รัฐบาลสะดุ้ง 'บิ๊กทิน' เผยภัยคุกคามใหม่ สุ่มเสี่ยงต่อการเสียเอกราช ทหารเก่งแค่ไหนก็เอาไม่อยู่

9 พ.ย. 2566 - นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวในพิธีเปิดการศึกษาหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ 66 ว่า ขณะนี้การศึกษาของเราเริ่มสูงมากขึ้น มีคนจบระดับปริญญาเอกมากขึ้น แต่การพัฒนาประเทศบางอย่างยังคงมีปัญหา จากประสบการณ์ ในอาชีพของผม เห็นว่าประเทศไทยคนเก่งมีเยอะแต่เล่นไม่เข้าขากันทีมเวิร์ค และยุทธศาสตร์ร่วมไม่มี คิดเรื่องความมันคงคนละอย่าง ทั้งเรื่องความมั่นคงและการพัฒนาประเทศคุณเป็นนักธุรกิจ นักเศรษฐศาสตร์ นักกฏหมาย นักการทหาร นักวิชาการ ก็คิดในมุมมองของตัวเอง เวลามาพัฒนาประเทศก็คิดหลอมรวมกันไม่ได้ จึงเห็นความขัด แย้งหลายอาชีพหลายสถาบัน ก่อนที่ผมจะมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยก็เคยเป็นอาจารย์ประถมและมัธยมมาก่อนซึ่งมหาวิทยาลัยรวบรวมคนเก่งแต่ตังอธิการบดีได้ยากมากผ่านขั้นตอนมาหมดแล้วแต่ทูลเกล้าฯไม่ได้มากกว่า 50% เพราะโดนร้องเรียนกันทุกคน ผู้บริหารมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จึงมีแต่รักษาการตัวจริงไม่ได้บริหาร นี่คือคนเก่งที่ขาดจุดร่วม

วปอ. มีจุดแข็งที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนี้มีนักธุรกิจประสบการณ์เยอะ ไปดูแล้วทหารมีแค่ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น จึงถือเป็นโอกาสที่ดีของประเทศเพราะเป็นทีมรวมดาราโลก ผมเชื่อว่าประเทศจะได้ประโยชน์จากพวกท่านสูงมาก ผมคิดใฝ่ฝันว่าจะเอาคนเก่งมาทำงานร่วมกันอย่างไร ที่นี่คือความหวัง ผมเชื่อว่าคนที่มาเรียนที่นี่มีวัตถุประสงค์หลายอย่างเช่นอยากได้ความรู้ รวมถึง คอนเน็คชั่นแต่สุดท้ายประเทศจะได้เครือข่ายของคนที่มีมุมมองหลากหลาย

ในส่วนกระทรวงกลาโหมที่ดูแลความมั่นคงอยากทบทวนกับท่านว่า ความเป็นเอกราชนั้น เริ่มจากอะไรบ้าง ในอดีตใครรุกรานแล้วชนะ ก็กวาดต้อนเอาคนไปเป็นลูกน้อง รบกันเพื่อเอาคน การสูญเสียเอกราชคือสูญเสียคุณไปให้ประเทศนั้น ตอนหลังเริ่มไม่เอาพื้นดินหรืออาณาเขตกัน ใครสูญเสียเอกราชก็คือการสูญเสียพื้นดิน แต่สมัยใหม่นั้นไม่ใช่เพราะการรบในปัจจุบันเป็นการสูญเสียเอกราชทางด้านเศรษฐกิจหลายประเทศจมอยู่กับหนี้ หลายประเทศ ถูกต่อท่อมาดูดเงินเอาไป เป็นลักษณะของทุนข้ามชาติเล็ก ที่สุดสูญเสียเอกราชทางเศรษฐกิจ เราเคยเป็นหนี้ไอเอ็มเอฟและถูกจำกัดด้วยกฏหมาย 11 ฉบับ

