อดีตป.ป.ช.เตือน แจกเงินดิจิทัลทำติดคุกยกเข่ง ทั้ง นักการเมือง-ข้าราชการ ซ้ำรอยจำนำข้าวยิ่งลักษณ์

ดูแล้ว มีขวางหมากเต็มไปหมด ผมก็ยังมองไม่ออกว่าเขาจะลุยไฟไปทำไม มีสิทธิ์ติดคุกกันเยอะเลย โครงการนี้ จริงๆ ผมไม่ได้พูดเล่นๆ ผมใช้คำว่าลุยไฟเลย คือหากอยากจะทำ ก็ทำ แต่รับรองเลยว่ามีผลแน่นอน แล้วก็ไปเสี่ยงดวงเอาแล้วกัน ว่าจะติดคุกหรือไม่อย่างไร

10 ต.ค.2566- นายเมธี ครองแก้ว อดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ร่วมลงชื่อเคลื่อนไหวกับกลุ่มนักวิชาการ-อดีตผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย ในการคัดค้านนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล กล่าวถึงท่าทีของนายกรัฐมนตรีและคนในรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย ที่ยังยืนยันจะเดินหน้าทำดิจิทัลวอลเล็ตต่อไป ไม่มีการทบทวน-ยกเลิกว่า เขาก็มีเป้าประสงค์ที่ไม่เหมือนกับเรา เพราะเขาเป็นนักการเมืองที่ต้องทำตามเงื่อนไขทางการเมืองบางอย่าง แต่เราต้องทำหน้าที่ของเราในฐานะที่ทำงานเป็นนักเศรษฐศาสตร์ เพราะเมื่อเราเห็นว่าคุณทำไม่ถูก ก็ต้องบอกเขาว่าทำไม่ถูก แต่หากคุณอยากจะลุยไฟไป ก็ตามใจคุณ แต่มันก็มีความเสี่ยงอยู่

อย่างสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ทำโครงการรับจำนำข้าว ตอนนั้น ป.ป.ช. ที่ผมเป็นกรรมการอยู่ด้วยในช่วงดังกล่าว ทางป.ป.ช.ได้ทำหนังสือเตือนไปหลายครั้งในเรื่องการทำนโยบายรับจำนำข้าว แต่ เขาก็ไม่ฟัง เมื่อไม่ฟัง แสดงว่ามีเจตนาแล้ว เพราะฉะนั้น จึงไม่ต้องพิสูจน์เจตนา ซึ่งในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 มันใช้ยาก เพราะต้องพิสูจน์เจตนาว่าคุณมีเจตนาจะทำแบบนี้จริงๆ ไม่ได้ทำโดยไม่รู้ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือว่าโดยเหตุผลอื่นที่ไม่เข้าใจ แต่ตอนนั้นรู้อยู่แล้ว แต่ก็ยังทำ รับจำนำข้าว ก็รู้อยู่แล้วว่า จะเสียหาย แต่ก็ยังทำ เพราะฉะนั้นเมื่อมีการทุจริตเกิดขึ้น ถึงไปไม่รอด ติดคุกกันเป็นแถว แล้วไม่ได้มีแค่นักการเมืองเท่านั้น แต่รวมถึงข้าราชการประจำที่เป็นเจ้ากี้เจ้าการ เพราะหากทำตามคำสั่งตามหน้าที่ไม่ผิด แต่หากแสดงออกอย่างชัดเจนว่าสนับสนุนหรือชี้นำรัฐบาลด้วยซ้ำ

นายเมธี อดีตป.ป.ช. ที่เคยเป็นอนุกรรมการไต่สวนคดีจำนำข้าวในชั้นคณะกรรมการป.ป.ช. ได้ยกตัวอย่างคดีจำนำข้าวมาอธิบายว่า สมัยที่ทำคดีรับจำนำข้าว ในคดีจำนำข้าว อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ สมัยนั้นที่โดนดำเนินคดีด้วย ได้ชี้นำเลยว่าให้ทำแบบนี้ ทำแบบนี้ สุดท้าย ต้องติดคุกหมดสองคน การปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นคำสั่งที่ชอบหรือไม่ชอบ หากเป็นคำสั่งที่ออกมาโดยผู้มีอำนาจเหนือกว่า แล้วทำตามหน้าที่แบบนี้ไม่ผิด กฎหมายไม่ลงโทษ นอกเสียจากว่าข้าราชการผู้นั้นจงใจที่จะไปร่วมมือด้วยอย่างเห็นได้ชัด ที่แบบนี้ก็ต้องพิสูจน์อีก

