'ประพันธ์' ร่ายยาว บอก 13 ก.ค.นี้จบแล้ว สภาสูงไม่โหวตให้ 'พิธา' แน่ ส.ว.มองข้ามช็อตพร้อมหนุนเพื่อไทยตั้งรัฐบาล แต่ต้องไม่มีก้าวไกลร่วมด้วย พรรคส้มต้องเป็นฝ่ายค้านสถานเดียว ให้จับตาข่าวซื้อเสียงยกมือหนุน
06 ก.ค.2566 - นายประพันธ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เปิดเผยถึงการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 ก.ค.2566 ว่าจากที่การประเมินสถานการณ์และการพูดคุยกันระหว่างเพื่อนสมาชิก ส.ว.ด้วยกัน น่าจะมีข้อสรุปค่อนข้างชัดเจนว่าเสียงส่วนใหญ่มีแนวโน้มไปในทิศทางใด โดยเสียงส่วนใหญ่มีแนวโน้มไปในทิศทางที่ไม่ยอมรับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้ไปเป็นนายกฯ จึงไม่ยินดีที่จะโหวตให้นายพิธา
นายประพันธ์กล่าวต่อว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้ ส.ว.ส่วนใหญ่มองและเห็นตรงกันก็คือ ประเด็นเรื่องแนวคิดและจุดยืนทางการเมืองของนายพิธา เป็นแนวคิดและจุดยืนที่มีปัญหาต่อระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันทรงมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพราะมีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างชัดเจน อย่างเรื่องการพยายามแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และที่มีแนวคิดจะดำเนินการปฏิรูประบบสถาบันกษัตริย์ตามแนวคิดของพรรค ก.ก. และกลุ่มมวลชนที่สนับสนุนเขายังดำรงอยู่ โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนไม่เปลี่ยนแปลง รวมถึงจุดยืนและแนวคิดในเรื่องนโยบายการต่างประเทศก็เป็นอันตรายต่อประเทศไทยและสังคมไทย จากประเทศไทยที่เป็นมิตรกับทุกประเทศ คบค้าสมาคมได้กับทุกฝ่าย ก็จะเป็นปัญหาว่าหากนายพิธา ขึ้นมาแนวคิดและแนวนโยบายด้านต่างประเทศก็จะเปลี่ยนไป ส่อไปในทิศทางที่จะชักน้ำเข้าลึกชักศึกเข้าบ้าน และเอนเอียงเข้าข้างมหาอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เปิดทางให้มหาอำนาจเข้ามาแทรกแซงครอบงำประเทศ สิ่งเหล่านี้ ทุกคนมีข้อมูลตรงกันว่าเป็นเหตุสำคัญอย่างยิ่ง
นายประพันธ์กล่าวอีกว่า ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ พรรคก้าวไกลและตัวนายพิธายังมีพฤติกรรม ที่ส่อไปในลักษณะที่จะสนับสนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดน พยายามไปบิดเบือนประวัติศาสตร์ พยายามไปปลุกระดมประชาชนและชนเผ่าต่างๆ ให้มีความคิดกระด้างกระเดื่องและแบ่งแยกรัฐออกจากราชอาณาจักรไทย ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายมากที่สุด นายพิธาไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะมาเป็นผู้นำในระบอบประชาธิปไตยอันทรงมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ เพราะทุกบทบาท ทุกความเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขา ที่เดินสายออกไปทั่วประเทศ กำลังปลุกปั่นยุยงประชาชน สร้างความขัดแย้งแตกแยกให้เกิดขึ้นในประเทศ เป็นนายกฯ ก็ไม่สามารถสร้างความสามัคคีให้คนมาร่วมมือกันทำงานได้ แม้แต่กับพรรคการเมืองด้วยกัน ก็มีแต่คนเบือนหน้าหนี กับประชาชน เขาก็เลือกที่จะดูแลหรือปกป้องสนับสนุน กลุ่มด้อมส้มที่สนับสนุนเขาเท่านั้น แต่ไม่เห็นหัวประชาชนส่วนใหญ่ ผู้นำที่มีวุฒิภาวะแบบนี้ มันไม่สามารถเป็นผู้นำของประเทศได้ ไม่สามารถทำให้คนสามัคคีกันมาร่วมกันพัฒนาบ้านเมือง
“ฉะนั้นพูดถึงเรื่องจุดยืนการที่จะโหวตนายพิธาเป็นนายกฯ หรือไม่ ทุกคนก็เห็นว่าจากเหตุผลต่างๆ ตัวนายพิธา ไม่เหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย อันนี้ยังไม่นับถึงปัญหาคุณสมบัติส่วนตัวของเขา การถือหุ้นไอทีวี การมีคุณสมบัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ การที่มีนโยบายจะแก้ไขยกเลิกมาตรา 112 ในการหาเสียงจนถูกยื่นคำร้องว่าอาจจะกระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 49 หรือไม่ ที่ก็เป็นเรื่องใหญ่ในเรื่องคุณสมบัติส่วนตัวและของพรรค ที่ไม่อาจสนับสนุนหรือให้ความเห็นชอบเป็นนายกฯ ได้”นายประพันธ์ระบุ
สมาชิกวุฒิสภาผู้นี้กล่าวอีกว่า คิดว่านายพิธาและพรรคก้าวไกลก็รู้ตัวเองดีว่าเขาไม่มีโอกาส ที่จะได้เสียงเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาให้เป็นนายกฯ ได้ จึงทำให้ที่ผ่านมาก่อนหน้านี้พยายามยื้อแย่งเก้าอี้ประธานสภาให้ได้ เพราะรู้ตัวเองดีว่าจะไม่มีโอกาสได้เป็นนายกฯ เพราะหากได้เก้าอี้ประธานสภา ก็จะใช้สภา เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน ตามนโยบายและความคิดที่เป็นอันตรายทั้งหลาย เช่นการเสนอกฎหมายหลายฉบับที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งแตกแยก และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ไปคุกคามต่อความมั่นคงของสถาบันชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์
“กรณีของนายพิธาจบไปแล้ว มองข้ามไปได้เลยว่า โอกาสที่จะได้เป็นนายกฯ แทบไม่มี ด้วยพฤติกรรมและการกระทำของตัวเขาเอง ไม่มีใครไปกลั่นแกล้ง การดำเนินงานทางการเมืองของเขา การประพฤติปฏิบัติตัวของเขา แนวคิดแนวนโยบายของเขา มันไม่สามารถ ทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศยอมรับได้”
นายประพันธ์กล่าวอีกว่า ในระหว่างนี้ ที่กำลังจะมีการโหวตนายกฯ ก็มีความพยายามที่จะไปเจาะ ไปขอเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. มีข่าวความเคลื่อนไหวในกลุ่ม ส.ว.เช่นเดียวกันว่า มีคนพยายามที่จะใช้เงินไปซื้อเสียง ส.ว. มาสนับสนุนยกมือให้ ซึ่ง ส.ว.มองเห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ ทั้งที่อ้างตนว่าเป็นพรรคประชาธิปไตย เป็นคนรุ่นใหม่ แต่ว่ามันมีกระแสข่าวทำนองนี้ แต่จะเกี่ยวข้องกับพรรคก้าวไกลเป็นคนทำเองหรือไม่ หรือมีกลุ่มทุนที่อยู่เบื้องหลังที่เดินสายเพื่อจะจัดการให้หรือไม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามและตรวจสอบของฝ่ายข่าวและฝ่ายความมั่นคง ซึ่ง ส.ว.ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของเขามีใครบ้าง ตอนนี้ฝ่ายความมั่นคงเขาติดตาม มาร์กตัวเป็นรายบุคคลเลย
นายประพันธ์กล่าวย้ำว่า สรุปว่าเหตุที่จะไม่โหวตให้นายพิธา เป็นนายกฯ เพราะเขาไม่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย อันนี้ชัดเจน และสร้างวัฒนธรรมอาณาธิปไตยให้เกิดขึ้นในประเทศ และเป็นคนที่ไม่มีวุฒิภาวะความเป็นผู้นำ สร้างแต่ความนิยมให้กับตัวเอง ปลุกระดมประชาชน ปกปิดความผิดตัวเอง เป็นคนพูดจาโกหก เป็นคนพูดกลับไปกลับมาในเรื่องเดียวกัน เช่นเรื่องมรดกหุ้น เรื่องนโยบายกัญชาพอโดนจับได้ ก็แถไปเรื่อย หาว่าคนอื่นมาใส่ร้ายตัวเอง และโกหกประชาชน เป็นคนไม่เคารพกฎหมาย ตัวเองผิด มีคุณสมบัติไม่ตรงตามกฎหมาย แทนที่จะแสดงสปิริตลาออกว่าตัวเองพลาดไปแล้ว