เอกราชอีกอย่างที่เราต้องปกป้องคือ ความมั่นคงทางวัฒนธรรม เราจะอยู่เป็นคนไทยครบ 67ล้านคน มีพื้นดิน ครบ 300ล้านกว่าไร่ แต่ไม่เหลือวัฒนธรรมเลย เด็กรุ่นใหม่ไม่รู้เรื่องรากเหง้าตัวเอง ไปนิยมและนำวัฒนธรรมต่างชาติเค้าไม่มีข้อเกาะเกี่ยว เหนี่ยวนำกัน สุดท้ายเราก็จะเสียเอกราชทางวัฒนธรรมไป เอกราชในวันนี้จึงมากกว่าเรื่องแผ่นดิน จึงฝากให้พวกท่านคิด เมื่อปัจจุบันเอกราชเป็นลักษณะนี้ก็ต้องมาพูดถึงความมั่นคง ยุทโธปกรณ์ที่มาปกป้องเอกราชเหล่านี้ก็ต้องเปลี่ยนไป

เดิมเราคิดว่า มีแต่ภัยคุกคามทางทหาร ปัจจุบันมี ภัยคุกคามใหม่ที่ท้าทาย ทั้งจากภายในและภายนอก เคยคิดถึงว่าต่อไปจะไม่มีการรบกันแล้ว อยู่ดีๆยูเครนกับรัสเซียก็ล่อกันแล้ว พี่นอนหลับอยู่ตื่นขึ้นมา อ้าว..อิสราเอล โดนได้ยังไง แล้วเรามั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่เกิดบ้านเรา

“ถ้าอยู่ดีๆทะเลจีนใต้พรวดขึ้นมาจะว่าอย่างไร ภัยความมั่นคงนอกประเทศก็เป็นเรื่องใหญ่ และสิ่งที่ฟังตัว แล้วเดิน ต่อไปเรื่อยๆก็คือ เรื่องของมหาอำนาจ สองขั้ว ตอนนี้ก็มีขั้วใหม่ ใครกับใครหละ ที่ทำสงครามอยู่ทุกวัน ดังนั้นเราต้องวางตัวให้ดี ถ้าเราวางตัวไม่ดีก็โดนอีก แค่นั้น อยู่ดีๆ เราจะถูกเขาดึงเข้าไป อยู่ดีๆช้างสารชนกันหญ้าแพรกก็แหลกราญ เราฝากให้ช่วยกันคิดว่าเราจะทำอย่างไรหาจุดยืน จะทำอะไรอย่างไรให้รอดจาก ช้างสารที่ชนกัน หญ้าแพรกก็จะรอด”

ส่วนในประเทศมีภัยใหม่หลายเรื่อง จากการที่ได้ดูเอกสารของสภาความมั่นคงแห่งชาติที่ใช้ว่าภัยคุกคามใหม่ ก็จะนำมาฝากให้ทุกคนมาช่วยกันคิด และหาแผนที่จะสู้กับภัยเหล่านี้ ด้านของภัยคุกคามภายใน โดยเฉพาะภัยจากความขัดแย้งทางความคิด ของคนในชาติซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาคนไทยคิดหลากหลายมาก

“มุมมองทางความคิดต่อสถาบันหลักของชาติ รวมถึงความคิดของความเป็น ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งก็เห็นว่ามีความคิดที่ลึกซึ้งไปหลายรูปแบบ และมีการขยายตัวทางแนวความคิดอย่างน่ากลัว เครื่องมือในโลกโซเชียลไปไกลมาก และไปเร็วมาก อันนี้เป็นภัยที่เผยแพร่ทางความคิด เป็นภัยคุกคามที่มีหลายรูปแบบ ปรากฏการณ์เหล่านี้ สถาบันหลักของชาติจะต้องถูกกระทบ และกำลังดำเนินและพัฒนาการไปตามสังคมโลก นั่นเป็นภัยคุกคามทางการเมือง นอกจากนั้นยังมีภัยอันเกิดจากความไม่เชื่อมั่นในสถาบันการเมือง ความไม่มีเสถียรภาพ อันนั้นดี อันนี้ไม่ดี ก็ไม่มีจุดร่วมในอุดมการณ์เดียวกัน”

