'อ.ไชยันต์' ร่ายยาวประสบการณ์เด็กอัสสัมฯ กับการแปรอักษร ฟุตบอลประเพณีจตุรมิตร

15 พ.ย.2566 - จากกรณีดราม่าประเพณีงานบอลจตุรมิตร 2566 ซึ่งเป็นกิจกรรมแข่งขันฟุตบอลประเพณีของ 4 โรงเรียนชายล้วน ระหว่างโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุก 2 ปี แต่ปีนี้มีการเรียกร้องให้เลิกบังคับแปรอักษร

ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำบทความในอดีต แปรอักษรกับเด็กอัสสัมฯ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว มีเนื้อหาดังนี้

แปรอักษรกับเด็กอัสสัมฯ

เช้าวันอาทิตย์ที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๒ ผมอ่านหนังสือพิมพ์มติชนคอลัมน์ “อาทิตย์สุขสันต์” เห็นชื่อ “นที เกวลกุล” และมีภาพชายหนุ่มหน้าตาดี

แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าหน้าตาคือข้อความของเขาที่ถูกหยิบยกมาพาดหัว “ผมทำงานประติมากรรม เพราะฉะนั้นผมเป็นประติมากร”

นานๆจะได้ยิน (หรือจริงๆไม่เคยได้ยินเลย !) คนไทยที่บอกว่าตัวเองเป็นประติมากร ผมจึงสนใจอยากรู้ว่าเขาเป็นใคร ก่อนที่จะพลิกหน้าเพื่อดูว่าเขาเป็นใคร บังเอิญเหลือบเห็นกรอบด้านล่าง (ที่บังเอิญเหลือบเห็นเพราะมันมีคำว่า อัสสัมชัญ บางรัก)

มีคำพูดของ นที ว่า “ผมเรียนมัธยมที่อัสสัมชัญ บางรัก วาดการ์ตูนเขียนโต๊ะไปเรื่อยเปื่อย วิชาศิลปะวาดสีน้ำ ทำได้ ไม่ถึงกับเด่น แต่ดูดีกว่าคะแนนสอบวิชาเลข (หัวเราะ) ตอนฟุตบอลประเพณีจตุรมิตร มีการแปรอักษร สมัยก่อนไม่มีคอมพิวเตอร์ การที่จะให้คนบนอัฒจันทร์ทั้งหมด เปิดแล้วพลิกเป็นรูปภาพรูปหนึ่ง เราต้องพรินต์กระดาษมารูปหนึ่ง พรินต์ตารางกราฟ เอาสีระบายแต้มเป็นจุดเพื่อทำเป็นรูปภาพ สีเมจิกแต่ละอันแทนหมายเลข เอาสีนั้นไปเขียนเป็นโค้ดบนกระดาษ แล้วขึ้นไปแจกบนอัฒจันทร์คนละแผ่นว่าแต่ละคนได้โค้ดอะไร ทุกอย่างมันแมนนวลมากๆ ชอบที่ได้วาดรูปลงสีเล่น ได้ไปคลุกคลีกับรุ่นพี่พี่ที่เขาอยู่ใน ม. ๕ ม. ๖ ซึ่งเตรียมสอบเอนทรานซ์แล้ว ตอนนั้นศิลปากรไม่อยู่ในหัว ไม่รู้จักคณะจิตรกรรมฯ”

จากที่นทีกล่าวไปนั้น ทำให้ผมคิดว่า เขาน่าจะประทับใจกับประสบการณ์เกี่ยวกับการแปรอักษรในฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรของเรา ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ของสี่โรงเรียนที่แก่เก่าของประเทศ และกล่าวได้ว่า ไม่มีโรงเรียนไหนมีอย่างที่เราสี่โรงเรียนมี

ขณะเดียวกัน ประสบการณ์เกี่ยวกับการแปรอักษรของนทีก็มีมากกว่าเด็กอัสสัมฯส่วนใหญ่ เพราะส่วนใหญ่จะไปนั่งซ้อมและนั่งแปรอักษรเท่านั้น

