1
จาก “นิติ” สงคราม สู่ “ประวัติศาสตร์” สงคราม?
1. “ชั้นใดเขียนกฎหมาย ก็แน่ไซร้เพื่อชั้นนั้น” เป็นวลีอมตะของนักหนังสือพิมพ์ท่านหนึ่ง สะท้อนการที่ชนชั้นปกครองหรือชนชั้นนำใช้กฎหมายมาปราบปราม จับกุม ประชาชนในช่วงปี 2500 อย่างรุนแรง ส่วน “นิติ” สงคราม ผลิตโดยนักวิชาการนิติศาสตร์ในช่วง 2563 นี้ เพื่ออธิบายถึงพฤติกรรมของหลาย ๆ ศาล องค์กรอิสระ และอื่น ๆ ที่ใช้กฎหมายเข้าขโมยอำนาจอธิปไตยของประชาชน ยุบพรรคการเมือง ยุติบทบาทนักการเมือง ที่ถูกมองว่าเป็นภัยต่อสถาบันชาติหรือกษัตริย์ อย่างที่หลาย ๆ กรณีขาดเหตุผลและความเหมาะสมโดยสิ้นเชิง
2. “ประวัติศาสตร์” สงครามก็เป็นการเขียนประวัติศาสตร์ ตีความประวัติศาสตร์อย่างจงใจ เพื่อประโยชน์ของบางชนชั้น บางกลุ่ม หรือบางความเชื่อ หลายครั้งด้วยการปลอมแปลงบิดเบือนข้อเท็จจริง ยกยอหรือด้อยค่าเหตุการณ์หรือประวัติศาสตร์บางแบบ
วงวิชาการไทยยังเลี่ยงที่จะใช้คำ “สงคราม” แต่ก็มีการเสนอบางศัพท์ เช่น “ประวัติศาสตร์บาดหมาง” “ประวัติศาสตร์ชาตินิยม” “ประวัติศาสตร์แบบนิยมเจ้า” ฯ เพื่อเสนอแง่มุมใหม่ให้เกิดความสมดุลหรือเพื่อความถูกต้อง เช่น กรณีโต้แย้งว่า “สุโขทัยไม่ใช่เป็นราชธานีแห่งแรก” การพูดถึงบทบาทสำคัญของขุนหลวงพะงั่วหรือราชวงศ์สุพรรณภูมิ การพูดถึงบทบาทขอมในดินแดนภาคกลางและภาคอีสานของไทย หรือ “พม่าไม่ได้เผาอยุธยา”เพื่อลดความบาดหมางระหว่างเพื่อนบ้านลง การด้อยค่าหรือเพิ่มค่าเหตุการณ์ 2475 บทบาทของจอมพล ป. จอมพลสฤษดิ์ รวมมาถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 6 ตุลาคม 2519 พฤษภาคม 2535 บทบาทความสำคัญเสื้อเหลือง เสื้อแดง กปปส. สีส้ม ก็เริ่มเกิดกว้างขวางขึ้น
3. วิธีเขียนประวัติศาสตร์ที่มีบทบาทหลักในบ้านเรามีไม่กี่กระแส คือ
(1) กระแสประวัติศาสตร์ราชวงศ์ คือการเขียนตามช่วงประวัติและผลงานของกษัตริย์องค์ต่าง ๆ เป็นแนวหลักในตำราบ้านเรา แต่ลดความนิยมไปเรื่อย ๆ
(2) แนวมาร์กซิสม์ มีอิทธิพลเป็นช่วง ๆ คือหลัง 2475 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และปัจจุบันเริ่มกลับมามีบทบาทอีก กล่าวโดยสรุปคือมองว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้น โดยลำดับคือ สังคมบุพกาล แล้วเป็นสังคมทาส สังคมศักดินา สังคมทุนนิยม จนสู่สังคมคอมมิวนิสต์ในที่สุด
สังคมคอมมิวนิสต์อ้างตัวเป็นพัฒนาการขั้นสูงสุดที่มีความปกครองที่สมบูรณ์ที่สุด ความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง การปกครองศักดินานั้นเป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่โหดร้ายทารุณ ประชาธิปไตยเสรีนิยมก็ตกอยู่ในอำนาจของทุน มีแต่ประชาธิปไตยของชนชั้นกรรมาชีพที่ชี้นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์เท่านั้นจึงจะเป็นประชาธิปไตยแท้จริง
