'รอมฎอน' ชี้เศรษฐาอาจทำให้ภาพลักษณ์มัวหมอง หากไม่ลงนามรับรอง ถก 'ยุบ กอ.รมน.' ในสภา ย้ำจุดยืน 'รัฐบาลพลเรือน' ควรอยู่เหนือกองทัพ-ไม่ตกอยู่ใต้กลุ่มการเมืองใด
01 พ.ย. 2566 - ที่รัฐสภา นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนายเชตวัน เตือประโคน สส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณียื่นร่างยกเลิกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารการการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) พ.ศ. 2551 หรือร่างกฎหมาย ยุบ กอ.รมน. ว่า ที่มาที่ไปของร่างกฎหมายฉบับนี้ ที่เรายื่นมาตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค.เป็นกฎหมายชุดแรกของพรรคก้าวไกลที่ยื่นต่อสภา ซึ่งการยกเลิก พ.ร.บ. กอ.รมน. เป็นหนึ่งในร่างกฎหมายเปลี่ยนประเทศ ซึ่งมีหลักใหญ่ทั้งเรื่องการยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร เรื่องการปรับเปลี่ยนระเบียบราชการกลาโหม เรื่องการแก้ไขระเบียบวินัยการคลังของกระทรวงกลาโหม รวมไปถึงการยกเลิกคำสั่ง และประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อีก 4 ฉบับ
นายรอมฎอน กล่าวต่อว่า การพยายามจะเสนอให้มีการปฏิรูปกองทัพ และระบบงานความมั่นคงของประเทศนี้ หัวใจคือการพูดถึงประเทศไทยที่เป็นประชาธิปไตย เราต้องการสร้างและสถาปนาหลักการประชาธิปไตย ที่รัฐบาลพลเรือนเป็นใหญ่เหนือกองทัพ และพยายามทำให้กองทัพอยู่ห่าง หรือออกจากการเมืองมากที่สุด การยกเลิก พ.ร.บ.กอ.รมน. มีเหตุจำเป็นอยู่หลายประการ ประกอบด้วย การพยายามทำให้ความมั่นคงเป็นเรื่องของประชาชน เป็นเรื่องของพลเรือน ไม่ใช่ผูกขาดอยู่เพียงแค่บทบาท และหน้าที่ของกองทัพเท่านั้น หลักการพลเรือนเป็นใหญ่ ควรเป็นหมุดหมายสำคัญที่อยู่ในระบบประชาธิปไตยของเรา และทำให้เรื่องความมั่นคงที่เคยผูกขาดอยู่กับเพียงกองทัพ มาอยู่ในมือของประชาชน ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐบาลพลเรือน ในการบริหารราชการที่มีความโปร่งใส และมีความชอบธรรม
“ที่ผ่านมาตัวองค์กรกอ.รมน. เอง ก็มีข้อถูกเถียง และมีข้อกล่าวหามากในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้งบประมาณที่มากเกินจริง มีความไม่โปร่งใสในการบริหารกำลังพล ซึ่งข้อสงสัยเหล่านี้ เกิดขึ้นมาตลอดหลายปี ยังไม่รวมถคงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภายใต้ ที่เราต้องการสร้างหลักการประชาธิปไตยที่เข้มแข็งในประเทศนี้”
นายรอมฎอนกล่าวอีกว่า อีกด้านหนึ่ง คือการเปิดโอกาสสำหรับการสร้างสันติภาพ กว่าตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ทิศทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งโดยการทหาร ซึ่งได้นำวิธีคิดแบบทหารมาลดทอนโอกาส และทางเลือกของสังคมไทย ในการที่จะแสวงหาข้อตกลง แสวงหาจุดบรรจบที่ลงตัวทางการเมือง เพื่ออยู่ร่วมกันระหว่างรัฐกับประชาชน ที่มีกรอบความคิดในเรื่องการพินิจพิเคราะห์ว่า ประชาชนเป็นภัยคุกคาม ถ้าเรามีมุมมองแบบนี้ เราจะทำให้การแก้ปัญหาความขัดแย้งเป็นไปได้ยากลำบาก จึงเป็นเหตุผลให้เราเสนอยกเลิก กอ.รมน. ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปงานความมั่นคงทั้งหมด