แต่เขาและเด็กอัสสัมฯจำนวนหนึ่งของทุกรุ่นจะเป็นคนออกแบบภาพที่ใช้แปรอักษร

แม้ว่านทีจะไม่ได้ประกาศตัวว่าเขาเก่งศิลปะ แถมยังออกตัวเพียงว่า “วิชาศิลปะวาดสีน้ำ ทำได้ ไม่ถึงกับเด่น แต่ดูดีกว่าคะแนนสอบวิชาเลข” แต่อย่างที่พวกเราทราบกันดีว่า เพื่อนๆที่จะไปทำหน้าที่ออกแบบภาพแปรอักษร ต้องมีความสามารถโดดเด่นในด้านศิลปะ

จากการที่นทีกล่าวถึงการแปรอักษร จตุรมิตรในการเล่าเรื่องที่มาของการเป็นประติมากรของเขา ก็แปลว่า เขาประทับใจกับสิ่งเหล่านี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยคที่ว่า “ผมเรียนมัธยมที่อัสสัมชัญ บางรัก”

ซึ่งผมเชื่อว่า พวกเราชาวอัสสัมฯเกือบทุกคนมักจะกล่าวประโยคนี้ออกมาด้วยความภาคภูมิใจ เวลาที่ต้องบอกที่มาที่ไปของตัวเอง

ที่ผมใช้คำว่า เกือบทุกคน เพราะยังมีอัสสัมชนิกบางคนที่เป็นที่รู้จักในสังคมยังไม่เคยประกาศตัวหรือให้สัมภาษณ์ว่า ““ผมเรียนมัธยมที่อัสสัมชัญ บางรัก” จะด้วยเหตุผลใดก็ไม่ทราบ แต่ก็ยังรอคอยที่จะได้ยินประโยคออกจากปากเขาเหล่านั้นสักวันหนึ่ง

การแปรอักษรสำหรับนทีคือการได้ใช้จินตนาการ ความสามารถและทักษะทางศิลปะเพื่องานจตุรมิตร และเดาว่า ในใจของเขานั้นน่าจะเพื่อเกียรติและศักดิ์ศรีของอัสสัมชัญว่า ในงานฟุตบอลประเพณีสี่โรงเรียน อัสสัมฯของเราจะแปรอักษรออกมาได้สวยงามน่าทึ่งกว่าโรงเรียนอื่นแค่ไหน

คือ นอกจากจะแข่งฟุตบอล แข่งเชียร์แล้ว ก็แข่งแปรอักษรกันด้วย

ดังนั้น ในฐานะที่นทีเป็นนักเรียนอัสสัมฯที่สนใจและมีความสามารถในศิลปะ เขาย่อมต้องรู้สึกรับผิดชอบต่อภาระอันยิ่งใหญ่นี้ และเชื่อว่า ก็เช่นเดียวกันกับเพื่อนเราทุกรุ่นที่เป็นเด็กเก่งศิลปะ

แน่นอนว่านอกจากผลงานออกแบบภาพแปรอักษรของเพื่อนเหล่านี้ของเราจะเชิดหน้าชูตาสร้างความภาคภูมิใจ (ในความสามารถทางศิลปะ) ของโรงเรียนแล้ว ยังเป็นความภาคภูมิใจสำหรับตัวผู้ออกแบบเองด้วย หากภาพที่เขาออกแบบได้ปรากฏในสนามศุภชลาศัยท่ามกลางคนดูจำนวนมากและอาจปรากฏให้คนทั้งประเทศเห็นผ่านจอโทรทัศน์ มันเป็นหน้าตาของโรงเรียน และเป็นหน้าตาของตัวคนออกแบบเองด้วย

และแม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาอันน้อยนิดในชีวิต แต่มันน่าจะเป็นสิ่งที่ประทับใจภาคภูมิใจไปพอสมควร จนอาจจะตลอดชีวิตของเขาเลยก็ได้

