ห้ามพลาด! 'ดร.ไตรรงค์' ออกบทความ 'ลักษณะผู้นำ 7 ประการที่โลกไม่ต้องการ'

21 ธ.ค.2564 - ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี เผยแพร่บทความเรื่อง "ลักษณะผู้นำที่โลกไม่ต้องการ" มีเนื้อหาดังนี้ คำว่า “ผู้นำ” ตามบทความนี้ หมายถึงทั้งผู้นำในภาคเอกชน (เช่น ผู้นำในบริษัทหรือธนาคารเป็นต้น) และผู้นำในภาครัฐหรือ ในองค์กรของรัฐ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่า กทม. อธิบดี ผู้นำรัฐวิสาหกิจ ปลัดกระทรวง หัวหน้าพรรคการเมือง รัฐมนตรี และ นายกรัฐมนตรี

มีหลายตำราที่ทำการศึกษาลักษณะผู้นำที่ดีและที่ไม่ดีทั่วทั้งโลก แล้วก็สรุปเขียนออกมาเป็นตำราใช้สอนกันในมหาวิทยาลัยดังๆหลายแห่งของโลก ซึ่งรายละเอียดจะมีมาก ท่านที่สนใจอาจจะไปอ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือซึ่งผมจะระบุไว้ให้ในตอนท้ายของบทความนี้

แต่เพื่อประหยัดเวลาให้กับท่าน ผมจะขอสรุปง่ายๆว่า มีลักษณะของผู้นำอยู่ 7 ประการ ที่โลกนี้ไม่ต้องการ ดังมีคำอธิบายพอสังเขปได้ดังต่อไปนี้

1. #ผู้นำที่เห็นแก่ตัว (The Selfish Leaders) : ซึ่งจะเป็นผู้นำที่ทำทุกอย่างก็เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง บางทีรวมทั้งผลประโยชน์ของลูกเมีย ญาติโกโหติกาและลิ่วล้อ แม้ว่าผลประโยชน์เหล่านั้นจะเกิดขึ้นบนความเสียหายของผู้อื่น ทั้งที่เป็นลูกน้องของตนและประเทศชาติ การอ้างว่าตนเป็นผู้รักประชาธิปไตย ตนเป็นผู้นำที่มาจากประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน เป็นแต่เพียงการอ้างเพื่อให้ตนดูดี เข้ากับเทรนด์การคลั่งประชาธิปไตยแบบตะวันตก แต่เมื่อมีอำนาจ เวลาทำก็ทำเพียงเพื่อแอบแฝงไว้ด้วยผลประโยชน์เพื่อตนเองและพรรคพวกทั้งสิ้น แม้จะมีผู้ที่ต้องได้รับความเสียหาย คือชาติและประชาชน พวกเขาก็หน้าด้านพอที่จะไม่ให้ความสนใจอย่างจริงจัง เพราะพวกเขาถือว่า #เงินขององค์กรหรืองบประมาณแผ่นดินของชาติมันไม่ใช่เงินของแม่กู และไม่ใช่เงินของเมียกู

2. #ผู้นำที่คิดถึงแต่ความมั่นคงในสถานะของตนเอง (The Insecure Leaders) : ผู้นำประเภทนี้จัดเป็นผู้นำที่เห็นแต่ตัวอีกชนิดหนึ่ง แต่อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับผลประโยชน์เรื่องเงินๆทองๆมากนัก เขามักจะเน้นหนักที่ต้องการดำรงรักษาไว้ซึ่งตำแหน่ง หรือสถานะและความสำคัญของตนในองค์กรของเขา ที่ฝรั่งเรียกว่า “ต้องการรักษา The Status quo” ยกตัวอย่างมีบริษัทหนึ่งประสบกับการบริหารที่ล้มเหลว จนคณะผู้ถือหุ้นได้แอบจ้างคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัย ฮาวาร์ด(Harvard)ช่วยเข้าไปวิจัยค้นหาสาเหตุ

