้เป็นหลักฐานไว้ สำหรับคนที่มักจะมาพูดทำนองว่า คนมาเสนอยกเว้นนี่ เสมือนกับว่า 2 มาตรฐาน ไม่ได้ดูว่าเมื่อก่อนทำอะไรกันอย่างไร จะได้เข้าใจเหตุผลที่ตรงกัน แต่สุดท้ายผมมาได้ข้อสรุปตรงนี้

วันนี้มันไม่ใช่เรื่องใครชนะใครแพ้ ไม่ว่าจะเหลือผู้สมัครคนเดียว 2 คน หรือ 3 คน วันนี้ พรรคเดินต่อไม่ได้ ถ้าไม่มีความเป็นเอกภาพอย่างแท้จริง ผมลงผมแพ้ ก็น่าจะมีปัญหา ผมลงผมชนะยิ่งมีปัญหาเข้าไปใหญ่ เพราะกระบวนการหลายอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เพื่อนในห้องนี้หลายคนจะยอมรับหรือไม่ก็แล้วแต่ บางคนไม่มาในวันนี้โดยเจตนาด้วย มาถามผมว่าทำไมไม่คุยกัน ทำไมไม่คุยกัน และต่อมาก็มีการไปพาดพิงกันบ้างว่า ผมไม่ยอมคุย ผมก็ขอยืนยันนะครับว่า ถ้าใครไปพูดอย่างนั้น ไม่จริง แล้วผมขอบคุณ เอ่ยนามก็ได้ ไม่รู้ว่าท่านจะเดือดร้อนหรือเปล่านะ คุณองอาจ คล้ามไพบูลย์ คุณเจิมมาศ คุณวทันยา พยายามไปพูดว่าคุยกันเถอะ แต่ได้รับการปฏิเสธ ผมก็ไม่กล้าที่จะไปสอบถามหรอกว่าเหตุผลการปฏิเสธมันเป็นอย่างที่ตอบมาหรือเปล่า แต่คำตอบชัด คือไม่คุย เพราะฉะนั้นวันนี้เมื่อท่านเสนอ เมื่อท่านอดีตหัวหน้าท่านกรุณาเสนอชื่อผม ผมถามท่านรักษาการหัวหน้าพรรค พักการประชุมแล้วคุยกับผมนะ"

ด้าน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ลุกขึ้นกล่าวว่า คนที่นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึง คือตน ก่อนหน้านี้เคยบอกไปว่าไม่มีอะไรจะคุย เพราะเคยประกาศว่าจะหยุดการเมือง นี่คือเหตุผล และขอกราบเรียนนี้คนเราอยู่ดีๆไม่มีใครพูดส่งเดช มีที่มาที่ไปทั้งหมด และที่มาที่ไปตนก็ไม่เคยพยายามที่จะไม่พูดตรงนั้น เพราะเป็นความรับผิดชอบของตน อาจจะไม่ได้บอกว่ารักประชาธิปัตย์มากที่สุด แต่ก็ผูกพันมาตั้งแต่ปี 2518 ครอบครัวตนเป็นหัวคะแนนสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ มันคือสายเลือด และก็ยึดมั่นในหลักการอุดมการณ์มาจนถึงทุกวันนี้เรื่องซื่อสัตย์สุจริต 100 เปอร์เซ็นต์

"เพราะฉะนั้นอะไรที่จะทำให้พรรคเดินไปได้ตนจะทำ เป็นคนที่คุยกับคนเยอะหลายๆ คนมันมีปมภายในที่ต้องคุยกัน ตนเรียนท่านหัวหน้าว่าพร้อมที่จะคุยกับท่านได้ จะได้คุยกันว่ามีปัญหาอะไรบ้าง เราก็คุยกันตรงๆ แต่จะคุยกับตน 2 คนใช่หรือไม่ ขอให้ท่านเชื่อมั่นหลักการอุดมการณ์เต็มร้อย ไม่ต้องกังวล และตั้งแต่เข้ามาอยู่พรรคประชาธิปัตย์ 22 ปี ยืนยันประชาธิปัตย์ไม่เคยเป็นพรรคอะไหล่ใคร และจะไม่มีวันยอม เชื่อตนได้ แต่ไม่อยากพูดมาก ไม่อยากจะเป็นข่าว เพราะว่ารู้ตัวว่า ตนต้องรับผิดชอบ" นายเฉลิมชัย กล่าว

จากนั้นนายเฉลิมชัย สั่งพักการประชุม 10 นาที

ต่อมาเวลา 11.38 น. กลับมาเปิดประชุมอีกครั้ง นายอภิสิทธิ์ ได้กล่าวต่อที่ประชุม ว่า "จากการพูดคุยเข้าใจตรงกันทุกอย่าง ได้เรียนรักษาการหัวหน้าพรรคจะขอถอนตัวจากการเป็นสมัครหัวหน้าพรรค ด้วยเหตุผลที่แจ้งให้ตนทราบ ขอลาออกจากสมาชิกพรรค แต่ยืนยันไม่มีพรรคอื่น ไม่ไปพรรคอื่น กรีดเลือดเป็นสีฟ้าจนวันตาย เป็นลูกพระแม่ธรณี รับใช้บ้านเมืองวันข้างหน้า ถ้าช่วยพรรคในวันข้างหน้าได้ผมไม่ปฏิเสธ หวังว่าผู้บริหารชุดใหม่จะทำงานได้สำเร็จตามที่คุณเฉลิมชัยได้กล่าวไว้กับผม"