4. มีช่วงหนึ่งซึ่งผู้เขียนเคยชื่นชมลัทธิมาร์กซ์ในบางด้าน แต่ก็เสื่อมความเชื่อถือไป (เช่นเดียวกันกับนักวิชาการเกือบทั่วโลก) แต่ผู้เขียนมีเหตุผลว่าลัทธิมาร์กซ์ซึ่งมาจากลัทธิเฮเกล ซึ่งเชื่อว่าจักรวาลหรือมนุษยชาติหรือสังคมมนุษย์ ล้วนมีตัวขับเคลื่อนเป็นเครื่องจักรหรือมอเตอร์ทางประวัติศาสตร์เหมือนกันหมด คือพลังการผลิตและพลังการต่อสู้ทางชนชั้น ซึ่งเป็นคติที่หยิบยืมมาจากความเชื่อของศาสนาคริสต์ที่ว่า มีพระจิต (spirit) หรือเจตจำนง (will) ของพระเจ้า เป็นตัวขับเคลื่อนและกำหนดทุกอย่างในจักรวาล (ศาสนาฮินดูและลัทธิเต๋าของจีนก็มีแนวคิดคล้ายคลึงกับความคิดนี้อยู่)
5.ยังมีการเขียนประวัติศาสตร์กระแสอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ซึ่งเป็นแนววิชาการแท้ ๆ (2 กระแสแรกเป็นผลมาจากระบบความเชื่อและอุดมการณ์เชิงเทวนิยมมากกว่า) ผู้เขียนเองมองประวัติศาสตร์การเมืองไทยผ่านหลายกรอบปรัชญาและทฤษฎี ผู้เขียนเชื่อว่าอำนาจมีแนวโน้มต้อง (และควร) กระจายตัวไปสู่ผู้คนให้หลากหลายทัดเทียมกันมากที่สุด สิ่งที่กำหนดประวัติศาสตร์มีหลากหลายปัจจัย ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ปัจเจกบุคคล เมื่อมาประจวบรวมกันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ โดยมีบุคลากรจากบางเหตุปัจจัยเป็นพลังทางยุทธศาสตร์ (strategic critical juncture model) เช่น นักเรียนพลเรือนและทหารไทยในยุโรปเป็นพลังยุทธศาสตร์การปฏิวัติ 2475 นักศึกษา ปัญญาชน ของยุคพัฒนาจอมพลสฤษดิ์เป็นพลังยุทธศาสตร์เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ และคนรุ่นใหม่เจเนอเรชั่นต่าง ๆ อาจเป็นพลังยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ในอนาคตก็ได้
2
ขั้นตอนพัฒนาการเมืองไทย
ไทยผ่านวิกฤติระดับการล่มสลายหรือความตกต่ำมาหลายหน โชคดีที่มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ เกิดขึ้นทันท่วงที การเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ นี้ไม่จำเป็นต้องเกิดจากฝ่ายประชาชน แต่กษัตริย์ทรงริเริ่มเปลี่ยนแปลงได้ รัฐบาลทหารก็สร้างความเปลี่ยนแปลงใหญ่ได้ นักศึกษา ปัญญาชน ประชาชน ก็สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ และเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงใหญ่ก็ไม่จำกัดเฉพาะเรื่องสิทธิ เสรีภาพ หรืออำนาจการเมืองของประชาชน แต่เป็นเรื่องเศรษฐกิจ การบริหาร การปกครอง วัฒนธรรมก็ได้ แต่ทิศทางโดยรวมต้องนำไปสู่สิทธิเสรีภาพที่กว้างขวางของประชาชน ความทัดเทียมทางรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ต้องมากขึ้น ความยุติธรรมต้องชัดเจน และการปกครองโดยนิติธรรมต้องมั่นคง
การเปลี่ยนแปลงใหญ่ในระดับการปฏิรูปโครงสร้างหรือความคิดของประเทศไทยจนถึง 14 ตุลาคม 2516
1.สาเหตุการเปลี่ยนแปลงครั้งแรกคือภัยคุกคามจากลัทธิอาณานิคมตะวันตก รัชกาลที่ 5 ได้ปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยในทางการบริหาร การปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมาย การเงิน การคลัง สาธารณสุข ทางวัตถุ สาธารณูปโภค ถนน รถไฟ โรงพยาบาล ให้เป็นสมัยใหม่แบบตะวันตก ทำให้ไทยก้าวพ้นจากวิกฤติแรกนี้ได้