ทีมคณะวิจัยดังกล่าวจึงได้ศึกษาพบว่าเหตุแห่งความเสื่อมมาจากการขาดบุคลากรที่มีประสิทธิภาพในระดับแถว 2 และ แถว 3 ทั้งนี้ก็เพราะผู้นำที่อยู่แถวที่ 1 ได้แอบสั่งเป็นนโยบายให้ฝ่ายบุคลากรทำการสำรวจตลอดเวลาว่า มีพนักงานคนใดที่มีคุณภาพสูงจนสามารถจะพัฒนาตนขึ้นมานั่งในตำแหน่งแถวที่ 1 ได้บ้าง ถ้าพบแล้ว ก็ให้รีบหาเรื่องไล่ออกไปเสียจากบริษัทโดยทันที ไม่ว่าจะโดยการบีบให้ลาออกหรือหาเรื่องไล่ออก เป็นต้น (หวังว่าจะไม่มีพรรคการเมืองใดในประเทศไทยที่จะมีผู้นำเช่นนี้ เพราะถ้ามีก็จะทำให้พรรคนั้นอ่อนแอลง และถ้ามีในหลายๆพรรค ก็จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยของชาติต้องอ่อนแอลงและมีคุณภาพที่ต่ำลงโดยอัตโนมัติ)

3. #ผู้นำที่เปลี่ยนสีได้ตลอดเวลาเหมือนกิ้งก่า (The Chameleon Leader) : ผู้นำประเภทนี้จะไม่มีใครสามารถทำนายได้ว่า นโยบายหรือความตั้งใจของเขาเป็นเช่นไร ทิศทางขององค์กรจะไปทางไหน เพราะเขาจะเปลี่ยนความคิดของตนไปเรื่อยๆ แล้วแต่ประโยชน์ที่ตัวเขาเองจะได้รับในแต่ละสถานะการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เราจะเรียกว่า “เป็นผู้นำที่กะล่อน” ก็ได้

ประธานาธิบดี จอห์นสัน (Lyndon B. Johnson) แห่งสหรัฐอเมริกา เคยเล่าเรื่องเกี่ยวกับเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ตกงานในระหว่างที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในปี ค.ศ.1930 (พ.ศ.2473) เขาได้เข้ามาสมัครงานเพื่อเป็นครูสอนในโรงเรียนแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ในชนบทของมลรัฐเท็กซัส (Texas) เมื่อคณะกรรมการของโรงเรียนได้สัมภาษณ์โดยถามเขาว่า “โลกนี้กลมหรือแบน” เขาตอบทันทีว่า เขาสามารถจะสอนได้ทั้งสองแบบ ถ้าโรงเรียนต้องการให้เขาสอนว่า โลกนี้กลม เขาก็สอนได้ ถ้าโรงเรียนต้องการให้เขาสอนว่า โลกนี้แบน เขาก็สามารถจะหาเหตุผลมาสอนได้เช่นเดียวกัน

อีกตัวอย่างหนึ่ง มีนายกเทศมนตรีคนหนึ่งเมื่อถูกนักข่าวถามหาจุดยืน ของเขาในเรื่องที่กำลังเป็นปัญหาถกเถียงโต้แย้งกันอย่างหนักในเมืองของเขา เขากลับตอบนักข่าวว่า “เพื่อนๆของผมจำนวนมากสนับสนุนในเรื่องนี้และก็มีเพื่อนๆของผมจำนวนมากคัดค้านในเรื่องนี้ สำหรับจุดยืนของผมก็คือผมแล้วแต่เพื่อนๆครับ”

ถ้าใครมีผู้นำเช่นนี้ จะต้องประสบกับความลำบากในการทำงานอย่างแน่นอน เพราะเราจะไม่สามารถทราบแนวทางใดๆที่ชัดเจนจากผู้นำของเราได้เลย

