คุก 2 ปีไม่รอลงอาญา 'ธาริต' ตั้งข้อหากลั่นแกล้ง 'มาร์ค-สุเทพ' สนองรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ศาลฎีกาพิพากษา ธาริต 2 ปีไม่รอลงอาญา ตั้งข้อหากลั่นแกล้ง "มาร์ค อภิสิทธิ์-สุเทพ" สั่งฆ่าประชาชนสลายม็อบเสื้อแดง ปี 53 ศาลชี้เจตนากลั่นแกล้งชัดเจน สนองรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ลูกน้อง 3 คนยกประโยชน์ความสงสัย กระทำไปโดยสุจริตตามคำสั่งธาริต ส่งตัวเข้าเรือนจำทันที

10 ก.ค.2566 - ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาศาลฎีกา ครั้งที่ 10 คดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ หมายเลขดำ อ.310/2556 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ), พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อดีตหัวหน้าชุดสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ จากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553, พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่1-4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 วรรคสอง กรณีนายธาริตกับพวกแจ้งข้อหาดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ฐานสั่งฆ่าประชาชน ในการสลายม็อบแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553

จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธต่อสู้คดี

คดี ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้ลงโทษพวกจำเลยด้วย

ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พวกจำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง พิพากษากลับให้จำคุกจำเลยคนละ 3 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยไว้คนละ 2 ปี ไม่รอลงอาญา

จำเลยทั้งสี่ยื่นฎีกา ต่อมาวันที่ 24 มี.ค.66 นายธาริต ได้ถอนคำให้การเดิมจากที่ให้การปฏิเสธ เป็นรับสารภาพ ไม่ต่อสู้คดี

โดยเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายธาริต ไม่ได้มาศาลเพื่อฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาศาลฎีกาตามนัด มีเพียงทนายความมาแสดงใบรับรองแพทย์จาก รพ.พญาไท 2 ว่า นายธาริต มีอาการป่วยบ้านหมุน ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ จึงขอเลื่อนฟังคำพิพากษาศาลฎีกาออกไปก่อน

ศาลอาญาพิจารณาแล้วเห็นควรส่งใบรับรองแพทย์ ของนายธาริต ให้ศาลฎีกาพิจารณา

โดยในวันเดียวกัน ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ใบรับรองแพทย์แต่ละครั้งของนายธาริต จำเลยที่1 มีลายเซ็นแพทย์ผู้ตรวจ ไม่เหมือนกัน ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า

ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งให้ศาลอาญาดำเนินการไต่สวนแพทย์ผู้ออกใบรับรองแพทย์ และการรักษาอาการป่วยของนายธาริตว่ามีอาการเจ็บป่วยจนไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ตามกำหนดนัดว่า ข้อเท็จจริงถูกต้องหรือไม่ เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา แล้วส่งผลการไต่สวนให้ศาลฎีกาพิจารณา และเลื่อนนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาศาลฎีกาวันที่ 10 ก.ค.นี้เวลา 09.00 น.

โดยในวันนี้นายธาริตเดินทางมาศาลอาญาโดยถึงเวลา 08.50 น.พร้อมทำเอกสารเเจกสื่อมวลชนที่รอทำข่าวอยู่หน้าศาลอาญา ความว่า

คำพิพากษาของศาลฎีกาที่ศาลอาญาได้นัดอ่านในเช้าวันนี้ จะมีผลสำคัญอย่างใหญ่หลวงมาก ดังที่ข้าพเจ้าได้แถลงข่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2566 เพราะหากจะพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แล้วจะมีผลสำคัญมาก 3 ประการ คือ

1. จะเป็นการรับรองยืนยันหรือการันตีว่านายอภิสิทธิ์ ฯ นายสุเทพ ฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องได้สั่งการให้ทหารใช้อาวุธปืนสงครามเอ็ม 16 ไปยิงทำร้ายประชาชนโดยชอบแล้วทุกประการ

2. ผู้ตาย 99 ศพ ผู้บาดเจ็บ 2,000 กว่าคน และญาติผู้ตายจะไม่มีโอกาสได้รับความยุติธรรมและชดใช้ความเสียหายอีกเลย เพราะผลจากคำพิพากษาเช่นนั้นเท่ากับพิพากษาว่าเขาเป็นผู้สมควรตายและ

3. นายธาริต ฯ กับพวกพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้รักษากฎหมายจะกลายเป็นผู้ผิดต้องรับโทษจำคุกคนละ 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา

ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงจำเป็นต้องใช้สิทธิตามกฎหมายในการแสวงหาความยุติธรรมให้กับ 99 ศพ และตัวข้าพเจ้าเองกับพนักงานสอบสวนที่ถูกฟ้องอย่างถึงที่สุด

