นายกฯ ร่วมประชุมครั้งประวัติศาสตร์ อาเซียน-รัฐอ่าวอาหรับ กระชับสัมพันธ์ไทย-ซาอุ

นายกฯ ร่วมประชุมครั้งประวัติศาสตร์อาเซียน-รัฐอ่าวอาหรับ กระชับสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ ผลักดันการค้าไร้รอยต่อ เรียกร้องทุกฝ่ายร่วมยุติความรุนแรงในตะวันออกกลาง แก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี ขอปล่อยตัวประกันทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข
 
20 ต.ค.2566 - เวลา 10.45 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงริยาด ซึ่งช้ากว่าไทย 4 ชั่วโมง) ที่โรงแรม Ritz Carlton กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (ASEAN- Gulf Cooperation Council Riyadh Summit : GCC) ร่วมกับผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนและคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน กาตาร์ คูเวต และโอมาน พร้อมกล่าวถ้อยแถลงภายใต้แนวคิด Innovative Partnership for Sustainable Future หรือ ความเป็นหุ้นส่วนสร้างสรรค์เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้มาร่วมกันประชุมในวันนี้ ขอแสดงความซาบซึ้งต่อการต้อนรับของมกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีแห่งซาอุดีอาระเบีย โดยการประชุมระหว่างอาเซียน-GCC ครั้งประวัติศาสตร์นี้ ไทยยืนยันเจตนารมณ์ และความมุ่งมั่นในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองภูมิภาค ซึ่งทั้งสองภูมิภาคมีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจ โดยมี GDP รวมกันมากถึงเกือบ 6% ของ GDP โลก ซึ่งไทยมองว่ากรอบความร่วมมืออาเซียน-GCC ที่ทุกฝ่ายจะร่วมกันรับรองในวันนี้ จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพความร่วมมือระหว่างสองภูมิภาค
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อย่างไรก็ดี ทั้งสองภูมิภาคล้วนเผชิญกับความท้าทายร่วมกันในเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ อาหาร พลังงาน สุขภาพ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงประเด็นที่ผู้นำทุกคนกังวลคือฉนวนกาซ่าและพื้นที่โดยรอบ อาเซียนและ GCC ได้ร่วมกันพัฒนาวิสัยทัศน์ที่ยั่งยืน พร้อมรับมือกับอนาคต และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง จะร่วมต่อสู่กับความท้าทายต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าจะบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันได้ ภายใต้แนวทางหุ้นส่วนสร้างสรรค์เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนขอเสนอ 3 ประเด็นความร่วมมือ ดังนี้ ประเด็นแรก ไทยพร้อมส่งเสริมการค้าและการลงทุนอย่างไร้รอยต่อ ผ่านการลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน พร้อมผลักดันการจัดตั้ง ASEAN-GCC Business Forum เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจของทั้งสองภูมิภาค โดยไทยพร้อมเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงทางการค้าเสรีระหว่างไทย-GCC (Thai-GCC FTA) เพื่อจะเพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างกันไปถึง 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมกันนี้ ในฐานะครัวโลก ไทยพร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์ในด้านการเกษตรกรรมและนวัตกรรมทางด้านอาหาร เพื่อเตรียมพร้อมต่อความท้าทายในด้านความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งยินดีร่วมมือกับ GCC ในเรื่องวิทยาศาสตร์และมาตรฐานในการผลิตอาหารฮาลาลด้วย
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประการที่สอง ประเทศไทยพร้อมส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ด้วยเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ทั้งนี้ ไทยยังพร้อมส่งเสริมกลไกการเงินสีเขียวและยั่งยืน ผ่านการออกพันธบัตรสีเขียวที่ยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยยินดีหากสมาชิก GCC จะเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ร่วมกัน
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเสนอความร่วมมือระหว่างชาติสมาชิก GCC และ ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue (ACSDSD) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ผ่านการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติและประสบการณ์ร่วมกัน โดยเฉพาะการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การใช้พลังงานสะอาด รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดสภาวะแวดล้อมในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ประการสุดท้าย เพื่อกระชับความร่วมมือและความสัมพันธ์ในระดับประชาชน ไทยรวมถึงอาเซียน พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจากชาติสมาชิก GCC สู่ภูมิภาคอาเซียน สำหรับประเทศไทย ไทยวางเป้าหมายให้มีนักท่องเที่ยวจากชาติสมาชิก GCC ให้เพิ่มขึ้น 2 เท่า จากเกือบ 300,000 คน ภายใน 2 ปีข้างหน้า ซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health and Wellness tourism) คนไทยจำนวนมากสามารถพูดอารบิคได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพของประเทศกลุ่ม GCC และพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะการจัดการทางการแพทย์ การจัดการทางด้านการท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
 
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวเรียกร้องให้ ASEAN-GCC สร้างขึ้นบนความปรารถนาร่วมกันเพื่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรือง ประเทศไทยเสียใจกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นส่งผลให้เกิดความสูญเสีย และมีผู้เสียชีวิตซึ่งรวมถึงคนไทยถึง 30 คน ซึ่งเรียกร้องให้ทุกผ่ายร่วมกันยุติความรุนแรง แก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีโดยใช้การเจรจาต่อรอง การทูต ภายใต้พื้นฐานของการแก้ปัญหาระหว่างสองประเทศ ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรงในตะวันออกกลาง และปล่อยตัวประกันทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข
 
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า ผลของการประชุมครั้งนี้ ต้องยั่งยืนผ่านความร่วมมืออย่างสม่ำเสมอ และมีการติดตามผลการหารืออย่างเป็นรูปธรรม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แอคชั่นทันที! นายกฯมาเอง ลงพื้นที่ห้วยขวาง สั่งสอบป้ายโฆษณาขายพาสปอร์ต

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่สน.ห้วยขวาง ติดตามสอบถามข้องเท็จถึงกรณีที่พบมีการติดแผ่นป้ายโฆษณาซื้อขายหนังสือเดินทางและพาสปอร์ตที่แยกห้วยขวาง พบว่ามีการขึ้นป้ายดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2567 เนื้อหาเป็นข้อความเกี่ยวกับการรับจ้างทำหนังสือเดินทาง

'เศรษฐา' อย่าสับสน! โพลวัดผลงาน ไม่ใช่เรตติ้งนายกฯ

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อย่าสับสน !!! ระหว่างผลงาน กับการเลือกนายกฯ คนต่อไป

โปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชฯ แก่ 'เศรษฐา ทวีสิน'

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประกาศราชกิจจานุเบกษา วันที่ 20 กรกฎาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยา