นายกฯ ร่ายนโยบาย 50 นาที พิทักษ์สถาบัน เติมเงินหมื่นฟื้นเศรษฐกิจ

‘เศรษฐา’ ร่ายยาว 50 นาที เสนอนโยบายต่อรัฐสภา เติมเงินหมื่นให้เศรษฐกิจหมุนเวียนทุกพื้นที่ โชว์ 4 นโยบายเร่งด่วนทำทันที เกษตรกรอู้ฟู่เป๋าตุงภายใน 4 ปี พิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์

11 ก.ย. 2566 – ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 09.30 น. มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เริ่มขึ้นวันแรก โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม ทั้งนี้ก่อนเข้าสู่เนื้อหา นายวันมูหะมัดนอร์ ชี้แจงว่าการอภิปรายนโยบายรัฐบาล กำหนดวันที่ 11 – 12 ก.ย. รวมเวลาพิจารณา 30 ชั่วโมง แบ่งเป็น ประธานที่ประชุม 1 ชั่วโมง, คณะรัฐมนตรี (ครม.)แถลงและชี้แจง 5 ชั่วโมง, สว. 5ชั่วโมง, สส.พรรคร่วมรัฐบาล 5 ชั่วโมง และ สส.พรรคฝ่ายค้าน 14 ชั่วโมง ทั้งนี้ ฝ่ายค้านจะแบ่งเวลาอภิปรายวันละ 7 ชั่วโมง

“การแถลงนโยบายไม่มีการลงมติไม่ไว้วางใจ สมาชิกรัฐสภามีสิทธิซักกถาม และคัดค้านความเหมาะสมของนโยบาย การบริหารราชการแผ่นดินตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ทั้งนี้รัฐมนตรีเท่านั้นมีอภิปรายตอบข้อซักถามหรือคัดค้านของสมาชิกรัฐสภา สำหรับการอภิปรายต้องยึดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา” นายวันมูหะมัดนอร์ ระบุ

โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาว่า ครม. มีนโยบายรัฐบาลมุ่งมั่นสร้างความสามัคคี ปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคม นำไปสู่ความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของประเทศให้ก้าวหน้า วันนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายเชิงเศรษฐกิจ สังคม การเมืองในประเทศที่ถูกซ้ำเติมจากการแพร่ระบาดเชื้อโควิด19 เกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ยังไม่สามารถแก้ไขเยียวยาได้เป็นรูปธรรม ขณะที่ปัญหาสังคมและการเมืองยังยืดเยื้อ ฝังรากลึก ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ เศรษฐกิจประเทศกว่าร้อยละ30.9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) กระจุกตัวอยู่ในไม่กี่หมวดสินค้า ภาคส่งออกติดลบติดต่อกัน 3ไตรมาส ภาวะหนี้ครัวเรือนสูงกว่าร้อยละ90 ของจีดีพี หนี้สาธารณะสูงกว่าร้อยละ61 อาจกลายเป็นข้อจำกัดด้านการคลังและการบริหารประเทศในอนาคต

ส่วนภาคการเกษตร ประชากรกว่า 10 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของกำลังแรงงาน อยู่ในภาคที่ทำงานหนัก แต่กลับสะท้อนออกมาเป็นมูลค่าเพียงร้อยละ 7 ต่อจีดีพี ส่งผลให้เกษตรกรไทยมีหนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนละ 3 แสนบาท ส่วนด้านการเมืองมีความเห็นต่างแบ่งแยกทางความคิด ทำให้สังคมอยู่ในจุดน่ากังวล ข้อกฎหมายไม่ทันสถานการณ์บ้านเมืองปัญหาทุจริต อาชญากรรม ยาเสพติดรุนแรงขึ้น ความท้าทายเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาความยากจน เหลื่อมล้ำ ทำให้ประเทศไทยขาดความพร้อมที่จะเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ เกิดวิกฤติศรัทธาประชาชน กลายเป็นเป้าหมายของรัฐบาลนี้ต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน สร้างความพร้อม และวางรากฐานเพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่า

“รัฐบาลชุดนี้มีนโยบายพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง รัฐบาลมีกรอบนโยบายบริหารและพัฒนาประเทศตามกรอบความเร่งด่วนได้แก่ กรอบระยะสั้น จะต้องกระตุ้นการใช้จ่าย จุดประกายให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจกลับมาเติบโตอีกครั้ง เร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าประชาชนอย่างรวดเร็ว ส่วนกรอบระยะกลางและระยะยาว จะเสริมขีดความสามารถให้ประชาชนผ่านการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นายเศรษฐา ระบุ