บัดนี้ข้าพเจ้าได้รับทราบข้อมูลมาเป็นที่น่าเชื่อว่า ในการทำคำพิพากษาของศาลฎีกาซึ่งยังไม่ได้อ่านคำพิพากษาและยังมีข้อโต้แย้งจากจำเลยคือข้าพเจ้าและญาติผู้ตายอยู่นั้น

มีผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวนหนึ่งรวมถึงอดีตประธานศาลฎีกาซึ่งเป็นองค์คณะและหรือเกี่ยวข้องเกี่ยวพันในการทำคำพิพากษามีความเกี่ยวข้องกับกลุ่ม กปปส. ซึ่งมีนายสุเทพ ฯ โจทก์ที่ 2 ในคดีนี้เป็นหัวหน้าหรือประธานกลุ่มกปปส. โดยเป็นฝักไฝ่และเป็นฝ่ายเดียวกัน ซึ่งขณะนี้ นายสุเทพ ฯ กับพวก กปปส. ก็ได้ยื่นฟ้องข้าพเจ้าต่อศาลอาญาคดีทุจริตกลางเป็นอีกคดีหนึ่งว่าที่ข้าพเจ้าดำเนินคดีกับนายสุเทพ ฯ และกลุ่ม กปปส. จนศาลอาญาลงโทษจำคุกไปมากว่า 10 คนนั้น เป็นเพราะถูกข้าพเจ้ากลั่นแกล้ง จึงน่าเชื่อว่าการทำคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีนี้จะไม่เป็นไปโดยถูกต้องและไม่เป็นธรรม

ฉะนั่นเมื่อ 08.30 น. ของวันนี้ข้าพเจ้าจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาโต้แย้งคำคัดค้านองค์คณะและผู้เกี่ยวข้องซึ่งเป็นอดีตประธานศาลฎีกาและผู้พิพากษาศาลฎีกาอีกจำนวนหนึ่งที่ได้ร่วมกันทำคำพิพากษาโดยขอให้ศาลอาญาส่งคำร้องนี้ไปยังศาลฎีกา เพื่อให้มีกระบวนการโดยรวมถึงประธานศาลฎีกาคนปัจจุบัน นำเอาการพิจารณาทำคำพิพากษาคดีนี้เข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา และไม่ว่าผลของคำพิพากษาศาลฎีกาที่จะได้พิพากษาโดยที่ประชุมใหญ่จะออกมาเป็นอย่างใด ข้าพเจ้าพร้อมจะยอมรับว่าได้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ตาย 99 ศพ และบาดเจ็บ 2,000 คน รวมถึงนายอภิสิทธิ์ ฯ นายสุเทพ ฯ ผู้ที่เกี่ยวข้อง และข้าพเจ้าอย่างแท้จริง

และจากการที่ข้าพเจ้าได้ยื่นคำร้องคัดค้านผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ได้ทำคพิพากษาดังกล่าว ข้าพเจ้าจึงได้ยื่นคำร้องอีก 1 ฉบับ ขอให้บรรดาคำร้องที่สำคัญที่ได้มีการยื่นไว้ในคดีนี้คือคำร้องของญาติผู้ตายขอเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 และคำร้องที่ข้าพเจ้าขอให้ศาลฎีกาส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า มาตรา 157 และมาตรา 200 แห่งป.อาญา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญใช้บังคับลงโทษในคดีนี้ไม่ได้นั้น ข้าพเจ้าร้องคัดค้านและโต้แย้งว่ากลุ่มผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ข้าพเจ้าเชื่อว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมนั้นจะพิจารณาสั่งคำร้องดังกล่าวทุกฉบับไม่ได้ โดยข้าพเจ้าร้องขอให้ผู้ที่จะมีอำนาจหน้าที่พิจารณาและสั่งคำร้องทุกฉบับคือที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาเช่นกัน

การยื่นคำร้องคัดค้านโต้แย้งองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา อดีตประธานศาลฎีกา และผู้เกี่ยวข้องดังกล่าวมานี้เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย คือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ซึ่งมีคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 3818/2533 วางบรรทัดฐานรับรองและคุ้มครองสิทธิให้กระทำได้ และไม่เป็นการละเมิดอำนาจศาล

