'จุลพันธ์' ชี้ ออก พรบ.กู้เงิน เป็นเรื่องที่รอบคอบแล้ว ยันไม่มีแผนสำรองหากไม่ผ่านสภา รับเป็นเรื่องดีองค์กรอิสระช่วยตรวจสอบเงินดิจิทัลวอลเล็ต ลั่นแจกเป็นก้อน
15 พ.ย.2566 - นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ถึงกรณีที่หลายฝ่ายมีความเป็นห่วงที่รัฐบาลจะออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงินเพื่อนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ว่าเป็นเรื่องที่ดี ช่วยกันเป็นห่วง เราจะได้ดำเนินการให้รอบคอบ รัดกุม เป็นไปตามข้อกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลมองว่าช่องทางนี้เป็นช่องทางที่มีความเหมาะสม มีความตรงไปตรงมา ได้รับความตรวจสอบจากรัฐสภา และเป็นเรื่องที่ดีหากมีการตรวจสอบจากองค์กรอิสระก่อนที่จะดำเนินการเพื่อให้เราได้ดำเนินการได้อย่างสบายใจเพื่อให้ประชาชน
เมื่อถามว่ามีแผนสำรองหรือไม่ ถ้ากฎหมายฉบับนี้ไม่ผ่านสภา นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ไม่มี
ถามย้ำว่าหลายคนมองว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องจีดีพีในระยะยาวได้นั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เป็นความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ อย่างแรกคือ เรามีความเชื่อมั่นด้วยกลไกที่เป็นตัวเงินผ่านระบบดิจิทัล และมีเงื่อนไขกำหนดก็จะทำให้เกิดการหมุนเวียนในเศรษฐกิจที่มากกว่าแน่นอน ส่วนการเดินหน้าในเรื่องของ พ.ร.บ.กู้เงิน ไม่ต้องเป็นห่วง แต่อาจจะมีคนสงสัย และเป็นมุมมองทางข้อกฎหมายที่แตกต่างกันได้ขึ้นอยู่กับการตีความและรัฐบาลมีหน้าที่ในการชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน
"ปัญหาเศรษฐกิจรัฐบาลไม่ได้มองมิติเพียงแค่เฉพาะหน้า แต่รัฐบาลมองถึงทิศทางการพัฒนาประเทศที่เรารับทราบกันดีทุกฝ่ายว่าขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในสถานะที่ถดถอย ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยไม่ได้ดูดีแบบในอดีตที่ผ่านมา เรามีความจำเป็นจะต้องพลิกฟื้นปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ รวมถึงสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล ให้มีความเข้มแข็งเพื่อรองรับเศรษฐกิจโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงไป" นายจุลพันธ์ กล่าว
เมื่อถามว่าหากพ.ร.บ.กู้เงิน เข้าสู่สภาแล้วไม่ผ่านจะเกิดความเสี่ยงทางการเมืองหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า
ก็เป็นไปได้ต้องยอมรับว่ากลไกนี้ต้องไปตรงมาที่สุดถ้าเราใช้วิธีการอื่น เช่น มาตรา 22 ก็จะมีการครหาว่าจะเป็นการหลบเลี่ยงหรือไม่ วิธีการนี้ตรงไปตรงมา นำเข้ามาพูดคุยกันก่อนแล้วจึงบังคับใช้เป็นกฎหมายที่เป็นช่องทางที่เหมาะสมที่สุด ส่วนความเสี่ยงทางการเมืองเรามีความเชื่อมั่นเสียงของฝั่งรัฐบาล จริงๆ ฝ่ายค้านเองก็ไม่ได้ปฏิเสธนโยบาย แต่อาจจะมีข้อสงสัยในกระบวนการ แต่ในข้อเท็จจริงทุกคนเห็นความเดือดร้อนของประชาชนเห็นถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศที่มีความเปราะบาง
เมื่อถามถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีระบุว่าผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แนะนำให้ออกเป็นพ.ร.บ.เงินกู้จริงหรือไม่นั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่นายกฯ พูดคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
เมื่อถามถึงกรณีหากมีการใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 245 ให้องค์กรอิสระมีส่วนในการตรวจสอบนโยบายรัฐบาลนั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ยินดี การตรวจสอบเป็นเรื่องดี พร้อมที่จะไปชี้แจงวันนี้เราพร้อมแล้ว เพราะโครงใหญ่เริ่มชัดเจนและเราตอบได้ทุกประเด็น ส่วนจะเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ก็เป็นมุมมองของแต่ละคน ในขณะเดียวกันเราชี้แจงเพื่อคลายข้อสงสัย ให้กับองค์กรอิสระที่มีการตั้งทีมขึ้นมาเพื่อตรวจสอบให้รัดกุมทำให้เราไม่ได้อยู่ในความประมาทและดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ เมื่อลดข้อกังวลแล้วอีกประการก็ต้องรับฟังข้อเสนอแนะไม่ว่าจะเป็นประเด็นใดก็ตาม วันนี้เรามีการปรับเปลี่ยนในรูปแบบบางประเด็น ซึ่งล้วนแต่เป็นข้อเสนอแนะจากสังคมและนักวิชาการทั้งสิ้น เราพยายามปรับให้โครงการดิจิทัล 10,000 บาท ประสบความสำเร็จสูงสุดและมีความเหมาะสมกับสภาพสังคม ทั้งนี้ ไม่กังวลหากหลายคนมองว่าโครงการนี้เป็นการตั้งธงล้มรัฐบาล และยืนยันว่าไม่มีการทยอยจ่ายแน่นอน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ธ.ค.เปิดชื่อแจกหมื่นเฟส2 หั่นเงินส่งFIDFแลกแก้หนี้
“คลัง” ปักธงแจกหมื่นเฟส 2 เป็นเงินสด ให้กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป 4 ล้านราย
‘คลัง’ชงแพ็กเกจใหญ่!กระตุ้นศก.
“คลัง” ฟุ้งเตรียมขนแพ็กเกจใหญ่กระตุ้นเศรษฐกิจ
นัดถกบอร์ดศก. ปล่อยกู้7หมื่นล. สางหนี้-ซื้อบ้าน
นายกฯ นัดถก "บอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจ" ครั้งแรก 19 พ.ย.นี้
จ่อชงครม.เคาะกม.กาสิโน
“จุลพันธ์” ฟุ้งปิดจ๊อบปั้น "เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์"