มิฉะนั้นแล้ว เด็กอัสสัมฯอย่างนทีคงไม่เอ่ยถึงมันในยามที่เขาให้สัมภาษณ์ความเป็นมาของตัวเขา

ที่จริง ผมว่า นักเรียนอัสสัมฯหลายคนน่าจะอยากเป็นอย่างนที นั่นคือ มีภาพของตนปรากฏในการแปรอักษรในจตุรมิตร เพราะผมจำได้ว่า สมัยผมอยู่มัธยมต้น มาสเตอร์ทนุ (มาสเตอร์จิ๋ม [เพราะแกมีหนวด !) บอกให้เด็กๆวาดภาพและระบายสีเพื่อประกวด หากภาพเขาผ่าน ก็จะถูกนำไปเป็นภาพให้ลงโค้ดแปรอักษร

ผมจำได้ว่า หลายคนตั้งใจวาดมา ทั้งๆที่ปรกติไม่ได้สนใจวิชาศิลปะ ยามส่งงานให้มาสเตอร์ทนุก็ดูเหมือนจะสักแต่ว่าทำส่งๆให้พ้นตัวไป

แต่คราวนั้น หลายคนตั้งใจ รวมทั้งตัวผมด้วย พยายามออกแบบ วาดและลงสีเพื่อหวังจะให้ภาพของตัวได้รับการคัดเลือกไปปรากฏเป็นภาพแปรอักษร และคงไม่ต้องบอกว่า ภาพของผมได้รับคัดเลือกหรือเปล่านะครับ
เพราะถ้าได้ ป่านนี้ผมคงคุยโวตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้และอาจจนวันสุดท้ายของชีวิตก็ได้

การที่นทีพูดถึงการออกแบบภาพแปรอักษรให้โรงเรียนและบอกว่า “ชอบที่ได้วาดรูปลงสีเล่น” นั้น คนฟังอาจจะคิดว่า การที่เขาเป็นหนึ่งในผู้ออกแบบภาพแปรอักษรให้โรงเรียน ไม่ได้มีอะไรพิเศษ เพราะคนที่ชอบวาด ก็ย่อมจะมีความสุขกับการวาดรูปเสมอ ไม่ว่าจะวาดอะไร ที่ไหน ให้ใคร และเมื่อไร คล้ายกับคนที่ชอบว่ายน้ำ ก็จะมีความสุขกับการว่ายน้ำ ไม่ว่าจะว่ายที่ไหน เมื่อไรและว่ายเพื่อใคร

แต่ผมว่ามันน่าจะมากกว่านั้นสำหรับนที ผมอาจคิดไปเองว่าเขากำลังจะบอกว่า “ชอบที่ได้วาดรูปลงสีเล่น” ในการออกแบบภาพแปรอักษรให้โรงเรียนของเขาในงานจตุมิตร

เพราะเขากล่าวประโยคนี้หลังจากที่เขาได้กล่าวถึงการเป็นนักเรียนอัสสัมชัญ บางรักและการออกแบบภาพแปรอักษรในงานจตุรมิตร

เขาน่าจะต้องการสื่อว่าเขาชอบที่จะวาดและลงสีเพื่องานของโรงเรียน

เพียงแต่คนมี “ศิลปะ” อย่างนทีน่าจะไม่อยากจะทำให้คนฟังหมั่นไส้กับความรู้สึกที่แท้จริงของเขาต่อการทำอะไรให้โรงเรียนที่เป็นที่รักที่ภาคภูมิใจของเขา เพราะมีเด็กอัสสัมฯที่เวอร์โอ่กร่างกับโรงเรียนตัวเองมาก

มากจนทำให้เสียทั้งกับตัวเอง ทั้งกับเด็กอัสสัมฯอื่นๆและทั้งกับโรงเรียน บางครั้งความรักความภาคภูมิใจในอะไรบางอย่าง แม้ว่ามันอาจมากมาย แต่การถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกดังกล่าวก็ควรถ่ายทอดอย่างมี “ศิลปะ” ที่ความงดงามไม่ควรแยกออกจากความรู้สึกที่ดี นทีพูดน้อยแต่งดงาม (Small but beautiful.)

ประสบการณ์ของเด็กอัสสัมฯที่ออกแบบภาพแปรอักษรย่อมจะมีที่แตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย อย่างในกรณีของนที เขาใช้คำว่า “สมัยก่อน” เพราะในสมัยของเขา ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ในการออกแบบ แต่มีพรินต์เตอร์

เขาพยายามจะบอกว่า ภายใต้วิทยาการขณะนั้น การออกแบบ ลงสีและทำโค้ดน่าจะยุ่งยากและใช้เวลามากกว่าเด็กอัสสัมฯในยุคที่มีซอฟแวร์ และแน่นอนว่า ถ้าย้อนกลับไปในยุคก่อนๆโน้น เด็กอัสสัมฯที่จะต้องรับหน้าที่ดังกล่าวนี้ก็ยิ่งจะต้องเพิ่มความอุตสาหะ (Labor) มากกว่ารุ่นหลังๆ เพราะเทคโนโลยียังไม่พัฒนา

แต่ทุกรุ่นก็ย่อมจะต้องทำงานหนัก (Labor) ในการออกแบบทำโค้ดภายใต้เงื่อนไขเทคโนโลยีที่มีอยู่ เพราะไม่ว่าจะมีเทคโนโลยีก้าวหน้าแค่ไหน หากเขาคนนั้นต้องการให้ผลงานของเขาสำเร็จ (Vincit) ออกมาดีที่สุด มันย่อมเป็นงานหนักสำหรับเขาคนนั้นเสมอ

เพราะเขาไม่ได้เพียงทำเพื่อตัวเขา แต่เพื่อเพื่อนๆ เพื่อบราเดอร์ มาสเตอร์ มิส ศิษย์เก่าโรงเรียน และยิ่งโรงเรียนมีอายุมากขึ้นเท่าไร ภาระดังกล่าวก็ยิ่งจะต้องหนักมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมันคือเกียรติศักดิ์ของความเป็นอัสสัมชัญที่บราเดอร์ มาสเตอร์ มิส นักเรียน ศิษย์เก่าหลายร้อยรุ่นต่างสั่งสมสร้างกันมา และนี่น่าจะเป็นความแตกต่างในประสบการณ์ของเด็กอัสสัมฯที่เข้าไปออกแบบภาพแปรอักษร

เพราะยิ่งนานวัน รุ่นปัจจุบันยิ่งจะต้องแบกภาระอันหนักอึ้งมากกว่ารุ่นก่อนๆ

แม้ว่าจะมีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน แต่ที่เหมือนกันไม่เปลี่ยนแปลงเลย ก็คือสิ่งที่นทีได้กล่าวไว้ว่า “ได้ไปคลุกคลีกับรุ่นพี่พี่ที่เขาอยู่ใน ม. ๕ ม. ๖ ซึ่งเตรียมสอบเอนทรานซ์แล้ว”

แม้ว่าสมัยผมไม่มีระบบ ม. ๕ ม. ๖ แต่มี ม.ศ. ๔ ม.ศ. ๕ แต่เพื่อนๆรุ่นผมที่ได้ไปทำงานออกแบบ ทำโค้ด ก็ได้ไปคลุกคลีกับรุ่นพี่ๆที่กำลังเตรียมสอบเอนทรานซ์เช่นเดียวกับประสบการณ์ของนที

และก็เชื่อว่าหลายต่อหลายรุ่นก็เป็นแบบเดียวกันนี้มานานแล้ว และก็คงจะเป็นอย่างนี้ต่อๆไปอีกนานเช่นกัน

ที่จริง ก็ไม่ใช่เพียงการออกแบบภาพแปรอักษรเท่านั้นที่ทำให้เด็กอัสสัมฯได้มีโอกาสคลุกคลีตีโมงข้ามรุ่น

ยังมีเรื่องกีฬา เรื่องเอ.ซี. แบนด์ (วงดุริยางค์) และกิจกรรมการจัดงานคริสต์มาส งานวิทยาศาสตร์บันเทิง (สมัยนั้นมีงานที่ว่านี้อยู่หลายปี ไม่รู้ว่ายังมีอยู่หรือเปล่า เป็นกิจกรรมที่มีหลายโรงเรียนในเครือมาร่วม หลายคนได้แฟนก็เพราะงานนี้ เพราะมีโรงเรียนเซนต์โยฯ เซนต์ฟรัง ฯ มาร่วมกิจกรรม)

จะเห็นได้ว่า มีกิจกรรมต่างๆที่ทำให้เด็กอัสสัมฯได้สนิทสนมข้ามรุ่นกัน แต่ถ้าไม่มีการแปรอักษร ยังนึกไม่ออกว่าจะมีพื้นที่อะไรให้พวกนักวาดได้เข้ามาคลุกคลีตีโมงข้ามรุ่นกัน

ที่กล่าวไปแล้วนั้น เป็นประสบการณ์เกี่ยวกับการแปรอักษรในงานจตุรมิตรในส่วนของนที ผู้มีความสามารถในทางศิลปะ

แต่แน่นอนว่า ห้องที่สำคัญที่สุดในห้องหัวใจของจตุรมิตรก็คือ การแข่งขันฟุตบอล นั่นคือ นักฟุตบอลโรงเรียน

ซึ่งก็คงมีความสุขกับการเตะฟุตบอลอยู่เสมอ แต่พวกเขาก็น่าจะรู้สึกเป็นความภาคภูมิใจมากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตที่เป็นนักฟุตบอลที่ลงแข่งในนามอัสสัมชัญในฟุตบอลประเพณีจตุรมิตร

นักฟุตบอลหลายคนที่ผมรู้จักดูจะอินกับการแข่งขันจตุรมิตรมากกว่าการแข่งขันอื่นๆ แม้ว่าต่อจากจตุรมิตร พวกเขาจะได้ไปแข่งในระดับที่สูงกว่า เช่น ระดับมหาวิทยาลัย หรือระดับชาติ

ที่พวกเขารู้สึกเช่นนั้น น่าจะเป็นเพราะนักฟุตบอลของเราก็คือนักเรียนของเราที่ใช้ชีวิตอย่างเข้มข้นและผูกพันกันในโรงเรียนมาเป็นเวลาคนละหลายๆปี

เพราะสมัยก่อน อัสสัมฯเป็นโรงเรียนเดียวที่ไม่ได้ไปควานหานักฟุตบอลจากที่อื่น เราเตะเอง เตะเท่าที่เตะได้ บางปีก็เก่ง หลายปีก็แพ้

แต่เราก็ภาคภูมิใจเสมอว่า นักฟุตบอลคือเพื่อนเราที่เห็นกันมาตั้งแต่เด็กๆ

และมันก็เห็นเรามาตั้งแต่เด็กๆ มันเตะ เราเชียร์ เราเชียร์ มันฮึด ทั้งๆที่ในยามปกติ บางคนเกลียดกัน มีเรื่องชกต่อยกับเพื่อนที่นักฟุตบอล

แต่วันที่มันลงสนาม ความเกลียดโกรธมันหายไปหมด เรากลับเชียร์ ให้กำลังใจมัน และจะโกรธมัน ถ้ามันไม่พยายามเตะอย่างถวายหัว

และด้วยความผูกพันเป็นมิตรกันอย่างแท้จริงนี้กระมังที่ทำให้พวกมันเห็นว่า ไม่มีการลงสนามครั้งใดจะยิ่งใหญ่และสำคัญเท่ากับเตะเพื่ออัสสัมชัญในจตุรมิตร

นอกจากพวกออกแบบภาพแปรอักษร พวกนักฟุตบอล ก็ยังมีพวกฝ่ายเชียร์และสวัสดิการ ซึ่งถือว่าเป็นสำคัญมากไม่แพ้สองพวกแรก

เพราะถ้าเราเชียร์ไม่ดี ไม่ดัง ก็แปลว่า เราไม่สามัคคี ไม่มีพลัง ไม่รักกัน ไม่รักโรงเรียน ก็จะย่ำแย่ไม่น้อยกว่าภาพแปรอักษรแย่ หรือเตะแบบขอไปที

นอกจากนี้ ที่สำคัญยังมี เอ ซี แบนด์ วงดุริยางค์ของโรงเรียนเรา ที่มีประวัติอันยาวนานมาก และก็เป็นหน้าตาของโรงเรียนในทางดนตรีด้วย

แต่ผมขอไม่กล่าวถึงมากนัก และก็อย่าน้อยใจ เพราะผมอยากจะใช้พื้นที่ที่เหลือและเวลาของคนอ่านไปกับเด็กอัสสัมฯส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เป็นนักออกแบบ ไม่ได้เป็นนักฟุตบอล ไม่ได้เป็นฝ่ายคุมเชียร์และสวัสดิการ

เด็กอัสสัมฯส่วนใหญ่ที่ว่านี้ก็คือ เด็กที่นั่งบนอัฒจันทร์ แปรอักษรและร้องเพลงเชียร์

ในทางรัฐศาสตร์ เด็กพวกนี้ถือเป็น “มหาชน” (the many) ที่ไม่มีใครรู้จักหน้าค่าตา แต่มีพลังมหาศาล

และผมก็เป็นหนึ่งในมหาชนคนส่วนใหญ่นี้ และประสบการณ์ในการแปรอักษรของผมก็เป็นประสบการณ์ในแบบของคนส่วนใหญ่ คือเป็นหนึ่งในเด็กจำนวนมากที่นั่งถือแผ่นบอร์ดติดกระดาษสีสำหรับแปรอักษร

พวกเราไม่ใช่คนออกแบบ แต่พวกเราคือคนที่จะทำให้แบบที่เขาออกมันสำเร็จ (Vincit) ตามแบบที่เขาตั้งใจออกด้วยความอุตสาหะตั้งใจ (Labor)

เด็กแต่ละคนเป็นแค่ชิ้นส่วนเล็กๆในภาพใหญ่ที่ปรากฏให้ผู้คนได้เห็นในสนามศุภชลาศัย

เวลามีคนถ่ายภาพดังกล่าว พวกเราแต่ละคนเคยพยายามหาว่าตรงส่วนไหนที่เราอยู่ ที่เราถือแผ่นกระดานแปรอักษร แต่ละคนก็พยายามชี้ไปตรงสีของแผ่นกระดานที่ตัวเองยกขึ้นมาตอนที่แปรอักษรภาพนั้นๆ

จริงๆแล้ว เราแต่ละคนก็ไม่สามารถบอกได้แน่ว่าเราแต่ละคนอยู่ตรงไหนในภาพถ่ายนั้น เวลาเอาภาพไปโชว์ให้ใครดูว่า เรากำลังแปรอักษรและอยู่ตรงนั้นในภาพ มันแทบจะไม่มีความหมายอะไรเลยสำหรับคนที่เราไปโชว์ให้ดู

แต่เมื่อผมมาได้ฟังนทีเขาเล่าว่า เขา “เอาสีระบายแต้มเป็นจุดเพื่อทำเป็นรูปภาพ สีเมจิกแต่ละอันแทนหมายเลข เอาสีนั้นไปเขียนเป็นโค้ดบนกระดาษ แล้วขึ้นไปแจกบนอัฒจันทร์คนละแผ่นว่าแต่ละคนได้โค้ดอะไร”

มันทำให้ผมเข้าใจว่า พวกผมแต่ละคนบนอัฒจันทร์นั้นมีความหมายต่อนทีมากแค่ไหน

เพราะในขณะที่เขาบรรจงเอาสีเมจิแต่ละอันแทนหมายเลข เอาสีนั้นไปเขียนเป็นโค้ดบนกระดาษ แล้วขึ้นไปแจกบนอัฒจันทร์คนละแผ่นว่าแต่ละคนได้โค้ดอะไร