นายกฯ กล่าวว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันประเทศไทยเปรียบเหมือนคนป่วยที่ได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านในช่วงโควิด19 จนมีความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอย จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจและกระตุ้นการใช้จ่าย เพิ่มความเชื่อมั่น ดึงดูดการลงทุน นโยบายเติมเงิน 1หมื่นบาท ผ่านดิจิตอลวอลเล็ต จะเป็นตัวจุดชนวนกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง จะใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง กระจายไปทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอย นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ เกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายรอบ รัฐบาลจะได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบภาษี และจะช่วยวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้ประเทศ เตรียมความพร้อมเข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่

นอกจากนี้รัฐบาลยังมีนโยบายเร่งด่วนอีก 4 ข้อ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ เร่งแก้ปัญหาช่วยเหลือประชาชนได้แก่ 1.การแก้ปัญหาหนี้สินภาคเกษตร ภาคธุรกิจและภาคประชาชน ด้วยการพักหนี้เกษตรกรตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม รวมถึงมาตรการช่วยประคองภาระหนี้สินและต้นทุนการเงิน สำหรับภาคประชาชน ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการวิสาหกิจขนากลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ฟื้นตัวกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง

2.ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่ประชาชน จะสนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมทันที จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ วางแผนความต้องการและสนับสนุนการจัดหาแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เร่งเจรจาการใช้พลังงานในพื้นที่อ้างสิทธิกับประเทศข้างเคียง และสำรวจแหล่งพลังเพิ่มเติม เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน

3.ผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว สร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพื่อสร้างงานให้ประชาชนจำนวนมาก จะเปิดประตูรับนักท่องเที่ยวด้วยการอำนวยความสะดวก ปรับปรุงขั้นตอนขอวีซ่า การยกเว้นเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่ากลุ่มนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศเป้าหมาย การยกระดับประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงสินค้า งานเทศกาลระดับโลก ปรับปรุงสนามบิน และจัดการเที่ยวบ้นของสนามบินทั่วประเทศให้มีประสิทธิภาพ

4.การแก้ปัญหาความเห็นแตกต่างเรื่องรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้มีรัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่แก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ รัฐบาลจะหารือแนวทางทำประชามติ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมออกแบบกติกาที่เป็นประชาธิปไตยทันสมัย เป็นที่ยอมรับร่วมกัน รวมถึงหารือแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภา ให้ประเทศเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง รัฐบาลจะสร้างความชอบธรรมการบริหารราชการแผ่นดินด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง โปร่งใส เพราะการมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือ เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางความคิดและสังคมที่สำคัญของประเทศ ทำให้ประเทศมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือที่ใช้งบประมาณรัฐน้อยที่สุด แต่ได้ประสิทธิภาพมากสุดในการพัฒนาประเทศ

นายเศรษฐา กล่าวว่า ส่วนนโยบายระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลมีแนวทางสร้างรายได้ โดยใช้การทูตเศรษฐกิจเชิงรุกเปิดประตูสินค้าและการบริการของประเทศสู่ตลาดใหม่ๆอาทิกลุ่มสหภาพยุโรป ประเทศตะวันออกกลาง อินเดีย แอฟริกา อเมริกาใต้ การเร่งการเจรจากรอบความร่วมทางการค้าระหว่างประเทศ(FTA) ปรับปรุงกระบวนการพิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อดึงดูดการลงทุน การส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ อาทิ พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมสีเขียว การพัฒนาต่อยอดเขตเศรษฐกิจพิเศษและระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 4 ภาค ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การพัฒนาเศรษฐกิจกการค้าตามแนวชายแดน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทั้งทางถนน ทางน้ำ ทางราง ทางอากาศ ตอบสนองความต้องการสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ของโลก ส่วนภาคการเกษตร จะสร้างรายได้ภาคการเกษตร โดยใช้หลักตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้โดยสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพภาคการเกษตร การหาตลาดให้สินค้าเกษตรได้ขายในราคาที่เหมาะสม การฟื้นอุตสาหกรรมประมง แก้ไขข้อกฎหมายให้เหมาะสม จะบริหารจัดการภาคการเกษตรที่ครบถ้วนทุกด้าน มีเป้าหมายทำให้รายได้เกษตรกรทั้งประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญภายใน 4 ปี