รวมไปถึงภัยจากสิ่งแวดล้อมที่ต้องจัดการ ขณะนี้ไม่ลงตัวเช่นฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 รวมถึงอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อนผมเป็น รมต.ดีอี เจอกันทุกวันนี้เขาก็ปวดหัวมาก กับ อาชญากรรมไซเบอร์ แก๊ง Call Center ข้ามชาติ ที่มีการดูดเงินในบัญชีออกไปเป็นจำนวนมาก ปีที่แล้วดูดเงินจาก อบต.ไปกว่า 50 ล้านบาท ซึ่งเราจะสู้อย่างไรกับเรื่องพวกนี้ ผมมองว่าเป็นภัยคุกคามอย่างหนัก หากเราตั้งรับภัยพวกนี้ไม่ได้ก็จบ ท่าน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดมีศูนย์ป้องกันทางไซเบอร์ ดังนั้นผมอยากให้ศูนย์ไซเบอร์ฯของทหารต้องไปคุ้มครองไซเบอร์ทางธุรกิจและในหน่วยงานอื่นๆด้วย ถ้าคุ้มครองตัวนี้ไม่ได้นักลงทุนก็ไม่กล้ามาลงทุน คนไทยเองก็ไม่กล้า “

อีกอย่างหนึ่ง คือ ภัยจากโรคระบาด ก็สร้างความเสียหายย่อยยับ ไม่ธรรมดา ซึ่งมีโอกาสที่เราจะพบโรคอุบัติใหม่เพิ่มเติมอีก ถ้าเราไม่ตั้งรับ จะทำให้มีผลกระทบในหลายเรื่อง รวมถึง ภัยยาเสพติด ด้วยความที่เป็นชาวบ้านอย่างผมนี่ ผมจะเล่าให้ท่านฟังว่ารุนแรงขนาดไหน สมัยก่อนมีการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงเยาวชนคนอายุ 20 ปีเป็นต้น แต่เห็นว่ามีการเฝ้าระวังระดับประถม ซึ่งผมว่ายังช้า ผมบอกเลยว่า ท่าต้องเฝ้าระวังตั้งแต่ในครรภ์ เด็กติดยาเสพติดตั้งแต่อยู่ในครรภ์ พูดไปจะหาว่าโอเวอร์ ผมเป็น ส.ส.ไปเยี่ยมชาวบ้านเยอะ ก็ไปดูศูนย์เด็กเล็กหลายชุมชน มีเด็กผิดปกติ เด็กเอ๋อๆ ไม่สมบูรณ์ เขาก็บอกว่าเห็นท่านเป็น ส.ส.ก็ขอฝากเรื่องนี้หน่อย ผมก็บอกว่าครูลองไปศึกษาหาภูมิหลังหน่อยว่าไปมาอย่างไร ไปพบว่าเด็กพวกนี้พ่อแม่ติดยา เป็นเยาวชนแต่งานกัน และพวกนี้ก็ติดยามาก่อน เมื่อเติบโตมาเป็นหัวหน้าครอบครัว แต่งแล้วก็เลิกไม่ได้ พ่อก็ติดยาบ้า แม่ก็เสพ เมื่อตั้งครรภ์เด็กก็กินยาบ้าตั้งแต่ในท้อง เกิดมาเป็นทารกก็ไม่สมบูรณ์

“เชื่อไหมว่าจากเด็กที่เป็นเยาวชนติดยาเสพติดเมื่อ 9-10 ปีก่อนวันนี้โตมาขึ้นมา อีกโลกหนึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว อีกโลกหนึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านแล้ว เป็น อบต. เป็นนายกฯอบต. เป็นสจ.ก็มี เป็น ส.ส.ก็อาจจะมีนะ หรือเป็น รมต. แล้วก็อาจจะมี แล้วเราจะเหลืออะไร ไม่ได้เกินจริง เป็น ตำรวจ ทหาร ข้าราชการ เด็กที่ติดยาก็โตขึ้นมา เราจะเอามนุษย์ต่างด้าวที่ไหนมาเป็น ทหาร ตำรวจ นักการเมือง รมต. ก็ต้องพวกนี้แหละ เรื่องยาเสพติดเป็นเรื่องใหญ่มาก ทำลายทรัพยากรทุนมนุษย์ ตอนนี้ผมเศร้าใจว่าเยาวชนเราแม้จะให้เรียนฟรี แต่เมื่อมาเข้ารับการศึกษามารายงานตัวพันคน พอปี 2-3 เหลือ แค่ 6-7 พันคน ที่เหลือมีแต่ชื่อผี เพราะว่าติดยา และไปมั่วสุมทางเพศ วันนี้ความมั่นคงทางทหารก็กระทบจากเด็กที่เข้ามาเป็นเกณฑ์ทหารก็ติดยากองทัพก็อ่อนแอต่อให้มีเอฟ 16 หรืออาวุธยุทโธปกรณ์ทีพัฒนาแค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์”

ภัยอีกอย่างคือ เเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งถือก็เป็นภัยใหญ่ เมื่อก่อนเราได้ยินแต่เรื่องของนักการเมือง ตอนนี้ลามไปถึงระดับข้าราชการข้าราชการชั้นผู้น้อยก็ทุจริตเป็นคิดเปอร์เซ็นต์ หักหัวคิวเป็นแล้ว

ตัวสุดท้ายที่นำมาตกผลึกคือเรื่องความยากจนของคนในชาติ เป็นภัยคุกคามใหม่ที่สุ่มเสี่ยงต่อการเสียเอกราช ถ้าตัวชี้วัดเป็นตัวเลขหนี้สินครัวเรือน ก็จะเห็นว่าสูงขึ้นเรื่อยๆ อัตราการถือครองทรัพย์สินของคนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในมือคนกลุ่มเดียว เดิมเศรษฐีภูธรจะถึงครองที่ดินสูงแต่เมื่อมาสำรวจใหม่พบว่าลดลงเรื่อยๆ คนส่วนใหญ่ของประเทศถือครองที่ดินน้อยมากและที่มีการถือครองอยู่ก็ติดจำนอง อยู่ในฐานะโฉนดลอยเยอะมาก ส่วนใหญ่ก็อยู่ที่กองทุนฟื้นฟูฯ และ กรมบังคับคดี เพราะฉะนั้นความยากจนคือตัวปัญหา ถ้าไม่มีกินปั๊บ ก็ทำได้ทุกอย่าง เรื่องชาติมาทีหลัง โกงได้โกง ปล้นได้ปล้น นี่คือสิ่งที่อันตรายมากปัญหาที่หนักไปกว่านั้นคือเรื่องความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาที่อันตรายมากที่จะนำไปสู่สงครามประชาชนได้ และจะเป็นภัยที่เราจะเอาไม่อยู่ กองทัพก็จะเอาไม่อยู่ ผมเคยพูดในสภาฯ บ่อยว่าทรัพย์สินส่วนใหญ่ของประเทศคน 80% ของประเทศจะถือครองทรัพย์สิน 20% ของประเทศ เรื่องนี้พัฒนาขึ้นทุกวันพู ดไปก็ไม่อยากกระทบจิตใจกัน เราก็ต้องการความสงบคนที่ถึงครองทรัพย์สินส่วนใหญ่ของประเทศก็เป็นคนส่วนน้อย

“สุดท้ายทรัพยากรของคนในชาติไหลไปอยู่คนกลุ่มเดียวเป็นสิ่งที่พวกเราต้องคิดให้หนักในเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำเพราะมันเป็นเรื่องใหญ่มากภัยคุกคามใหม่นี้ กองทัพรับมือคนเดียวไม่ได้ ทหารเก่งแค่ไหนก็เอาไม่อยู่ ถ้าเก่งก็ในส่วนของภัยคุกคามทางด้านการทหารก็ยังรับมือได้ แต่เรื่องความยากจน สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมอาชญากรรมข้ามชาติ ทุจริต รับไม่ไหวหรอก สุดท้ายมันก็จะมาลงที่ทหาร ในตอนที่ความขัดแย้งของสังคมสะสมหลายรูปแบบ เมื่อความยากจนความข้นแค้น ความกดดันมากขึ้น ก็มาทะเลาะกัน ในสภาฯบางส่วน และก็จะมีที่ลงถนนกัน ความเประบางที่ไม่มีวัฒนธรรมคอยเกาะเกี่ยวเหนียวนำก็จะแตกง่าย ทหารก็ต้องเข้าไปแก้ แล้วจะแก้ยังไง มันเป็นเรื่องยาก ทหารเองก็โดนด้วยทั้งไอโอ ถูกแยกจากสังคมและประชาชนบท สรุปก็คือการป้องกันราชอาณาจักรจึงไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่หน้าที่ทหารอย่างเดียวแต่เป็นของทุกภาคส่วนกระทรวงทบวงกรม ที่จะต้องช่วยกันในการที่จะเอาปัญหาพวกนี้ให้อยู่”

ผมเชื่อว่าทุกท่านรักชาติ อยากเห็นประเทศชาติพัฒนาก้าวกระโดด และสู้เขาได้ แต่การมารวมอยู่ที่นีคือความเป็นเพื่อนใน1ปีทำกิจกรรมร่วมกัน จะเป็นพลังหลอมรวมเรา กับเพื่อนรุ่นพี่ที่จบไปแล้ว 65 รุ่น รวมแล้วเป็นศิษย์เก่าหมื่นคน ผมมีข้อสังเกตอยู่ว่าในจำนวนทั้งหมดนี้เขารักกัน จบไปแล้วรักกันมาก เป็นเครือข่ายที่เราต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ โดยใช้องค์ความรู้ที่คิดรวมกันแล้วมาช่วยกันพัฒนาชาติและปกป้องชาติแผ่นดินเป็นพลังที่มหาศาล ไม่นับรวมกับท่านที่ไปขยายความคิดไปสู่เครือข่ายอื่นๆทุกท่านที่อยู่ที่นี่เป็นความหวังของเรา

มีคณะกรรมาธิการมาถามผมว่ามาเป็นรัฐมนตรี รู้เรื่องความมั่นคงหรือ ? ไม่ทะเลาะกับทหารหรือ? จะทำให้กองทัพมีปัญหาหรือ? ผมเรียนให้สบายใจว่า ความรับผิดชอบต่อประเทศเป็นส่วนที่สำคัญกว่า ถึงเวลาที่รับผิดชอบก็ต้องคิด และทำ เมื่อได้รับมอบหมายมาให้ผมทำสิ่งที่หนักที่สุด คือให้ผมมาดูแลในเรื่องปกป้องเอกราช ภัยคุกคามใหม่ ผมต้องเข้ามาทำให้กองทัพทันสมัย ถ้ากองทัพไม่ทันสมัยก็สู้เขนไม่ได้ ผมจึงมีวิสัยทัศน์ นโยบายให้เหล่าทัพว่า กองทัพต้องทันสมัยซึ่งก็คือศักยภาพของกองทัพต้องแข็งแกร่งทันสมัย จะมาลดทอนความแข็งแกร่งไม่ได้ และจะต้องไม่ลดทอนสมรรถนะกองทัพแข็งแกร่งในระดับที่ตรงปกป้องเอกราชอธิปไตยได้รักษาผลประโยชน์ของชาติ จากที่คนพูดว่ากองทัพใหญ่เทอะทะ เราก็ต้องปรับขนาดให้มีความเหมาะสมไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป พอเหมาะ นอกจากนั้นยังทันสมัยในภารกิจ ซึ่งกองทัพคงไม่ใช่คิดแต่เรื่องทางทหารอย่างเดียว แต่ต้องมาคิดถึงภัยความมั่นคงที่ว่ามาทั้งหมดจึงเกิดภารกิจใหม่คือช่วยเหลือรัฐบาลในเรื่องปัญหาเศรษฐกิจช่วยเหลือ รัฐบาลในการต่อสู้กับภัยธรรมชาติ ในขณะเดียวกันก็ต้องนำทรัพยากรที่มี หรืออย่างที่ดินทหาร ที่มีเกินความจำเป็นก็ต้องเอาออกมาใช้

