'วรากรณ์' ทุบดิจิทัลวอลเล็ต เสียหายใหญ่หลวงต่อระบบเศรษฐกิจไทย สุดท้ายจ่ายคืนเกินกว่าได้เงินหมื่น

“วรากรณ์” อดีตคณบดีเศรษฐศาสตร์ มธ. ย้ำเหตุลงชื่อต้านดิจิทัลวอลเล็ต เพราะเป็นนโยบายเสี่ยงมาก จะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อระบบเศรษฐกิจไทย มีผลกระทบต่อคนทั้งประเทศ จนเยียวยาลำบาก  ชี้สุดท้าย คนไทยจะต้องจ่ายคืนเกินกว่าที่ได้ 10,000 บาท

8 ต.ค.2566 – นายวรากรณ์ สามโกเศศ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตรมช.ศึกษาธิการ ในฐานะนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง ที่ร่วมลงชื่อในการเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ที่ตอนนี้มีคนร่วมลงชื่อมากขึ้นเรื่อยๆ กล่าวถึงเหตุผลในการไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลว่า นอกเหนือจากเหตุผลหลายข้อที่ระบุไว้ในเอกสารที่เผยแพร่แล้ว ในฐานะความเป็นปัจเจกบุคคล ที่เคยเป็นนักวิชาการในมหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยมีหน้าที่สามอย่างด้วยกัน หนึ่งตอบสนองในการผลิตบัณฑิตสาขาต่างๆที่สังคมต้องการ สองคือชี้นำ โดยบางสาขาหรือบางเรื่องที่สังคมอาจจะยังไม่สนใจ ก็ต้องพยายามชี้แนะให้เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ สาม คือ”เตือนสติ”

“ผมกำลังทำหน้าที่ของการเตือนสติเพราะว่า เราอยู่ในวงการของคนที่สอนและเรียนรู้เรื่องนี้มาเป็นระยะเวลายาวนาน ก็คิดว่าเราควรมีหน้าที่ในฐานะคนไทยที่ต้องช่วยกันให้คำแนะนำที่ถูกต้องอย่างสุภาพ มีเหตุมีผล จึงเป็นเหตุผลที่มีการเขียนจดหมายดังกล่าวขึ้นมา หลังจากที่พวกเราที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ ที่ได้มีการพบกันแล้วมีการพูดเรื่องนโยบายดังกล่าวขึ้นมา ทุกคนก็ตกใจ ก็มีการติดตามกันมา และเห็นว่าหากปล่อยไว้ แล้วนโยบายดังกล่าวออกมาตามที่เขาบอกกันไว้ จะเกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อระบบเศรษฐกิจไทย จะมีผลกระทบต่อคนทั้งประเทศ และเยียวยาลำบาก” นายวรากรณ์ ระบุ

นายวรากรณ์ กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ร่วมลงชื่อด้วย เพราะรู้สึกตกใจที่นโยบายดังกล่าว ที่ใช้งบประมาณมากถึง 560,000 ล้านบาท เป็นงบก้อนใหญ่มาก อาจจะพอๆกับเงินที่ขาดดุลที่อยู่ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่อยู่ที่ประมาณเกือบเจ็ดแสนล้านบาท แต่ในส่วนของดิจิทัลวอลเล็ตก็ประมาณเกือบหกแสนล้านบาท เกือบใกล้เคียงกัน ซึ่งยอดขาดดุลของงบประมาณก็มหาศาลแล้ว แต่นโยบายดังกล่าว ที่ทำโดยการโอนให้ประชาชนครั้งเดียว ตามที่นายกฯบอกไว้ที่เคยบอกว่าอาจจะโอนภายในกุมภาพันธ์ 2567 ที่เป็นยอดเงินที่สูงมาก เพราะหนี้ประเทศไทยขณะนี้ ประมาณสิบล้านล้านบาท การที่จะเพิ่มขึ้นอีกห้าแสนกว่าล้านบาท ก็เท่ากับจะเพิ่มอีกประมาณห้าเปอร์เซ็นต์ ซึ่งหนี้ต่างๆที่มีอยู่มันสะสมมาหลายปี ผ่านเหตุการณ์ต่างๆเช่นโควิดระบาด แต่ครั้งนี้หากทำนโยบายดังกล่าว จะทำให้หนี้เพิ่มขึ้นมาแบบปัจจุบันทันด่วน มันย่อมทำให้ตัวเลขหนี้ขึ้นสูงมาก และภาระหนี้ของเราตอนนี้ก็เข้าไปถึง 62 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ ดังนั้นการชำระหนี้ที่เราต้องเพิ่มมากขึ้น มันก็จะมีทำให้ต้องเพิ่มมากขึ้น โดยปีหนึ่งๆ