นายเฉลิมชัย ยังกล่าวภายหลัง นายเดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา และรักษาการรองหัวหน้าพรรค ภาคใต้ เสนอชื่อนายเฉลิมชัย เป็นหัวหน้าพรรค ว่ากราบเรียนท่านชวน หลีกภัย ท่านบัญญัติ บรรทัดฐาน ท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ท่านผู้บริหารพรรค ท่านผู้อาวุโส ท่านสมาชิกพรรคที่เคารพทุกท่านครับ ผมเรียนอย่างนี้ว่า ที่ผมขึ้นมาพูดนี้ ขออนุญาตอาจจะไม่ใช่เป็นวิสัยทัศน์ แต่อยากจะมาพูดในบางสิ่งบางอย่างที่เป็นความรู้สึกของผม ผมขอกราบเรียนท่านสมาชิกทุกท่านว่า

ผมรู้ว่าการตัดสินใจของผมในวันนี้มันเจ็บ มันทำลายสิ่งที่ผมสร้างมาทั้งชีวิต เข้าใจครับ แต่ผมพูดอยู่ตลอดเวลาว่า ผมคุยกับท่านหัวหน้าอภิสิทธิ์เมื่อสักครู่ ผมกรีดเลือดออกมาก็เป็นสีฟ้า ไม่มีสีอื่นเลย แล้วตลอดระยะเวลาที่ผมอยู่ในประชาธิปัตย์ ก็ยึดหลักการ และอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยเปลี่ยนแปลง และเป็นคนเคร่งครัดในหลักการด้วยซ้ำ ก็เรียนท่านหัวหน้าอภิสิทธิ์

แล้วเมื่อผมมาเป็นรัฐมนตรี พรรคให้โอกาส ผมยืนยันเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต กล้าพูดนะครับว่า ผมไม่มีมลทินเรื่องนี้ ผมเป็นคนหนึ่งที่เวลาที่ผมอยู่กระทรวงเกษตรฯ ผมกล้าท้าข้าราชการให้ตรวจสอบผมอีกครับ เพราะว่าผมไม่ได้ไปในนามของตระกูลศรีอ่อน ผมไปในนามพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งติดตัวผม

แล้ววันนี้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อวานผมก็สัมภาษณ์ไป บอกวันนี้ถึงผมจะมีแต่วิญญาณแต่ผมยังมีความสำนึกในพระคุณ ในทุกอย่างที่เป็นประชาธิปัตย์ ที่ทำให้ผมมีโอกาสมายืนวันนี้ ผมเรียนท่านสั้นๆ ว่าผมมีความจำเป็นครับ และผมก็อยากจะเห็นพรรคเดินไปข้างหน้า ผมจะทำทุกอย่างให้พรรคมีเอกภาพ ผมจะทำให้พรรคซึ่งมีอยู่แล้วนี้ ยึดมั่นในหลักการ และอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ และที่สำคัญเมื่อสักครู่ที่ผมคุยกับท่านหัวหน้าอภิสิทธิ์ก็คือ ผมยืนยันกับหัวหน้าอภิสิทธิ์ว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยเป็นพรรคอะไหล่

ไม่ใช่ว่าเราจะไม่เป็นนะครับ เราไม่เคยเป็นตลอดระยะเวลา 22 ปี ที่ผมอยู่ประชาธิปัตย์ เราไม่เคยเป็นพรรคอะไหล่ หลายสิ่งหลายอย่างที่ผ่านมา มันอาจจะทำให้การเมืองของพรรคสะดุด ผมก็จะพยายามทำทุกอย่าง เหมือนที่ผมบอกละครับว่า ผมมาทำงานในภารกิจหนึ่ง ผมจะพยายามทำตรงนี้ให้ดีที่สุด จะพยายามทำให้เป็นเอกภาพ และทำให้ดีที่สุดและจะไม่มีวันทำลายหลักการ และอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์"

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แฉอีโม่ง วิ่งเต้นล้มปมชั้น 14 เตือนหยุดทำเถอะ

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์ว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2568 ให้จับตาดูวันที่ 15 ม.ค.ที่แพทยสภาขีดเส้นตายให้แพทย์รักษาทักษิณ ชินวัตร ชั้น 14 ส่งรายงานการรักษามาตรวจสอบการเอื้อหนีติดคุก แล้วยังต้องติดตามผลตรวจสอบของ ป.ป.ช.กรณีชั้น

พ่อนายกฯ ลั่นพรรคร่วมรัฐบาลต้องอยู่ด้วยกันจนครบเทอม

นายทักษิณ​ ชิน​วัตร​ อดีต​นายก​รัฐมนตรี​ ให้สัมภาษณ์ถึงการประเมินสถานการณ์การเมืองในปี 2568​ ว่า​ การเมืองคงไม่มีอะไร ยังเหมือนเดิม พรรคร่วมรัฐบาลก็เหมือนเดิม การที่ไม่เห็นด้วยกับอะไรกันบ้าง ก็เป็น

เทวดาแม้วของขึ้น! เปิดศึกขาประจำกว่า 10 คน รวม ‘แก้วสรร-แฝดน้อง‘

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พ่อน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงฉายา “ทวีไอพี” ของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการ

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 41): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น