4. ผู้นำที่ใช้แต่อำนาจทั้งๆที่ตนเองไม่มีความสามารถที่เหมาะสม(The Incompetent Leaders) : นักวิชาการอเมริกาบางท่านได้ทำวิจัยศึกษาความเป็นผู้นำขององค์กรต่างๆ (เช่น John C. Maxwell) พบว่า ผู้ที่จะไต่เต้าขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดได้จะต้องเป็นคนเก่งในหลายๆด้าน (ต้องเสมือนเป็นผู้ชนะเลิศทศกรีฑามาก่อน ไม่ใช่เป็นแค่ผู้ชนะเลิศเฉพาะกรีฑาประเภทหนึ่งประเภทใดเท่านั้น) แต่เมื่อใดได้ขึ้นมาถึงจุดสูงสุดแล้ว เขาควรจะจำกัดตัวเองให้ทำให้ดีที่สุดไม่เกิน 3 อย่าง นอกจากนั้นต้องปล่อยให้ผู้ที่เขาชำนาญมากกว่ามารับผิดชอบ ผู้นำสูงสุดมีหน้าที่ต้องเลือกผู้นำในระดับ 2 และ 3 ให้เหมาะสมกับงานที่ตนเองไม่ถนัดพูดง่ายๆว่า #ต้องปล่อยให้คนอื่นเขาเก่งบ้าง ไม่ใช่คิดจะเก่งคนเดียวในทุกๆเรื่อง ผู้นำที่ดีจึงต้อง #รู้จักฟังให้รอบด้าน ก่อนจะพูดอะไรออกไปหรือสั่งอะไรออกไป

ตัวอย่างที่ดีก็คือ กรณีที่ประธานาธิบดีทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกาได้ออกมาพูดตำหนิ ดร.ฟอซี (Dr.Fauci) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไวรัสของสหรัฐ ที่ออกมาให้สัมภาษณ์เตือนประชาชนทั้งชาวอเมริกันและชาว โลกว่า COVID-19 เป็นไวรัสที่ร้ายแรงติดต่อได้ง่ายทางอากาศ จะทำให้มีการตายกันมากทั่วโลก ถ้าไม่รีบป้องกันโดยใส่แมสก์ (Mask) และรักษาระยะห่าง ประธานาธิบดีทรัมป์ตำหนิว่า ฟอซี พูดให้คนตกใจเปล่าๆ ทั้งๆที่มันแค่โรคหวัดธรรมดาเขาจึงไม่ยอมใส่แมสก์ ดร.ฟอซีได้ให้สัมภาษณ์หนังสือ National GEOGRAPHIC เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2021 ว่า ปกติแล้วไม่มีข้าราชการคนใดอยากมีเรื่องกับประธานาธิบดีหรือทำอะไรให้ขัดหูขัดตา ท่านประธานาธิบดี เขาทำงานเสนอนโยบายของประธานาธิบดีมาถึง 7 คนแต่ก็ไม่เคยมีปัญหา

มาคราวนี้เกิดมีปัญหาทำให้เขามีทางเลือก 3 ทางคือ 1) เลิกให้สัมภาษณ์ เลิกแสดงความเห็น 2) ลาออกจากงาน 3) แต่ถ้าทำทั้ง 2 อย่างก็เท่ากับปล่อยให้คนต้องตายกันมากขึ้น เขาจึงตัดสินใจเลือกทางที่ 3 คือออกไปสู้กับประธานาธิบดี ถ้ายอมแพ้ปล่อยให้คนตายเป็นการกระทำที่ขัดกับจริยธรรมทางการแพทย์ (Scientific Integrity) ซึ่งเขาทำเช่นนั้นไม่ได้โดยเด็ดขาด ปัจจุบันนี้ทั่วโลกได้เห็นแล้วว่า Dr.ฟอซีพูดแต่ความจริงเพราะเขาเป็นคนรู้ดีที่สุดเนื่องจากทำงานวิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับโรคที่มาจากไวรัสตลอดชีวิตตั้งแต่โรค HIV / AIDS มาจนถึงโรค COVID-19