ข้าพเจ้าเชื่อมั่นในกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมขององค์กรศาลยุติธรรมในภาพรวมและเชื่อว่าศาลอาญาจะได้ส่งคำร้องขอทั้ง 2 เรื่องดังกล่าวที่ข้าพเจ้าได้ยื่นในเช้านี้ไปยังศาลฎีกาและทางศาลฎีกาจะได้มีกระบวนการพิจารณาคำร้องขอของข้าพเจ้าอย่างเป็นธรรม โดยท่านประธานศาลฎีกาท่านปัจจุบันจะได้เห็นชอบให้ การทำคำพิพากษาและการพิจารณาสั่งคำร้องทุกเรื่องได้เข้าสู่การพิจารณาและจัดทำโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาต่อไป

นายธาริต ยังกล่าวอีกว่า ส่วนที่นายราเมศ รัตนเชวง และนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ออกมาดิสเครดิตตนว่าดำเนินคดีกับนปช.ว่าผิด แล้วจะดำเนินคดีกับอภิสิทธิ์และสุเทพได้อย่างไรนั้น เรื่องนี้ได้ชี้แจงแล้วว่า คดีนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน กรณีของนปช.ที่เข้าไปในเรดโซนมีความผิดก็ถูกดำเนินคดี ส่วนคนที่ใช้อำนาจ ศอฉ. สั่งให้เอาอาวุธไปยิงประชาชนในเรดโซนก็ต้องถูกดำเนินคดีเช่นกัน นายราเมศและนิพิฎฐ์ เป็นผู้ใหญ่เป็นนักกฎหมายคนสำคัญของพรรค มาพูดแบบนี้ถือว่าโกหกและไม่เคารพการตาย 99 ศพและบาดเจ็บ 2 พันคน ใครกันแน่ที่เลอะเลือน ส่วนที่ศาลยกฟ้องอภิสิทธิ์และสุเทพทั้ง 3 ศาล ก็ไม่ได้บอกว่าทั้ง 2 คนไม่ผิดในการสั่งยิง แต่บอกว่าให้ย้อนกลับไปไต่สวนสอบสวนที่ ปปช.ก่อนมาฟ้องศาลใหม่ ตรงนี้สำคัญมาก ไม่เคยมีศาลใดพิสูจน์เลยว่าทั้ง 2 คนสั่งทหารใช้กำลังยิงประชาชนถูกต้อง

นัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกาวันนี้ ทนายโจทก์ที่ 1,2 จำเลยที่ 1-4 มาศาล จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอเลื่อนคดีเพื่อรอฟังผลคำสั่งของศาลฎีกา รวม 2ฉบับ ลงวันที่ 7 ก.ค.ในวันนี้จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาพิจารณาคำร้องขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157และมาตรา 200ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่โดยขอให้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาและยื่นคำร้องขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การ รับสารภาพเป็นให้การปฏิเสธ และขอคัดค้านองค์คณะผู้พิพากษาที่ทำคำพิพากษาในศาลฎีกา และยื่นคำร้องขอให้เลื่อนคดีเพื่อรอฟังผลคำสั่งศาลฎีกาในคำร้องทั้งสองฉบับที่ยื่นต่อศาลในวันนี้ รายละเอียดปรากฏตามคำร้องทั้งสามฉบับลงวันที่วันนี้ สำเนาคำร้องทั้งห้าฉบับให้โจทก์ทั้งสองแล้ว แถลงว่าขอให้อยู่ในดุลพินิจของศาลฎีกา ศาลได้ส่งคำร้องทั้งห้าฉบับไปเพื่อศาลฎีกาวินิจฉัยแล้ว ให้รอฟังคำสั่งศาลฎีกาในวันนี้ เวลา 14.30 น.เนื่องจากในช่วงบ่ายศาลติด พิจารณาคดีอื่น

พอถึงเวลา 14.30 น.องค์คณะผู้พิพากษาเเจ้งว่าศาลฎีกายังไม่มีคำสั่งลงมาโดยให้จำเลยรออยู่ในห้องพิจารณาคดีซึ่งศาลฎีกาเเจ้งว่าจะมีคำสั่งลงมาในอีก1-2ชั่วโมง

ต่อมาเวลา 17.30 น. ศาลได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำร้องที่นายธาริต จำเลยที่1 ยื่นคำร้องต่อศาลฎีการวม 5 ฉบับ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องทั้งหมด

ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา โดยพิเคราะห์พยานหลักฐานมีข้อที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งหมดทำผิดตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่ เห็นว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยจำเลยที่1 ทราบอยู่แล้วว่า ตนเองและหน่วยงานไม่มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนบุคคลทั้ง2 ที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ที่มีอำนาจหน้าที่สรุปสำนวนเรื่องให้อัยการสูงสุด เพื่อฟ้องต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งเป็นข้อพิรุธ