นายรอมฎอนกล่าวต่อว่า ในส่วนที่มีคำถามจากการที่เราหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมา และพยามผลักดันกฎหมายนั้น เชื่อว่าการถกเถียงจะดำเนินต่อไปได้ในสภา เพื่อปรับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพ ก่อนหน้านี้ตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่ ก็ได้มีการติดตามตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานความมั่นคงมาโดยตลอด และ กอ.รมน. เป็นหนึ่งในองค์กรที่ถูกตรวจสอบอย่างหนักจากพรรคก้าวไกล จากการพิจารณากฎหมายในอดีต ปฎิบัติการข่าวสาร ทั้งในระดับชาติ และในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราพบว่าการพยายามแพร่มลทินของหน่วยงานอย่าง กอ.รมน. ส่งผลในด้านกลับ ทำให้ผู้คนเกิดความไม่เชื่อมั่นต่ออำนาจรัฐ ซึ่งเป็นงานการเมืองที่พยายามโน้มน้าวการจัดสรรผลประโยชน์ และจุดมุ่งหมายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะมุมมองที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงถูกผูกขาดโดย กอ.รมน. ที่พยายามจัดวางให้ประชาชนผู้ที่อาจจะมีความคิดเห็นแตกต่างเป็นศัตรูกับรัฐได้ หากปล่อยให้หน่วยงาน กอ.รมน. ทำงานภายใต้กรอบคิดแบบนี้อยู่ ก็จะตัดโอกาสของสังคมไทยในการที่จะแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง และทำให้โอกาสในการอยู่ร่วมกันอย่างสันตินี้เป็นไปได้ยาก
นายรอมฎอน กล่าวอีกว่า ปฏิบัติการข่าวสาร และปฎิบัติการทางการทหารที่เกี่ยวกับเด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เป็นประเด็นที่เราเคยถูกอภิปราย เนื่องจาก กอ.รมน. ได้ระบุไว้ในเอกสารงบประมาณ และมีตัวชี้วัดสำคัญในการพยายามเปลี่ยนความคิดของเด็ก อายุหนึ่ง 1-5 ปี แม้กระทั่งเบี้ยเสี่ยงภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของ กอ.รมน. ที่เกี่ยวโยงกับทุกมาตรการด้านความมั่นคง รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์โครงการส่งเสริมและเผยแพร่ความจริงที่ถูกต้อง ที่ก่อให้เกิดคำถามต่างๆ
“ทั้งหมดนี้เป็นงานการเมือง ที่เราเห็นว่าหน่วยงานด้านความมั่นคงที่ควรมีหน้าที่ และอำนาจที่จำกัดอยู่เพียงการรักษาบูรณภาพแห่งดินแดน ควรทำหน้าที่ของรั้ว ไม่ใช่เอารั้วเข้ามาในห้องนั่งเล่น เอารั้วเข้ามาในครัว ในห้องนอน หรือในพื้นที่ของพลเรือน” นายรรอมฎอน กล่าว
สำหรับกรณีภายหลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกมาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วย และไม่เคยมีมีความคิดจะยุบ กอ.รมน. นั้น นายรอมฎอน กล่าวว่า ปัจจุบันร่างกฎหมายฉบับนี้ ถูกวินิจฉัยและตีความโดยประธานสภาว่าเป็นร่างว่าด้วยการเงิน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 133 ที่ต้องให้ทางนายกฯ ให้คำรับรองเพื่อให้มีการอภิปรายต่อในสภา เข้าใจว่าเหตุผลเบื้องหลังของมาตรานี้ เพื่อทำให้ฝ่ายบริหารได้เสียงในการพิจารณา เนื่องจากฝ่ายบริหารจะต้องรับผิดชอบการบริหารงบประมาณภาครัฐ เพราะฉะนั้น การจะให้คำรับรองหรือไม่ อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับท่าที หรือจุดยืนว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย กับการยุบ กอ.รมน. หรือไม่ เพียงแต่เป็นการเปิดโอกาสให้กลไกรัฐสภาได้ทำหน้าที่ต่อไป
