มนต์เสน่ห์แห่งเมืองสามหมอกที่เต็มไปด้วยภูเขาเขียวขจีสูงสลับซับซ้อน สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่เงียบสงบชวนผ่อนคลาย และวัฒนธรรมที่ผสมผสานความงดงามของกลุ่มชาติพันธุ์ได้อย่างลงตัว ทำให้แม่ฮ่องสอนเป็นจุดหมายปลายทางในฝันของนักท่องเที่ยวมากมาย กลายเป็นแรงผลักดันในการขับเคลื่อนแม่ฮ่องสอนสู่ต้นแบบเมืองท่องเที่ยวสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
“โครงการนำร่องการพัฒนาสมาร์ทกริดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน” ถือเป็นหนึ่งยุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานของจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยนำเทคโนโลยีด้านพลังงานที่ทันสมัยเข้ามาพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าแบบดั้งเดิมให้เป็นระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือ Smart Grid ผ่านแนวทางพัฒนาพลังงาน 4 ด้าน คือ
- Smart Energy พัฒนาแหล่งผลิตไฟฟ้าสำรองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- Smart System พัฒนาระบบควบคุมและจัดการพลังงานไฟฟ้าในจังหวัดแม่ฮ่องสอนให้ทำงานร่วมกันอย่างสมดุล และมีเสถียรภาพ
- Smart City ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ติดตั้งไฟถนน Solar LED และป้ายแสดงผลอัจฉริยะ
- Smart Learning พัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานสะอาดและวัฒนธรรมของจังหวัดแม่ฮ่องสอน
เพิ่มแหล่งผลิตไฟฟ้าสีเขียว เสริมความมั่นคง
แหล่งพลังงานหลักของจังหวัดแม่ฮ่องสอน คือ พลังงานไฟฟ้าที่ส่งมาจากอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยสายส่งไฟฟ้าขนาด 115 กิโลโวลต์ ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ทำงานร่วมกับโรงไฟฟ้าขนาดเล็กในพื้นที่ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนแม่สะงา โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนผาบ่อง และโรงไฟฟ้าดีเซลแม่ฮ่องสอน ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูงชัน ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ที่ถูกจัดให้เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A จึงทำให้การก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงมายังแม่ฮ่องสอนไม่สามารถทำได้ ประกอบกับต้องเผชิญภัยธรรมชาติบ่อยครั้งทำให้แม่ฮ่องสอนเกิดปัญหาไฟตกไฟดับอยู่เป็นประจำ ปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงได้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ผาบ่องกำลังผลิต 3 เมกะวัตต์ และติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานขนาด 4 เมกะวัตต์ เพื่อเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าสำรอง ช่วยเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น
นายอนุศักดิ์ จันทคราม หัวหน้าโครงการพัฒนาโครงการนำร่องการพัฒนาสมาร์ทกริด กฟผ. เปิดเผยว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีแสงแดดในระดับความเข้มที่เหมาะสม และมีพื้นที่ราบซึ่งอยู่ติดกับระบบส่งไฟฟ้าเดิมของโรงไฟฟ้าดีเซลแม่ฮ่องสอน จึงเหมาะแก่การทำโซลาร์ฟาร์มเพื่อช่วยเสริมการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าอื่น ๆ เมื่อระบบไฟฟ้าหลักขัดข้อง หรือมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น
“เมื่อระบบไฟฟ้าหลักมีปัญหา ปัจจุบันสามารถสั่งจ่ายไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ได้ทันที นาน 15 นาที ระหว่างรอโรงไฟฟ้าขนาดเล็กในพื้นที่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเข้ามาช่วยเสริมระบบ ทำให้ปัญหาไฟดับน้อยลง ส่วนสถานที่สำคัญและจำเป็น เช่น โรงพยาบาล สถานที่ราชการ ก็มีไฟฟ้าใช้อย่างต่อเนื่อง”
ด้านนายอมร ศรีตระกูล กำนันตำบลผาบ่อง สะท้อนว่า ในอดีตแม่ฮ่องสอนเกิดไฟฟ้าดับแต่ละครั้งใช้เวลานาน 2 – 3 วัน แต่ปัจจุบันหลังจากมีโครงการสมาร์ทกริดที่ จ.แม่ฮ่องสอน ระบบไฟฟ้าก็มีความเสถียรมากขึ้น ทำให้ชาวบ้านมีไฟฟ้าใช้ตลอด ภาคการท่องเที่ยวก็คึกคักด้วย
นอกจากนี้ กฟผ. ยังติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา หรือ Solar Rooftop รวม 200 กิโลวัตต์ ให้กับหน่วยงานราชการ 6 แห่ง ได้แก่ ศาลากลางจังหวัดแม่ฮ่องสอน เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน ที่ว่าการอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลผาบ่อง และองค์การบริหารส่วนตำบลผาบ่อง เพื่อลดการพึ่งไฟฟ้าจากระบบหลัก รวมถึงติดตั้งระบบริหารจัดการพลังงานภายในตัวอาคารเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของหน่วยงานราชการอีกทางหนึ่งด้วย
บริหารจัดการแหล่งผลิตไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีสมาร์ทกริด
สำหรับการพัฒนาระบบควบคุมไฟฟ้าในจังหวัดแม่ฮ่องสอน กฟผ. ได้นำระบบควบคุมไมโครกริด (Micro-Grid Energy Management System) เข้ามาเชื่อมโยงระบบผลิตไฟฟ้าจากแหล่งต่าง ๆ ที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน วิเคราะห์กำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าในพื้นที่ ขีดความสามารถในการส่งจ่ายไฟฟ้าของ กฟภ. และความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลา เพื่อประมวลผลสั่งการ ให้แหล่งผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของจังหวัดแม่ฮ่องสอนทำงานร่วมกันอย่างสมดุล มีเสถียรภาพ ซึ่งในช่วงเวลาปกติจะเชื่อมต่อกับระบบส่งไฟฟ้าหลักของ กฟภ. ที่จ่ายเข้าสู่อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน และสามารถแยกตัวเป็นอิสระเมื่อระบบไฟฟ้าหลักขัดข้อง (Islanding Operation)
หนุนระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า
การขับเคลื่อนแม่ฮ่องสอนสู่ต้นแบบเมืองท่องเที่ยวสีเขียวผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านยานยนต์ไฟฟ้า โดยเปิดให้บริการสถานีชาร์จ EleX by EGAT แห่งแรกในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อรองรับประชาชนที่เดินทางด้วยรถยนต์ไฟฟ้าในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และอยู่ระหว่างก่อสร้างสถานีชาร์จ EleX by EGAT อีกหนึ่งแห่งที่อำเภอปาย เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางจากจังหวัดเชียงใหม่ผ่านทางอำเภอปาย รวมถึงนำรถบัสไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามาใช้สำหรับบริการรับ-ส่งประชาชนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนด้วย
นอกจากนี้ กฟผ. อยู่ระหว่างจัดทำระบบไฟฟ้าส่องสว่างจากโซลาร์เซลล์ และป้ายประชาสัมพันธ์อัจฉริยะ (Smart Bill Board) เพื่อแสดงการใช้พลังงานและข้อมูลประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานราชการ
สัมผัสโลกพลังงานสะอาด ณ ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ผาบ่อง
ปัจจุบัน กฟผ. ได้พัฒนาศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ผาบ่อง เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อเปิดโลกกว้างชวนเรียนรู้โลกพลังงานได้อย่างสนุกสนาน ทั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เทคโนโลยีพลังงานสมาร์ทกริด ในขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวยังเสมือนได้ท่องเที่ยวชุมชนผาบ่องในม่านหมอกและโอบกอดขุนเขา รวมถึงแม่ฮ่องสอนในยามค่ำคืนผ่านภาพยนตร์ประกอบโมเดล พร้อมสอดแทรกเรื่องราววิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ (ไทใหญ่) และประเพณีอันดีงามของชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยสามารถเยี่ยมชมได้ตั้งแต่เวลา 9.00 - 16.00 น. ยกเว้นวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ผาบ่อง หรือโทร. 09 8185 2805
โครงการนำร่องการพัฒนาสมาร์ทกริดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนจึงไม่เพียงช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมของจังหวัดแม่ฮ่องสอนเท่านั้น แต่จะเป็นต้นแบบสำคัญของการพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศสำหรับพื้นที่สูงหรือพื้นที่ห่างไกลให้มีความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่กับการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอย่างมีเสถียรภาพ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ตลอดจนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เทพรัตน์ เทพพิทักษ์ คว้ารางวัลสุดยอด CEO รัฐวิสาหกิจดีเด่นสาขา Environment ตอกย้ำการขับเคลื่อนภารกิจองค์กรด้วยความตระหนักและใส่ใจสิ่งแวดล้อม
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับรางวัลสุดยอดซีอีโอรัฐวิสาหกิจ สาขา Environment จากนางสาวแพทองธาร ชินวัตร
จาก ‘ฉลากเบอร์5’ สู่ห้องเรียนสีเขียวเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องใช้และสังคม
ที่ผ่านมา กลุ่มผู้บริโภคหลายคนคงเริ่มเห็นหน้าตาของฉลากเบอร์ 5 โฉมใหม่ตามเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ กันบ้างแล้ว โดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
ส.ยกน้ำหนักฯ–จ.พะเยา-กฟผ. จัดEGATยกน้ำหนักยุวฯเยาวชน 15–25ต.ค.นี้
เมื่อวันที่ 27ก.ย.ที่ผ่านมา นายปรัชญา กีรตินันท์ นายกสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย นายนำพล โพธิวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ความยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.),นายบำรุง สังข์ขาว รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา และพลอากาศโท วัฒนชัย เจริญรัตน์ กรรมการและประธานฝ่ายเทคนิคสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงข่าวการแข่งขัน EGAT ยกน้ำหนักเยาวชนชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ประจำปี 2567 ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ EGAT ยุวชนชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย อายุ 13 - 15 ปี ประจำปี 2567 ณ การกีฬาแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ
ไฮโดรเจนความหวังใหม่ของวงการพลังงานสะอาด
แม้อาจมองไม่เห็นได้ด้วยตา แต่มีอยู่จริงรอบตัวเรา และนี่คือความหวังใหม่ของพลังงานสะอาดในอนาคต ‘ไฮโดรเจน’ ธาตุที่มีอยู่มากที่สุดในจักรวาล และมีอย่างไม่จำกัด
“ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่” พร้อมรันวงการพลังงานสะอาด
วงการพลังงานทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าพลังงานหมุนเวียนได้ก้าวเข้ามามีบทบาทและกำลังมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว สะท้อนให้เห็นถึงความตระหนักในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่เข้มข้นมากขึ้น
“ฮิวมิค” มหาอำนาจทางการเกษตรแห่งใต้พิภพ
โลกในปัจจุบัน เราต่างให้ความสำคัญกับความยั่งยืนกันมากขึ้น หลายองค์กรทั่วโลกจึงนำ “โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”