“ ผมคำนวณดอกเบี้ย ที่ต้องใช้พบว่าอยู่ที่ประมาณ14,000 ล้านบาท เฉพาะดอกเบี้ยอย่างเดียวสำหรับเงินจำนวนนี้ อันนี้ไม่ต้องพูดถึงเงินต้นที่ไม่รู้อีกกี่สิบปีถึงจะใช้หมด ที่ก็จะมีผลกระทบต่อคนรุ่นใหม่ที่จะต้องแบกรับภาระต่อไป เรื่องนี้จึงเป็นเหตุผลหลักที่ผมไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว” นายวรากรณ์ ระบุ

นายวรากรณ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ เมื่อมีหนี้เพิ่มมากขึ้น ก็ต้องทำให้ภาครัฐต้องพยายามที่จะหาเงินมาชดใช้คืน ในรูปของการเพิ่มภาษี ที่ตนเองจะไม่แปลกใจเลยหากว่า ภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7 เปอร์เซ็นต์ จะมาเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ จะหาทางเพิ่มให้ได้ หรือภาษีสรรพสามิต พวกค่าบริการพื้นฐานของรัฐวิสาหกิจทั้งหลาย รวมไปถึงเงินของท้องถิ่นด้วย ภาษีทรัพย์สิน หากรัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นไม่เพียงพอ ท้องถิ่นก็ต้องไปปรับภาษีเพิ่มขึ้น เช่น ภาษีที่ดิน ซึ่งคนต้องจ่าย ก็อาจต้องจ่ายเพิ่มมากขึ้น

“เพราะฉะนั้นผมดูแล้วในระยะปานกลางที่ได้มา 10,000 บาท อาจจะต้องจ่ายไปในหลายรูปแบบ จนเกินกว่าที่ได้ 10,000 บาทแน่นอน นอกเหนือจากผลกระทบในด้านราคาที่สินค้าต่างๆอาจจะแพงขึ้น ดอกเบี้ยก็อาจสูงขึ้น ปัจจัยเหล่านี้คือสิ่งที่ผมกังวลมาก คนที่ออกมาครั้งนี้ ทุกคนที่ทำทั้งหมดก็รู้ดีว่า อาจจะเปลืองตัว คืออยู่เฉยๆ จะไม่ง่ายกว่าหรือ แต่เราก็คิดว่าเราก็อายุมากแล้ว แต่หากจะไม่ทำในสิ่งที่ควรจะทำ วันหลังเราอาจจะต้องมานั่งเสียใจ หากเกิดเหตุการณ์กระทบต่อไปในวันข้างหน้าอย่างรุนแรง ทั้งหมดผมพูดด้วยความจริงใจ ด้วยความรู้สึกที่พวกเรามาร่วมกันทำในครั้งนี้”นายวรากรณ์ ระบุ

เมื่อถามถึงว่า ที่ผ่านมาฝ่ายพรรคเพื่อไทย-ทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย และคนในรัฐบาลบอกว่าประเทศไทยยังอยู่ในที่เศรษฐกิจไม่ดี เพิ่งฟื้นจากไอซียูจึงต้องอัดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ 560,000 ล้านบาทเพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวหลังออกจากห้องไอซียู และวิ่งได้ ไม่ใช่แค่ฟื้น นโยบายดังกล่าวจะเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจ นายวรากรณ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องดูตัวเลข  ข้อมูลทางวิชาการ ซึ่งตัวเลขทางเศรษฐกิจของทุกสำนัก ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและภาคเอกชน ต่างบอกตรงกันว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว หลังมีการอัดฉีดเข้าไปในระบบบในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงโควิด ซึ่งมันต้องใช้เวลากว่าที่จะทำงานได้ และที่สำคัญเศรษฐกิจไม่ได้เติบโตจากการกระตุ้น เพราะการกระตุ้นก็คือกระตุ้นขึ้นมา แต่เศรษฐกิจจะเดินด้วยตัวของระบบเศรษฐกิจเอง อย่างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวปัจจุบันก็ดีขึ้นเยอะ นำเงินเข้าประเทศไทยเป็นแสนล้านบาท และมีทิศทางที่ดีขึ้น ส่วนภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ก็กำลังขยับตัวตาม

“เพราะฉะนั้น ณ ขณะนี้จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการกู้ยืมเงิน ห้าแสนกว่าล้านบาท ที่เป็นความเสี่ยง ผมคิดว่าเป็นความเสี่ยงมาก ในการที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวขึ้นเป็นห้าเปอร์เซ็นต์ ซึ่งผมก็ไม่เห็นว่าจะต้องเป็นห้าเปอร์เซ็นต์เสมอไปเพราะว่า คุณภาพของการเจริญเติบโตสำคัญมากกว่าตัวเลข ยิ่งปัจจุบันนี้ความยั่งยืนในระยะยาวเป็นความเห็นตรงกันของทั้งโลก มากกว่าตัวเลขที่ต้องการให้มันเป็นห้าเปอร์เซ็นต์ จะให้ขยายตัว จะได้ดูดีๆ เพราะถ้าคุณภาพมันไม่ดี คือเบื้องหลังมันกระจุกตัวเฉพาะบางอุตสาหกรรมหรือเฉพาะบางคนที่ได้ประโยชน์โดยตรง ไม่ได้ไปถึงประชาชนทั่วไป ผมคิดว่า ตัวเลขก็ไม่ได้มีความหมายเท่าใด”นายวรากรณ์ กล่าว. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นิพนธ์' ซัดรัฐบาลแจกเงินหมื่น เฟส 2 หวังผลการเมือง ไม่ใช่กระตุ้นเศรษฐกิจ

นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย-อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และอดีตนายก อบจ. พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ เฟส 2 ของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมีการแจกเงินสด 10,000 บาท ให้แก่ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่ลงทะเบียนในระบบและยืนยันตัวตนแล้ว รวมกว่า 4 ล้านคน

ป้า 67 ป่วยหลายโรค หาบเร่ขายของเลี้ยงชีพ หวังได้เงินหมื่น เฟส 2 หวั่นตกหล่น บัตรคนจนก็ไม่มี

บุรีรัมย์ ป้า 67 ป่วยความดัน มีก้อนเนื้อที่คอ แต่ต้องหาบเร่ขายของเลี้ยงชีพและลูกพิการ หวังได้เงินหมื่น เฟสสอง มาแบ่งเบา

รัฐบาลเคาะแจกเงินหมื่น เฟส 2 ให้คนอายุ 60 ปีขึ้นไป ก่อนวันตรุษจีนปี 68

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การคลัง

คกก.นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ นัดประชุมครั้งแรก 19 พ.ย. ถกแจกเงินดิจิทัลรอบใหม่

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยภายหลังหารือกับ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง และหน่วยงานเศรษฐกิจว่า ในวงหารือได้เคาะวันประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