“เข้าใจว่า ประเด็นนี้แม้กระทั่งในพรรคร่วมรัฐบาลเอง ก็อาจจะเห็นต่าง เพราะนายอดิศร เพียงเกษ ในฐานะประธานวิปรัฐบาลเอง ก็ออกมาแสดงจุดยืนที่แตกต่างไปจากนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็อาจจะมีคนอื่นๆ หรือพรรคร่วมรัฐบาลอื่นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สส.จากพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตนเห็นว่าประเด็นนี้ได้รับการตอบรับอย่างมาก เป็นเหมือนกับฉันทามติเลยก็ว่าได้ กับผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ และอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของ กอ.รมน. อยากให้ฟังเหตุผลจากคนเหล่านั้น จึงเป็นเหตุผลที่ตนอยากจะเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีให้คำรับรองต่อร่างกฏหมายฉบับนี้ และเปิดทางให้สภาได้มีการพิจารณาต่อไป”
นายรอมฎอนกล่าววา เกรงว่าถ้านายกฯ ตอบไม่ให้คำรับรอง ก็อาจจะทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลพลเรือน ที่ควรจะมีอำนาจเหนือกว่ากองทัพมัวหมองไป เพราะฉะนั้น ในฐานะที่เป็นผู้อำนวยการ กอ.รมน. และเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของพลเรือน เพื่อที่จะยืนยันว่า มีสิทธิอำนาจอย่างเต็มที่ และไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพล หรืออำนาจใดๆ ของกลุ่มพลังทางการเมืองใดๆ ก็น่าจะเปิดโอกาสให้สภาฯ ได้ถกเถียงกัน ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องกลัว เพราะการถกเถียงเหล่านั้น เราถกเถียงกันด้วยเหตุผล และอาจจะสู้กันในการโหวต
นายรอมฎอน ยังได้ยกตัวอย่างในกรณีเว็บไซต์ของสภาที่มีการสำรวจความเห็นเรื่องนี้ในสื่อโซเชียลมีเดียที่หลายคนไม่เห็นด้วยว่า นายกรัฐมนตรีไม่ควรกังวล อยากจะเสนอแนะ 2 ข้อ คือ 1.ควรยกเรื่องนี้ไปพูดคุยกันในคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภา และ 2.พูดถึงบทบาทของภาคประชาชนในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
ด้านนายเชตวัน กล่าวด้วยความผิดหวังว่า จากการที่รับฟังคำสัมภาษณ์ของนายกฯ และนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คิดว่า จะเป็นการขยายบทบาทของกองทัพ กับการเข้าไปยุ่มย่ามในงานสาธารณะ ทั้งที่นายสุทินเคยออกมายอมรับเองว่ากองทัพก็มีการใช้ไอโอ ดังนั้น หากมองว่า เพื่อนร่วมชาติเป็นข้าศึก เป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งครั้งนี้ก็ไม่มีคอมมิวนิสต์แล้ว ทำไมกลับยังมีข้อกล่าวหาเรื่องชังชาติ หรือล้มสถาบันอยู่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตามสูตร! ฟื้นคณะกรรมการ 6 ชุดแก้ปัญหาสมัชชาคนจน
'ชูศักดิ์' ถก คกก.สมัชชาคนจน ตั้ง 6 กก. สมัยเศรษฐา เร่งวางแนวทางแก้ 4 เรื่องด่วน
จับตาอนุกมธ.ยุติธรรมตากใบหยิบยกรายงานมาถก เพื่อคืนความยุติธรรมให้ผู้สูญเสีย
นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า วันนี้เมื่อ 20 ปีก่อน (17 ธ.ค.) รายงานสอบข้อเท็จจริงกรณี #ตากใบ ได้ส่งถึงนายกรัฐมนตรีใน
'คำนูณ' เตือนอย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย! ชี้ไทยไม่รับอำนาจศาลโลกมา 64 ปีแล้ว
นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์เฟซบุ๊ก
ปปช.เปิดทรัพย์สิน 'ก่อแก้ว' สุดอู้ฟู่รวย 263 ล้านบาท
เปิดเซฟ 'ชัยธวัช ตุลาธน' อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล 19.3 ล้านบาท 'อภิชาติ' อดีตเลขาธิการพรรค 13.2 ล้านบาท 'ก่อแก้ว' อู้ฟู่ 263 ล้าน
ก้าวไกลแพ้! ศาลยกฟ้อง 'ณฐพร โตประยูร' แจ้งเท็จ-หมิ่น ล้มล้างการปกครอง
ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีดำ อ.308/2564 ที่พรรคก้าวไกล เป็นโจทก์ฟ้องนายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นจำเลยในความผิดฐานแจ้งความเท็จ,หมิ่นประมาทฯพร้อมเรียกค่าเสียหาย 20,062,475บาท