5. #ผู้นำที่คิดแบบนักการเมืองตลอดเวลา (The Political Leaders) : คำว่า “การเมือง” หมายถึงการแสวงหาอำนาจ นักการเมืองก็คือผู้ที่แสวงหาอำนาจ ถ้าเป็นคนดีก็จะเป็นคนที่ต้องการอำนาจเพื่อทำให้ชาติหรือองค์กรของตนได้เจริญขึ้น ถ้าเป็นคนไม่ค่อยดี ก็จะพยายามแสวงหาอำนาจก็เพื่อทำให้ตนเอง ญาติโกโหติกา และลิ่วล้อ ร่ำรวยขึ้นได้ด้วยความรวดเร็วดีกว่าไปทำธุรกิจแบบอื่นเป็นไหนๆ ผู้นำแบบนี้จึงมีเป้าหมายเพียงเพื่อให้ตนเองได้ครองอำนาจ #พร้อมที่จะทำลายคู่แข่งด้วยวิธีต่างๆ ทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ทั้งบนดินและใต้ดิน ผู้นำชนิดนี้จะมี 2 แบบ แบบที่หนึ่ง ก็คือช่วยคิดนโยบายใหญ่ๆให้สลับซับซ้อน คนจะได้ตามไม่ทัน ก็เพื่อจะได้แสวงหาผลประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว แบบที่สอง ก็คือไม่กล้าคิดนโยบายใหม่ๆ ใครคิดให้ก็ไม่เอา เพราะนโยบายมันอาจจะต้องมีความเสี่ยง เกรงว่าตนเองจะเสียชื่อเสียงถ้าเกิดความผิดพลาด ลูกน้องระดับ 2 , 3 ที่เป็นคนรุ่นใหม่มีความคิดใหม่ๆก็จะไม่ได้รับการสนันสนุนจากผู้นำประเภทนี้ เพราะนโยบายลึกๆในใจของเขาก็คือ “กูจะรับแต่ชอบ แต่ไม่ขอรับผิดใดๆทั้งสิ้น การอยู่เฉยๆย่อมปลอดภัยสำหรับกู

6. #ผู้นำที่หลงตนเอง ( The Controlling Leaders) : ผู้นำแบบนี้จะเป็นคนที่คิดว่า สวรรค์ได้สร้างกูมาให้มีความสามารถสูงกว่าเหนือกว่าคนอื่นๆทุกๆคน เขาจึงไม่เคยไว้วางใจในลูกน้องคนใดในการทำกิจกรรมใดๆที่เขามอบหมาย มักจะต้องเข้าไปล้วงลูกเข้าไปก้าวก่าย ควบคุมอย่างเข้มข้น แม้แต่รายละเอียดเล็กๆน้อยๆก็จะหาเรื่องตำหนิลูกน้องเพียงเพื่อแสดงให้เห็นว่า เขาเป็นคนสมบูรณ์แบบแค่ไหน เขาจึงกลายเป็น #ผู้นำเผด็จการในการบริหารโดยที่ตนเองก็ไม่รู้สึกตัว ลูกน้องต่างๆของเขาก็จะไม่กล้าใช้ดุลยพินิจตัดสินเรื่องต่างๆ ไม่กล้าเสนอเรื่องใหญ่ๆ เพราะเกรงจะไม่ถูกใจหัวหน้าที่หลงตัวเองว่า #กูสมบูรณ์แบบแบบสุดๆ การพัฒนาแบบก้าวหน้าก็จะเกิดขึ้นยากในองค์กรหรือในประเทศชาติที่มีคนเช่นเขาเป็นเป็นผู้นำการบริหาร