นอกจากนี้รัฐบาลยังมีนโยบายสร้างและขยายโอกาสให้ประชาชน โดยสามารถใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ เพื่อสร้างโอกาสการมีอาชีพ รายได้ จะเร่งดำเนินการให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดิน พิจารณาเอกสารสิทธิการใช้ประโยชน์ให้เป็นโฉนด ให้นำไปต่อยอดเข้าถึงแหล่งทุนได้ รวมถึงการปลดล็อกแก้ไขกฎระเบียบ ข้อบังคับของรัฐที่เป็นข้อจำกัดของประชาชน เพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนในการสร้างรายได้ เช่น การปลดล็อกกฎระเบียบสุราพื้นบ้าน การบริหารรูปแบบการกระจายอำนาจ(ผู้ว่าฯซีอีโอ) เพื่อสร้างประสิทธิภาพการบริหารงานแต่ละจังหวัดให้ตอบสนองความต้องการประชาชนที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่โดยใช้เทคโนโลยีทันสมัยมาให้บริการ ขจัดช่องโหว่การทุจริต ลดค่าใช้จ่าย ให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น การสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ (Solf Power)ของประเทศ ยกระดับพัฒนาความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยให้สร้างมูลค่าและสร้างรายได้ จะสร้างรายได้ผ่านการส่งเสริม 1ครอบครัว 1ทักษะ Solf Power การปฏิรูปการศึกษา สร้างศักยภาพของผู้เรียนตามความถนัด การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะร่วมกันพัฒนากองทัพให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาศักยภาพประเทศ จะปรับโครงสร้างหน่วยงานความมั่นคงให้ทันสมัย จะร่วมพัฒนากองทัพให้มีศักยภาพ โดยเปลี่ยนรูปแบบเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ ปรับปรุงการฝึกนักศึกษาวิชาทหารให้เป็นแบบสร้างสรรค์ ลดกำลังพลนายทหารชั้นสัญญาบัตรระดับสูงกำหนดอัตรากำลังในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) ให้สอดคล้องบทบาทภารกิจ ปรับปรุงการจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานกระทรวงกลาโหมให้โปร่งใสขณะที่ด้านความปลอดภัยจะปราบปรามผู้มีอิทธิพลและยาเสพติดให้หมดจากสังคมไทย นอกจานี้รัฐบาลจะดำเนินนโยบายการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์และสุขภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเชิงเศรษฐกิจ การยกระดับนโยบาย 30บาท รักษาทุกโรค ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ต้องเดินทางไกลไปโรงพยาบาลในเมือง ลดความแออัดและภาระบุคลากรทางการแพทย์ การผลักดันกฎหมายสนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ

นายเศรษฐา กล่าวว่า ในอนาคต 4 ปีข้างหน้า จะเป็น 4 ปี ที่รัฐบาลวางรากฐานและโครงสร้างพื้นฐานใหม่ให้ประเทศ โดยยึดหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะกรณีการดำเนินงานที่กระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่วนการบริหารค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินนโยบายรัฐนั้นรัฐบาลจะดำเนินการอย่างมีเป้าหมายทั้งในด้านการเจริญเติบโต การลดความเหลื่อมล้ำ การรักษาเสถียรภาพ ให้ความสำคัญกับกรอบวินัยการเงินการคลังของประเทศอย่างเคร่งครัดรัฐบาลจะใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสม จะตระหนักถึงข้อจำกัดด้านรายได้ โดยเฉพาะรายได้จากภาษีประชาชน จะเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีควบคู่ไปกับการเร่งส่งเสริมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้ประชาชน ท้ายที่สุดรัฐบาลขอให้ความเชื่อมั่นแก่ประชาชนว่า จะบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนและประเทศเป็นที่ตั้ง จะตั้งใจ ทุ่มเทสรรพกำลังดำเนินนโยบาย เพื่อขับเคลื่อนและยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิตประชาชน เพื่อให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าประชาชนมีความเป็นอยู่ดี มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งต่ออนาคตที่ดีกว่าให้ลูกหลาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฯ ใช้เวลาแถลงนโยบายทั้งสิ้น 50 นาที.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ศิริกัญญา' ปูดรัฐบาลวางแผนยึดการบินไทย

“ศิริกัญญา” ชวนจับตา “รัฐบาล” วางแผนยึด “การบินไทย” ส่งผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ เพิ่ม 2 คน กุมเสียงข้างมาก คลังจ่อซื้อหุ้นเพิ่มทุนเต็มสิทธิ์ ถามเอาเงินจากไหน ไม่พ้นต้องควักเงินภาษี

'ปชน.' ตีปี๊บ! 1 ปีฝ่ายค้านผลงานเพียบ เมินเรตติ้งร่วง โต้ฮั้ว พท.

'พรรคประชาชน' โวผลงานฝ่ายค้าน 1 ปี' เสนอกฎหมาย 84 ฉบับ ตั้งเป้าทำงานผสมผสานได้ทั้ง 'รุก-รับ' ปัดฮั้ว 'เพื่อไทย' เมินผลโพลคะแนนร่วง เปรียบ 'เตะบอล' ต้องรอจบ 90 นาที

'เอ็ดดี้' ชำแหละ! แผนรัฐบาลคุม 'แบงก์ชาติ' บรรลุ 6 เป้าหลัก

นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "เอ็ดดี้ อัษฎางค์" ในหัวข้อ "อะไรคือจุดประสงค์ของการแทรกแซงแบงก์ชาติจากฝ่ายการเมือง"

'กูรูใหญ่' แฉเบื้องลึก! ทำไมนักการเมืองยุคนี้ไม่กลัว 'ยึดอำนาจ'

นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย และอดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า การเมืองไทยกำลังเข้าสู่ทางตัน