หนุน “Smart Grid” ด้วย “Smart Energy” ชูโซลาร์และแบตเตอรี่ ช่วยระบบไฟฟ้าแม่ฮ่องสอนมั่นคง

หากใครเคยไปเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน คงจะคุ้นกับชื่อตำบล “ผาบ่อง” กันอยู่บ้าง เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นชุมชนที่มีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่และปกาเกอะญอ อีกทั้งพื้นที่ยังรายล้อมไปด้วยภูเขา ลำธาร ต้นไม้ ทุ่งนาสีเขียว และสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ อย่างสะพานข้าว บ่อน้ำร้อน และจุดชมวิว ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนนัก ปัจจุบันผาบ่องมีอีกหนึ่งสถานที่สำคัญ เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่ช่วยหล่อเลี้ยงหัวใจให้กับระบบไฟฟ้าของจังหวัด นั่นก็คือ โครงการนำร่องการพัฒนาสมาร์ทกริดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่มีระบบผลิตไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์ฟาร์ม ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System: BESS) ที่พร้อมจ่ายไฟเสริมความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้า

แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นทุกปี แต่ด้วยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูง ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวน และเขตอุทยานแห่งชาติ ทำให้ไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ หรือแม้แต่ระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงได้ จังหวัดนี้จึงต้องพึ่งพาแหล่งผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนแม่สะงา และโรงไฟฟ้าพลังน้ำผาบ่อง ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) โรงไฟฟ้าดีเซลแม่ฮ่องสอน และโซลาร์ฟาร์ม ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นส่วนเสริมหากระบบส่งไฟฟ้าขนาดแรงดัน 115 กิโลโวลต์ ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่เชื่อมโยงไฟฟ้ามาจากจังหวัดเชียงใหม่ด้วยระยะทางยาวกว่า 170 กิโลเมตร มีปัญหาขัดข้อง เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นป่าเขา มักเกิดเหตุการณ์ลมพายุพัดต้นไม้ล้มพาดสายไฟฟ้าอยู่เสมอ อีกทั้งยังมีการเผาป่า และดินโคลนถล่ม แม่ฮ่องสอนจึงมีเหตุการณ์ไฟฟ้าตกไฟฟ้าดับอยู่บ่อยครั้งและยาวนานที่สุด โครงการนำร่องการพัฒนาสมาร์ทกริดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนจึงเกิดขึ้นตามแผนพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะของประเทศไทยในระยะสั้น พ.ศ. 2560 – 2564 ด้วยความร่วมมือของจังหวัดแม่ฮ่องสอน กระทรวงพลังงาน พพ. กฟผ. และ กฟภ. เพื่อจำลองโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศไทยให้มีขนาดเล็กลง ครอบคลุมเฉพาะพื้นที่อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เพื่อเป็นต้นแบบในการนำเทคโนโลยีสมาร์ทกริดเข้ามาบริหารจัดการระบบไฟฟ้า ซึ่ง 1 ใน 4 ยุทธศาสตร์ Smart สำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนโครงการฯ นี้ได้ คือการเดินหน้า Smart Energy” ที่ประกอบไปด้วยโซลาร์ฟาร์ม แบตเตอรี่ และระบบผลิตไฟฟ้าบนหลังคา หรือ โซลาร์รูฟท็อป

“บนพื้นที่ทั้งหมด 45 ไร่ เราใช้พื้นที่ 40 ไร่ในการติดตั้งโซลาร์ฟาร์ม ขนาดกำลังผลิต 3 เมกะวัตต์ อีกแห่งหนึ่ง ที่มาพร้อมแบตเตอรี่ 4 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออนรุ่นใหม่ ไม่ปล่อยไอกรดและไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม การที่เลือกผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนด้วยโซลาร์ฟาร์ม เป็นเพราะสภาพพื้นที่แม่ฮ่องสอนไม่เหมาะสมกับการติดตั้งกังหันลม ส่วนพลังน้ำนั้นมีอยู่แล้ว เมื่อมีพื้นที่โล่งเป็นที่ราบ มีแสงแดดในระดับความเข้มที่เหมาะสม และอยู่ติดกับพื้นที่เดิมของโรงไฟฟ้าดีเซลที่มีความพร้อมของระบบส่ง จึงเหมาะแก่การทำโซลาร์ฟาร์มไว้เสริมการใช้ไฟฟ้าของชาวแม่ฮ่องสอน และยังมีแบตเตอรี่ไว้เก็บไฟฟ้าเพื่อจ่ายไฟฟ้าในยามไฟฟ้าตกไฟฟ้าดับ เสริมการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังน้ำและโรงไฟฟ้าดีเซลได้ เพื่อจ่ายไฟฟ้าให้กับอาคารสถานที่ราชการ โรงพยาบาล ที่มีความสำคัญและความจำเป็น” นายอนุศักดิ์ จันทคราม หัวหน้าโครงการพัฒนาโครงการนำร่องการพัฒนาสมาร์ทกริด กฟผ. เล่าให้เห็นภาพ

แผงโซลาร์เซลล์ชนิดโมโนคริสตัลไลน์ กว่า 5,500 แผง เริ่มติดตั้งตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 ปัจจุบันแล้วเสร็จและเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2566 ซึ่งก่อนการเริ่มงานโซลาร์ฟาร์ม ทางโครงการฯ ได้เตรียมความพร้อมด้านสาธารณูปโภคต่าง ๆ ทั้งการปรับพื้นที่เดิมที่เคยรกร้าง สร้างถนน สะพาน การระบายน้ำ ก่อสร้างบ่อตกตะกอน บ่อกักเก็บน้ำเสีย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชุมชน และปลูกต้นไม้ให้ความร่มรื่น โดยให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของคนในชุมชนด้วยการจ้างงานสร้างรายได้ ไปพร้อม ๆ กับการเรียนรู้และรับฟังทุกเสียงจากชุมชนหมู่ 1 และหมู่ 12 ตลอดระยะเวลาดำเนินการ

เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ และลดการใช้ไฟฟ้าจากระบบไฟฟ้าหลักให้มากขึ้น ทางโครงการฯ ยังได้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป อีก 200 กิโลวัตต์ ให้กับ 6 สถานที่ราชการในอำเภอเมืองจังหวัดแม่ฮ่องสอน และตำบลผาบ่อง เริ่มจาก เทศบาลแม่ฮ่องสอน 40 กิโลวัตต์ โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ 88 กิโลวัตต์ สถานีตำรวจแม่ฮ่องสอน 10 กิโลวัตต์ ที่ว่าการอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน 30 กิโลวัตต์ สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลผาบ่อง 25 กิโลวัตต์ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลผาบ่อง 7 กิโลวัตต์ โดยติดตั้งแบตเตอรี่ให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลผาบ่อง เพื่อให้สามารถเก็บวัคซีนในช่วงไฟฟ้าตกไฟฟ้าดับได้โดยไม่ต้องกังวล จากการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปและแบตเตอรี่ทั้งหมดตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 จนถึงปัจจุบัน หน่วยงานราชการต่าง ๆ สามารถลดค่าไฟฟ้าลงอย่างเห็นได้ชัด

“Smart Energy ช่วยเสริมศักยภาพของระบบไฟฟ้าในพื้นที่อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนให้มั่นคง โดยเดินหน้าควบคู่ไปกับยุทธศาสตร์อีก 3 Smart คือ Smart System, Smart City และ Smart Learning ซึ่งในอนาคตจะบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าเดิม และระบบส่งไฟฟ้าให้ทันสมัย รองรับแรงดันไฟฟ้าได้มากขึ้น ตอบสนองการใช้ไฟฟ้า และเชื่อมโยงเครือข่ายระบบไฟฟ้าได้ทั้งหมด” หัวหน้าโครงการพัฒนาโครงการนำร่องการพัฒนาสมาร์ทกริด กฟผ. กล่าวเพิ่มเติม

ปัจจุบัน โครงการนำร่องการพัฒนาสมาร์ทกริดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เตรียมพัฒนาสู่แผนพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะของประเทศไทยในระยะกลาง พ.ศ. 2565 – 2574 พร้อมเดินหน้าส่งเสริมระบบบริหารจัดการพลังงานให้ชาวแม่ฮ่องสอนใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ซึ่งที่ผ่านมา ทางโครงการฯ ได้มีการเปิดตัวสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ายานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) เพื่อให้บริการแก่ชาวแม่ฮ่องสอนไปแล้ว และเร็ว ๆ นี้ จะมีการเปิดศูนย์การเรียนรู้ต้อนรับนักท่องเที่ยวและชาวแม่ฮ่องสอน เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงาน เทคโนโลยีสมาร์ทกริด และศิลปวัฒนธรรม ต่อยอดการท่องเที่ยว สร้างเศรษฐกิจที่ดีให้แก่ชุมชน เพื่อให้แม่ฮ่องสอนเป็นต้นแบบเมืองสีเขียวที่มีความมั่นคงในด้านพลังงาน นำไปสู่การพัฒนาให้เป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนในอนาคตอันใกล้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ' แบตเตอรี่ยักษ์กักเก็บพลังงานสะอาด

ความท้าทายในการก้าวข้ามขีดจำกัดของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่กำลังมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นในระบบไฟฟ้าเพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ คือ การบริหารจัดการความผันผวนของพลังงานหมุนเวียนที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงบางช่วงเวลา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

'โรงไฟฟ้า SMR' ตัวเปลี่ยนเกมพลังงานสะอาด

ภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องและแรงกดดันจากมาตรการทางการค้าถือเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้ทั่วโลกพยายามดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

Fitch Ratings คงอันดับความน่าเชื่อถือของ กฟผ. ในระดับสากลที่ระดับ 'BBB+'

บริษัท Fitch Ratings (Fitch) ประกาศผลการทบทวนการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของ กฟผ. ในระดับสากลที่ระดับ “BBB+” ซึ่งเป็นระดับเทียบเท่ากับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย และให้มุมมองความน่าเชื่อถือ (Outlook) ของ กฟผ. อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable)

“สวนผักทางไฟ” พลิกพื้นที่แห้งแล้งใต้แนวสายส่งไฟฟ้าสู่แหล่งอาหารบ้านโนนยาง

“เคล” ราชินีแห่งผักใบเขียว หรือคะน้าใบหยิก ที่กำลังเตรียมตัดขายในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เป็นภาพที่เกษตรกรบ้านโนนยาง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด

กฟผ. ร่วมส่งความสุขล้นใจแบบรักษ์โลก เป็นของขวัญปีใหม่ 2568 ให้คนไทยฉลองแบบแฮปปี้

กฟผ. เตรียมของขวัญปีใหม่ 2568 ให้คนไทยในรูปแบบ 3 ส่วนลดพิเศษ ส่วนลดผลิตภัณฑ์เบอร์ 5 30,000 สิทธิ์ ส่วนลดค่าชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า

กฟผ.หนุน'ยกน้ำหนัก–เรือพาย'ต่อ สร้างพลังใจดันนักกีฬาไทย สู่ระดับโลก

กฟผ. สนับสนุนงบประมาณ สมาคมยกน้ำหนักฯ สมาคมเรือพายฯ ต่อเนื่องอีก 4 ปี  มุ่งพัฒนาศักยภาพนักกีฬาไทยสู้ศึกทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อสร้างรอยยิ้ม และความสุขให้คนไทย