“หลายเรื่องที่ภารกิจใหม่ของทหารต้องสอดคล้องกันกับภัยคุกคามใหม่ อีกเรื่องคือเรื่องเทคโนโลยีซึ่งเราต้องทำให้กองทัพมีเทคโนโลยีใหม่ใหม่เพื่อใช้ในการบริหาร แต่ที่สำคัญคือเทคโนโลยีในการรบ นั่นก็คืออาวุธยุทโธปกรณ์จะต้องให้ทันสมัย สู้รบปรบมือกับเขาได้ ตอนนี้เขาไปถึงไหนกันแล้ว ใช้โดรน ใช้อะไร เราจะมาเป็นแบบเดิมไม่ได้ พอพูดตรงตรงนี้หลายคนก็มาเล่นงานผม ฝ่ายการเมืองก็บอกว่าเตรียมจะซื้ออาวุธซื้อนู่นซื้อนี่ ตอนนี้ไม่ต้องถามหรอกว่าจะซื้ออาวุธไหมหรือไม่ ให้ถามว่าจะซื้ออะไรถึงจะสู้เขาได้ดีกว่า เวลาเข้าสภาฯต้องบอกเลยว่า การจัดงบประมาณกองทัพที่ผมเคยเข้าใจผิดมาตลอดว่ามาจากฐานงบประมาณปีที่แล้ว เหมือนกระทรวงทบวงกรมอื่น แต่กองทัพคิดแบบนั้นไม่ได้ เพราะต้องเอาคู่แข่งเป็นฐานด้วยก็ในเมื่อเขามีเอฟ 16 มีเรือดำน้ำมีนู่นนี่นั่นแล้วจะ เอางบปีที่แล้ว +5 + 10 ก็คงสู้ไม่ได้ ต้องคุยให้เข้าใจว่ากองทัพเวลาทำงบประมาณต้องดูคู่แข่งและคู่ต่อสู้รวมถึงภัยคุกคามด้วย

ทันสมัยสุดท้ายที่มอบไว้ก็คือการที่เราต้องทันสมัยในใจประชาชน กองทัพแม้จะยิ่งใหญ่เกรียงไกรขนาดไหนถ้าไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนก็ไม่มีประโยชน์ ทำไมมหาอำนาจจึงเคยถอนทัพออกจากเวียดนามเพราะอะไร ต่อไปนี้กองทัพต้องได้ใจประชาชน ภารกิจอะไรที่เป็นปัญหาหรือเป็นปมด้อยที่สังคมเคยต่อว่ากองทัพ เราต้องไม่ทำอะไรที่เป็นเงื่อนไขที่เขาตั้งข้อสังเกตเราก็หลีกเลี่ยง ซึ่งกลาโหมที่ต้องเป็นหลักให้กองทัพ และความมั่นคง ทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะเป็นวิสัยทัศน์และนโยบายที่เรามาพูดขอให้ทุกท่านช่วยสนับสนุนและส่งเสริมประสานผลักดันให้เกิดไม่มีอะไรเป็นช่องวางที่จะทำให้ท่านมาช่วยงานกองทัพไม่ได้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ภูมิธรรม' รับมีแนวคิดยกเลิก 'พ.ร.ก.ฉุกเฉิน' จังหวัดชายแดนใต้

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงแนวนโยบายการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่จังหวัดชาย

'ภูมิธรรม' แบ่งงาน 'บิ๊กแป๊ะ-บิ๊กรอย-สุรสิทธิ์-ธิติรัฐ' ลุยงานมั่นคง

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้นำนายธิติรัฐ อดิศรพันธ์กุล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมืองของนายภูมิธรรม พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ ที่ปรึกษารองนายกฯ

โฆษก มท. แจงมติครม.เร่งแก้ปัญหาคนไร้สถานะทางทะเบียน 4.8 แสนราย ไม่ใช่ให้สัญชาติคนต่างด้าว

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติหลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติ และสถานะให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามา

ครม. ไฟเขียวหลักเกณฑ์เร่งรัดแก้ปัญหาสัญชาติกว่า 4.8 แสนคน

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนออนุมัติหลักเกณฑ์ เพื่อเร่งรัดให้มีการแก้ไขปัญหาสัญชาติ, สถานะของกลุ่มบุคคลที่อพยพเข้ามาในไทยเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทย