เลขาฯกฤษฎีกา ตอบชัด การออกพ.ร.บ.กู้เงิน จะเข้าเงื่อนไขหรือไม่ต้องดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

21 พ.ย. 2566 – ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตนได้พบกับนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ถึงกรณีที่รัฐบาลมีข้อสอบถามเรื่องการออก พ.ร.บ. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 10,000 บาท ว่าจะมีหนังสือมาถึงกฤษฎีกาว่าสามารถทำได้หรือไม่ เมื่อไหร่ และได้คำตอบจากทางรัฐมนตรีว่ากำลังดูอยู่

นายปกรณ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ขออธิบายขั้นตอนในเรื่องนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันว่า เมื่อคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ มีมติให้กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการ ถามมาที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หากพบเงื่อนไขจะสามารถกู้ได้หรือไม่เท่านั้นโดยมติมีเพียงแค่นั้น ยังไม่ได้ไปถึงขั้นตอนการยกร่างกฏหมาย ขอย้ำว่าเป็นการให้ถามคำถามเท่านั้น เมื่อส่งคำถามมาแล้วจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามปกติโดยไม่มีการตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษแต่อย่างใด ทุกอย่างเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา ถ้าเข้าเงื่อนไขก็สามารถทำได้ ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขก็ทำไม่ได้ คำตอบมีเพียงเท่านั้น หากสามารถทำได้ก็จะเป็นการยกร่างกฏหมายอีกขั้นตอนหนึ่ง

“เมื่อเช้าผมทวงถามจากรัฐมนตรีเรื่องนี้ เพราะผมถูกด่าว่าทำงานช้า ทั้งที่เรื่องยังไม่ส่งมาถึงผม ทางสภาพัฒน์ฯก็รอ เพราะนึกว่าเรื่องได้ส่งมาที่ผมแล้ว ทุกคนคิดแบบนี้ แต่ปรากฏว่านักข่าวรู้มากกว่าผมอีก” นายปกรณ์ ระบุ

ผู้สื่อข่าวถามว่า สภาพัฒน์ฯบอกว่าถ้าคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ความเห็นมาว่า ถ้าครม.ไปต่อทางนี้ไม่ได้ อาจมีทางอื่นหรือไม่ นายปกรณ์กล่าวว่า ไม่รู้ เป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องคิด ไม่ใช่เรื่องของตน และคณะกรรมการกฤษฎีกาให้คำแนะนำไม่ได้เพราะไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นนักกฏหมาย โดยกฎหมายที่จะนำมาพิจารณาประกอบพิจารณา มีทั้งรัฐธรรมนูญ เรื่องการจ่ายเงินแผ่นดิน และยังมีกฏหมายหลายฉบับประกอบ เช่น กฎหมายงบประมาณ กฎหมายการเงินการคลัง กฎหมายหนี้สาธารณะ พ.ร.บ.เงินตรา จึงไม่สามารถตอบแทนได้ว่าวิกฤตหรือไม่วิกฤต

เมื่อถามว่า รัฐบาลฝากความหวังไว้ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ถ้าวิธีออกพ.ร.บ.กู้เงินไม่ได้ จะใช้ช่องทางใดได้บ้าง นายปกรณ์ กล่าวว่าการจะเข้าเงื่อนไขหรือไม่ต้องดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งตนไม่รู้ไม่สามารถตอบแทนได้

ถามย้ำว่าเลขาธิการนายกรัฐมนตรีอยากจะขอคำแนะนำจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าจะทำอย่างไรถึงจะเดินหน้าโครงการได้ นายปกรณ์ ตอบว่า คำถามที่ว่าทำอย่างไรให้ทำได้ ไม่ควรมาถามเพราะไม่ใช่คนกำหนดนโยบาย ก็ไม่ใช่หน้าที่ย้ำว่าเรื่องวิกฤตหรือไม่วิกฤตไม่ใช่หน้าที่ของกฤษฎีกาแต่เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่จะหาข้อมูลมาสนับสนุน ที่โต้เถียงกันก็ไม่รู้

ถามกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติรักแผ่นดิน ร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ว่ารัฐบาลกระทำการขัดรัฐธรรมนูญ นายปกรณ์ กล่าวว่า เรื่องยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น เป็นการไปร้องล่วงหน้าก่อนหรือไม่ก็ไม่ทราบ เพราะคณะกรรมการยังไม่มีมติ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'วิรุตม์' สอนมวยกฤษฎีกา ชี้ 'โจ๊ก' ถูกให้ออกจากราชการ ตาม ม.131 ไม่เกี่ยว ม.120

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม(สป.ยธ.) กล่าวว่า กรณีการตอบและตั้งข้อสังเกตตามหนังสือหารือของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี