อำนาจการปกครองและอำนาจอธิปไตยที่คณะราษฎร์ปล้นมาจากพระมหากษัตริย์ ด้วยข้ออ้างว่าจะมอบอำนาจอธิปไตยให้กับประชาชน และคำหวานว่า ประชาธิปไตยคืออำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แต่ความจริงเป็นประชาธิปไตยที่คณะราษฎรเป็นใหญ่ ไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่
14 ธ.ค.2564- นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์เฟซบุ๊ก เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ยมนาค หัวข้อ ประชาธิปไตยจอมปลอมของคณะราษฎร โดยมีรายละเอียดดังนี้
…………………………………………………….…………….
ช่วงที่มีกิจกรรมวันรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาคมที่ผ่านมา มีกลุ่มคนที่เรียกร้องประชาธิปไตยที่ซ้อนเร้นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง บิดเบือนประวัติศาสตร์เพื่อให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าหวงอำนาจ
โดยเขียนประวัติศาสตร์อย่างบิดเบือนว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สละราชสมบัติเพราะ คณะราษฎร์ไม่ยอมให้พระองค์ท่านแต่งตั้ง สมาชิกสภาประเภทที่ ๒ หรือก็คือสมาชิกวุฒิสภาในปัจจุบัน
แต่ความจริงพระองค์สละราชสมบัติเพราะไม่สามารถจะช่วยให้อำนาจอธิปไตยตกถึงมือประชาชนอย่างแท้จริง เพราะประชาชนไม่ได้มีสิทธิ์มีเสียงในการเลือกตั้งผู้แทน
…………………………………………………….…………….
เหตุการณ์จริงในช่วงเวลาตั้งแต่ วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ถึง ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗
เช้าตรู่ของของวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ คณะราษฎร์ภายใต้การนำของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลังจากนั้นได้ส่งโทรเลขไปถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งลงนามโดยพันเอกและทหารเสือทั้งสามนาย ได้แก่ พระยาพหลพลพยุหเสนา, พระยาทรงสุรเดช และพระยาฤทธิ์อัคเนย์
โทรเลขนี้มีใจความว่า “หากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงปรารถนาที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ คณะราษฎรจะเต็มใจถอดพระองค์ออกและแทนที่ด้วยพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่น”
เมื่อโทรเลขของคณะราษฎรมาถึง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้านายอีกสองพระองค์ทรงปรึกษากันถึงทางเลือกหลายทาง ซึ่งรวมไปถึงการเสด็จลี้ภัยไปยังต่างประเทศ และการจัดรัฐประหารซ้อนหรือการยอมจำนนเต็มตัว
หลังจากตัดสินพระทัยแล้วพระองค์ได้ทรงตอบกลับว่า
“พระองค์เต็มพระทัยที่จะอยู่ในราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญดังที่พระองค์ทรงสนับสนุนที่จะให้ประชาชนมีรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด”
ทั้งนี้มีเจ้านาย ทหารและข้าราชบริพารที่พร้อมจะสู้ตายกับคณะราษฎร์ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าฝ่ายของพระองค์จะเป็นผู้ชนะ แต่พระองค์ตัดสินพระทัยที่ปฏิเสธการต่อสู้กับคณะราษฎร์ ด้วยหตุผลว่า “… ข้าพเจ้าไม่สามารถนั่งอยู่บนบัลลังก์ที่เปื้อนเลือดได้”
หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบรับคณะราษฎร ดังมีข้อความตอนหนึ่งว่า
…..ข้าพเจ้าเห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อกับทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละมัย ไม่ให้ขึ้นเชื่อได้ว่าจลาจลเสียหายแก่บ้านเมือง…จึงยอมรับที่จะเป็นตัวเชิด เพื่อให้คุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวก เพราะถ้าข้าพเจ้าไม่ยอมรับเป็นตัวเชิด นานาประเทศคงจะไม่ยอมรับรองรัฐบาลใหม่นี้ซึ่งจะเป็นความลำบากยิ่งขึ้น
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก่ เจ้าพระยาพิชัยญาติ (ดั่น บุนนาค) ประธานสภาผู้แทนราษฎร
…………………………………………………….……………..
แต่แล้วหลังจากผ่านไปเพียงปีเศษหลังจากการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ทรงสละราชสมบัติ ในวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ขณะประทับอยู่ที่พระตำหนักโนล กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ทรงลงพระปรมาภิไธยท้ายพระราชหัตถเลขาประกาศสละราชสมบัติ พระราชทานให้กับเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐบาลไปเข้าเฝ้าฯ
โดยทรงมีเหตุผลในการตัดสินพระทัย ตามความในพระราชหัตถเลขา (ต้นฉบับ) ดังนี้
“…ข้าพเจ้าเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร
บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าความประสงค์ของข้าพเจ้า ที่จะให้ราษฎรมีสิทธิ์ออกเสียงในนโยบายของประเทศโดยแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เป็นอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือหรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติและออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป”
…………………………………………………….……………..
สาเหตุใหญ่ที่ทำให้ตัดสินพระทัยสละราชสมบัติคือการแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ ซึ่งในปัจจุบันคือ วุฒิสมาชิก(สว.)
ความขัดแย้งเรื่องการแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ เป็นเรื่องรุนแรงกกว่าเรื่องอื่น ซึ่งทรงเห็นว่าไม่ใช่วิถีทางของประชาธิปไตย
รัฐธรรมนูญของคณะราษฎรได้แบ่งสภาเป็น ๓ ยุคสมัย คือ
สมัยแรก คณะราษฎรจะเป็นผู้จัดตั้งสมาชิกสภาผู้แทนขึ้นจำนวน ๗๐ คน มีอายุ ๖ เดือน เพื่อจัดการเลือกตั้ง
สมัยที่ ๒ กำหนดให้สมาชิกสภามี ๒ ประเภท ประเภทที่ ๑ มาจากการเลือกตั้งจากจังหวัดต่างๆ ส่วนประเภทที่ ๒ มาจากการแต่งตั้งโดยสมาชิกสมัยที่ ๑ ที่คณะราษฎรเป็นผู้แต่งตั้ง ซึ่งก็คือมาจากคณะราษฎรเช่นกัน และมีอายุจนกว่าจะจัดประเทศเป็นปกติเรียบร้อย
สมัยที่ ๓ เมื่อราษฎรสอบไล่วิชาประถมศึกษาได้เป็นจำนวนเกินครึ่ง และอย่างช้าต้องไม่เกิน ๑๐ ปี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงจะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
หมายความว่าในสภาผู้แทนราษฎรจะมีสมาชิกสภาประเภท ๒ ที่มาจากคณะราษฎรถึง ๑๐ ปี หรือจนกว่าประชาชนจะสอบประโยคประถมศึกษาได้เกินครึ่ง
ในพระราชบันทึกฉบับหนึ่ง ได้ทรงแสดงความเห็นเกี่ยวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ ว่า
“…ข้าพเจ้าเห็นว่าสมาชิกประเภทที่ ๒ นี้ ยังควรมีอยู่จริง แต่ควรกำหนดให้เป็นบุคคลที่มีอายุไม่ต่ำกว่า ๓๕ ปี และเป็นผู้ที่เคยชินกับการงานมาแล้ว
การเลือกตั้งนั้น อย่าให้เป็นบุคคลใดคนหนึ่งเลือกได้ก็จะดี เพราะจะป้องกันไม่ให้มีเสียงได้ว่าเลือกพวกพ้อง เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องให้ประชาชนเลือก หรือให้บุคคลที่เรียกว่ามีความรู้ Intelligentsia เลือก…”
…………………………………………………….……………..
พระราชหัตถเลขา ประกาศสละราชสมบัติ มีข้อความตอนหนึ่งว่า
“…การที่ข้าพเจ้ายินยอมให้มีสมาชิก ๒ ประเภท ก็โดยหวังว่าสมาชิกประเภทที่ ๒ ที่ข้าพเจ้าตั้งนั้น จะเลือกจากบุคคลที่รอบรู้การงาน …ไม่จำกัดว่าเป็นพวกใดคณะใด เพื่อจะได้ช่วยเหลือนำทางให้สมาชิกที่ราษฎรตั้งขึ้นมา แต่ครั้นเมื่อถึงเวลาที่จะตั้งสมาชิกประเภทที่ ๒ ขึ้น ข้าพเจ้าหาได้มีโอกาสแนะนำในการเลือกเลย และคณะรัฐบาลก็เลือกเอาแต่เฉพาะผู้ที่เป็นพวกของตนเกือบทั้งนั้น มิได้คำนึงถึงความชำนาญ…”
“…รัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยมากรู้สึกแน่ใจว่าไม่จำเป็นจะต้องประนีประนอมต่อพระองค์ไม่ว่าในเรื่องใดๆ พอใจที่จะขัดพระราชดำริเสียทุกอย่าง ถ้าหากรัฐบาลมีประสงค์จะประสานงานต่อพระองค์ด้วยดีแล้ว คงจะกราบบังคมทูลปรึกษาก่อนที่จะดำเนินการอันสำคัญไป ถ้าได้ทำดั่งนั้นความยุ่งยากอย่างหนึ่งอย่างใดก็จะไม่เกิดขึ้นได้
แต่รัฐบาลมิได้ทำดั่งนั้น การใดๆรัฐบาลทำไปจนถึงที่สุดเสร็จเสียแล้วจึงกราบบังคมทูลพระกรุณา ไม่มีทางที่จะทรงทักท้วงให้แก้ไขโดยกระแสพระราชดำริอย่างใดอย่างหนึ่งได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะมีอะไรเหลือนอกจากความขึ้งเคียดแก่กัน
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีความอึดอัดพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก และทรงเห็นว่ายิ่งนานไปก็ยิ่งจะมีแต่ความขึ้งเคียดแก่กันมากขึ้น
จึงทรงเปิดโอกาสให้มีจัดตั้งพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ โดยไม่ทรงแต่งตั้งรัชทายาท เพื่อให้รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเลือกกันเองตามความพอใจ
นี่คือมูลเหตุที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ โดยเสด็จไปรับการรักษาพระเนตรที่ประเทศอังกฤษและไม่กลับมาประเทศไทย มีเพียงส่งพระราชสาส์นประกาศสละราชสมบัติมาจากกรุงลอนดอน
…………………………………………………….……………..
สรุป
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ได้สละราชสมบัติเพราะคณะราษฎร์ไม่ยอมให้พระองค์ท่านแต่งตั้งสมาชิกสภาประเภทที่ ๒ หรือก็คือสมาชิกวุฒิสภาในปัจจุบัน
แต่เป็นเพราะไม่สามารถจะช่วยให้อำนาจอธิปไตยตกถึงมือประชาชนอย่างแท้จริง เพราะประชาชนไม่ได้มีสิทธิ์มีเสียงในการเลือกตั้งผู้แทน
แต่คณะราษฎรเป็นผู้มีสิทธิผู้แต่งตั้งสมาชิกสภาแต่เพียงผู้เดียว
ตามเงื่อนไขที่คณะราษฎรกำหนดไว้ว่า เมื่อราษฎรสอบไล่วิชาประถมศึกษาได้เป็นจำนวนเกินครึ่ง และอย่างช้าต้องไม่เกิน ๑๐ ปี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงจะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
หมายความว่าในสภาผู้แทนราษฎรจะมีสมาชิกสภาประเภท ๒ ที่คณะราษฎรแต่งตั้งอยู่ในอำนาจอย่างน้อยถึง ๑๐ ปี หรือจนกว่าประชาชนจะสอบประโยคประถมศึกษาได้เกินครึ่ง
อำนาจการปกครองและอำนาจอธิปไตยที่คณะราษฎร์ปล้นมาจากพระมหากษัตริย์ ด้วยข้ออ้างว่าจะมอบอำนาจอธิปไตยให้กับประชาชน และคำหวานว่า
ประชาธิปไตยคืออำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน
แต่ความจริงเป็นประชาธิปไตยที่คณะราษฎรเป็นใหญ่ ไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่
…………………………………………………….……………..
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'เอ็ดดี้ อัษฎางค์' มีคำตอบให้! 'พิธา' ไม่เข้าใจทำไมกลายเป็นศัตรูเพื่อไทย
เอ็ดดี้-อัษฎางค์ ยมนาค อินฟลูเอ็นเซอร์การเมือง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ไม่เข้าใจทำไมกลายเป็นศัตรูกับเพื่อไทย อัษฎางค์ ยมนาค มีคำตอบให้
'อัษฎางค์' ชี้ระบอบทักษิณค่อยๆจุดไฟเผาตัวเอง
อัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์เฟซบุ๊ก เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ระบุข้อความสั้นๆว่า ทษ.-รพ.ตร.-เอาลูกสาวมาเป็นนา
'เอ็ดดี้' ชำแหละ! แผนรัฐบาลคุม 'แบงก์ชาติ' บรรลุ 6 เป้าหลัก
นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "เอ็ดดี้ อัษฎางค์" ในหัวข้อ "อะไรคือจุดประสงค์ของการแทรกแซงแบงก์ชาติจากฝ่ายการเมือง"
เอ็ดดี้ ข้องใจปม ‘เกาะกูด’ ถาม ‘ทักษิณ’ มีข้อตกลงอะไรกับ ‘ฮุนเซน’ หรือไม่
ทักษิณ ชินวัตร ไร้น้ำยา ไม่สมราคาคุย หรือ ทักษิณ ชินวัตร มีข้อตกลงอะไรกับฮุนเซน หรือไม่ อย่างไร เป็นคำถามที่ค้างคาใจประชาชนคนไทยทั้งชาติ
'อัษฎางค์' ข้องใจ ม.นเรศวร จ้างฝรั่งมาบั่นทอนสถาบันพระมหากษัตริย์ หรืออย่างไร?
อัษฎางค์ ยมนาค โพสต์เฟซบุ๊ก เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ระบุข้อความว่า มหาวิทยาลัยนเรศวรจ้างฝรั่งมาบั่นทอนสถาบันพระมหากษัตริย์ หรืออย่างไ
สงสัย 'อเมริกา' คือจุดเริ่มต้นการชุมนุมของนิสิตนักศึกษาเดือนตุลาถึงขบวนการสามกีบหรือไม่?
อัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า สหรัฐอเมริกา(ผู้รักษาสันติภาพ ที่ทำลายสันติภาพ) คือจุดเริ่มต้นการชุมนุม