แฟ้มภาพ
11 พ.ย.2566 - สืบเนื่องจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงความชัดเจนนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยจะดำเนินนโยบายนี้ ด้วยการออก พระราชบัญญัติ เป็นวงเงิน 500,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามเมื่อย้อนกลับไปช่วงหาเสียงเลือกตั้ง นายเศรษฐา ในฐานะประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ ไว้เมื่อ 26 เม.ย. 2566 ก่อนการเลือกตั้ง ระบุว่า "ที่มาของงบประมาณนโยบายนี้ ไม่จำเป็นต้องกู้สักบาทเดียว" มีรายละเอียดดังนี้
"ตั้งแต่ไทยรักไทยจนถึงเพื่อไทย นโยบายที่เราเสนอมักจะถูกปรามาสเสมอว่าทำไม่ได้จริง เพ้อฝัน ไม่เกิดประโยชน์ แต่กาลเวลาได้พิสูจน์มานับครั้งไม่ถ้วนว่าพรรคเราไม่ใช่แค่คิดใหญ่ แต่เราทำเป็นด้วย และนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ก็เป็นเรื่องที่เราคิดใหญ่
แต่วันนี้ ผมชวนให้ท่านคิดว่าทำไมเราถึงมั่นใจว่าเรา “ทำเป็น” และนี่คือนโยบายที่ผ่านการคิดและไตร่ตรองมาอย่างถี่ถ้วนแล้ว
นับย้อนหลังไปปี 2020 ตอนที่ประเทศไทยเริ่มจะได้รับผลกระทบโควิด รัฐบาลยุคนั้นก็ได้พยายามแก้ไข แต่การที่ไทยอยู่ได้ด้วยการท่องเที่ยวและมีประชาชนทำงานอยู่ภาคบริการจำนวนมาก การสนับสนุนเงินของรัฐในยุคนั้นผมก็มองว่าเป็นการประคองให้พอไปรอดได้ แต่ไม่สร้างความพร้อมที่จะกลับมาเติบโตหลังโควิด ไม่ว่าจะเป็นการทยอยให้เงินทีละน้อย ซึ่งช่วยได้เพียงค่าใช้จ่ายประจำวัน แต่ไม่สามารถจะทำให้ลืมตาอ้าปากได้ หรือแม้กระทั่งเงินที่ให้ก็เข้าไม่ถึงแหล่งชุมชน กลับไปกระจุกอยู่กับห้างร้านใหญ่ โรงแรมหรู ทำให้ผู้ที่ต้องการการสนับสนุนจริงๆเข้าไม่ถึง และมีข้อบังคับบางอย่าง (เช่น คนละครึ่ง) ที่มีข้อบังคับต้องควักเงินตัวเองบางส่วน
ผมและพรรคเพื่อไทยจึงคิดโจทย์การกระตุ้นเศรษฐกิจ และต้องการผลที่จับต้องได้และยั่งยืน จึงออกมาเป็นนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท เปรียบเสมือนการให้คูปองดิจิทัลมูลค่า 10,000 บาท ให้กับประชาชนคนไทยที่มีอายุ >16 ปีทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และเงินดิจิทัลนี้มีมูลค่าเท่ากับ 10,000 บาท ไม่สามารถนำไปซื้อขายหรือส่งมอบให้กันระหว่างบุคคลได้
เราใช้เทคโนโลยีควบคู่กับหลักเศรษฐศาสตร์ เพื่อปั๊มหัวใจเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่ ก้อนใหญ่ แต่ครั้งเดียวเท่านั้น ทำให้ประชาชนสามารถสร้างตัวได้ กระตุ้นลงไปในระดับชุมชน ในรัศมี 4 กม. จากบ้านตามที่อยู่บัตร ปชช. ไม่ให้ทุกคนวิ่งไปใช้จ่ายแต่ในเมืองใหญ่ และอาจมีการปรับรัศมีตามความเหมาะสมกับบางพื้นที่ และการบังคับให้ต้องใช้สิทธิใน 6 เดือน เพื่อเร่งอัดฉีดเงินเข้าระบบให้ถึง Critical Mass ที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจกลับมาหมุนได้ด้วยตัวเองอีกครั้ง แต่ต้องขอย้ำว่าเรากำหนดไม่ให้ใช้จ่ายกับสินค้าบางประเภท เช่น เหล้า สุรา บุหรี่ อบายมุขขต่างๆ เป็นต้น
เมื่อพี่น้องได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท ก็จะต้องนำไปใช้จ่ายในร้านค้าใกล้บ้าน ซึ่งร้านค้าอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในระบบภาษี ซึ่งร้านค้าก็ต้องซื้อวัตถุดิบจากผู้ผลิตสินค้าหรือร้านค้าส่งซึ่งต้องมีจ้างแรงงาน และแรงงาน (ที่ได้รับค่าจ้าง) ก็จะไปจับจ่ายใช้สอยเพื่อเลี้ยงชีพ ฉะนั้นทุกบาทที่ใส่ไป ผมคิดว่าจะสร้างความสุขได้หลายต่อ และเงินเองจะถูกหมุนเปลี่ยนมือไป 3-4 รอบ ร้านค้าที่อยู่ในรัศมีก็มีสิทธิที่จะขายของได้มากขึ้น สร้างรายได้หลายหมื่นบาท
กลับมาที่ภาพประเทศไทย ผลผลิตมวลรวมของประเทศ (GDP) ก็จะเพิ่มขึ้น และถ้าหมุนไป 3-4 รอบ จากวงเงินทั้งหมด 5 แสนล้าน ก็จะทำให้ GDP เจริญเติบโตขึ้น 1.5 - 2.0 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว หรือนับเป็น การเจริญเติบโตถึง 8% มากกว่าปี 2022 มหาศาล
ไม่ใช่แค่ประชาชนที่ได้ประโยชน์ รัฐเองก็จะได้ประโยชน์ด้วย ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ภาษีที่จัดเก็บได้มากขึ้นโดยไม่ต้องเพิ่มอัตราภาษี เพื่อให้นำไปลงทุนต่อยอดสร้างโครงสร้างพื้นฐานหรือเป็นสวัสดิการอื่นๆได้อีกในอนาคต วินัยการเงินการคลังที่ดีขึ้น เนื่องจากอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ลดลง เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เปิดให้ภาคเอกชนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร หรือ Start Up ใช้ประโยชน์จากโครงสร้างนี้มากขึ้น ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้มากขึ้น เป็นต้น
เมื่อพูดถึงประโยชน์ ก็คงต้องกล่าวถึงที่มาที่ไปของเงินด้วย ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญมากล่าวหาว่าพรรคเพื่อไทยต้องกู้เงินมาแจก ผมขอชี้แจงชัดๆ ว่าที่มาของงบประมาณนโยบายนี้ ไม่จำเป็นต้องกู้สักบาทเดียว และที่สำคัญการหมุนเวียนของเงินจะสามารถจ่ายคืน (Payback) ค่าใช้จ่ายในนโยบายนี้ได้ด้วยตัวเอง ในตลอดระยะเวลาของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย
ถ้ามองภาพนโยบายนี้เป็นส่วนหนึ่งของอีกหลายส่วนที่เราอยากทำ ไม่ว่าจะเป็น การออกไปเจรจาการค้ามากขึ้นในระดับนานาชาติ ทำให้ภาคเอกชนไทยขายของได้มากขึ้น การพักหนี้เกษตรกร การทำให้รายได้เกษตรกรเพิ่ม 3 เท่า การแก้ไขปัญหาให้ชาวประมงรายย่อยทำกินได้มากขึ้น การส่งเสริมการท่องเที่ยว และการทำให้ Soft Power ไทยเติบโตนั้น เราจะพบว่าทุกนโยบายล้วนเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญ ที่จะมาทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาผงาดอีกครั้ง"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'นายกฯอิ๊งค์' ถกหัวหน้าส่วนราชการ ลุยลงทุน 9.6 แสนล้าน กระตุ้นจีดีพีประเทศ
นายกฯ ถกหัวหน้าส่วนราชการฯ กำชับผลักดันเม็ดเงินลงทุน 9.6 แสนล้าน สู่ระบบเศรษฐกิจ กระตุ้น ‘จีดีพี’ ประเทศ