กลับแถว่าคนอื่นใส่ร้ายตัวเอง แล้วไปปลุกมวลชนให้มาปกป้องตัวเอง มีนโยบายไปกระตุกสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นกับกลุ่มประชาชน ไปสนับสนุนการเคลื่อนไหวที่ออกมาต่อต้านสถาบัน สร้างให้เกิดความขัดแย้งในหมู่ประชาชน จนจะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน ไม่รักประเทศไทย ไม่รักวัฒนธรรมไทย ไม่ส่งเสริมคุณค่าของสังคมไทยที่ดีงาม ทำลายหมด ตั้งแต่ครอบครัว ไปจนถึงสถาบันสูงสุด นักเรียนไม่ต้องเคารพครู ลูกไม่ต้องเคารพพ่อแม่ ลูกไม่ต้องกตัญญูกับพ่อแม่ ผู้ใหญ่ก็ไม่ต้องเคารพ สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ไม่ต้องเคารพ นี้คือสิ่งที่พวกเขาสร้างให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เหตุผลเหล่านี้มันมากเกินพอที่เราจะไม่โหวตให้เขา
“เมื่อประมวลเหตุการณ์ทั้งหมดแล้ว มันจึงไม่มีเหตุผลที่ ส.ว.จะให้ความเห็นชอบบุคคลผู้นี้ได้ มองข้ามทางการเมืองไปได้เลยว่าไม่มีโอกาส”นายประพันธ์ระบุ
เมื่อถามว่า หากนายพิธา เสียงโหวตไม่ถึง 376 เสียง แล้วพรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน โดยอาจเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน แต่ยังมีพรรคก้าวไกลอยู่ในพรรคจัดตั้งรัฐบาล นายประพันธ์กล่าวตอบว่า เรามองข้ามช็อตไปแล้ว คือว่านายพิธากับพรรคก้าวไกล เราไม่ได้มองแค่ว่านายพิธา ไม่เหมาะสมที่จะเป็นนายกฯ ความเห็นส่วนตัวมีความเห็นว่า พรรคก้าวไกลไม่เหมาะสมที่จะเป็นพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ซึ่งเหตุผลนอกเหนือจากที่บอกไว้ข้างต้นว่า จะไม่โหวตให้นายพิธาเป็นนายกฯแล้ว ก็ยังมีเหตุผลว่า พรรคก้าวไกลมีจุดยืนทางการเมืองที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจากพฤติกรรมที่เขาทำหลายอย่าง เช่น การมีนโยบายจะแก้ไข มาตรา 112 แล้วใช้นโยบายนี้หาเสียง เพื่อนำไปสู่การยกเลิกมาตรา 112 ไม่ใช่แค่แก้ไขอย่างเดียว และต้องการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเลย ไม่ว่าจะเป็นหมวด 1 หมวด 2 หมวดพระมหากษัตริย์ หมวดเรื่องราชอาณาจักรไทยเป็นหนึ่งเดียวแบ่งแยกไม่ได้ เขาก็จะแก้ไข เพราะฉะนั้น ลักษณะของพรรคก็เป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย และพรรคก้าวไกลก็มีเรื่องถูกยื่นคำร้องร้องในประเด็นนี้ที่ศาลรัฐธรรมนูญด้วย
นอกจากนี้นโยบายการต่างประเทศของก้าวไกล ก็เป็นอันตราย ส่อไปในลักษณะชักน้ำเข้าลึกชักศึกเข้าบ้าน อีกทั้งองค์ประกอบคนที่อยู่ในพรรคก้าวไกล นอกจากเป็นพวกที่มีความคิดที่ต่อต้าน ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันฯแล้ว ยังมีอดีตกลุ่มคนในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย รวมอยู่ในพรรคนี้ด้วย และยังมีกลุ่มการเมืองต่างประเทศ เข้ามาชักใยหนุนหลังพรรคนี้อยู่ด้วย จะเห็นได้จากการเลือกตั้งที่ผ่านมา ที่มีกลไกจากต่างประเทศเข้ามาสนับสนุนอยู่เบื้องหลังด้วย ซึ่งสอดรับกับนโยบายต่างประเทศของเขาที่ประกาศอย่างชัดเจนว่าเขาจะเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงกับสหรัฐอเมริกา อันนี้ยังไม่พูดถึงนโยบายอื่นๆ ที่พรรคบอกจะแก้ไขเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับสถาบัน มันก็ไม่เหมาะสมที่พรรคนี้จะเข้าไปเป็นพรรคร่วมรัฐบาล
“แม้เพื่อไทยขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ยังเอาก้าวไกลมาร่วมจัดตั้งรัฐบาล ก็ยังไม่แน่ว่า ส.ว.จะให้ความเห็นชอบแคนดิเดตนายกฯที่มาจากพรรคเพื่อไทยหรือไม่”นายประพันธ์ระบุ
นายประพันธ์กล่าวต่อว่า พูดง่ายๆ พรรคก้าวไกลไปร่วมกับใคร ทุกพรรคก็ส่ายหน้า ไม่อยากเห็นพรรคนี้มาอยู่ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล เพราะยิ่งมีความคิดแบบนี้ แล้วหากไปกุมอำนาจรัฐ มาคุมกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม ก็จะมาใช้อำนาจหน้าที่ไปเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตามแนวคิดและอุดมการณ์ที่เป็นอันตรายของเขา จะไปปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูประบบราชการ รื้อล้างทั้งหมด ตามแนวคิดของเขา ซึ่งมันไม่ใช่การปฏิรูป แต่เป็นแนวคิดที่ต้องการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ลดทอนพระราชอำนาจ ทำทุกอย่าง นี้ขนาดแค่เป็น ส.ส.ยังจะทำแบบนี้ แล้วหากเข้าไปเป็นรัฐบาล จะทำมากขนาดไหน ในเรื่องที่จะไปคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ คุกคามต่อสถาบันหลักของบ้านเมือง สร้างความปั่นป่วนเสียหายให้กับประชาชน-ประเทศชาติ จะไปบิดเบือนประวัติศาสตร์ เขียนตำราประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ในลักษณะปลุกความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในสังคม
นายประพันธ์กล่าวต่อไปว่า เพราะฉะนั้นโดยพฤติกรรมของพรรคการเมืองพรรคนี้ จึงไม่สมควรมีโอกาสให้เข้าไปเป็นพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลได้เลย เรามองข้ามช็อตไปแล้ว คือความเห็นของผมตอนนี้ ไม่เพียงแต่จะไม่สนับสนุนนายพิธา ยังเห็นว่าไม่ควรสนับสนุนให้พรรคก้าวไกลไปเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วย หากพรรคการเมืองใด จะขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแล้วยังเอาพรรคก้าวไกลมาร่วมจัดตั้งรัฐบาล เสนอชื่อมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ผมก็ไม่โหวตให้ เพราะผมไม่เห็นชอบกับแนวคิดและนโยบายที่เป็นอันตรายของพรรคการเมืองพรรคนี้ ยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องของบ้านเมือง ซึ่งก็มี ส.ว.หลายคน ก็มีแนวคิดคล้ายกันในประเด็นนี้และมีเยอะ เขาไม่ได้มองแค่ตัวบุคคลแล้ว แต่เขามองไปถึงทั้งพรรคแล้วว่ามันเป็นกันทั้งพรรค มันไม่ได้เป็นเฉพาะแค่นายพิธา พรรคนี้มีความคิดและวัฒนธรรมแบบนี้ทั้งพรรค เข้าไปหนุนกลุ่มที่ชุมนุมการเมืองแบบก้าวร้าวรุนแรง พวกทะลุวัง ทะลุฟ้าทั้งหลาย พวกข้อเสนอปฏิรูปสถาบันสิบข้อ ที่เป็นอันตรายทั้งนั้นแล้วพรรคนี้ไปสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ไปประกันตัวให้ จัดทนายไปช่วย ยุยงส่งเสริมให้เด็กออกมาเคลื่อนไหวก้าวร้าว ก่อความรุนแรงซึ่งเป็นกันทั้งพรรค ไม่ใช่แค่ตัวบุคคล เมื่อเป็นแบบนี้ พรรคนี้ก็ไม่เหมาะสมที่จะไปเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาล
ถามย้ำว่า หากเพื่อไทย จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะไปดึงพรรคไหน มาร่วมตั้งรัฐบาลก็ได้ แต่ต้องไม่มีพรรคก้าวไกลใช่หรือไม่ นายประพันธ์ กล่าวว่า พรรคการเมืองใดก็ได้ ที่จะไปร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลขออย่างเดียว หนึ่งต้องไม่มีการแก้ไขมาตรา 112 สองต้องไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ที่จะนำไปสู่การลดทอนพระราชอำนาจ และเปิดให้มีการแบ่งแยกประเทศ แบ่งแยกดินแดนทำลายความเป็นราชอาณาจักรไทย ต้องไม่มีนโยบายชักน้ำเข้าลึกชักศึกเข้าบ้าน จะเป็นพรรคไหนก็ได้ ที่ไม่มีนโยบายจะไปส่งเสริมให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน หากไม่มีเรื่องราวนี้ ส.ว.ก็ยินดีสนับสนุนใครก็ได้ขึ้นมาเป็นนายกฯ หากมีเสียงข้างมากในสภา หลักการคือตรงนี้ มันไม่ใช่เรื่องบุญคุณหรือความแค้นอะไร แม้ว่าพรรคก้าวไกลและพิธาจะโจมตีด่าทอ ส.ว.มาตลอดกว่า4 ปี หาว่า ส.ว.เป็นกากเดนสังคม แล้ววันนี้จะมาขอความร่วมมือกับเขา
“คุณด่าเขามาตลอด ประณามเขามาตลอด พรรคการเมืองที่ทำงานการเมืองแบบนี้ คือทำลายตัวเอง ไม่สามัคคีคนอื่นมีแต่ทำลายตัวเองมันก็ยากที่จะได้รับความร่วมมือ จะไปบริหารชาติบ้านเมือง มันก็ยากที่จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชน เพราะพฤติกรรมของพวกคุณมันกร่าง ยังไม่ได้เป็นนายกฯเลย ก็อุปโลกน์ตัวเองว่าเป็นนายกฯ ไปบอกว่าตัวเองเป็นว่าที่นายกฯ หากผมไม่ได้เป็น อะไรก็ขัดขวางผมไม่ได้ ไอ้นี้มันชอบเป็นดารา นักแสดงมากกว่า ที่ไหนมีแสงก็กระโดดไป คนจะเป็นนายกฯทำตัวแบบนี้ มันไม่เหมาะสม”
นายประพันธ์กล่าวตอนท้ายว่า การโหวตของ ส.ว.เราจะพิจารณาว่าคุณควรเป็นนายกฯหรือไม่ ควรเป็นพรรครัฐบาลหรือไม่ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์ของประเทศชาติบ้านเมืองเป็นสำคัญ เพราะ ส.ว.มีหน้าที่นอกจากกลั่นกรองกฎหมายแล้ว ยังต้องส่งเสริมคนดีให้ปกครองบ้านเมือง ป้องกันคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจปกครองบ้านเมือง นั่นคืออำนาจในการกลั่นกรองบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญๆ ในองค์กรอิสระรวมถึงนายกฯ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘พิธา’ ปลุกคนเชียงใหม่ อย่าเลือกพวกพูดอย่างทำอย่าง ไม่รักษาสัญญา
'พิธา' ปลุกเชียงใหม่ใช้สิทธิเลือกตั้ง 'นายก อบจ.' ยกภาษิต 'ของใหม่บ่ลอง ของงามบ่เห็น' ชวนทบทวนเลือกแบบเดิมก็อยู่แบบเดิม ลั่นไม่มีใครเป็นเจ้าของความคิดคน แข่งกันตรงไปตรงมา ไม่ใช่พูดอย่างทำอีกอย่าง ไม่รักษาสัญญา
'สว.อังคณา' ตบปาก 'พ่อนายกฯ' พล่อยเหยียดผิว บี้ขอโทษก่อนบานปลาย
'อังคณา' จี้ 'ทักษิณ' ขอโทษ หลังปราศรัยเหยียดผิว ช่วยหาเสียงเป็นสิทธิ แต่ไม่ควรพูดด้อยค่า-ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
'ธนกร' ค้าน 'ปชน.' แก้รธน.สุดซอย เตือนระวังโดนฟ้อง 157 ผิดกราวรูด
'ธนกร' ปักธงค้าน 'ปชน.' ชงแก้มาตรา 256 ชี้ตัดอำนาจ สว. ชัดขัดเจตนารมณ์ รธน. ทำเสียสมดุล 2 สภา หนักข้อสุดซอยเอื้อมแตะหมวด 1-2 พ่วงอำนาจองค์กรอิสระ เตือนระวังถูกฟ้อง 157 เจอผิดกราวรูด
มติ 153 สว. ยืนประชามติ 2 ชั้น! อบรม 'ไอติม' พูดได้ไงจะมีผู้รณรงค์ให้ปชช.นอนหลับทับสิทธิ์
สว. ยกมือพรึ่บ 153 เสียง ผ่านกม.ประชามติ ฉบับกมธ.ร่วมฯ ยึดเสียงข้างมากสองชั้น ก๊วนสว.พันธุ์ใหม่ โวยดัดจริต สองมาตรฐาน โธ่! "ไอติม" โชว์กึ๋นนักเรียนนอก บอกสองชั้นเปิดช่องรณรงค์ให้ประชาชนนอนหลับทับสิทธิ์ สว.สีน้ำเงิน สวนทันควันใครจะกล้าทำแบบนั้น
'ดิเรกฤทธิ์' จี้องค์กรอิสระเร่งเครื่องคดีการเมือง
ดร.ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ประธานสถาบันสุจริตไทย และอดีตสมาชิกวุฒิสภา