"ชวน" เชื่อไร้ปัญหาปมร้อน 2 พรรคชิงเก้าอี้ประมุขนิติบัญญัติ แค่ประสบการณ์ที่อาจไม่เคย ลั่นต้องทำหน้าที่เป็นกลาง ไม่ว่าจะมาจากขั้วไหน แจงปกติประธานสภาฯ ต้องเป็นพรรคอันดับ 1 ชี้ไม่ว่ารุ่นเก่า-ใหม่มานั่ง ต้องเดินหน้าระบบงานไปให้ได้
23 มิ.ย.2566 - ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางมารายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กรณีการเลือกประธานสภาฯ ที่ยังไม่ลงตัวจะทำให้เกิดความวุ่นวายได้หรือไม่ว่า คงไม่น่ามีปัญหา เพราะอาจเป็นประสบการณ์ที่บางฝ่ายอาจจะไม่เคย โดยทั่วไปแล้วพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมาก มักจะได้ตำแหน่งประธานสภาฯ และนายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมาพรรคที่มีเสียงมากกับเสียงรองลงมาจะเป็นคนละฝ่ายกัน จึงไม่ค่อยมีปัญหากัน แต่ครั้งนี้พรรคที่มีคะแนนลำดับ1และลำดับ2 ได้จัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน ทำให้เกิดปัญหาที่ต่างฝ่ายต่างต้องการที่จะเป็นประธานสภาฯ แต่ความวิตกกังวลว่าใครมาเป็นประธานสภาฯ แล้วจะได้เปรียบในการการเสนอกฎหมายหรือญัตติมันไม่มีผล เพราะประธานสภาฯต้องเป็นกลาง กฎหมายรัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้เช่นนั้น
นายชวน กล่าวต่อว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา55ปีของตนที่ได้เห็นทั่วไป ไม่ว่าประธานจะมาจากที่ไหน ก็จะเป็นกลาง อาจจะมีสัก1-2รายที่เคยมีปัผยหา เนื่องจากรัฐบาลสั่ง ห้ทำอะไรที่ไม่ค่อยถูกต้อง แต่เดี๋ยวนี้ตนไม่ค่อยเห็นว่าจะทำได้ แม้แต่การที่เอากฎหมายของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขึ้นมาพิจารณาก่อนก็ทำไม่ได้ ยกเว้นเป็นมติของที่ประชุมสภาฯ และถ้าไปเทียบว่าตอนเป็นฝ่ายค้านกฎหมายเสนอยาก ต่อไปนี้เป็นรัฐบาลก็จะชดเชย โดยทั่วไปเป็นรัฐบาลสามารถเสนอกฎหมายได้ เป็น100ฉบับ แล้วสามารถพิจารณาได้โดยสภาฯต้องพิจารณาตามที่รัฐบาลขอ เช่น ขอให้พิจารณาเป็นเรื่องด่วน สภาฯก็จะบรรจุเป็นเรื่องด่วน ไม่แปลกอะไรที่กฎหมายของรัฐบาลจะผ่านการพิจารณาทุกเรื่อง แต่กฎหมายฝ่ายค้านอาจไม่ได้พิจารณาเลย เพราะเขาพิจารณาเรื่องด่วนก่อน
นายชวน กล่าวต่อว่า กรณีกฎหมายการเงินก็เช่นเดียวกัน ประธานสภาฯไม่มีสิทธิ์ไปสั่งเอง ต้องให้นายกฯสั่งว่าเป็นการเงินแล้วรับรองให้หรือไม่ สภาฯมีหน้าที่เพียงส่งให้ไปวินิจฉัยว่าเป็นกฎหมายการเงินหรือไม่ และไม่ได้เลือกปฏิบัติ เพราะมีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายพิจารณาอยู่ จะไปบอกว่าไม่ใช่กฎหมายการเงินแล้วบรรจุระเบียบวาระไม่ได้ เพราะหากสั่งผิดไปก็จะมีปัญหา
“ผมคิดว่า ปัญหาเรื่องตัวบุคคลเป็นคนละเรื่องกัน แต่ถ้าเป็นห่วงว่าใครเป็นแล้วเอาเปรียบอีกฝ่ายหนึ่งผมคิดว่าทำได้ยาก แม้กระทั่งที่กฎหมายที่เสนอช้ากว่าของคนอื่นไป5นาทีเขาก็ให้ฉบับที่เสนอก่อนบรรจุก่อน เพราะมีกฎเกณฑ์บังคับไว้ประธานจะไปละเมิด เป็นเรื่องยาก มิเช่นนั้นจะถูกสมาชิกตรวจสอบได้” นายชวน กล่าว
เมื่อถามว่า ทางพรรคก้าวไกลอ้างว่าในสภาฯสมัยที่แล้ว การเสนอแก้ไขมาตรา112ไม่ได้รับการพิจารณา นายชวน กล่าวว่า ตนอธิบายให้ฟังแล้วว่าการยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา112 นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯคนที่1ในขณะนั้น เป็นผู้ดูแลกฎหมายนี้ และดูแลพระราชบัญญัติทุกฉบับ ซึ่ง4ปีที่ผ่านมาก็ไม่มีปัญหา มีเพียงฉบับดังกล่าวที่นายสุชาติ มีความเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา6 เพราะมีบทบัญญัติบางเรื่องที่เห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ นายสุชาติ จึงมีความเห็นให้ส่งคืนผู้เสนอเพื่อให้แก้ไข แต่ผู้เสนอญัตติรับไปแล้ว และยืนยันไม่แก้ไข เมื่อไม่แก้ไข ก็ไม่ได้มีการบรรจุเข้าสู่วาระ ตนเห็นว่านายสุชาติรอบคอบมาก ที่มีการกลั่นกรองออกมาแบบนี้
เมื่อถามย้ำว่า ถ้าตำแหน่งประธานสภาฯเป็นของพรรคก้าวไกล และดันการแก้ไขมาตรา112อีกได้หรือไม่ นายชวน กล่าวว่า แล้วแต่ ตนจะพูดก่อนล่วงหน้าไม่ได้ เมื่อถึงตอนนั้นก็อยู่ที่ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่สภาฯ ใครบรรจุระเบียบวาระต้องดูว่าวาระเป็นของใคร เป็นของรัฐบาลหรือไม่ ปกติแล้วถ้ารัฐบาลดเสนอเข้ามา สภาฯก็จะพิจารณา เพราะถือว่ารัฐบาลเป็นฝ่ายบริหารที่ต้องใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการบริหาร และการที่รัฐบาลจะเสนอกฎหมายอะไรมา แสดงว่ารัฐบาลได้พิจารณาโดยผ่านกระบวนการมาแล้ว
เมื่อถามว่า ขณะนี้สังคมถกเถียงกันว่าประธานสภาฯควรเป็นคนรุ่นใหม่ หรือคนรุ่นเก่าที่มีประสบการณ์การทำงาน นายชวน กล่าวว่า ใครก็ตามที่เข้ามาต้องช่วยกัน สมาชิกต้องให้ความร่วมมือกับประธาน ให้สามารถทำงานไปได้ เพราะเหนือสิ่งอื่นใดคือการรักษาระบบของฝ่ายนิติบัญญัติให้เข้มแข็ง ดำเนินงานไปได้ ฉะนั้นไม่ว่าเป็นคนรุ่นใหม่หรือรุ่นเก่า ตนคิดว่าทุกฝ่ายคงจะให้ความร่วมมือ
เมื่อถามอีกว่า ตามมารยาทควรเสนอคนข้ามพรรคมาเป็นประธานสภาฯได้หรือไม่ นายชวน กล่าวว่า แล้วแต่ที่ประชุม คราวที่ตนเป็นประธานสภาฯ ทั้งที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคอันดับ 4-5 ในการร่วมรัฐบาล ซึ่งโดยทั่วไปประธานสภาฯควรเป็นคนของพรรคอันดับ1 แต่เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ลงมติร่วมรัฐบาล แล้วให้ตนรับตำแหน่งประธานสภาฯ โดยไม่คิดสัดส่วน และไม่กระทบต่อโควตารัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งพรรคร่วมขณะนั้นไม่เกี่ยงว่าจะต้องตัดโควตารัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์