2.การปฏิรูปการปกครองไทยให้ทันสมัย ทำให้เกิดพลังทางยุทธศาสตร์คือกลุ่มทหาร พลเรือน ที่ตื่นตัวทางวิชาการและการเมือง และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ของคณะราษฎร เป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางความคิดการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และแนะนำความคิดประชาธิปไตยเข้าสู่สังคมไทย
3.มีการปฏิรูปประเทศสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่และรอบด้าน คือ การปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศให้เป็นอุตสาหกรรม การขยายถนนสำคัญ ๆ อย่างทั่วถึง การสร้างสำนึกความปัจเจกชน การทำงานเพื่อให้ได้เงินของคน รวมทั้งการปรับปรุงการบริหารการปกครองอีกหน นับจากครั้งแรกที่เกิดในสมัยรัชกาลที่ 5
4.เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นเสมือนคู่แฝดกับแผนพัฒนาอุตสาหกรรมของจอมพลสฤษดิ์ เป็นเหรียญ 2 ด้านของระบอบการเมืองประชาธิปไตยและทุนเสรีนิยม ความสำคัญของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ คือการพังทะลายระบบทรราชหรือเผด็จการเบ็ดเสร็จ (totalitarianism) ของทหาร ซึ่งเป็นเสมือนทั้งคุกคุมขังเสรีภาพของประชาชนและกำแพงแห่งความกลัว ซึ่งกฎหมาย กลไกตำรวจลับ หน่วยความมั่นคงทหาร นโยบายและมาตรการป่าเถื่อนอื่น ๆ ได้ผนึกฝังไว้ทั้งจิตสำนึกและจิตใต้สำนึกของคนไทย
หลังจากเมล็ดพันธุ์แห่งเสรีภาพได้กระจายออกมันก็งอกออกไปทั่วทุกปริมณฑล ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ด้านศิลปะ วัฒนธรรม สังคม ประเพณี ฯลฯ
เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ได้สร้างความเชื่อมั่นในพลังและเสรีภาพของประชาชน และความจำเป็นของการมีระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง ซึ่งถึงแม้จะมีรัฐประหารอีกหลายหน แต่ก็ไม่มีใครกล้าที่จะยึดอำนาจโดยไม่มีการเลือกตั้งให้ยาวเกินกว่าเหตุ
ถึงแม้ 14 ตุลาฯ จะมีผลอยู่มาก แต่ก็มีผลลัพธ์ที่กลายเป็นปัญหาใหญ่หลวงยิ่งทางการเมืองตามมา นั่นคือพรรคการเมืองที่ขยายตัวในช่วงนี้ส่วนใหญ่เป็นพรรคท้องถิ่น ซึ่งเติบโตจากเศรษฐกิจพืชไร่ เหมืองแร่ ก่อสร้าง และกลุ่มมาเฟียอิทธิพลท้องถิ่น ได้เกิดปัญหาการซื้อเสียงและพัฒนาเป็นวัฒนธรรมการเมืองแบบกลุ่มอุปถัมภ์ท้องถิ่น เป็นการเมืองบ้านใหญ่หรือการเมืองอิทธิพลและการคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นกว้างขวางทุกพื้นที่
3
การเมืองไทยปัจจุบัน
การเมืองไทยปัจจุบันซับซ้อนยุ่งเหยิง มีหลายเหตุการณ์สำคัญ เช่น การเมืองเสื้อสี เหลือง แดง สลิ่ม แต่เข้าใจได้ไม่ยาก อาจถือเป็นยุคการสร้างพรรคการเมืองอย่างมีฐานเชิงอุดมการณ์ นโยบาย หรือชนชั้น ชัดเจนเต็มที่เป็นครั้งแรก ดังนี้คือ
1. หมดยุควาทกรรมการพัฒนาและวาทกรรมการปฏิรูปเดิม
แผนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม แม้จะประสบความสำเร็จอย่างดีมาหลายฉบับ แต่เริ่มหมดพลังหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง และเมื่อเกิดการปฏิวัติดิจิตอลและโซเชียลมีเดียขึ้น วาทกรรมการปฏิรูปการเมืองซึ่งเฟื่องฟูอย่างยิ่งในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญประชาชนในปี 2540 ก็หมดพลังเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปประสบความล้มเหลวและมีข้ออ่อนมากมาย เช่น องค์กรอิสระไม่อิสระ ได้บุคลากรที่มาจากเส้นสาย อิทธิพลทุนใหญ่และการเมือง