เขาบอกว่าในการไต่สวนของศาล หากคดีไปที่ศาล เขาจะมีการไต่สวนเพื่อพิสูจน์ว่า คุณทำหน้าที่ตามปกติ หรือว่าเป็นเจ้ากี้เจ้าการ อีกตัวอย่างก็คือ คดีปล่อยกู้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าหรือเอ็กซิมแบงค์จำนวนสี่พันล้านบาท ที่ธนาคารมีการปล่อยกู้ให้พม่าฯ ที่มีการเอาผิดนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในช่วงการปล่อยกู้ และต่อมา ศาลฎีกาฯตัดสินจำคุกนายทักษิณ ในคดีดังกล่าว คนที่เป็นผู้บริหารธนาคารเอ็กซิมแบงค์ คนที่เป็นผู้จัดการธนาคารฯ ไม่ติดคุก ทั้งที่เป็นคนอนุมัติเงิน เพราะศาลตัดสินว่าแม้จะเป็นคนอนุมัติเงิน แต่เป็นการทำตามคำสั่งของนายกฯตอนนั้น

ถามย้ำว่า หากรัฐบาลทำดิจิทัลวอลเล็ต มีการโอนเงินไปแล้ว หรือกำลังโอนเงิน หากว่ามีคนไปร้ององค์กรอิสระเช่น ป.ป.ช. หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน แล้วต่อมาการดำเนินการดิจิทัลวอลเล็ตมีปัญหา จะมีอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ นายเมธี อดีตกรรมการป.ป.ช. กล่าวตอบว่า คงตอบแทนองค์กรเหล่านั้นไม่ได้ แต่จากประสบการณ์ของผม ที่เคยทำคดีรับจำนำข้าวสมัยเป็นป.ป.ช.ผมว่าเป็นแน่นอน ซึ่งจริงๆ ถึงแม้ไม่มีใครไปร้อง อย่างสมัยผมทำคดีจำนำข้าว ผมทำเรื่องนี้ก่อนที่จะมีคนมาร้องป.ป.ช.ด้วยซ้ำ เพราะผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งคนที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ในสำนักงานป.ป.ช.มีไม่มาก ตอนนั้นผมก็รู้อยู่แล้วว่าโครงการ(จำนำข้าว)มีอันตราย พอมีการทำโครงการจำนำข้าว ก็มีคนมาร้องป.ป.ช.หลายราย และตอนนั้น ก็มีนักวิชาการอยู่มากมายในป.ป.ช.

โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตก็เช่นกัน ผมทราบว่าขณะนี้สำนักงานป.ป.ช. เขามีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเหมือนกัน ซึ่งหากมีคนไปร้องเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ผมว่าเป็นเรื่องแน่ และคนที่จะทำเรื่องนี้ได้ ไม่ได้มีแค่ป.ป.ช. อย่างผู้ตรวจการแผ่นดินก็ได้ หากเขาเห็นว่าโครงการนี้ทำแล้วจะมีคนเดือดร้อน ทำให้เกิดภาระต่างๆ ขึ้นเช่นภาระทางภาษี เกิดขึ้นในอนาคตซึ่งเป็นภาระที่ไม่จำเป็น ผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็อาจส่งเสียงขึ้นมาได้ว่า การทำโครงการดังกล่าวรัฐบาลทำเกินหน้าที่แห่งรัฐ ใช่หรือไม่ คือไม่จำเป็นต้องทำ แต่ไปกระทำ ก็มีสิทธิ์ไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ ก็อาจเลือกที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก็ยังได้

หรืออาจจะเป็นสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่เข้าไปดูงบประมาณในการทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตว่ามีการใช้จ่ายอะไร ที่ผิดไปจากเงื่อนไขตามปกติหรือไม่ก็มีสิทธิ์ตรวจสอบได้ แต่ก็ต้องรอให้มีการทำโครงการก่อน เพราะตอนนี้้ยังไม่ได้มีการดำเนินการ มีแต่ความคิด ความผิดจึงยังไม่เกิด แต่เมื่อมีการใช้เงินแล้ว ตอนนั้นหากเกิดอะไรขึ้น ก็คือความผิดสำเร็จแล้ว และก็จะไปดูว่าความผิดพลาดดังกล่าวเกิดขึ้นจากการละเว้นไม่ปฏิบัติตามหน้าที่อย่างไร หรือหากทำแล้วเกิดการทุจริต การทุจริตนั้นเกิดขึ้นจากการที่ไม่ระมัดระวัง มีการปล่อยปละละเลยแบบโครงการจำนำข้าวหรือไม่อย่างไร พวกนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ป.ป.ช.อาจใช้เป็นบรทัดฐานในการที่จะเอาผิดรัฐบาลในกรณีนี้ได้ ก็ยังมีเรื่องที่ต้องติดตามอีกเยอะ ที่เราก็อาจไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่ามันจะเป็นแบบนี้เสมอไป แต่ความเสี่ยงมันสูงมากจนผมไม่เห็นว่ามันจะคุ้มเลยที่จะทำเรื่องนี้

“ดูแล้ว มีขวางหมากเต็มไปหมด ผมก็ยังมองไม่ออกว่าเขาจะลุยไฟไปทำไม มีสิทธิ์ติดคุกกันเยอะเลย โครงการนี้ จริงๆ ผมไม่ได้พูดเล่นๆ ผมใช้คำว่าลุยไฟเลย คือหากอยากจะทำ ก็ทำ แต่รับรองเลยว่ามีผลแน่นอน แล้วก็ไปเสี่ยงดวงเอาแล้วกัน ว่าจะติดคุกหรือไม่อย่างไร”นายเมธีกล่าว

นายเมธี ที่เป็นอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ด้วยยังกล่าวในเชิงวิชาการว่า ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในช่วงที่เราเคยเจอแบบตอนวิกฤตโควิดระบาด ซึ่งตอนที่เกิดวิกฤตโควิดรัฐบาลเวลานั้น การนำเงินเข้าไปช่วยสนับสนุนกลุ่มคนที่มีปัญหา ลักษณะแบบนี้ถูกต้อง ทุกประเทศก็ทำเช่นนี้ แต่ตอนนี้ ประเทศไทยเลยจุดนั้นมาแล้ว ตอนนี้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวแล้ว ถ้าจะมีการใช้จ่าย ประโยชน์ของมันน่าจะเป็นประโยชน์ด้านอื่นมากกว่า และจุดที่ผมเป็นกังวล ก็คือการจะใช้เงินไม่ว่าจะเป็นดิจิทัล การพิมพ์ธนบัตร หรือเงินพดด้วง หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่จะนำใช้ได้ ในที่สุดแล้ว ก็ต้องมีคนจ่าย คุณไม่สามารถเสกเงินจากอากาศได้

ดังนั้นเงินที่ใช้ไป ต้องมีคนจ่าย ไม่ว่าจะเงินจากอนาคตหรือเงินจากปัจจุบัน ก็แล้วแต่วิธีการ หากจ่ายจากปัจจุบัน ก็เช่น ออกพันธบัตร เพื่อระดมเงินเข้ามา แล้วรัฐบาลก็ยอมเสียดอกเบี้ย ที่พูดตรงไปตรงมาก็คือการกู้เงิน แล้วก็นำเงินที่ได้มาใช้ทำนโยบาย แล้วก็ให้คนในอนาคตมาชำระหนี้ให้ ซึ่งเรื่องนี้ หากจะทำกันจริงๆ เพราะเป็นเรื่องคอขาดบาดตายต้องทำจริงๆ เช่นเกิดสภาวะวิกฤต เกิดโรคระบาด คนเป็นโรคภัยไข้เจ็บอย่างที่เราเคยเห็นมาแล้ว ถ้าแบบนั้นก็จำเป็นต้องใช้ แต่การที่จะเอาเงินมาแจกประชาชนเฉยๆ โดยบอกว่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มันไม่เมคเซ้นส์ ทำไมต้องให้คนต้องมาเป็นหนี้กันอีก ห้าแสนถึงหกแสนล้านบาท มันเป็นหลักอะไรก็ไม่รู้ที่ผมไม่เข้าใจ นอกจากนี้แล้ว การมาสร้างนิสัยเอาเงินไปให้คนโดยที่ไม่ต้องทำอะไร ผมว่ามันไม่ถูก

“มีบางคนออกมาบอกว่า นักวิชาการที่ออกมาแสดงความเห็นเรื่องนี้ไม่เห็นกับคนจน แบบนี้มันไม่ถูก เพราะอย่างตัวผมเอง วิชาที่ผมสอนสมัยเป็นอาจารย์ รวมถึงหัวข้อที่เป็นการวิจัยของผม คือทำอย่างไร ถึงจะช่วยคนยากคนจนได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ผมมีคำตอบหมดแล้วว่าจะช่วยคนจนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมได้อย่างไร แต่ไม่ใช่เวทีแบบนี้ ไม่ใช่วิธีการเหวี่ยงแหแบบนี้ แล้วจะมาบอกว่าผมไม่เห็นใจคนจน ยืนยันว่าไม่ใช่ ผมเคยช่วยอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ศึกษาเรื่องการช่วยเหลือคนจน ตั้งแต่ช่วงปี 2515-2516 แล้วผมก็ติดตามเรื่องนี้มาตลอด ดังนั้นจะมาบอกว่าพวกผมไม่เห็นใจคนจน แบบนี้ไม่ใช่แน่นอน นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เป็นนโยบายที่ไม่ถูกต้อง เพราะหากต้องการช่วยคนยากจนจริง มีวิธีการอื่นอีกมากมาย ไม่ใช่มาปูพรหม เหวี่ยงแหแบบนี้”นายเมธีระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทวี' เผยเงื่อนไข 'คุมขังนอกเรือนจำ' ต้องไม่หลบหนี-ได้รับอภิสิทธิ์อย่างอื่น

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงการรับฟังความเห็นระเบียบว่าด้วยการคุมขังนอกเรือนจำที่แล้วเสร็จไปเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ที่ผ่านมา ว่า ต้องดูว่าหลังจากนี้มีคนเห็นด้วยหรือเ

อัด ‘แม้ว’ คิดบินสูง ทำ ‘ยิ่งลักษณ์‘ ไม่ได้กลับ ‘อิ๊งค์’ จะอยู่อย่างไร

นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ “จะอยู่อย่างไร“ ระบุว่าปราก

เริ่มชัด 'ยธ.-ราชทัณฑ์' ออกอาการ 'ยิ่งลักษณ์' กลับปีหน้า-คุมขังนอกคุก?

ออกอาการ 'ยธ.-ราชทัณฑ์' อ้ำอึ้ง ​ "ยิ่งลักษณ์" เข้าเงื่อนไข​คุมขังนอกเรือนจำหรือไม่ อ้างอยู่ระหว่างรับฟังความเห็น สามารถปรับแก้อายุโทษจากไม่เกิน 4 ปีได้ ยอมรับเป็นไปได้ประกาศใช้ระเบียบราชทัณฑ์ฯใหม่ทันไตรมาส​แรกของปี 2568 ​ สอดรับพอดีกับคำพูดของนักโทษเทวดา ที่ว่าน้องสาวจะกลับบ้านสงกรานต์ปีหน้า

'ราชทัณฑ์' แจงปล่อยตัว 'เสี่ยเปี๋ยง' เข้าเงื่อนไขพิเศษป่วยหนักต้องเปลี่ยนไต

นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​ยุติธรรม พร้อม ผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ ร่วมแถลงประเด็นการปล่อยตัว พักการลงโทษของ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์

'ราชทัณฑ์' แถลงการณ์ชี้แจง 'บุญทรง' พ้นคุก

กรมราชทัณฑ์ ออกแถลงการณ์ ชี้แจงกรณีที่มีรายงานข่าวว่า นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผู้ต้องขังคดีทุจริตโครงการระบายข้าวแบบจีทูจี (โครงการจำนำข้าว)