‘วิโรจน์’ บอก ‘ก.ก.’ ยินดีรับฟัง ’ถอย-ลด’ แก้ม.112 อ้างยืดหยุ่นตลอด MOU ก็ไม่มี

แฟ้มภาพ

24 ก.ค.2566-นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล(ก.ก.) โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ “แนวคิดในการบริหารประเทศของพรรคก้าวไกล เป็นอย่างไร ทำไมต้องเกี่ยงต้องกลัวกันนัก” ระบุว่า หากติดตามสถานการณ์ทางการเมืองในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา กับคำสัมภาษณ์เกี่ยวกับมุมมองต่อพรรคก้าวไกลประมาณว่า “ไม่ได้ติดขัดแค่เรื่อง ม.112 แต่แนวทางอุดมการณ์ต่างกัน ไม่สามารถให้พรรคก้าวไกลมีอำนาจทางการเมืองมากไปกว่านี้ได้” และ “ไม่สามารถทำงานได้ หากมีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาล เพราะแนวความคิดต่างกัน” สะท้อนว่า ประเด็นเรื่องการแก้ไข ม.112 น่าจะเป็นเพียงข้ออ้าง อย่างที่หลายคนตั้งข้อสันนิษฐานไว้จริงๆ และถึงแม้ว่ามันจะเป็นเพียงข้ออ้างก็ตาม หาก สว. ท่านใด หรือพรรคการเมืองไหน ยังคงมีความกังวลในเรื่องนี้ พรรคก้าวไกลก็ยินดีเปิดใจรับฟังครับ

เพียงแต่อยากให้สรุปเป็นข้อเสนอมาเลยว่า คำว่า “ถอย” หรือ “ลด” ที่พูดๆ กัน นั้นมีรายละเอียดอะไรบ้าง ผมเชื่อว่าหากไม่กระทบกับจุดยืน และเจตนารมณ์ที่ดีอย่างรุนแรง การยืดหยุ่นภายใต้สถานการณ์ที่เป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นการขยายกรอบระยะเวลา การจัดลำดับก่อนหลังในการดำเนินการ การมีกระบวนการเพิ่มเติม ในการทบทวนเนื้อหา และรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายอย่างรอบคอบรอบด้านมากขึ้น ก็เป็นเรื่องที่พิจารณาได้

ที่ผ่านมาการแก้ไข ม.112 เราก็ยืดหยุ่นมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการไม่บรรจุให้เป็น MOU ของ 8 พรรคร่วม และไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ต่อพรรคร่วมรัฐบาลเลย เอาว่าวาทกรรมเรื่อง “ถอย” หรือ “ลด” เอาเนื้อหามากางคุยกันก่อนดีกว่าครับ เพื่อจะได้คลี่คลายความกังวลร่วมกันอย่างเปิดเผย และเป็นรูปธรรม มิฉะนั้นเรื่อง ม.112 ก็จะถูกนำมาเป็นข้ออ้างลอยๆ แบบไม่จบไม่สิ้น

สำหรับข้อกล่าวหาที่ระบุว่า แนวความคิดของพรรคก้าวไกลนั้นมีความแตกต่าง ขนาดที่ถึงกับต้องพูดว่า ถ้ามีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาลด้วย จะทำงานไม่ได้ แถมยังปล่อยให้พรรคก้าวไกลมีอำนาจทางการเมืองไปมากกว่านี้ไม่ได้ ผมว่าประเด็นนี้ ทำให้ประชาชนอยากรู้นะครับว่า แนวความคิดของพรรคก้าวไกล ในการบริหารประเทศ นั้นเป็นอย่างไร ทำไมถึงกับต้องเกี่ยง ต้องกลัวกันถึงขนาดนี้ ผมตอบสั้นๆ ได้เลยครับว่า แนวความคิดของพรรคก้าวไกลในการจัดการงบประมาณ และการบริหารราชการแผ่นดิน จริงๆ แล้วเป็นเรื่องพื้นฐานที่ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาทำกัน และไม่ได้มีอะไรที่น่ากลัวเลยครับ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 8 ประเด็น ดังนี้

1. การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเอาจริงเอาจัง 2. การเปิดเผยข้อมูลการบริหารราชการอย่างโปร่งใส การใช้จ่ายงบประมาณต้องมีประสิทธิภาพ 3. การจัดการกับปัญหาทุนผูกขาด ให้ประชาชนมีโอกาสลืมตาอ้าปาก ประกอบกิจการตามความฝันของตน 4. การจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ไม่ยอมให้กลุ่มอภิสิทธิ์ชนเครือข่ายอุปถัมภ์ กินรวบทรัพยากรของประเทศ ยึดกุมสัมปทานที่เอารัดเอาเปรียบ มัดมือชกรีดนาทาเร้นประชาชน อย่างไม่เป็นธรรม 5. การกระจายอำนาจ กระจายการลงทุนไปสู่ท้องถิ่น ไม่กระจุกความเจริญไว้ที่ส่วนกลาง 6. การปรับปรุงสวัสดิการ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมกันในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน 7. การลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อนำพาประเทศไปสู่ความก้าวหน้า พร้อมที่จะแข่งขัน และร่วมมือกับนานาอารยประเทศ 8. การปกป้องคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชน ในฐานะที่ประชาชนเป็นเจ้าของอธิปไตย และกองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน ไม่มีการทำรัฐประหารอีกต่อไป

แนวความคิดทั้ง 8 ข้อ ข้างต้น ล้วนเป็นเรื่องที่ดีทั้งสิ้น ผมไม่เห็นว่าจะมีตรงไหนที่น่ากลัวเลยครับ คนที่บอกว่าทำงานกับแนวความคิดของพรรคก้าวไกลไม่ได้ อาจจะยังไม่เข้าใจก็ได้ ก็เลยรู้สึกกังวลไปเอง อย่างไรสามารถทบทวนใหม่ได้นะครับ ถ้าบอกว่า แนวความคิดของพรรคก้าวไกล จะทำให้โกงไม่ได้ ทุจริตไม่ได้ คอร์รัปชั่นไม่ได้ ฮั้วประมูลไม่ได้ อันนี้ผมจะไม่เถียงเลยสักคำ จริงๆ แล้ว สถานการณ์ในตอนนี้ อาจจะเป็นการปะทะกันระหว่างวลี 2 วลี อยู่ก็ได้นะครับ วลีแรก “กูไล่มึงออก มึงไม่ออกกูจะแดกยังไง” กับวลีที่สอง “กูไม่ออก ออกแล้วประชาชนจะเอาอะไรแดก” ซึ่งประชาชนคงต้องติดตามต่อไปว่าในท้ายที่สุดแล้ว วลี 2 วลีนี้ วลีไหนจะเป็นฝ่ายชนะ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยุ่งแล้ว! อดีตรองหน.พรรคใหญ่ แนะ ‘ปชน.’ ชิงทาบ ’ภท.-รทสช.-พปชร.ปชป.’ตั้ง รบ.ขั้วใหม่

ครรลองประชาธิปไตย พรรคประชาชนมีที่นั่งในสภาฯมากที่สุด ในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน น่าจะลองทาบทาม

กมธ.ทหาร ถกที่ตั้งค่ายทหาร มทบ.26 ทับที่ชาวบ้าน รองผบ.ฯ รับมีคลาดเคลื่อน

ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทหาร สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กรณีการตั้งค่ายทหารมณฑลทหารบกที่ 26 หรือ มทบ.26