2. ปัญญาชน ชนชั้นกลาง ที่มีบทบาทขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ 14 ตุลา 16 6 ตุลา 19 พฤษภา 35 ปฏิรูปการเมือง 2540 ลดบทบาทลงตามกระแสทั้งในประเทศและทั่วโลก สิ่งที่เกิดขึ้นมาแทนที่คือระบบ connection หรือเครือข่ายอภิสิทธิ์ของชนชั้นนำ ระหว่างนักการเมือง ทุนใหญ่ ทุนย่อย กับข้าราชหาร เทคโนแครต และนักวิชาการบางส่วน ซึ่งทำให้ระบบเครือข่ายอุปถัมภ์และเครือข่ายอภิสิทธิ์เริ่มก่อตัวเป็นโครงสร้างพื้นฐานอำนาจในประเทศไทย
3. ชนบทไทยที่ถูกลืมกำลังสร้างแนวทางการเมือง ระบบพรรคการเมืองที่มีฐานชัดเจนให้กับสังคมไทย ถึงแม้จะเป็นฐานการเมืองแบบมีนโยบายจูงใจ (ประชาธิปไตยกินได้) หรือแบบบ้านใหญ่ โดยเฉพาะอาจเป็นระบบแบบมีพรรคใหญ่ที่ครองอำนาจยาวนาน เช่น ในอินเดียพรรคคองเกรสของสกุลคานธี พรรค Likud ของอิสราเอล พรรคสหภาพของมาร์กอส ฟิลิปปินส์ UMNO ของมาเลเซีย พรรคเสรีนิยมของญี่ปุ่น พรรคสังคมประชาธิปไตยของเยอรมนี โดยก้าวพ้นบทบาทการนำทางความคิดการเมืองของปัญญาชนเมืองและชนบท คนชั้นกลาง เหมือนในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษ (2500-2540)
4.หลังสุดได้เกิดมีปรากฏการณ์ความสำเร็จในการเลือกตั้งของพรรคอนาคตใหม่ (2562) และพรรคก้าวไกล (2566) ซึ่งถือเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญยิ่งถึงการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน แบบเปลี่ยนประบวนทัศน์ หรือการฉุดกระชากรื้อใหม่ ที่กำลังก้าวเข้ามา ซึ่งจะได้พูดถึงต่อไป
ศ. ธีรยุทธ บุญมี
อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้
’ห้าพันตารางกิโลเมตร‘ เท่ากับกี่ตารางนิ้ว ? เงื่อนตายของ MOU 2544 ?
MOU 2544 ไม่ใช่กรอบการเจรจาเพื่อหาข้อตกลง ”แบ่งผลประโยชน์(ปิโตรเลียม)“ เท่านั้น แต่หาข้อตกลง “แบ่งเขตแดน(ทะเล)“ ด้วย !
คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544
ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั
'แก้วสรร' แพร่บทความ 'นิติสงคราม' คืออะไร?
นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกบทความเรื่อง “นิติสงคราม” คืออะไร???
อย่าได้ประมาทในธรรม.. “เมื่อใจตรง .. จะตรงใจ”..
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. เดินทางกลับมาจากอินเดีย เมื่อ ๗ พ.ย.๒๕๖๗.. ถึงกรุงเทพฯ ๘ พ.ย.๒๕๖๗ หลังจากไปร่วมประชุม “The First Asian Buddhist Summit 2024” ที่นิวเดลี งานนี้จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวของรัฐบาลอินเดีย
ขึ้นต้นก็(เขียน)ผิดแล้ว ! ว่าด้วยเส้น “ละติดจูด” ที่ 11° “E” ในเอกสารแนบท้าย MOU 2544
เขียนและพูดเรื่อง MOU 2544 มาหลายปี หลากมุมมอง ล่าสุดช่วงนี้ก็จำแนกข้อดีข้อเสีย รวมทั้งส่วนที่จะได้และส่วนที่จะเสียหากเจรจาสำเร็จ ล้วนหนัก ๆ ทั้งนั้น .