7. #ผู้นำที่ไม่มีวิสัยทัศน์ (The Visionless Leaders) : การมีวิสัยทัศน์ หมายถึงการที่ผู้นำต้องเป็นคนมองการณ์ไกล โดยสามารถจะเล็งเห็นว่าในอนาคต โลกจะเป็นเช่นไร จึงวางเป้าให้กับองค์กรหรือประเทศของตนเองว่า ในอนาคตองค์กรหรือประเทศของตนควรจะยืนอยู่ที่จุดใดมีลักษณะเช่นไร เมื่อวางเป้าหมายชัดเจนแล้วก็จะมีการวางแผนระยะสั้น ระยะยาว และต้องเริ่มทำตามแผนดังกล่าวเสียตั้งแต่ในปัจจุบัน เผื่อว่าเมื่อถึงเวลาในอนาคต องค์กรหรือประเทศก็จะสามารถจะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการมีฐานะที่คล้องจองกับบริบทของโลกในเวลานั้นๆ องค์กรใดที่มีผู้นำที่ใร้วิสัยทัศน์ ก็จะไม่มีแรงผลักดันให้ลูกน้องทำงานด้วยความสนุกสนาน เพราะเมื่อไม่มีเป้าในอนาคตที่น่าตื่นเต้น ทุกคนก็จะทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม ผู้นำแบบนี้ก็จะทำให้ส่วนรวมเสียหายได้ด้วยเหตุฉะนี้

ตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ผู้นำ(นักการเมือง)ของประเทศญี่ปุ่น (หลังจากฟังนักวิชาการแล้ว)ได้เล็งเห็นว่า ในอนาคตญี่ปุ่นจะกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม จะมีคนทั่วโลกเดินทางมาทำมาค้าขายกับญี่ปุ่นประกอบกับประเทศญี่ปุ่นมีภูมิประเทศและวัฒนธรรมที่สวยงาม ย่อมเป็นที่ดึงดูดใจให้ชาวโลกไปเที่ยวญี่ปุ่น ผู้นำของเขาจึงเห็นว่าการมีสนามบิน ฮานาดะ เพียงแห่งเดียวในกลางกรุงโตเกียวย่อมไม่เพียงพอสำหรับความต้องการในอนาคต จึงได้วางแผนสร้างสนามบินใหม่คือสนามบิน นาริตะ ขึ้นที่เมื่องนาริตะ จังหวัดชิมะ ซึ่งอยู่ห่างจากศูนย์กลางกรุงโตเกียวประมาณ 50-60 กิโลเมตร เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการในอนาคต สนามบินใหม่จึงต้องใหญ่ใช้พื้นที่มากกว่า 7000 ไร่ ซึ่งบริเวณที่เลือกจะทำสนามบินนั้นเป็นพื้นที่ที่มีการทำนาทำไร่อยู่ก่อนแล้ว

รัฐจึงใช้วิธีการทุกอย่างตั้งแต่การเจรจาซื้อที่ดิน จนถึงการใช้กฎหมายเวนคืนที่ดิน ซึ่งการดำเนินการสร้างสนามบินดังกล่าว ได้รับการคัดค้านจากชาวนาชาวไร่ผู้ต้องเสียที่ทำมาหากิน และต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น ขบวนการอาจารย์ นักศึกษา กลุ่ม NGO ที่เป็นฝ่ายซ้ายตกขอบจากทั่วประเทศก็เข้าให้การสนับสนุนในการคัดค้าน พรรคการเมืองซ้ายตกขอบบางพรรคเช่นพรรคคอมมิวนิสต์ก็ประกาศให้การสนับสนุนชาวนาในการคัดค้านอย่างเต็มที่ (ดูแล้วก็คล้ายๆที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในหลายๆกรณี) แต่รัฐบาลญี่ปุ่นทุกรัฐบาลทุกนายกรัฐมนตรีก็ไม่เคยหวั่นไหวดำเนินการก่อสร้างไปเรื่อยๆ ฝ่ายต่อต้านได้ลงทุนถึงขนาดสร้างหอคอยสูงเหมือนหอไอเฟลแห่งกรุงปารีส โดยสร้างขึ้นตรงจุดที่สุดทางวิ่ง (Runway) ของเครื่องบิน เพื่อขัดขวางมิให้เครื่องบินใช้ทางวิ่งดังกล่าวได้ เพราะจะชนหอคอยเสียก่อนที่จะทะยานเหินขึ้นสูงในอากาศได้