พวกผมแต่ละคนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง หากคนใดคนหนึ่งใช้สีผิดแม้แต่ส่วนเดียวบนแผ่นกระดานแปรอักษร ภาพที่ออกแบบมาอย่างอุตสาหะนั้นก็จะไม่ไปถึงจุดสมบูรณ์ที่มันเป็นตามแบบของนที

ผิดแม้แต่จุดเดียว...ผิดแม้แต่จุดเดียว...แม้แต่ช่องเดียวของแผ่นกระดาน..แม้แต่ช่องเดียวของแผ่นกระดาน

และพวกผมไม่ได้แค่มีความสำคัญต่อนทีเท่านั้น พวกผมยังมีความสำคัญต่อกันและกันด้วย

การกล่าวถึงการแปรอักษรในฐานะที่มาของการเป็นนักประติมากรรมของนทีที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันอาทิตย์ที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๖๒ ทำให้ผมได้รู้และได้คิดในสิ่งที่ผมไม่เคยรู้และไม่เคยคิดต่อตัวผมและการแปรอักษรมาก่อน

นั่นคือ พวกเราคือส่วนหนึ่งของทั้งหมดที่แบ่งแยกไมได้

ถ้า นที ได้อ่านข้อเขียน นี้ ผมอยากจะบอกคุณว่า

“นที ! ปกติ แม้เป็นวันอาทิตย์ ผมจะหวงแหนเวลาของผมเสมอ และจะใช้มันไปกับการเขียนงานวิจัย แต่วันนี้ หลังจากที่ได้อ่านบทสัมภาษณ์ของคุณ ผมไม่ได้เขียนงานวิจัยของผมเลย ผมใช้เวลาทั้งวันกับการคิดในสิ่งที่คุณพูด และใช้เวลาที่เหลือของวันเขียนเกี่ยวกับสิ่งที่คุณให้ ผมไม่เสียดายเวลาของผมเลย ขอขอบคุณคุณมากๆที่ได้ให้สิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับการเป็นนักเรียนอัสสัมฯของผม ถือเป็นของขวัญวันเกิดในวัยหกสิบกับอีกสี่วันของผมก็แล้วกันนะ และขอบคุณมากๆที่คุณขึ้นต้นว่า 'ผมเรียนมัธยมที่อัสสัมชัญ บางรัก'"

ไชยันต์ ไชยพร อ.ส.ช. ๒๔๗๐๖

(เขียนเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๒)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เทียบหนังสือ 'อ.พวงทอง' ปชต.เป็นข้ออ้างที่จะเข้าแทรกแซงความมั่นคงภายในประเทศอื่น

ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กว่า

'ดร.อานนท์' เห็นพ้อง 'ดร.ไชยันต์' ยุค 'ลุงตู่' ไม่ได้ปฏิรูป คงได้เห็น 'สงครามกลางเมือง' ในไม่นาน

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้แชร์โพสต์ของ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้โพสต์บทความเรื่อง “ถ้าปฏิรูปไม่สำเร็จ ก็ว่ากันด้วยสงครามกลางเมือง”

'อ.ไชยันต์' จับตาการเมืองไทยอาจเข้าสู่แพร่งที่สอง หวังพรรคการเมืองผลัดเปลี่ยนเป็นรัฐบาล

ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง "ทางสองแพร่งการเมืองไทย" มีเนื้อหาดังนี้

ถึงบางอ้อ! 'อ.ไชยันต์' สวมบท เชอร์ล็อก โฮล์ม สืบย้อนหลัง พบจุดข้อสอบเอนทรานซ์รั่วปี47

ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า

'อ.ไชยันต์' เผยสังคมไทยในสายตานักวิชาการฝรั่ง เป็น 'โครงสร้างแบบหลวม' ตรงข้ามกับญี่ปุ่น

ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า