“ต้องยอมรับว่าสภาฯของเราตอนนั้นว่างเว้นการเลือกตั้งมา5ปี ดังนั้นการทำให้สภาฯเดินไปราบรื่นเป็นไปได้ยาก เพราะสมาชิกเกินครึ่งมาใหม่ และไม่มีประสบการณ์มาก่อน แต่เที่ยวนี้ ถึงแม้จะมีส.ส.ใหม่เกินครึ่ง แต่เราผ่านประสบการณ์มาแล้ว4ปี หลายฝ่ายได้เรียนรู้อะไรมากพอสมควร เชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นการประท้วงหรืออภิปรายจะค่อยๆดีขึ้นตามลำดับ ก็ยังหวังภาพบวกของสภาฯอยู่ แต่ทั้งหมดคงไม่ได้เป็นอุปสรรคอะไร ยืนยันว่าใครมาเป็นประธานสภาฯก็ตามเราต้องช่วยสนับสนุนให้งานสภาฯเดินไปได้ตามกระบวนการของระบอบประชาธิปไตยตามระบบรัฐสภา” นายชวน ระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'เพื่อไทย' ยื่นร่างแก้รัฐธรรมนูญ ประกบฉบับ 'พรรคประชาชน' 8 ม.ค.นี้
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล กล่าวว่า ในวันที่ 8 ม.ค. พรรคเพื่อไทยจะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ต่อรัฐสภา จะเสนอประกบไปกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256
ดร.ณัฏฐ์ ชี้ร่างแก้ไขรธน.เพิ่มหมวด 15/1 ตั้งสสร.ร่างรธน.ฉบับใหม่ มีผลเท่ากับยกเลิกรธน.ทั้งฉบับ
ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ ดร.ณัฏฐ์ นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยเตรียมขอมติจากที่ประชุม สส.ของพรรค เห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายกฎหมายของพรรคจัดทำไว้เสนอประกบกับร่างของ
'เด็กชวน' สวนกลับ 'ทักษิณ' อยากสารพัด แต่ผวาอยู่ 2 เรื่อง
'ราเมศ' ยัน 'ชวน' ต่อสู้สิ่งไม่ถูกต้อง ยึดหลักสุจริตมาโดยตลอด ปัดแค้นส่วนตัวกับ 'ทักษิณ' สวนกลับคงไม่อยากหนีไปต่างประเทศซ้ำอีก
สุดคึก! แกนนำพท. มั่นใจ ‘ทักษิณ’ ช่วยหาเสียง อบจ. ปูทางตั้งรัฐบาลพรรคเดียว
‘ประเสริฐ’ มั่นใจ พท.กวาดทุกสนาม อบจ. ที่ ‘ทักษิณ’ ไปเยือนปูทาง ตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ลั่นในอดีตทำแล้ว ทำมึนสื่อหมายถึงใคร หลังถูกถาม นายกฯช่วยหาเสียงวันหยุด
แม้วเดินสายโชว์บารมี อิ๊งค์ปราศรัยนครพนม
"ทักษิณ" ลุยหาเสียงผู้สมัครนายก อบจ. จ่อขึ้นเวทีเชียงราย 3 เวที "เทิง-เชียงของ-แม่จัน" ปราศรัยช่วย "สลักจฤฎดิ์-เมียยงยุทธ" ก่อนเดินสายลำปาง-นครพนม-บึงกาฬ-หนองคาย-มหาสารคาม-ศรีสะเกษ
‘พ่อ-ลูก’ แห่ช่วยหาเสียง หลายพื้นที่สอย ‘ผู้สมัคร’
“แพทองธาร” ลุยช่วยหาเสียง อบจ.นครพนม 12 ม.ค.นี้ ส่วนพ่อนายกฯ ลงซ้ำ 18 ม.ค.นี้ “อนุทิน” ไม่หวั่น ขอแค่ส่งใจช่วยเครือข่ายสีน้ำเงินรักษาเก้าอี้ภาคอีสาน