ปี ค.ศ.1976-1977 (พ.ศ.2519-2520) ผมได้ลี้ภัยทางการเมือง เพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ (ร่วมกับดร.ป๋วย) ที่อยู่เบื้องหลังยุให้เกิดการชุมนุมใหญ่ของนิสิตนักศึกษาที่สนามฟุตบอลของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนเกิดการปฏิวัตินำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2519 ผมจึงต้องหนีไปอยู่ญี่ปุ่น โดยมหาวิทยาลัยเกียวโตกรุณาเชิญให้เป็นอาจารย์สอนระดับปริญญาโทเกี่ยวกับวิชาเศรษฐศาสตร์แรงงาน พวกอาจารย์และนักศึกษา ฝ่ายซ้ายตกขอบจึงชวนผมไปเยือนที่พวกเขาเรียกว่า นักรบของประชาชนที่จะผลัดเวรกันอยู่ประจำบนหอคอยดังกล่าว ฝ่ายรัฐบาลได้ใช้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงตรึงกำลังไว้ ตลอด 24 ช.ม. เพื่อมิให้ผู้ที่ต่อต้านผ่านทะเลลวดหนามเข้าไปทำลายสนามบินได้

พอถึงปี ค.ศ.1978(พ.ศ.2521) รัฐบาลก็ตัดสินใจเด็ดขาดใช้กำลังเข้าทำลายหอคอยดังกล่าว มีการปะทะ บาดเจ็บ และมีการจับกุมผู้ต่อต้านไปหลายคน การเปิดสนามบินก็เป็นไปด้วยความราบรื่น ตั้งแค่ ค.ศ.1978(พ.ศ.2521)จนถึงปัจจุบัน มีผู้โดยสารระหว่างประเทศใช้บริการของสนามบินดังกล่าวมีจำนวนมากกว่า 1,000 ล้านคน (ปัจจุบันอาจจะมีคนใช้สนามบินนี้ประมาณ 50 ล้านคนต่อปี) ลองคิดดูเถิดว่าถ้านักการเมือง(รัฐบาลญี่ปุ่น)อ่อนแอ ชักเช้าชักออก ไม่มีความมั่นคงเด็ดขาดทั้งๆที่การสร้างสนามบินใหม่เป็นวิสัยทัศน์ที่ถูกต้องญี่ปุ่นก็คงจะไม่เจริญอย่างที่เราเห็นญี่ปุ่นอย่างที่เป็นในปัจจุบันนี้

#หนังสือที่แนะนำให้อ่านประกอบ สำหรับผู้ที่อยากรู้รายละเอียดที่มากกว่านี้มี 4 เล่มคือ
(1) John C. Maxwell , The 360° Leader , NELSON BUSINESS Publishers , 1798. (พิมพ์ครั้งแรก)
(2) Ronald A. Heifetz + Marty Linsky , Leadership on the Line , Harvard Business Review Press , 1992. (พิมพ์ครั้งแรก)
(3) National GEOGRAPHIC , November , 2021 PP.15-19.
(4) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) , “ภาวะผู้นำ” พิมพ์ครั้งที่ 9 , มิถุนายน 2550.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ ปลุกทุกภาคส่วน ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีทุกรูปแบบ

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านวีดิทัศน์ว่า เนื่องในเดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ประจำปี 2567

ความจริง 'ชั้น 14' ชี้ชะตา 'รัฐบาลอิ๊งค์'

นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ประธานสถาบันสุจริตไทย และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อายุรัฐบาลขึ้นกับความจริงบนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ (รพ.ตร.)

'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน

ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

นายกฯ อิ๊งค์ฝากติดตามแถลง 12 ธ.ค.ผลงานรัฐบาล 90 วัน

นายกฯอิ๊งค์ ลั่นรัฐบาล มุ่งสร้างโอกาสจับต้องได้ให้ประชาชน ปากท้องอิ่ม ดึงศักยภาพคนไทย ลั่นปรับสมดุลการค้าสหรัฐ-จีน ย้ำ รบ.อยู่ครบเทอม ฝากติดตามแถลงผลงานรัฐบาล 12 ธ.ค.นี้