และในที่ประชุมเมื่อช่วงเดือน ธ.ค. 2555 จำเลยที่1 ได้แสดงความคิดเห็นชี้นำให้พนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษสืบสวนหาหลักฐาน และรวบรัดเชิญโจทก์ทั้งสองมารับทราบข้อกล่าวหา

อีกทั้งในขณะนั้นเป็นช่วงรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เป็นน้องสาวของนายทักษิณ ชินวัตรซึ่งอยู่ขั้วตรงข้ามทางการเมืองกับโจทก์ทั้งสอง ฟังได้ว่าเป็นการกลั่นแกล้งให้โจทก์ทั้งสองได้รับโทษทางอาญา เพื่อสนองความต้องต้องการของรัฐบาลใหม่

จากนั้นนายธาริตได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษอีก 1 ปี

พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมา รับฟังโดยปราศจากข้อสงสัย ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลอุธรณ์ว่า จำเลยที่1 กระทำผิดตามฟ้องจริง

มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2-4 กระทำผิดตามฟ้องด้วยหรือไม่ เห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ที่1 และ 2 ยังไม่แน่ชัดและไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 2-4 ได้รับประโยชน์อย่างไรจากการแจ้งข้อกล่าวหาต่อโจทก์ทั้งสอง แต่ที่ทำสำนวนมาจากการรับคดีและการชี้นำของจำเลยที่1 ซึ่งจำเลยที่2-4 อาจทำคดีโดยสุจริต ยังมีข้อสงสัยในข้อกล่าวหาในคำฟ้อง จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 2-4

การลงโทษตามที่ศาลอุธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ให้จำคุกจำเลยที่1 ตามคำพิพากษาศาลอุธรณ์จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลยที่ 2-4 พิพากษาแก้ให้ยกฟ้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างฟังคำพิพากษานายธาริต มีสีหน้าเรียบเฉย ไม่แสดงอาการแต่อย่างใด

ต่อมาเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้เดินมาควบคุมต่อนายธาริต เพื่อนำตัวไปควบคุมไว่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ตามคำพิพากษาศาลฎีกา

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สมชาย' ไล่บี้ กกต. นับคะแนนใหม่ชุดบล็อกโหวต จับแก๊งฮั้วเลือก สว.

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า

เปิดใจ 'ชวน' วางมือการเมืองหรือลงเลือกตั้งต่อ? เชื่อ 'อภิสิทธิ์' ไม่ไปไหนรอกลับมาช่วย ปชป.

นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตประธานรัฐสภากล่าวถึงอนาคตทางการเมืองของตัวเอง หลังเป็นส.ส.มา 17 สมัยติดต่อกัน หลังมีกระแสข่าวทั้งพรรคประชาธิปัตย์อาจไม่ส่งนายชวน ลงสมัครส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคในการเลือกตั้งครั้งหน้าและกระแสข่าวเตรียมวางมือทางการเมือง

คุก 1 ปี 'จิรัฏฐ์' สส.ก้าวไกล อภิปรายหมิ่นอดีตเสธ.ทอ. ชดใช้ค่าเสียหาย 5 แสน

ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมิ่นประมาทหมายดำอ.2519/2565 ที่พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี อดีตเสนาธิการทหารอากาศ และอดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นโจทก์ฟ้องนายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ สส.เขต4 ฉะเชิงเทรา พรรค ก้าวไกล เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา

ศาลฯพิพากษาคดี กปปส. จำคุก 14 ราย ยกฟ้อง 19 ราย รอลงอาญา 4 ราย

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ลดโทษจำคุก ‘สุเทพ’ เเกนนำ กปปส.เพียงปีเดียว ไม่รอลงอาญา คดีนำมวลชัตดาวน์กรุงเทพ ปี 57 ส่วนพวกแกนนำอีก 14 ราย รับโทษหลั่นกันไป ไม่รอลงอาญาอยู่ระหว่างลุ้นประกันตัว รอลงอาญา 4 ราย ส่วนที่เหลืออีก 19 รายยกฟ้อง

ทนายยัน 'กำนันสุเทพ-กปปส.' 39 คน เข้าฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชี้ชะตาพรุ่งนี้

วันพรุ่งนี้ ศาลอาญา นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีกบฏ กปปส.ชุดใหญ่ สำนวนหลัก หมายเลขดำอ.247/2561 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. กับพวกแกนนำและแนวร่วม

อิหร่านตัดสินโทษจำคุกเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ 'นาร์เกส โมฮัมมาดี'

เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2023 ต้องโทษจำคุก โดยศาลอิหร่านได้ตัดสินนักเคลื่อนไหวว่า “กระทำการโฆษณ